20 ก.ย. 2021 เวลา 08:42 • สิ่งแวดล้อม
กิ้งก่าไร้รัง...ไร้รัก...💔
เรื่องน่ารู้ของสัตว์นักพรางตัว
นั้นไง กิ้งก่า !!!! ถ้าเราเจอกิ้งก่าเรามักจะตื่นเต้นกับสีสันลวดลายบนตัวของมันและความสามารถพิเศษในการพรางตัวให้กลมกลืนไปกับสิ่งที่พวกมันเกาะจับอยู่
อาจจะเรียกว่าเป็นพรสวรรค์หรืออาจจะเป็นผลประโยชน์ในการล่าและการหลบภัยของเจ้าพวกกิ้งก่าก็ว่าได้ แต่คุณเคยสงสัยไหมว่ากิ้งก่ามันนอนอย่างไร ? แล้วความสัมพันธ์ในชีวิตคู่มันละเป็นอย่างไร ?
กิ้งก่า เป็นสัตว์เลื้อยคลาน (Reptilia) อันดับเดียวกันกับงู (Squamata) แล้วแยกออกมาเป็นอันดับย่อยของกิ้งก่า (Lacertilia) และจัดอยู่ในวงศ์ Agamidae ...
นักวิทยาศาสตร์ สังเกตพฤติกรรมการจับคู่ของกิ้งก่าแล้วพบว่า กิ้งก่าไม่มีความผูกพันระหว่างเพศ เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ก็ต่างทำไปตามหน้าที่ เสร็จแล้วก็แยกย้ายทางใครทางมัน ตัวผู้หนีหาย ส่วนตัวเมียก็ทำหน้าที่ฝังไข่ไว้ในดินที่ค่อนข้างร่วน สักราว ๆ 10 ฟอง แล้วก็จากไป...
พฤติกรรม one night stand เหล่านี้ เลยเป็นที่มาของชื่อวงศ์กิ้งก่า Agamidae ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษากรีก “A” มีความหมายว่า “ไม่” และ “Gamos” หมายถึง “แต่งงาน” ... รวมง่าย ๆ ก็คือ “ไม่แต่งจ้ะ!!!”
💔…. ไร้รัก ไร้ผูกพันกันไปสิ จะรออะไร .....
กิ้งก่า มีลักษณะเด่นคือ ขาทั้ง 4 มีความแข็งแรง จนสามารถยกตัวให้สูงจากพื้นได้อย่างง่ายดาย ลำตัวปกคลุมไปด้วยเกล็ดที่เรียงต่อ ๆ ซ้อนเหลื่อมกันอย่างต่อเนื่อง และมีหางเรียวยาว ผิวหนังสามารถเปลี่ยนสีได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยในการควบคุมอุณหภูมิร่างกาย เพราะเป็นสัตว์เลือดเย็น และอีกปัจจัยหนึ่งคือ ด้านอารมณ์
ส่วนลักษณะที่แตกต่างออกไปจากวงศ์อื่น ๆ ในอันดับย่อย (Lacertilia) เดียวกัน นั่นคือ ‘หาง’ เมื่อขาดแล้วจะไม่สามารถงอกใหม่ได้เหมือนญาติในวงศ์จิ้งจกตุ๊กแก (Gekkonidae) ยกเว้น กิ้งก่าในสกุล Uromastyx และอีกลักษณะหนึ่งคือ ‘ฟัน’ ของกิ้งก่าจะยึดติดบนกระดูกขากรรไกร (acrodont)
กิ้งก่าอาศัยตามต้นไม้หรือพุ่มไม้ หากินเวลากลางวัน กินพวกแมลง และไส้เดือนเป็นหลัก เวลากลางคืนจะเกาะนอนตามใบไม้ หรือกิ่งไม้ที่ไม่สูงมากนัก เปรียบเทียบพฤติกรรมการนอนแบบพอใจที่ไหนก็นอนตรงนั้นได้เลย เพราะกิ้งก่าไม่จำเป็นต้องมีรังนอนให้เสียเวลาพวกมันสามารถนอนได้ทุกที่ขอแค่มีใบไม้หรือกิ่งไม้ให้พวกมันเกาะก็พอ กิ้งก่าอาศัยอยู่ในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น
ชู่... ชู่ ...ถ้าเจอกิ้งก่าเกาะอยู่บนใบไม้หรือกิ่งไม้เวลากลางคืนอย่าไปรบกวนมันนะมันอาจกำลังฝันหวานอยู่ก็เป็นได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ปิยวรรณ นิยมวัน, ไพรวัลย์ ศรีสม และปริญญา ภวังคะนันทน์ โครงการวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ระยะยาว: สัตว์เลื้อยคลานห้วยขาแข้ง, วีรยุทธ์ เลาหะจินดา วิทยาสัตว์เลื้อยคลาน และ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบ
PHOTO : เบญจวรรณ มีอำนาจ
ที่มา : สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า
#กิ้งก่า #สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า #กรมอุทยานแห่งชาติ #สายด่วน1362 #prdnp #dnp
โฆษณา