19 ก.ย. 2021 เวลา 00:00 • ดนตรี เพลง
รีวิวอัลบั้ม Iron Maiden: Senjutsu (2021) กลยุทธ์ใหม่ที่คงไว้ซึ่งความเฉียบขาด
ในที่สุดสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 17 จากหัวหอก NWOBHM (New Wave Of British Heavy Metal) อย่าง Iron Maiden ก็ได้ฤกษ์ออกวางแผงให้แฟนๆหลากวัยของพวกเขาได้รับฟังเป็นที่เรียบร้อย โดยเว้นช่วงจากอัลบั้มก่อนหน้า The Book Of Soul ร่วมสี่ปี และด้วยความที่อัลบั้ม Senjutsu เป็นคำจากภาษาญี่ปุ่นมีความหมายว่า กลยุทธ์ ก็ได้ลามมาถึงงานออกแบบปกซึ่งแน่นอนว่ามาสคอตประจำวงอย่าง เอ๊ดดี้ ก็ได้ทีสวมชุดซามูไรออกอาละวาดเรียกความสนใจได้เป็นอย่างดี
Senjutsu เปิดตัวด้วยสำเนียง Heavy Metal อันเป็นลายเซ็นเฉพาะตัว ด้วยริธึ่ม Mid-Tempo ที่คอยย่ำและประโคมจังหวะอย่างมั่นคงจนเกือบจะกลายเป็นเนือยในบางครั้ง อันเนื่องด้วยความยาวของตัวเพลง ยังดีที่ว่าได้สำเนียงโซโล่กีตาร์แบบตะวันออกมาคอยกู้หน้าไว้ ขณะที่เสียงร้องของป๋า Bruce ยังทรงพลังข่มขวัญเด็กรุ่นหลังได้สบายแม้อายุอานามจะเข้าสู่วัยชราอย่างเต็มรูปแบบแล้วก็ตาม, Stratego หลุดจากความหนืดในแทร็กแรกกลายร่างมาเป็น Iron Maiden แบบที่เหล่าสาวกคุ้นเคย เนื้อหาคอยกระตุกวิญญาณ พาร์ทดนตรีขับเคลื่อนด้วยริฟฟ์พุ่งทะยานไปข้างหน้า, The Writing On The Wall ลดดีกรีลงมากับริฟฟ์กีตาร์โยนๆติดสไตล์คันทรี ก่อนจะตีหัวด้วยคอรัสติดหู โซโล่กีตาร์สวยๆยังมีให้ฟังกันจนอิ่ม
Lost In A Lost World หมองหม่นกันต่อด้วยอินโทรอะคูสติกคลอไปกับเสียงของป๋า Bruce เจ้าเก่า สร้างบรรยากาศด้วยซาวด์คีย์บอร์ดฟุ้งๆจากมือเบส Steve Harris (ที่ควบตำแหน่งโปรดิวเซอร์อีกด้วย) ลอยอยู่ข้างหลังก่อนจะตัดเข้าภาคเฮฟวี่จังหวะกลางหน่วงอันคุ้นเคย ริฟฟ์กำแพงกีตาร์ย้ำๆง่ายๆช่วงท่อนโซโล่นี่แหละใช่แบบที่แฟนๆรอคอยกันอยู่แน่นอน, Days Of Future Past เร่งเครื่องให้ต่อมหูเหล็กได้สูบฉีดด้วยตัวเพลงที่มีความยาวระดับปกติบ้าง มีทุกอย่างที่บรรดาสาวกต้องการอยู่ครบถ้วน, The Time Machine ยังใช้มุกอินโทรใสแจ๋วเนิบช้าหลอกล่อให้ตายใจก่อนจะจัดให้แบบเต็มแบนด์ ถ้าเท่านี้ยังไม่สาแก่ใจพวกเขายังเสิร์ฟด้วยมูฟเมนท์เปลี่ยนส่วนดนตรีแบบ Progressive โชว์ความซับซ้อนให้เด็กมันดูอีกเล็กน้อย
มาต่อกันที่ครึ่งหลังของอัลบั้ม Darkest Hour ยังคงเอกลักษณ์เฉพาะตัวแบบไม่ยอมปล่อย จังหวะเนิบช้าค่อยๆคืบคลานแต่ทรงพลังด้วยวิธีการร้องที่ยังคงได้ผลอยู่เสมอ พาร์ทกีตาร์โซโล่ยาวเหยียดที่ทั้งโชว์ของและฟังโหยหวนเอามากๆ, Death Of The Celts เรียบเรียงในมาด Progressive ดูไปกันได้กับเนื้อหาที่ค่อนข้างแฟนตาซี มีท่อน Unison ไว้โชว์ทีมเวิร์คให้เห็นว่า “พวกข้าน่ะยังมีพิษสงอยู่นะเว้ย ไม่ใช่แก่แล้วแก่เลย”
The Parchment งานมหากาพย์ใหญ่ยักษ์ความยาวกว่า 12 นาที เมนริฟฟ์แว้บนึงแอบทำให้นึกถึงตำนานอย่าง King Diamond ได้ไม่ยาก โอบอุ้มด้วยลิคกีตาร์จากสามขุนขวานอย่าง Dave Murray, Adrian Smith, Janick Gers ที่แบ่งพาร์ทกันได้อย่างรู้ใจ ก่อนที่ Nicko McBrain จะอัพระดับบีทกลองเข้ามาส่งช่วงท้ายเพื่อให้เพลงดูเป็นระนาบเดียวมากเกินไป, Hell On Earth อินโทรเรียกอารมณ์ร่วมค่อนข้างยืดไปนิด ตัวเพลงสรุปถึงเศษซากความสูญเสียต่างๆที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้ที่ยาวนานมาตลอดกว่าหนึ่งชั่วโมงของอัลบั้ม พาร์ทดนตรียังเฮฟวี่หลากหลายลีลาคาดหวังได้ สลัดความอึมครึมไปได้พอสมควร ก่อนจะผ่อนอารมณ์และส่งท้ายด้วยข้อคิดเตือนใจ Love In Anger, Life In Danger
ทว่าตลอดกว่าแปดสิบนาทีของอัลบั้มนั้นอาจมีช่วงยืดยาดและแพทเทิร์นเดิมๆให้ชวนง่วงอยู่บ้าง แต่รวมๆยังได้มาตรฐานตามผลงานยุคหลังๆของวงเช่นเคย ทั้งที่ด้วยวัยของพวกเขาโดยธรรมชาติก็ไม่น่าจะร็อกกันไหวแล้ว
โฆษณา