19 ก.ย. 2021 เวลา 03:00
“ไม่อยากเก่ง ไม่อยากทำงาน แค่อยากเป็นคนรวย”
เมื่อความมั่นคงไม่ใช่คำตอบของมิลเลนเนียลอีกต่อไป
“ฉันไม่อยากเก่ง ฉันเหนื่อย ฉันอยากถูกหวย”
“ฉันไม่อยากเป็นคนเก่ง ฉันอยากเป็นคนรวย ฉันเหนื่อย”
ฯลฯ
3
เลื่อนผ่านตามหน้าฟีดเฟซบุ๊กทีไรดิฉันมักจะเจอโพสต์ตัดพ้อติดตลกทำนองนี้อยู่บ่อยครั้ง และแน่นอน.. แก๊กตลกที่ว่าก็ได้รับความนิยมจากเพื่อนๆ บนเฟซบุ๊กอยู่เสมอ มากไปกว่านั้น คือมีการนำบางช่วงบางตอนของประโยคดังกล่าวมาดัดแปลงสกรีนลงบนเสื้อยืดด้วย
มองเผินๆ นี่อาจเป็นเรื่องขำขันดีอยู่เหมือนกันค่ะ คงไม่เกินจริงไปหรอกที่ว่าใครๆ ก็อยากเป็นคนรวย จะมีก็แต่คนที่มีเงินมากพอ พอที่จะได้ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตครบถ้วนแล้วจึงจะกล้าพูดว่า เงินซื้อความสุขไม่ได้
แต่ข้อสังเกตของเรื่องนี้ที่อยากชวนทุกคนคุยต่อก็คือ คำว่า “ฉันไม่อยากเก่ง ฉันอยากรวย” ไม่เพียงสะท้อนว่า คนรุ่นมิลเลนเนียลกระหายความสำเร็จในชีวิตมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ เท่านั้น แต่ในขณะเดียวกัน ‘ความรวย’ สำหรับพวกเขาอาจจะดูไกลตัวและเกินเอื้อมมากกว่าคนรุ่นก่อนด้วยซ้ำไป
คนเจเนอเรชันมิลเลนเนียล หรือผู้ที่อยู่ในช่วงปีเกิดตั้งแต่ 2524-2539 นั้น เป็นกลุ่มประชากรที่มาพร้อมกับวิกฤต ‘The Great Recession’ เหตุการณ์ทางเศรษฐกิจที่จะส่งผลกับชาวมิลเลนเนียลครั้งใหญ่ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและอาจส่งต่อไปยังอนาคตอีก เพราะวิกฤตครั้งนั้นมาในช่วงที่มิลเลนเนียลบางคนเป็นบัณฑิตจบใหม่ บางคนเพิ่งเริ่มต้นชีวิตการทำงานได้ไม่นาน
งานและเงินในกลไกตลาดก็ไม่ได้โฟลวเหมือนกับรุ่นก่อร่างสร้างตัวอย่างบูมเมอร์
2
แม้ว่าข้อดีของหลังวิกฤตเศรษฐกิจ คืออสังหาริมทรัพย์ราคาตก แต่มิลเลนเนียลที่ยังไม่มีเงินเก็บมากพอจึงไม่มีกำลังไปช้อนซื้อเก็บเป็นสินทรัพย์ของตัวเองไว้ได้
นี่ยังไม่นับรวมมาถึงปัจจุบันที่มีการคาดการณ์ว่า หลังโควิด-19 จบลง และเข้าสู่ช่วง Endemic มีความเป็นไปได้ที่จะเกิด ‘The Great Depression’ หรือวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่อีกครั้งหรือไม่
จากรายงานของสำนักข่าว CNBC ระบุว่า ในปี 2559 พบว่า ความมั่งคั่งของคนมิลเลนเนียลมีเปอร์เซ็นต์ต่ำลง และอัตราส่วนของสถานะชนชั้นกลางก็ถือว่าน้อยลงด้วยเมื่อเทียบกับบูมเมอร์ เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่ไทยเท่านั้นนะคะ แต่ที่สหรัฐอเมริกาเองก็พบว่า รายได้ของมิลเลนเนียลซบเซาลง เมื่อเทียบกับรายได้ของบูมเมอร์โดยใช้ตัวเลขค่ากลางเทียบเคียงเปอร์เซ็นต์ฐานเงินเดือน อัตราเงินเฟ้อ และค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น
1
สรุปแล้ว สภาวะที่ลากยาวตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบันทำให้พวกเขาต้องดิ้นรนมากขึ้น แม้ว่าข้อได้เปรียบของคนเจนนี้คือมีการศึกษาสูง มีความเชี่ยวชาญและความถนัดบางอย่างที่ผ่านการลับคมมามากกว่าคนรุ่นก่อน มี ‘skill set’ ที่พร้อมแข่งขันในตลาดแรงงานได้ดีเยี่ยม
แต่การจะได้มาซึ่งองค์ความรู้ที่ว่าก็แลกมาด้วยหนี้ในระดับสูง นี่ยังไม่รวมถึงการเติบโตขึ้นมาท่ามกลาง ‘Gig Economy’ ที่เน้นการจ้างงานในรูปแบบสัญญาจ้างชั่วคราวมากกว่าอีก
นอกจากเสถียรภาพทางด้านการเงินจะคลอนแคลนแล้ว ความมั่นคงในชีวิตสำหรับการวางแผนการเกษียณก็ยังไม่สามารถทำได้ดีเท่าบูมเมอร์ คนรุ่นก่อนๆ ส่วนหนึ่งพึ่งพาเงินบำนาญ และแผนสวัสดิการอื่นๆ ได้ รวมถึงหากย้อนกลับไปช่วงที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในตอนนั้น คนที่ได้รับประโยชน์ก็คือบูมเมอร์ที่มีเงินเก็บจากการทำงานมาได้ระยะหนึ่งแล้วอยู่ดี
ไม่ว่าจะทางไหนมิลเลนเนียลก็ไม่ได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ที่ผ่านมาเลย หรือพูดให้เห็นภาพชัดกว่านั้นก็คือ ทั้งช่วงเกิด เติบโต และเริ่มต้นชีวิต คนรุ่นใหม่ต่างถูกย่ำยีจากโครงสร้างที่ไม่เอื้ออำนวยให้พวกเขาลืมตาอ้าปากได้อย่างมีความสุขนั่นเอง
.
และในเมื่อความมั่งคั่ง ความรวย ความสำเร็จกลายเป็นของหายาก การแข่งขันของคนเจนนี้ก็ยิ่งเข้มข้นมากขึ้นไปอีก ความคาดหวังทั้งของตัวเอง และคนรอบข้างทำให้มิลเลนเนียลโหยหาปลายทางที่ห่างไกลอย่างความรวย และความโชคดีที่เป็นนามธรรมลอยฟุ้งในอากาศ โดยที่ไม่รู้เหมือนกันว่า วันที่พวกเขาจะเป็นคนรวย คนโชคดีจะมาถึงเมื่อไร
.
ไม่ใช่แค่คุณหรอกที่อยากรวย ฉันก็อยากรวย และอยากโชคดีในระบบที่ย่ำแย่ และประเทศที่ไม่เอื้อให้เราเติบโตได้แบบนี้เช่นกัน
4
หากคุณชอบคอนเทนต์นี้อย่าลืม 'กดไลก์'
หากคอนเทนต์นี้โดนใจอย่าลืม 'กดแชร์'
◣━━━━━━━━━━━━━━━◢
.
.
“Knowledge is the only way to success”
- - - - - - - - - - - - - - - - - -
ติดตามคอนเทนต์เพื่อพัฒนาตัวเองสู่ความสำเร็จจาก Future Trends ได้ที่
(อย่าลืมกด See First เพื่อไม่ให้พลาดคอนเทนต์ใหม่ในทุก ๆ วัน)
#FutureTrends #KnowledgeforSuccess
โฆษณา