19 ก.ย. 2021 เวลา 03:21 • ข่าว
“กรมศิลป์ฯ” ยังยึกยัก แม้คมนาคม-ผู้ว่าฯ อยุธยา เคลียร์ชัด
ยันสร้างสถานรถไฟความเร็วสูงที่เดิมเหมาะสม ไม่บังวิวอุทยาน
เรียกได้ว่าเป็นก้างชิ้นใหญ่เลยทีเดียวสำหรับการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งล่าช้าอย่างมากเนื่องจาก “กรมศิลปากร” กระโดดขวางไม่ยอมให้ใช้พื้นที่สถานีรถไฟเดิมที่อยู่ใกล้กับเกาะเมืองอยุธยา ห่างจากอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ไปทางทิศตะวันออกราว 2 กิโลเมตร โดยมีแม่น้ำป่าสักคั้นระหว่างทั้งสองฝั่ง
ใครที่ติดตามข่าวก็คงจะพอทราบว่า กรมศิลป์กลัวว่าการก่อสร้างสถานีรถไปความเร็วสูงจะบดบังทัศนียภาพของโบราณสถาน เมื่อมองออกจากฝั่งของเกาะเมืองจะเห็นตัวสถานีและทางวิ่งพาดผ่านเส้นขอบฟ้า ซึ่งดูแล้วอาจไม่งามในสายตาของเหล่า “Conservative” ทั้งหลาย และต้องการให้ปรับลดความสูงของสถานีลง จากแบบแรกที่มี 3 ชั้นให้เหลือ 2 ชั้น โดยตัดพื้นที่ชั้นที่ 2 (ชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร) มาใช้ชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋วโดยสารร่วมกับรถไฟทางคู่ ทำให้ลดระดับความสูงจาก 46 เมตรเหลือ 37.45 เมตร ลดระดับสันรางมาอยู่ที่ 15 เมตร
แต่เหมือนว่าจะยังไม่พอใจกรมศิลป์ เพราะอยากให้เปลี่ยนไปสร้างเป็นแบบสถานีใต้ดินแทน ซึ่งมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากอยุธยาเป็นพื้นที่ลุ่ม มีน้ำหลากเสมอในช่วงฤดูฝน หากสร้างสถานีใต้ดินก็อาจจะทำให้อุโมงค์รถไฟและสถานี กลายเป็นท่อระบายน้ำขนาใหญ่แทนเมื่อถึงเวลาน้ำท่วม และยังต้องใช้เวลาการศึกษาการก่อสร้างใหม่ทั้งหมดซึ่งอาจจะยืดเยื้ออีกไปอีก 6 เดือน – 1 ปี
1
อีกแนวความคิดก็คือ การเปลี่ยนเส้นทางการก่อสร้างให้เลี่ยงเมืองออกไปไกลจากจุดเดิมมาก คือออกจากสถานีบางปะอินเลี่ยงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านถนนสายเอเชีย ถนนโรจนะ อ้อมไปทาง อ.อุทัย ถึงสถานีชุมทางบ้านภาชี อ.ภาชี ซึ่งห่างจากตัวเมืองนับสิบกิโลเมตร ลำบากคนเดินทางที่ต้องถ่อสังขารไปขึ้นลงรถไฟความเร็วสูงไกลกว่าเดิม จนเกิดเสียงวิพากวิจารณ์ว่า ไกลขนาดนั้นชาวบ้านชาวช่องแทนที่จะได้ประโยชน์กลับต้องเสียเวลาเดินทางไปกลับ เสียค่ารถเพิ่มอีกกว่าจะได้เข้าเมือง เอาส่วนไหนมาคิดกัน
แต่ล่าสุดเมื่อวานนี้มีข่าวว่า ได้มีการประชุม Zoom กันระหว่าง กรมการขนส่งทางราง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหน่วยงานต่างๆ ในอยุธยา เพื่อหาทางออกถึงการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงเจ้าปัญหานี้
เท่าที่สรุปผลการประชุมคือ ทั้งในวงประชุมเห็นด้วยและยืนยันว่า จุดก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงเดิมที่ตรงสถานีรถไฟปัจจุบันนั้นเหมาะสมแล้ว ไม่ควรต้องย้ายไปย้ายมา เพราะถ้าจะย้ายตามที่กรมศิลป์ต้องการเนื่องจากกลัวว่าจะกระทบโบราณสถานตรงนี้ แล้วแน่ใจได้อย่างไรว่าย้ายไปที่อื่นจะไม่กระทบโบราณสถานตรงโน้นเหมือนกัน เพราะอย่าลืมว่าอยุธยามีวัดเก่าแก่ มีโบราณสถานมากมายไม่ได้มีแค่ในเกาะเมือง ที่ตรงไหนก็มีโบราณสถานเต็มไปหมด ทีนี้ก็ต้องมานั่งแก้ปัญหาจนกว่ากรมศิลป์จะพอใจ ก็ไม่จบไม่สิ้น ไม่ได้สร้างสักที
1
อีกทั้งมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจซึ่งมองจากเขตมรดกโลกออกมาทางเส้นทางรถไฟและสถานีแล้วตั้ง 90 กว่าจุด ปรากฏว่าไม่มีทางที่จะมองเห็นตัวสถานีและรางที่สร้างเป็นแบบทางยกระดับจากมุมมองระดับพื้นดินได้แน่นอน ดังนั้นเรื่องบดบังทัศนียภาพของโบราณสถานจึงตัดไปเลย เพราะความสูงของทางวิ่งเดิมถูกปรับลดลงเหลือไม่เกิน 17 เมตร ซึ่งนั้นสูงประมาณตึกแถวอาคารพาณิชย์ทั่วๆ ไปที่ 3 ชั้นครึ่งเอง เตี้ยกว่าโรงแรมบางแห่งที่อยู่ริมแม่น้ำใกล้ๆ สถานีรถไฟเสียด้วยซ้ำ
ส่วนข้อกังวลจากยูเนสโก หรือ องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ เรื่องการพัฒนาเมืองนั้น เรื่องนี้แทบไม่ต้องมากังวลอะไร เพราะเกาะเมืองที่เป็นเขตอุทยานฯ ที่ยูเนสโกรับรองอยู่ห่างจากสถานีเป็นกิโล แถมยังอยู่นอกเขตที่ยูเนสโกรับรองด้วย และยังมีแม่น้ำกั้นอีก ยังไงก็ไม่กระทบแน่นอน ซึ่งเอกสาร TOR และรายงานผลกระทบแหล่งมรดกโลก ก็อยู่ระหว่างการช่วยกันตรวจสอบรวมทั้งยูเนสโกเองก็ช่วยตรวจสอบด้วย ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
พูดกันตามตรงความล่าช้าที่เกิดขึ้นนี้จะเรียกว่ากรมศิลป์มาถ่วงเอาไว้ก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะอย่าลืมว่าความล่าช้าที่เกิดขึ้นกับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงมันไม่ได้กระทบแค่ที่อยุธยา แต่มันกระทบทั้งโครงการในเฟสแรก ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา เพราะสถานีอยุธยาเป็นสถานที่อยู่บนเส้นทางดังกล่าว หากสถานีนี้มีปัญหาเรื่องการก่อสร้างในขณะที่เส้นทางและสถานีอื่นสร้างไปเยอะแล้ว ยังไงก็เปิดเดินรถได้ไม่ทันเวลาหลังจากที่ล่าช้ามานาน และยังกระทบต่อระยะเวลาการก่อสร้างที่อาจขยายยืดเยื้อจากที่ควรเสร็จสิ้นในปี 2568 อาจขยับไปถึงปี 2570 – 2572 เลยทีเดียว คิดดูว่าช้าเพราะหน่วยงานเดียวเตะถ่วงทำประเทศเสียโอกาส เสียงบประมาณมหาศาล เสียเวลาโดยใช่เหตุ ประชาชนไม่ได้ใช้ระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพเสียที โอกาสทางเศรษฐกิจที่หายไป ไม่วายโดนสาปส่งว่า “พวกท่านเล่นอะไรกันอยู่ (แบบสุภาพนะ)” แบบนี้จะรับผิดชอบหรือไม่
อย่างไรก็ตามหากกรมศิลป์ยังดื้อด้านจะค้านต่อ ก็จะก็ต้องส่งมอบอำนาจการตัดสินใจให้นายกรัฐมนตรีชี้ขาด แต่ถ้าทุกอย่างผ่าน ไม่มีใครมาเตะถ่วง ก็จะมีการศึกษาผลกระทบอีก 6 เดือน หลังจากนั้นก็น่าจะดำเนินการตามขั้นตอนของการก่อสร้างได้ ซึ่งหวังว่าจะไม่ช้าอีกนั่นเอง
อันนี่จริงตามทัศนของผู้เขียน กรมศิลป์ควรไปจัดการพื้นที่ในเขตอุทยาน หรือในพื้นที่เกาะเมืองให้เรียบร้อยก่อนดีกว่า เพราะเขตอุทยานที่เป็นแหล่งเชิดหน้าชูตากลับยังปล่อยให้เกิดการลุกล้ำพื้นที่ แถมโบราณสถานบางจุดก็ปล่อยให้ทรุดโทรม หญ้ารก เดินทางเข้าถึงไม่สะดวก เช่นพื้นที่อดีตพระบรมหาราชวังหลังวัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ แต่กลับปล่อยให้รกร้าง หญ้าสูงจะท่วมหัวอยู่แล้ว เขตพระราชวังทั้ง 5 แห่งที่อยู่ในเขตพระราชฐานทั้งชั้นนอก ชั้นกลาง ชั้นใน ที่มีเรื่องราวมากมาย กลับเข้าถึงได้ไม่สะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว เพียงแค่เดินมาหลังวัดพระศรีสรรเพชญ์ เพียงนิดเดียวเหมือนกับเป็นคนละพื้นที่ ฉะนั้นดูแลของที่ต้องดูแลให้ดีก่อนดีกว่าไหม?
╔═══════════╗
ไม่พลาดบทความสาระดีๆ ที่ Reporter Journey ตั้งใจสร้างสรรเพื่อผู้ติดตามทุกท่าน อย่าลืมกดติดตามเพจ ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
╚═══════════╝
โฆษณา