20 ก.ย. 2021 เวลา 04:58 • ไลฟ์สไตล์
เรื่องเล่าท้าวความ
(ก่อนเขียนแบ่งปัน) ตำนานวันไหว้พระจันทร์
เมื่อยุคกาลและทุกสิ่งอย่างบนโลก เปลี่ยนไป
หลายสิ่งอย่างที่ดีงาม ไม่ว่าจะเป็นขนบธรรมเนียม
วัฒนธรรม ความเคยชินที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา
ก็อาจจะถูกวันเวลากลืนกิน จนลางเลือนหรือสูญหายไป
1
ไม่เว้นแม้แต่กิจกรรมพิธี ในเทศกาลไหว้พระจันทร์
ที่ชาวจีนมากมาย ทั้งจีนที่อาศัยอยู่ในไทย
หรือแม้กระทั่งชาวจีนโพ้นทะเลในแต่ละประเทศทั่วทุกมุมโลก
คงจะน้อยนัก ที่จะมีใครยังคงยืดถือปฏิบัติ
หรืออนุรักษ์ให้คนรุ่นหลังได้เห็น ได้เรียนรู้
ได้ศึกษา และสืบทอดกันต่อไป
...
...
จำได้ดี ตอนเด็กๆ ..
.. ทุกปี เมื่อเวียนมาถึงเทศกาลนี้เมื่อไร
เรา น้องๆ แล้วก็ลูกพี่ลูกน้อง แก๊งไม่ใหญ่ไม่เล็กมาก
ก็จะต้องถือโคมไฟที่เขาทำเป็นรูปต่างๆ
เครื่องบินบ้าง รถถังบ้าง ตะเกียงบ้าง หรือโคมไฟสวยๆ แปลกๆ
เดินร่อน โชว์ประชันกับเด็กๆ เพื่อนบ้านในละแวกเดียวกัน
แบบไม่มีใครยอมใคร
อวดกันใหญ่ว่าของเราแปลกงั้นงี้
ของแกนี่สู้ไม่ได้เบย ... บลาๆๆ
ในขณะที่เด็กๆ มีกิจกรรมของเด็กๆ
ผู้ใหญ่เอง ก็จะมีกิจกรรมของผู้ใหญ่ ไม่ต่างกัน
สำหรับบ้านเรา บรรดาอากู๋ อากิ๋ม อาอี๊ ฯลฯ และอาม่า
ก็จะช่วยกันจัดโต๊ะ (โต๊ะกลมแบบพับได้)
เป็นคล้ายๆ ปะรำพิธีบวงสรวงเล็กๆ
วางของไหว้พระจันทร์มากมายเต็มโต๊ะ
ทั้งผลไม้ ขนมไหว้ฯ กระดาษเงินกระดาษทอง
และที่สำคัญ แป้ง (แป้งฝุ่นในตลับกล่องกระดาษเล็กๆ น่ารักๆ หน่อย)
(ซึ่งดูเหมือนว่าแป้งฝุ่นจะขาดไม่ได้เลยทุกปี พอๆ กับขนมไหว้พระจันทร์
เพราะไหว้เสร็จ อาม่าก็จะแบ่งให้สาวๆ และที่อายุอานามไม่สาวแล้ว
อาทิเช่น ตัวอาม่าเอง หม่าม้า อาอี๊ อากิ๋ม
เอาไว้แต่งหน้าทาหน้า จะได้สวยๆ ขาวๆ
หน้านวลเหมือนพระจันทร์
(อันนี้อาม่าเคยบอกไว้ ตามความเชื่อที่เล่าสืบต่อกันมา)
( นี่ถ้าตอนนั้น คนยุคนั้น รู้ว่า
พื้นผิวบนดวงจันทร์ ไม่ได้เนียนยังที่พวกเขาเห็นด้วยตาเปล่า
แป้งฝุ่น จะตกอันดับของเซ่นไหว้ ไหมนี่ ... ฮ่าๆๆ )
ไม่เพียงแต่โต๊ะปะรำพิธีที่จัดของไหว้อย่างเต็มอัตรา
การประดับประดาโต๊ะ ก็จัดเต็มเช่นกัน
ข้างโต๊ะซ้ายขวาก็จะผูกยึดต้นอ้อยโค้งเข้าหากัน
เป็นแบบกึ่งวงกลมเหนือโต๊ะ
ห้อยไฟกระพริบ ระยิบระยับจับตาตลอดทั้งต้น
แบบ คนที่อยู่อีกสามกิโลก็ยังเห็นชัด
(ฟังดูเหมือนจะเวอร์ แต่ก็ประมาณนั้นจริงๆ นะ)
ซึ่งนี่อาจจะเป็นที่มาของสำนวนวัยรุ่นในยุคนี้ก็ได้
" จัดเต็ม แบบชุดใหญ่ไฟกระพริบ "
ส่วนตรงด้านหลังโต๊ะปะรำพิธี
ก็จะวางเก้าอี้พลาสติกสีแดง แบบมีพนักพิง ไว้ตัวหนึ่ง
บางบ้านมีผ้าคลุมสวยงาม(ตามท้องเรื่อง)
ส่วนบ้านเราก็แค่แขวนเครื่องไหว้ที่เป็นกระดาษ
ไว้สองข้างซ้ายขวาของเก้าอี้
อาม่าบอกว่า เก้าอี้เตรียมไว้ให้อาเนี๊ยหรือง๊วยเนี๊ย (เจ้าแม่จันทรา)
มาประทับนั่ง
(แต่ด้วยความไม่รู้ธรรมเนียมพิธี ประกอบกับความซุกซน
บ่อยๆ ครั้งที่เด็กๆ อย่างพวกเรา ทั้งอาเฮีย อาตี๋ อาเจ้ อาหมวย
ก็จะสถาปนาตัวเองเป็นเจ้า ไปสถิตประทับกันเป็นว่าเล่น
ถูกเอ็ดเล็กน้อย และห้ามปราม แต่ไม่รุนแรงนัก ตามแต่ละครั้งไป)
ปะรำพิธี ตามไอเดียการตกแต่งของแต่ละบ้าน
ก็จะดูเหมือนอวดๆ กันบ้าง เล็งๆ เกร็งๆ กันบ้าง
ว่าบ้านใครจะมีอะไรเด็ดๆ ในแต่ละปี มาจัดประดับประดา
แม้จะไม่แข่ง แต่ก็ดูเหมือนแข่งกันแบบกลายๆ
อวดไอเดียกันแบบเงียบๆ ในท่าที
แต่ก็แฝงเร้นด้วยการเหลือบๆ มองๆ บ้าง
แวะมาพูดคุย มาชมโน่นชมนี่ กันบ้าง
ก็ยังดีนะ ที่สมัยนั้น เทคโนโลยีมือถือ ยังไม่มี
ถ้ามีละก็ .... ฮึ่มมมม !!
คงจะหยิบมาถ่ายรูป เซลฟี่ อัปเฟส อัปไอจี
ล่าไลค์ ล่าเม้นต์ กันเป็นว่าเล่น
เรียกว่าไหว้บ้านเดียว แต่โชว์ข้ามโลกข้ามจักรวาลกันเลยทีเดียว
ขอบคุณเครดิตภาพจากเว็ป happeningbkk.com
จากช่วงค่ำๆ ประมาณสักทุ่มกว่าสองทุ่ม
ที่ผู้ใหญ่เตรียมจัดโต๊ะปะรำพิธี
จัดเสร็จ ก็อย่างว่า เดินชมบ้านโน่นบ้านนี่บ้าง
พูดคุยทักทายกันตามอัธยาศัยไมตรี
ส่วนเด็กๆ ช่วยบ้าง ไม่ช่วยบ้าง
ตื่นเต้นก็ช่วยจัด จัดเสร็จหมดสนุกหมดตื่นเต้น
ก็เดินร่อนไปสิ ถือโคมไฟโชว์ประชันกัน
เดินตั้งแต่ต้นซอยยันท้ายซอย ท้ายซอยย้อนกลับไปต้นซอย
เดินเสมือนหนึ่งไม่คุ้นเคย ไม่เคยเดินซอยนี้มาก่อน
เดินแบบอยากรู้อยากเห็น อยากดูอยากมองโต๊ะฯ บ้านโน่นบ้านนี่
เดินเพลิน จนบางครั้ง
เปลวไฟในโคมปลิวตามแรงเหวี่ยง แรงลม
พรึ่บ !!! ไหม้โคม
ก็ตกใจ เอามือพัด เอาปากเป่า ให้หยุดไหม้กันไป
หัวร่อต่อกระซิก สนุกสนาน ณ ช่วงขณะช่วยกันดับไฟ
ต่อจากนั้น ถ้าใครไม่มีโคมถือ ก็หงอยๆ เงียบซึมไปบ้าง
แย่งพี่ แย่งน้อง ขอมาถือ ขอมาเล่นบ้าง
หรือถ้าเป็นเด็กเล็กหน่อย ก็อาจจะตกใจ งอแง
หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ละคนที่จะหากลเม็ดเด็ดพลาย
ให้ตัวเองยังคงมีโคมได้เล่นต่อ
ใครที่ยังมีโคม ก็เดินวนไป ... วนแบบ รอเวลา
รอ เวลาพระจันทร์ขึ้นสูงสุดเต็มดวงบนท้องฟ้า
เปล่งแสงนวลขับไล่ความมืดมิดสุดสายตาจนไม่เห็นดาว
ยิ่งปีไหน พระจันทร์ทรงกลดด้วยแล้ว !
ก็จะตื่นเต้น ทั้งเด็กเล็กและผู้ใหญ่
ชวนกันดูทั้งบ้าน ทั้งครอบครัว
ถ้ามีกล้อง มีมือถือ ก็นะ
คงไม่วายต้องอวดกันอีก
พระจันทร์บ้านฉัน สวยกว่าพระจันทร์บ้านเธอ
บลาๆๆๆๆ
พอเวลาใกล้เที่ยงคืน อาม่า (ประธานใหญ่แห่งพิธี)
ก็จะบอกให้ทุกคนมาไหว้พร้อมกับอธิษฐาน
เด็กๆ ก็ไม่พ้นหรอก เรื่องให้เรียนเก่ง
เป็นเด็กดี ท๊อปฮิตสุดล่ะ
พูดเองเป็น ก็อธิษฐานไป
พูดไม่เป็น ก็ผู้ใหญ่กระซิบบอกข้างๆ
(ตึ่งหนั่งอ่วยล้วนๆ .. ภาษาจีนแต้จิ๋วล้วนๆ)
ส่วนผู้ใหญ่ อธิษฐานอะไรกันบ้าง ตอนนั้นไม่รู้หรอก
แต่ตอนนี้ ก็พอจะเดาได้บ้าง
ว่าขออะไรกันนัก ถึงขมุบขมิบปาก อธิษฐานนานกว่าเด็กๆ
เสร็จจากการไหว้และอธิษฐาน (ถ้าฝนไม่ตกกลางงานเสียก่อน)
ก็เก็บของไหว้ เผากระดาษเงินกระดาษทอง
หั่นขนมไหว้พระจันทร์เป็นชิ้นเสี้ยวๆ
หลายๆ รสชาติ แบ่งๆ กันกิน
คุยเล่นหยอกล้อ มีความสุข สนุกสนาน
ผ่านคืนวันไหว้พระจันทร์กันแบบไม่มีการจดบันทึก
หรืออัปสเตตัสบนสื่อโซเชี่ยล
และโดยที่อาม่า อากู๋ อากิ๋ม อาอี๊ หรือทุกๆ อา
ก็ไม่เคยเล่าให้ฟังเลยว่า ที่มาที่ไปของการไหว้พระจันทร์
มันเกิดจากอะไร หรือ มีตำนานเรื่องเล่ายังไง !!
ขอบคุณเครดิตภาพจากเว็ป ohornow.com
เหมือนที่ เรา จั่วหัวไว้ด้านบนเลย
เมื่อยุคกาลและทุกสิ่งอย่างบนโลก เปลี่ยนไป
หลายสิ่งอย่าง ก็อาจจะถูกวันเวลากลืนกิน
ลางเลือน สูญหายไป
สมัยนี้ คงไม่ค่อยมีคนจีนบ้านไหนจะรู้หรอก
ว่าเทศกาลนี้ มันมีประวัติความเป็นมายังไง ??
หรือต่อให้รู้ ก็รู้แบบลางๆ
ถ้าผู้ใหญ่รุ่นก่อนๆ ลาจากโลกนี้ไป
พิธีไหว้ฯ ค่อยๆ เลือนหายจนกลายเป็นไม่มี
ตำนานความเชื่อหรือวัฒนธรรม
ที่ยังพอเลือนลางในความรู้สึกหรือความทรงจำ
ของคนรุ่นกลางๆ ที่เตรียมจะเป็นคนรุ่นก่อน
ขาดการบอกต่อหรือเล่าเรื่อง
สักวัน !!
ต่อให้เป็นทายาทมังกรที่เคยผงาดฟ้ามาจากไหน
ก็อาจตอบคำถามลูกหลานคนด้ามขวานไม่ได้เช่นกัน
" ทำไมต้องมีเทศกาลวันไหว้พระจันทร์ ? "
ถ้าคนรู้ หรือ พอรู้ อย่างพวกเรา
จะไม่ช่วยบอกต่อ หรือ แบ่งปัน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา