20 ก.ย. 2021 เวลา 01:30 • ข่าวรอบโลก
รักสามเศร้าเราสองสามคน กับเรือดำน้ำฝรั่งเศสและ AUKUS “บางทีความเงียบนี่ล่ะค่ะ คือคำตอบที่ชัดเจนที่สุดของเค้าแล้ว”...
ออสเตรเลีย (AUZ) และฝรั่งเศส (FR) เป็นคู่รักที่ใครๆก็เห็นกันทั่วว่ารักกันดี AUZ ขออะไร FR ก็ให้ แต่ใครเล่าจะรู้ว่า...
ในใจ AUZ เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อเริ่มโตขึ้นเขาคิดว่า จุดมุ่งหมายในชีวิตเริ่มเปลี่ยนไป เขาเติบโตขึ้น เขามีเป้าหมายในชีวิตที่ใหญ่ขึ้น และสิ่ง FR ให้เขานั้น มันไม่ตอบโจทย์ชีวิต หรือเรียกง่ายๆ ว่ามัน”ยังไม่พอ” จนวันนึงเขาได้พบกับสิ่งใหม่หรือคนใหม่ที่เข้ามาในชีวิต อะไรๆหลายอย่างๆยิ่งทำให้ใจเขาเปลี่ยนไป แต่ AUZ เองก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรหรือไม่บอก FR ไปตรงๆ
คนใหม่ที่เข้ามาไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นเพื่อนสนิทที่วนเวียนอยู่ในชีวิตกันมานานแล้ว แต่พึ่งจะได้คุยกันแบบลึกๆจนพบว่า US+UK คือคนที่น่าจะตอบโจทย์ชีวิตของ AUZ และให้สิ่งที่ AUZ ต้องการได้ จนในที่สุด AUZตัดสินใจบอกเลิก FR ดื้อๆ แล้วไม่กี่ชั่วโมงก็ขึ้นสเตตัสในเฟสบุ๊คว่ากำลังคบกับ US+UK
FR ได้แต่งงงวยกันไป ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมที่ผ่านมาไม่บอกกันตรงๆว่าเปลี่ยนไปแล้ว ไม่รักกันแล้ว ทำไมทำแบบนี้ คนที่เข้ามาใหม่ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็เพื่อนสนิทกันกลุ่มเดียวกัน เห็นหน้าพูดคุยกันตลอด ก็ไม่คิดว่าจะตีท้ายครัวกันแบบนี้ สุดท้าย FR โทรไปคลับฟรายเดย์ ถามพี่อ้อยพี่ฉอดว่า “ทำไมผมถามAUZ ที่ไรเค้าก็บอกไม่มีอะไร บางทีถามว่า ยังเหมือนเดิมหรือเปล่าเค้าก็ตอบมั่งไม่ตอบมั่ง บางทีก็เงียบไปเลย ทำไมเค้าไม่บอกผมตรงๆ”
พีอ้อย คงตอบ FR ไปด้วยประโยคคลาสสิกที่ว่า “บางทีความเงียบนี่ล่ะค่ะ คือคำตอบที่ชัดเจนที่สุดของเค้าแล้ว”...
เปิดหัวเรื่องมาแบบดราม่าเล็กน้อยให้ทุกท่านเข้าถึงอารมณ์กับเรื่องราวที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากกับการเรียกทูตประจำอเมริกาและออสเตรเลีย กลับประเทศของฝรั่งเศส จากกรณีการยกเลิกดีลเรือดำน้ำ ที่ออสเตรเลียตกลงซื้อเรือดำน้ำ ชั้น Barracuda Block 1A จำนวน 12 ลำจากฝรั่งเศส มูลค่าราวๆ 90 ล้าน$ สร้างความโกรธอย่างมากให้กับฝรั่งเศส เพราะออสเตรเลียเลือกไปเข้าร่วมความร่วมมือทางความมั่นคงกับ สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ซึ่งในนั้นมีข้อตกลงการขายและถ่ายทอดเทคโนโลยี เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ให้กับออสเตรเลียเป็นหลักใหญ่ใจความสำคัญ บทความในช่วงต่อจากนี้เราจะมาไล่เรียง มุมมองในแต่ละฝ่ายต่อกรณีนี้กัน
ออสเตรเลีย
แรกเริ่มเดิมทีในปี 2016 ออสเตรเลียมีความต้องการเรือดำน้ำดีเซลไฟฟ้า เพื่อทดแทนเรือดำน้ำชั้น Collins ที่จะปลดประจำการในปี 2026 โดยแข่งกัน 3 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เยอรมัน และฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศส ชนะไป ด้วยดีล 12 ลำ และต่อเรือที่ Adelaide โดยใช้ทรัพยากร 90% ในออสเตรเลีย(ภายหลังปรับลดเป็น 60%) สร้างอัตราจ้างงานกว่า 2800 อัตรา
การสั่งเรือในครั้งนี้ แม้ฝรั่งเศสจะมีแบบเรือ Barracuda อยู่แล้ว แต่ออสเตรเลียเอง ก็ทำการปรับแต่งแบบเรือตามความต้องการของตนเอง ใส่เทคโนโลยีต่างๆที่ตัวเองต้องการลงไป กลายเป็นเรือดำน้ำที่มีความเฉพาะตัว และ นำไปสู่ข้อกังวลของฝั่งออสเตรเลียเองเช่นกัน
ข้อกังวลหรือสิ่งที่ออสเตรเลียคิดต่อดีลเรือดำน้ำกับฝรั่งเศสมีอยู่ด้วยกัน 3 ข้อใหญ่ๆ ดังนี้ครับ
1
1. งบประมาณในการใช้ในโครงการเรือดำน้ำนี้สูงมากถึงกว่า 90ล้าน$ และถ้ารวมกับค่าใช้จ่ายตลอดอายุการใช้งานออสเตรเลียอาจจะต้องใช้งบประมาณอีก 145 ล้าน$ กับเรือทั้งหมด ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องบอกว่า ที่มูลค่าโครงการพุ่งขึ้นไปสูงเป็นสองเท่าจากเดิมๆ ที่ถ้าซื้อ Barracuda ธรรมดา น่าจะใช้เงินราว50ล้าน$ เพราะความต้องการในการแก้ไขแบบเรือและใส่เทคโนโลยีต่างๆตามที่ออสเตรเลียต้องการ
2. จากข้อ 1 ทำให้ระยะเวลาของโครงการยืดเยื้อออกไป กว่าออสเตรเลียจะตกลงเซ็นในเรื่องแบบเรือได้ก็ปาเข้าไปปี 2019 และการต่อเรือกว่าจะเข้าประจำการได้จริง น่าจะปี 2035 หรือเสร็จสิ้นโครงการครบทั้ง 12 ลำ อาจจะปาเข้าไป 2050 นั่นเลยทีเดียว ทำให้ออสเตรเลียต้องกลับไปตั้งโครงการยืดระยะเวลาการปลดประจำการเรือดำน้ำชั้น Collins ออกไปจากปี 2026 เป็นปี 2030 เพราะความล่าช้าตรงนี้
1
3. จาก 1 เช่นกัน ออสเตรเลียเกิดความกังวลขึ้นมาว่า ด้วยเทคโนโลยีและอุปกรณ์ต่างๆและการปรับแก้แบบเรือของออสเตรเลีย ทำให้โครงการ SEA100 ครั้งนี้ เป็นแบบเรือ Barracuda ที่ฝรั่งเศสไม่เคยต่อมาก่อน ทำให้เกิดความเสี่ยง ว่า โครงการนี้ เรือดำน้ำที่ต่อออกมาจะใช้งานได้มีประสิทธิภาพจริงๆหรือไม่ หรือยิ่งต่อยิ่งเจอปัญหาและทำให้โครงการล่าช้า และส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถของออสเตรเลียหรือไม่อย่างไร และถ้าต้องใช้ทั้งเงินมหาศาล และเวลาที่ยาวนาน สู้ไปลงทุนกับเทคโนโลยีอย่างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ไม่ดีกว่าหรือ
จากทั้ง 3 ข้อกังวล ทำให้มีรายงานออกมาว่า ออสเตรเลียพยามหาทางที่จะ “ชิ่ง” ออกจากดีลนี้มาโดยตลอด จนมาสำทับด้วยเหตุผลที่ใหญ่ที่สุดนั่นคือ การที่ “สภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์และความมั่นคงนั้นเปลี่ยนไป”
การผงาดและขยายอิทธิพลของจีนทำให้สภาพแวดล้อมทางความมั่นคงเปลี่ยนไป ออสเตรเลียมองภาพความมั่นคงและเปลี่ยนเป้าประสงค์ทางยุทธศาสตร์ของตัวเองไปจากเมื่อปี 2016 เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยน และเป้าประสงค์เปลี่ยน “วิธีการ” ก็ต้องเปลี่ยนไปเพื่อให้ได้มาซึ่งจุดมุ่งหมายที่ต้องการ
เมื่อออสเตรเลียขยับเข้าไปเป็นส่วนนึงของยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของสหรัฐอเมริกา และเข้าร่วมกลุ่มความร่วมมือความมั่นคงอย่าง Quad ที่มีญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ทำให้ออสเตรเลียแสดงชัดเจนผ่านเอกสารยุทธศาสตร์ความมั่นคงของตัวเองว่าขีดความสามารถที่พวกเขาต้องการเพื่อจะก้าวขึ้นไปเป็นผู้เล่นหลักในยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก ก็คือ ขีปนาวุธ และความมั่นคงไซเบอร์ และอื่นๆ
ในที่สุดเมื่อโอกาสมาถึง เมื่อสหรัฐอเมริกาเล็งเห็นความสำคัญของออสเตรเลียในการเข้ามาเสริมกลายเป็นผู้เล่นหลักในอินโดแปซิฟิก จำเป็นจะต้องเสริมขีดความสามารถให้พอทัดเทียมกับฝ่ายตรงข้ามและพันธมิตรอื่นๆ จึงหยิบยื่นโอกาสในการเสริมสร้างตรงนี้ด้วย “เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์” ซึ่งเมื่อเป็นนี้มีหรือ ออสเตรเลียจะไม่รับโอกาสและขีดความสามารถที่เป็นก้าวกระโดดที่สำคัญครั้งนี้เอาไว้ โดยที่ออสเตรเลียไม่ได้เสียอะไร ยังคงมีการต่อเรือในประเทศเหมือนเดิม แถมได้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอีกด้วย
แต่สิ่งที่ออสเตรเลีย”พลาด” คือการเลือกที่จะเงียบและไม่พูดกับฝรั่งเศสตรงๆต่างหาก ในเรื่องนี้
ฝรั่งเศส
ในมุมของฝรั่งเศส ข้อกังวลของออสเตรเลีย ไม่ว่าจะเรื่องราคาและเรื่องของความล่าช้าโครงการ ล้วนมาจากการปรับและเจรจาเพื่อให้โครงการเป็นไปตามความต้องการของออสเตรเลียเองในการปรับแบบเรือ และใส่เทคโนโลยีและอุปกรณ์ต่างๆตามที่ออสเตรเลียต้องการทั้งนั้น และที่สำคัญคือการที่ไม่ยอมพูดคุยกันตรงๆ
ที่ผ่านมาในการเจรจาการประชุมต่างๆ และล่าสุดเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ระหว่าง รมต.กลาโหมของฝรั่งเศสและออสเตรเลียยังคงยืนยันความร่วมมือของดีลนี่อยู่เลย พอคล้อยหลังสองอาทิตย์มาบอกยกเลิกดีลไม่กี่ชั่วโมงก่อนไปประกาศความร่วมมือทางความมั่นคงกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ
ฝรั่งเศสยังรู้สึกอีกว่า สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ เองก็เป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส แต่ไม่ได้มีการพูดคุยหรือส่งสัญญาณอะไรใดๆมาก่อน โดยมาแจ้งให้ฝรั่งเศสทราบไม่กี่ชั่วโมงก่อนการประกาศความร่วมมือระหว่างกันเช่นกัน
ในมุมนี้เราจึงเข้าใจถึงความโกรธของฝรั่งเศส จนกลายออกมาเป็นคำพูดที่ว่า “เหมือนทรยศและโดนแทงข้างหลัง”
สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ
ในมุมของฝ่ายหลังสุดนี้ ต้องบอกว่า สหรัฐเล็งเห็นแล้วว่า การเสริมขีดความสามารถให้กับออสเตรเลีย ด้วยเทคโนโลยีที่ตนเองไม่เคยมอบให้ใครขายให้ใคร เป็นผลประโยชน์แห่งชาติ ทางความมั่นคงของสหรัฐฯ และยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก เพราะฉะนั้น แล้วข้อตกลงทางความมั่นคงที่เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ส่วนผลที่เกิดตามมาต้องหาทางแก้กันต่อไป
สุดท้าย BFSS มองว่า เรื่องราวในตอนนี้เกิดจากเรื่องของผลประโยชน์ทางธุรกิจล้วนๆ เป็นหลักใหญ่ใจความสำคัญ ที่นำไปสู่ความ”ไม่ไว้ใจ” กันฉะนั้นปัญหานี้จะจบลงอย่างไรก็อยู่ที่ว่า จะเคลียร์”เรื่องผลประโยชน์” ในครั้งนี้ลงตัวหรือไม่เมื่อไหร่นั่นล่ะ
1
เอวัง
อ้างอิง
Why Australia wanted out of its French submarine deal – POLITICO
The nuclear option: why has Australia ditched the French submarine plan for the Aukus pact? | Australian politics | The Guardian
Submarine contract goes to Adelaide (and France) | Engineers Australia
Nuclear subs and a diplomatic blowup: The US-France clash, explained - Vox
Why nuclear submarines are a smart military move for Australia — and could deter China further (theconversation.com)
Aukus: UK, US and Australia launch pact to counter China - BBC News
Australia to Pursue Nuclear Attack Subs in New Agreement with U.S., U.K. - USNI News

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา