19 ก.ย. 2021 เวลา 21:49 • ท่องเที่ยว
หุบนกกู๋กี๋ .. การผจญภัยครั้งหนึ่งที่เขาใหญ่
“.. นกเงือกเป็นนกที่ฉลาดและมีความจำดี มันสามารถจดจำคนที่แกล้งโยนก้อนหินแทนที่จะเป็นผลไม้ให้มัน เมื่อบุคลนั้นเข้ามาใกล้ มันจะมีปฏิกิริยาก้าวร้าวใส่ทันที ด้วยการไล่จิกและส่งเสียงร้อง นกเงือกตัวนี้สนิทกับข้าพเจ้ามากที่เดียว มันจะเข้ามาใกล้ๆแล้วส่งเสียง ประหนึ่งจะฟ้องว่าคนคนนั้นเป็นคนไม่ดี ..
.. เมื่อข้าพเจ้าอยู่ในบังไพรใกล้บริเวณรัง ข้าพเจ้าต้องระวังมิให้นกตัวผู้เห็น มิฉะนั้นมันจะส่งเสียงขับไล่ กาฮัง กาฮัง … บินวนไปมา โยนกิ่งไม้หรือเปลือกไม้ลงมา ราวกับพยายามขับไล่ผู้บุกรุก บางคราวนกเงือกแสดงออกเหมือนกับว่ามันสามารถนับจำนวนได้ เข่น ครั้งหนึ่งเมื่อมันเห็นเราสามคนเดินเข้าซุ้มบังไพร มันจึงส่งเสียงขับไล่อยู่ตลอด เราพยายามหลอกโดยให้คนหนึ่งเดินออกจากบังไพรและไม่กลับมาอีก แต่นกยังคงส่งเสียงไล่อยู่ที่เดิม ราวกับรู้ว่า … เธอไม่ต้องมาหลอกฉัน ฉันรู้ว่าพวกเธอยังอยู่ ..”
ฉันอ่านเรื่องราวและดูภาพถ่ายของนกเงือกที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งเขียนโดยนักวิจัยนกเงือกที่มีชื่อเสียงและทำงานนี้มายาวนาน … ดร. พิไล พูลสวัสดิ์ .. ด้วยความสนใจยิ่ง ทั้งทึ่งและประทับใจกับเรื่องราวของนกเงือก 4 ชนิดที่พบที่เขาใหญ่ จนเป็นแรงบันดาลใจให้ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ “หุบนกกู๋กี๋” ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เมื่อไม่นานมานี้ ... ด้วยหวังว่าจะเจอต้นไม้ที่ดูเหมือนจะออกดอกเป็นนกกู๋กี๋ อยู่เต็มต้น
“เขาใหญ่” … เป็นป่าดิบเขาที่โดดเด่น ยอดเขาที่สูงที่สุดสูง 1554 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ยืนยันได้จากการที่เป็นแหล่งอาศัยหากิน และทำรังของนกเงือกถึง 4 ชนิด ตามสถิติที่พบคือ ฝูงของนกเงือกกรามช้าง หรือนกกู๋กี๋ (Wreathed Hornbill) ที่มีไม่ต่ำกว่า 100 ตัวในหนึ่งฝูง .. ฝูงนกกก (Great Hornbill) ประมาณ 50 ตัวในหนึ่งฝูง … นกเงือกคอแดง (Rufous-necked Hornbill) ประมาณฝูงละ 50 ตัว ซึ่งเป็นฝูงที่มีนกชนิดนี้มากที่สุดในประเทศไทย .. นอกจากนี้ยังพบนกเงือกสีน้ำตาล (Brow Hornbill) อีกด้วย
นกเงือกเหล่านี้เป็นนกขนาดใหญ่ จึงต้องการต้นไม้ใหญ่ในการอาศัย และทำรัง … เมื่อมีประชากรนกเงือกมากมายที่เขาใหญ่ จึงสามารถเป็นดัชนีชี้วัดถึงความสมบูรณ์ของสภาพป่าได้เป็นอย่างดี
เราเดินทางมาถึงเขาใหญ่ก่อนเที่ยงวัน จึงยังมีเวลาเล็กน้อยให้เราได้เดินชมรอบๆบริเวณที่ทำการของอุทยาน … ฉันแวะทักทายกับเจ้าถิ่นที่ยืนกินใบไม้อยู่หน้าที่ทำการอุทยาน ความน่ารักของเจ้ากวางดึงดูดให้นักท่องเที่ยวหลายคนเข้ามาถ่ายรูปด้วย
หลังอาหารกลางวันเราเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดที่ใช้เดินป่า พร้อมจัดเตรียมอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการเดินทาง โดยต้องไม่ลืมถุงกันทาก เพราะเส้นทางที่จะเดินวันนี้มีชื่อในการชุมนุมปาร์ตี้ของทากเจ้าถิ่น …
“อย่าลืมให้กางเกงอยู่นอกเสื้อด้วยนะครับ” .. คนนำทางบอกกล่าว ซึ่งทำเอางงๆๆ ในตอนแรก ก่อนจะแปลได้ความว่า ให้เก็บเอาเสื้อเข้าไปอยู่ในกางเกงให้เรียบร้อยด้วย อย่าเปิดช่องให้ทากคืบคลานเข้าไปได้นั่นเอง
เรารวมพลและเตรียมเดินทางเข้าสู่ที่ทำการหน่วยย่อย … หลังจากคนและข้าวของมาถึงเรียบร้อย เราเดินเข้าสู่ป่าโปร่งระยะทางราว 2 กิโลเมตร
การเดินช่วงนี้ไม่ยาก เป็นป่าโปร่งเขียวขจีชุ่มฉ่ำจากฝนที่ตกชุก แต่ทางเดินที่เป็นเนินลาดขึ้นๆลงๆลื่นด้วยโคลน บางช่วงต้องเดินข้ามธารน้ำ ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังกันตั้งแต่เริ่มเดินไปเลย …
ข้าวของที่นำไปด้วยหนักเอาเรื่อง โดยเฉพาะอุปกรณ์ถ่ายภาพและขาตั้งกล้อง ทำให้การเดินที่มีน้ำหนักมากๆบนบ่าของหญิงสูงวัยคนนี้ ทำเอาเหนื่อยมากเหมือนกันกว่าจะไปถึงที่พัก
ต้นฤดูฝน … ไม้ที่เพิ่งผ่านความร้อนแล้งเริ่มผลิใบใหม่สีเขียวๆขึ้นมาใหม่ ตลอดทาง 2 กิโลเมตร เราเจอสัตว์เลื้อยคลานบางชนิด รวมถึงเห็ดสวยๆหลายชนิดแทงดอกอ่อนออกมาอวดโฉม เช่นเห็ดถ้วย เห็ดสาหร่าย เห็ดตาข่าย และเห็ดอื่นๆสีสวยๆ … สวยจนฉันต้องแวะถ่ายรูปอย่างรวดเร็วมาฝาก ภาพไม่คมชัดด้วยความสามารถที่จำกัดของกล้อง Compact
คืนนี้เราได้ขออาศัยค้างคืนหลับนอนกันที่ “ฐานปฏิบัติการบึงไผ่” … เจ้าหน้าที่ที่นั่นบอกว่า ในช่วงที่ไม่มีคนอยู่ มักจะได้รับการมาเยือนของช้างป่าอยู่เสมอ ช้างเข้ามาค้นหาอาหาร … น่าสนใจค่ะ
เราเก็บข้าวของที่แยกไว้ ณ ที่ฐานปฏิบัติการฯ และนำติดตัวไปเฉพาะส่วนที่จำเป็น (ไฟฉาย เสื้อกันฝน กล้องและอุปกรณ์ถ่ายรูป) … การเดินทางก็เริ่มต้นขึ้น
การเดินทางไปสู่ “หุบนกกู๋กี๋” เราต้องปีนเขาถึง 3 ลูก … ผ่านทุ่งหญ้า แล้วตัดเข้าสู่ป่ารก ก่อนจะเดินตัดขึ้นเขา … เป็นการเดินสู่ Trail ที่ไม่ใช่ทางเดินปกติที่นักท่องเที่ยวจะสามารถเข้าไปได้ อีกทั้งป่าส่วนนี้ยังเป็นที่อาศัยของสัตว์ป่าอันตรายหลายชนิด จึงต้องอาศัยพรานที่ชำนาญทางเท่านั้น
ช่วงแรกเป็นการเดินผ่านทุ่งหญ้าที่บางช่วงสูงท่วมหัว …
“ผมเคยพบเสือตัวใหญ่ สูงเท่ายอดหญ้า (สูงกว่า 1 เมตร) แถวนี้ด้วยครับ” คนนำทางเล่า ทำเอาฉันรู้สึกหายใจขัดๆไปเลย นึกถึงคำโบราณว่า เมื่อเข้าป่าอย่าคุยกันเรื่องเสือ เรื่องงู (อาจจะเป็นเพราะจะทำให้คนฟังขวัญกระเจิงไปด้วย)
“โน่นฝูงกวางป่า … มีหลายสิบตัวด้วยครับ” เราทุกคนมองตามทิศทางที่คนนำทางชี้เป้า และฝูงกวางขนาดใหญ่หลายตัวที่กำลังเล็มหญ้าอยู่ด้านหนึ่งของทุ่งหญ้า ก็ทำให้เราทึ่งไปกับความสวยงามของสัตว์ในธรรมชาตินี้อย่างมากค่ะ …
ฉันถือแต่กล้อง Compact เลยถ่ายรูปออกมาไม่เห็นตัวกวางค่ะ (กล้องเทเลซูม อยู่ในเป้ค่ะ ไม่สะดวกที่จะเอาออกมาประกอบและถ่ายรูปในขณะเดินทาง)
จากทุ่งหญ้า เราเดินเข้าสู่เขตป่า … …กลิ่นไอของป่าหน้าฝนดูชุ่มฉ่ำ กลิ่นดินที่รื้นฝนปนกลิ่นป่าโชยขึ้นมาเป็นกลิ่นแปลกๆที่แตกต่างจากกลิ่นเมือง
ต้นไม้น้อยใหญ่สีเขียวร่มรื่นขึ้นอยู่ค่อนข้างหนาแน่น อาจจะเป็นเพราะไม่ค่อยมีคนเดินผ่านก็เป็นได้ แต่ด้วยความชำนาญของพรานนำทาง เราก็เพียงแต่เดินตามให้ทัน และคอยฟังคำเตือนให้ระวังกิ่งไม้ที่มีหนาวแหลม … ทางที่ลื่นด้วยโคลนจากฝนที่ตกชุกมากในช่วงนี้ และคำแนะนำที่มีประโยชน์มากมาย
ทางของป่า … รกชัฏและไม่ตัดตรง บางช่วงลาดชันจนยืนตรงไม่ไหว ต้องน้อมกายลงต่ำก่อนจะเคลื่อนไหวไปข้างหน้า แถมยังมีสุมทุมพุ่มไม้บดบังโสตทัศน์ หากไม่ระวังหรือใจไม่อยู่กับทางตรงหน้า ก็คงก้าวพลาดจนอาจเกิดอันตรายร้ายแรงได้
ป่าเขาใหญ่ยังเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่ามากมายอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ … ที่นี่จึงเป็นสถานที่ชุมนุมขนาดใหญ่ของ “ทาก” เจ้าถิ่น ที่คอยเกาะสัตว์ต่างๆที่ผ่านไปมา … เมื่อมีคณะเดินทางผ่านมา จึงนับว่าเป็นเทศกาลปาร์ตี้ทากที่ยิ่งใหญ่ทีเดียว ตลอดทางเราทุกคนมีทากเกาะ ถูกดูดเลือด มากบ้าง น้อยบ้าง และในหลายกรณีถุงกันทากและน้ำยาฉีดพ่นก็ไม่สามารถช่วยได้ตลอดไป
ทางเดินตัดขึ้นเขาหลายช่วงที่ชันมาก และไม่ค่อยมีรากไม้ หรือหินเป็นเกาะแก่งให้เราได้เหยียบดันตัวขึ้นไปตามสโลปได้ ต้องเหนี่ยวกิ่งไม้ หรือคลานอย่างระมัดระวังขึ้นไป … ฉันอดนึกถึงตอนขาลงไม่ได้ว่าจะทำยังไงดีหนอ จึงจะเดินทางตลอดรอดฝั่งได้โดยไม่บาดเจ็บ …
“.. เงียบๆด้วยครับ ตอนนี้เราเข้าเขตที่อยู่ของนกเงือกแล้ว … เกาะที่กิ่งไม้ 2 ตัวเห็นไม๊ครับ? … บินผ่านไปโน่นก็มี ...” พรานของเราบอก พร้อมกับชี้ให้เราดูนกที่อยู่ลิบๆ
เวลาของการปีนเขาดูเนิ่นนาน … เรามาโผล่ที่ลานหินของเขาลูกที่สองเพื่อหยุดพัก และเป็นช่วงที่เราจะดึงกระชาก ลาก "ทาก" ที่ไม่ได้เชิญออกจากส่วนต่างๆของร่างกาย … พรานนำทางทำสัญญาณให้เราเงียบและหยุด ก่อนที่จะบอกว่า
“กระทิง … อยู่ใกล้ๆ 1 ตัว อีกตัวหนึ่งอยู่ทางโน้น”
ฉันและเพื่อนส่วนใหญ่ค่อนข้างจะตกใจในการเจอกระทิงโดยไม่คาดฝันในระยะใกล้อย่างนี้ … แต่ คุณนเรศ เพื่อนร่วมทางเราคนหนึ่งกลับตั้งใจถ่ายภาพมาได้
“เวลาเจอกระทิงระยะใกล้ ให้นอนราบลงไปนะครับ … หากยืนหรือวิ่งอาจจะถูกเขาขวิดขาดสองท่อนนะครับ” คนนำทางบอก
“แล้วมันจะไม่เหยียบเราหรือคะ หากนอนราบลงไป?” สาวน้อยคนหนึ่งในคณะถามขึ้นมา
“ถูกเหยียบ ก็ยังดีกว่าขาดสองท่อนครับ” คือคำตอบของคนนำทาง ทำเอาเราอึ้งไปเหมือนกัน
การได้สบตากับกระทิงในสภาพแวดล้อมของป่าธรรมชาติระยะใกล้นั้น เกินความคาดหมายที่ฉันไม่เคยนึกฝันว่าจะมีโอกาส … ฉันดีใจและลิงโลดที่ได้เห็น … แม้จะไม่ค่อยดีกับความปลอดภัยในชีวิตก็ตาม
ฉันใส่กางเกงกันทากในการเดินทาง แต่ก็ไม่วายถูกทากเกาะตามข้อมือ คอ และคืบคลานเข้าไปในเสื้อด้วย … รวมๆแล้วตลอดการเดินทางไปกลับ กว่า 20 ตัวค่ะ (กลับจากปีนเขา ยังเจอทากบริเวณไรผม ตอนสระผมด้วยค่ะ)
เราเดินทางต่อ … คนนำทางดูจะระแวดระวังมากขึ้น และคอยชี้ให้ดูรอยกระทิงใหม่ๆที่อยู่ล่วงหน้าเราไปไม่นาน
การปีนเขาช่วงนี้ค่อนข้างยาก เพราะเป็นทางที่ชัน และที่สำคัญลื่นมากๆ …
เขาสามยอด จัดเป็นภูเขาสูงอันดับสามของเทือกเขาใหญ่ … หลังจากที่ปีนบ้าง คลานบ้าง มาอย่างทุลักทุเล เราก็มาถึงส่วนยอดของเขาสามยอดจนได้
… วิวที่อยู่เบื้องหน้าสวยงาม มหัศจรรย์มากค่ะ ทิวป่าเบื้องหน้าเต็มไปด้วยความเขียวขจีของต้นไม้ใหญ่ และเป็นบ้านของนกเงือกที่เราตั้งใจมาชมตอนพวกเขาบินกลับรัง …
จากจุดนี้เราสามารถมองออกไปได้กว้างไกล … เบื้องล่างเห็นพื้นที่ของป่าที่ครอบคลุมเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนของเทือกเขาใหญ่ คล้ายแผ่นดินย่นยับสีเขียว สะท้อนประกายแดดอยู่ในสายตา มีที่ราบตามหุบเขาอยู่เพียงเล็กน้อย … แดดอุ่นสาดส่อง สายลมหวีดหวิว คล้ายเวลาหยุดนิ่งอยู่กับที่
วิวในแบบพาโนรามาสุดสายตานั้น คงไม่สามารถบรรยายถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษรได้สมจริง ต้องดูจากภาพถ่าย หรือมาเห็นด้วยตาของตนเอง …
ฉันนั่งนึกถึงบทความที่อาจารย์พิไลเขียนในหนังสือ “นกเงือก สัญลักษณ์แห่งป่าดงดิบ” ความตอนหนึ่งว่า …
“... เมื่อแสงตะวันเริ่มจะลับแนวป่าด้านทิศตะวันตก และเกิดเงาจากยอดเขาทอดลงมายังหุบเขาเบื้องล่าง ทันใดนั้นก็มีเสียงแหวกอากาศมากระทบโสตประสาทดังเกรียวกราว คล้ายเสียงเห่าของลูกสุนัข ...
แท้จริงคือ เสียงร้องของนกกู๋กี๋ ดังมาจากแนวป่าด้านทิศเหนือ เมื่อเพ่งมองไปตามเสียง เราก็ได้เห็นภาพฝูงนกบินมาตามร่องหุบเขาที่ทอดแนวคดเคี้ยวยาวติดต่อกัน ฝูงนกพากันร่อนเข้าสู่หุบ ฝูงเล็กๆอีกหลายฝูงพากันบอนมาเกาะพักตามต้นไม้ใกล้ๆ แหล่งนอน จนฝูงเริ่มใหญ่ขึ้นๆ แล้วพวกมันก็พากันบินหลั่งไหลเข้าสู่ที่นอนในหุบเบื้องล่าง ราวกับสายน้ำที่ทะลักสู่อ่างเก็บน้ำ ช่างเป็นภาพที่งดงามและมีชีวิตชีวายิ่งนัก
ขณะที่สายธารแห่งนกเงือกเข้ามาใกล้เรา เสียงบินของมันราวกับพายุที่กำลังใกล้เข้ามาทีเดียว และแล้วหุบเขาเบื้องล่างก็ระงมไปด้วยเสียงร้องของการทะเลาะเบาะแว้งแก่งแย่งที่นอน และเสียงกระพือปีก จนความมืดย่างกรายเข้ามา เสียงต่างๆจึงเริ่มสงบลง ..”
เรานั่งคอยอยู่นาน … แต่โชคไม่ดี นกเงือกไม่เยี่ยมกลายกลับมาให้เห็น คนนำทางบอกว่าวันนี้ฝนตกพวกเขาคงแวะพักค้างคืนที่อีกหุบหนึ่ง …
เราตัดสินใจเดินทางกลับเมื่อเวลา 18.15 น. เป็นการเดินป่าในเวลากลางคืนครั้งแรกของฉัน … เราเตรียมไฟฉายให้พร้อม … ฉันมีไฟฉายแบบถือติดตัวไป ก่อนที่จะเรียนรู้ว่าใช้ไฟฉายแบบนี้ไม่ได้ ในการเดินทางขึ้นหรือลงเขาที่สูงชัน เพราะต้องใช้มือทั้งและเท้าทั้งสองข้างในการเหนี่ยว เกาะ และยึดกิ่งไม้ ไม่สามารถจะถือไฟฉายได้ ต้องเป็นไฟฉายประเภทสวมที่ศีรษะเท่านั้น
ฝนที่ตกลงมาอย่างไม่ลืมหูลืมตาตั้งแต่เราเริ่มการเดินทางกลับ ประกอบกับความลาดชันในองศาที่สูงไม่เบา เลยยิ่งเพิ่มความลื่นเวลาที่เราก้าวเท้าไปข้างหน้าในแต่ละก้าว … พวกเราส่วนใหญ่เลยเล่นเกมจับกบกันตลอดทาง
ฉันได้รับการอนุเคราะห์จากเพื่อนร่วมทางให้เดินตามและส่องไฟให้ จนกระทั่งทริปลีดเดอร์ของเราส่งไฟฉายแบบสวมศีรษะมาให้ใช้จึงทำให้การก้มเดินสะดวกมากขึ้น
ฉันลื่นล้มไปหลายครั้ง … สุดท้ายต้องใช้วิชา “ต่ำช้า” สุดฮิตแต่เข้าท่าที่สุดมาใช้ในทริปนี้ด้วย … ฉันก้มตัวต่ำ นั่งลงกับพื้นลาดเอียง แล้วไถลตัวลงมาตลอดทาง ปลอดภัยสำหรับผู้สูงวัยอย่างฉันมากกว่าการเดินมากมาย และรู้สึกเหมือนได้เล่น Slider โคลนเลยค่ะ เพียงแต่ต้องคอยระวังไม่ให้สะดุดตอไม้ หรือปะทะเข้ากับกิ่งไม้ที่มีหนามแหลมคม … ท่ามกลางความห่วงใยของหลายๆคน
“มีงูอยู่ทางด้านซ้ายมือ ระวังด้วยครับ” คนนำทางเตือน
“ไหนๆๆๆ ขอถ่ายรูปหน่อย” เพื่อนร่วมทางที่มีหัวใจรักสัตว์ในธรรมชาติรีบขอเข้าไปกดชัตเตอร์ เก็บภาพความมหัศจรรย์ของธรรมชาติเอาไว้ด้วยเลนส์กล้อง ในขณะที่อีกหลายคนช่วยส่องไฟให้อย่างเอิกเกริก
เราเดินทางข้ามเขา ข้ามลำห้วย ผ่านทุ่งหญ้า ฝ่าสายฝน และฝ่าดงฝูงทากมาอย่างทรหด … สองชั่วโมงครึ่งต่อมา เราเดินทางมาถึงที่พักในเวลาสามทุ่มครึ่งด้วยเสื่อผ้า เนื้อตัวที่มอมแมม แต่โชคดีมากๆที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บมากมาย เพียงแต่เคล็ดขัดยอกเล็กๆน้อยๆเท่านั้น
เช้าวันรุ่งขึ้น …สายลมและเสียงแห่งวันใหม่ในป่าเขาเริ่มขับขานประกาศการเริ่มชีวิตของวันใหม่กันระงม เราตื่นนอนด้วยอาการสดชื่นด้วยอากาศที่เย็นเหมือนหน้าหนาวที่บ้าน สบายจนอยากจะนำอากาศแบบนี้ใส่ถุงกลับบ้านด้วย
บรรยากาศรอบๆที่พักรื่นรมย์มากมาย … ป่าสีเขียวรายล้อมทุ่งหญ้าอยู่ลิบๆ ฉากหลังของภูเขาสีฟ้าเข้มขับให้ท้องฟ้าสีอ่อนสดใสน่าดูขึ้นอักโข อีกทั้งแสงแดดอ่อนๆยามเช้ายามส่องมาตกที่ใบไม้ดูมีมิติที่น่าหลงใหล ฉันจึงไม่เบื่อที่จะเก็บภาพความทรงจำไว้ในเลนส์กล้องตัวเล็กซะมากมาย
หลังจากที่ดื่มด่ำกับบรรยากาศ และอิ่มหนำกับมื้อเช้าฉบับเบาๆ พลพรรคของเราก็เริ่มเตรียมออกเดินต่อ เราแพ๊กสิ่งของทั้งหมด เตรียมพร้อมที่จะเดินทางออกจากป่า … หลายคนเลือกที่จะถ่ายรูปร่วมกันไว้เป็นที่ระลึกถึงมิตรภาพที่เกิดในรายทาง รวมถึงความประทับใจในประสบการณ์ที่มีร่วมกัน
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา