20 ก.ย. 2021 เวลา 10:04 • ท่องเที่ยว
นกหว้า .. พญาระกาแห่งป่าเมืองไทย
หากจะมีใครถามว่าตลอดช่วงเวลาที่ถ่ายภาพนกในธรรมชาติมาหลายปีนั้น มีภาพนกชนิดไหนที่ฉันประทับใจมากที่สุด … คำตอบในวันนี้ก็คือ “นกหว้า” หรือ “พญาระกา” แห่งป่าของเมืองไทยนี่เองค่ะ
ฉันเชื่อว่า “นกหว้า” ที่ดำเนินชีวิตในธรรมชาติกลางป่าเขาสูง เป็นหนึ่งของนกในฝันที่คนในแวดวงที่รักนกมีความปรารถนาที่จะเห็นให้ได้สักครั้งในชีวิต ด้วยความที่พวกมันมีรูปร่าง ท่าทาง ที่สง่างามคล้ายๆกับนกยูง จะต่างกันก็ตรงที่ “นกยูง” มีแวววงหลากสีสวยงาม ส่วนนกหว้าวงแววมีเพียงสีดำกับขาวออกเทา … หลายคนจึงจัดให้ นกหว้าจึงจัดเป็นนกยูงขาวดำ
ว่ากันว่า … ข้อต่างระหว่างนกยูงกับนกหว้าอีกประการหนึ่งคือ ลักษณะเฉพาะตัวของนกมหัศจรรย์ตัวนี้
นกหว้าเป็นนกที่มีธรรมชาติแปลกอยู่อย่างหนึ่งโดยเฉพาะตัวผู้ มันจะทำลานของมันไว้โดยเฉพาะสำหรับมากรีดกรายรำแพนและนอนพัก ... มันจะหมั่นดูแลลานของมันให้สะอาดอยู่เสมอ ขนาดใบไม้ตกเข้าไปสักใบ มันก็จะจิกหรือคุ้ยเขี่ยออกให้พ้นบริเวณทันที จนดูสะอาดเกลี้ยงเกลาเหมือนคนมากวาดไว้ จะไม่ยอมให้อะไรเข้าไปเกะกะอยู่ในลานของมันโดยเด็ดขาด แล้วก็ทำลานเฉพาะตัวของใครของมัน
นกหว้า รักรังลานเหนือสิ่งอื่นใด มันสามารถสละชีวิตเพื่อปกป้องลานของ มันได้ .. ส่วนนกยูง แม้จะรักรังลาน แต่ก็รักอย่างปรกติอย่างที่สัตว์ทั่วไปควรจะรักที่อยู่
นกหว้าเป็นสัตว์จอมโกรธเกลียด โดยเฉพาะอะไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ วัสดุ หากล่วงละเมิดเข้ามาในรังลานของมันแล้ว มันจะโกรธสุดขีด ต้องจัดการสิ่งนั้นออกไปให้พ้นลานทันที …
มันจะทำทุกอย่าง ไม่ว่าจะโดยจิกตี ปกป้อง ปัดด้วยปีก เพื่อให้ลานดินที่เป็นรังของมันสะอาดและเตียนโล่งอยู่เสมอ แม้แต่รอยตีนของมันเองที่ปรากฏอยู่ในลาน
ก่อนออกหากินมันต้องใช้ปีกปัดลบรอยของมันเสียก่อนจึงจะบินออกไปหากิน ผู้คนจึงนำมาเป็นคำเปรียบกับกับความละเอียดโล่งเตียนทั้งหลายว่า 'เตียนประดุจลานนกหว้า'
นกหว้าจะรักษาดูแลเอาไว้ด้วยชีวิตของมันทีเดียว จุดอ่อนของมันในข้อนี้แหละที่พรานผู้รู้สัญชาตญาณความรักลานของมันเป็นอาวุธล่านกหว้า และฆ่ามันได้อย่างง่ายดายที่สุดโดยแทบจะไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรเลย ขอเพียงให้เขาพบลานของมันเท่านั้น
พรานป่า เมื่อพบลานรำแพนของนกหว้า ถ้าเขาต้องการจะได้ตัวมัน เขามีวิธีจะเอาตัวมันได้โดยไม่จำเป็นต้องทำบ่วงแร้วหรือเสียลูกปืนเลย ... แค่อาศัยสัญชาตญาณรักษาความสะอาดลานของมันนี่แหละเป็นเครื่องฆ่าตัวมันเอง
เขาจะเอาไม้ไผ่ยาวสักสองสามคืบมาเหลา วิธีเหลาก็เหลาเฉพาะครึ่งหนึ่งของไม้ไผ่นั้น ให้บางและคมราวกับใบมีดทั้งสองคม ขนาดกว้างประมาณหนึ่งเซนติเมตร ส่วนอีกครึ่งหนึ่งไม่ต้องเหลา แล้วเอาด้านที่ไม่ได้เหลาย่องไปปักไว้กลางลาน ในเวลาที่มันหากินห่างจากลาน โดยให้ใบที่เหลาเอาไว้อย่างคมกริบนั้นโผล่พ้นดินขึ้นมาราวคืบกว่าๆ
พอนกหว้ากลับมาถึงลาน เห็นไม้ไผ่ปักระเกะระกะรกลูกหูลูกตาอยู่กลางลานอันแสนหวงแหนของมันเช่นนั้น มันก็จะออกอาการโกรธจัดขึ้นมาทันที …
ไม่โกรธเปล่า แต่มันจะพยายามหาวิธีเขี่ยออกไปให้พ้น มันจะใช้ปีก ใช้ขาเตะปัดไม้ไผ่แหลมๆที่ปักไว้ หมายใจให้หลุดพ้นออกไปจากลาน ซึ่งแน่นอนค่ะ มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย เพราะไม้ไผ่ที่ปักไว้นั้นไม่ใช่ใบไม้ และปักแน่นเกินกว่าที่มันจะจิกหรือคุ้ยออกไปได้
แต่ด้วยสันดานยอมไม่ได้ของมัน เจ้านกมหัศจรรย์ก็ต้องเอาเหล็กหรือไม้ไผ่นั้นออกจากลานให้ได้ ... ขาแข้งปีกปากจะฉีกขาดยังไงมันก็ไม่ยอมถอย ... ในที่สุดมันก็จะใช้ลำคอยาวของมันพันเข้ากับไม้ไผ่อันคมกริบนั้น เอาเท้ายันพื้นแล้วกระชากถอนขึ้นโดยแรง เพื่อจะให้หลุดตามประสาของมัน
อนิจจา..ไม่มีวันที่นกหว้าจะถอนไม้ไผ่ขึ้นจากลานดินได้ แม้มันจะพยายามมากมาย จนกระทั่งคมเหล็กบาดคอแผลแล้วแผลเล่า แต่มันก็ยังถอน
ท้ายที่สุดที่สุดมันก็ต้องดับดิ้นสิ้นลมคาลานอยู่ข้าง ๆ เหล็ก จากแผล
สุดท้ายที่คอหอยของมัน … ตัวไหน ตัวนั้นแหละค่ะ ไม่มีรอด พรานก็ไม่ต้องมานั่งจับเชือดคอให้เสียเวลา ถอนขนลงหม้อแกงได้เลย ... เป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากมาย
เรื่องราวที่น่าทึ่งของ “นกหว้า” อยู่ในใจของฉันมาเนิ่นนาน … อยากจะเห็น อยากจะมีโอกาสเก็บภาพในธรรมชาติของ “พญาระกา” เจ้าแห่งไก่ฟ้าทั้งปวงมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ฉันมีโอกาสเดินทางลงใต้เกือบถึงปลายด้ามขวานอยู่หลายครั้ง เพื่อไปยลโฉมนกหว้า … ต้องตื่นเช้าตั้งแต่ก่อนรุ่งสาง ออกเดินทางตั้งแต่ 3 นาฬิกา ผ่านป่าเขารกเรื้อราว 2 ชั่วโมง ฝ่าความมืดที่โอบกอดป่า ไต่ความสู่งยอดเขา ล้มลุกคลุกคลานก็หลายครั้ง แต่ความมุ่งมั่นยังเต็มร้อย … จุดหมายคือ “ลานนกหว้า” เพื่อแฝงกายแอบซุ่มรอชมพญาระการำร่าย เยื้องกรายบนลานให้ดูเป็นขวัญตา …
เว่า เหว้าๆๆๆๆๆๆๆๆ .... เว่า เหว้าๆๆๆๆๆๆๆๆ
ตลอดทางได้ยินเสียงนกหว้าร้องกังวานมาเป็นระยะๆ กะๆเอาว่าคงไม่ไกล ... ก่อนจะเร่งฝีเท้า ก้าวตามคนนำทาง
เราเข้าประจำที่ในบังไพรราว 5 นาฬิกา ซุ่มอยู่เงียบๆ ตระเตรียมกล้องถ่ายภาพให้พร้อม …เมื่อแสงอาทิตย์เริ่มสาดส่อง เรามองออกไปยังลานโล่งขนาดไม่ใหญ่นักที่ห่างออกไปราว 20 เมตร
เบื้องหน้าคือลานเกลี้ยงเกลาราวกับมีคนมาปัดกวาดเอาไว้ ... นี่หากไม่รู้เรื่องราวมาก่อน คงคิดเอาเองว่าเป็นลานที่ผีก็องกอยมาเตรียมจัดงานปาร์ตี้ในคืนนี้
เงารำไรๆในร่มไม้เบื้องหน้าเผยโฉมนกหว้าที่เราเฝ้าคอยให้เห็นครั้งแรกในเวลาราว 6.20 นาฬิกา ... นกหว้าตัวผู้ที่เราได้ยินเสียงก็เริ่มปรากฏกายให้เห็น … ช่วงแรกดูนกจะอยู่ในอาการระวังไพรสูงมาก นกออกมายืนริมชายป่าสอดส่ายสายตาไปดูความเคลื่อนไหวรอบกายอยู่พักใหญ่
แต่เมื่อผืนป่ารอบกายดูเงียบสงบ นกหว้าก็เริ่มออกเดินตรงมาเกาะคอนไม้ ... ส่งเสียงร้อง เว่า เหว๊าวๆๆๆๆ ดังกังวานไปทุกทิศทาง
นกหว้าจะเดินช้าๆไปทางซ้ายบ้าง ขวาบ้าง … สลับกับการร้องเสียงดัง คาดเดาเอาว่าคงเป็นการร้องเรียกตัวเมีย เราเฝ้าดูก็ได้ยินเสียงร้องตอบแทบทุกครั้ง หากแต่ไม่มีการปรากฏกายของสาวเจ้าแต่อย่างใด
เราโชคดีที่วันนั้นแม้จะเลือกดูการปรากฏกายของนกหว้าแค่รอบเดียว แต่นกมหัศจรรย์ตัวนั้นก็ออกมาให้เห็นเป็นช่วงเวลากว่า 2 ชั่วโมง … การเฝ้าดูนกหว้าในธรรมชาติครั้งนี้จึงเป็นความงดงาม สร้างความประทับใจอย่างที่สุด .. คิดถึง อยากให้ทุกท่านได้เห็นบ้าง แต่ที่ทำได้คือการเก็บภาพมาฝากค่ะ ..
การเดินทางครั้งนี้ ดีใจล้นเหลือที่ได้เห็น ได้เก็บภาพที่แม้จะไม่คมชัดด้วยติดขัดเรื่องแสงที่น้อยนิด แต่ก็ยังพอจะได้มาฝากกัน … เสียดายอยู่นิดเดียวที่ตัวเมียหลีกเร้นอยู่ในป่า ไม่เผยโฉมออกมา เลยไม่มีภาพ นกหว้าตัวผู้รำแพนหางอวดสาว เพื่อเกี้ยวพาราศีขอฝากรัก … ลีลาที่ใครหลายคนบอกว่าเป็นลีลาที่น่าดู น่าประทับใจมาก
คนที่เคยพบนกหว้าเล่าว่า .. เมื่อตัวเมียมา นกหว้าตัวผู้ก็จะเริ่มลีลาการเกี้ยวพาราศี โดยการแพนปีกเป็นวงกลมเหมือนพัด ขนหางจะชี้ขึ้นสูงและจะย่อตัวลงต่ำพร้อมกับย่ำเท้าและสั้นขน เต้นไปรอบๆตัวเมีย หลังจากผสมพันธุ์แล้วตัวเมียจะแยกตัวออกไปเพื่อสร้างรังและวางไข่
นกหว้า : นกหว้า (Great Argus) เป็นไก่ฟ้าขนาดใหญ่ขนสีน้ำตาล หัวและคอเป็นสีฟ้า พบในป่าของเกาะบอร์เนียว, เกาะสุมาตรา และ คาบสมุทรมลายูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชื่อวิทยาศาสตร์ของนกหว้าตั้งโดยคาโรลัส ลินเนียสซึ่งโยงถึงจุดคล้ายตาบนปีกจำนวนมาก โดยตั้งตามชื่ออาร์กัส ยักษ์ร้อยตาในตำนานเทพเจ้ากรีก
นกหว้า : จัดเป็นนกที่มีขนาดใหญ่ ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะแตกต่างกันอย่างเด่นชัด สีขนตามตัวส่วนใหญ่ออกเป็นสีน้ำตาล ไม่มีเดือยที่ขา ตัวผู้มีขนาดตัวยาว 170-200 ซม. ขนาดของตัวเมียยาว 74-76 ซม.
ส่วนของหัวและลำคอเป็นหนังเกลี้ยงสีฟ้าคราม แต่มีแถบขนแคบๆ สีดำ พาดตามยาวจากเหนือจะงอยปากไปตลอดแนวสันคด แถบขนบนหัวของนกหว้าตัวผู้ จะมีลักษณะเป็นแผงขนหนาสีดำเข้มกว่าของตัวเมีย และตรงส่วนท้ายของกระหม่อม แผงขนจะยาวกว่าส่วนอื่น มีลักษณะเป็นขนหงอนตั้งเป็นสันขวานขึ้นมา ไม่เป็นพู่หงอนอย่างไก่ฟ้าและนกยูง
นกหว้าตัวเมียจะมีแถบขนบริเวณท้ายทอยลงมาเป็นเส้นขนยาวไม่เป็นระเบียบ สีขนไม่ดำเข้ม และเป็นแผงขนหนาอย่างตัวผู้ นอกจากนี้นกหว้าตัวผู้ยังมีขนปีกบินและขนหางใหญ่ยาวเป็นลักษณะเฉพาะเด่นสะดุดตา ขนปีกบินชุดในมีปลายเส้นขนแผ่กว้างเกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยม แถบเส้นขนด้านในมีลวดลายเป็นดอกดวงขนาดใหญ่ ขอบนอกเป็นสีน้ำตาลดำเข้ม ข้างในเป็นสีเหลือบออกเหลืองแกมน้ำตาลเรียงเป็นแถวจากโคนถึงปลายทุกอัน ดอกลายนี้ปกติจะมองไม่เห็น แต่จะเห็นได้เวลาที่นกหว้าแพนปีกออกเต็มที่ สำหรับขนหางเฉพาะขนหางคู่กลางจะมีขนาดใหญ่และยาวกว่าขนหางถัดออกไปมาก ถึงประมาณ 4 เท่าลำตัว และมีลวดลายเป็นแต้มจุดประเล็ก ขอบสีน้ำตาลเข้มตรงกลางสีขาว กระจายอยู่ทั่วไป
เมื่อนกหว้าเตรียมลานเรียบร้อยแล้ว มันจะส่งเสียงร้องเพื่อเรียกตัวเมียดัง “ว้าว ว้าว” ซ้ำๆกันช่วงละราว 10 ครั้งเสียงดังกังวานไปทั้งป่า สามารถได้ยินในระยะทางกว้างไกล
การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย : พบในป่าของเกาะบอร์เนียว, เกาะสุมาตรา และ คาบสมุทรมลายูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยพบทางภาคใต้ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ลงไปตลอดแหลมมลายู เป็นนกประจำถิ่นซึ่งค่อนข้างหายาก ชอบอาศัยอยู่ตามป่าทึบและป่าลึก ในระดับเชิงเขาจนกระทั่งถึงระดับความสูง 900 เมตรจากระดับน้ำทะเล
พฤติกรรม : นกหว้าเป็นนกขี้อาย และระวังไพรสูงมาก ปกติชอบอยู่โดดเดี่ยวนอกจากในฤดูผสมพันธุ์ หากินช่วงเช้าและก่อนค่ำ กินเมล็ดพืช ผลไม้ที่หล่นตามพื้นดิน แมลงและตัวหนอน
เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ นกหว้าตัวผู้จะทำลานไว้สำหรับรำแพนขนปีกอวดตัวเมีย เรียกว่า “ ลานนกหว้า” ที่ลานนั้นมันจะรักษาความสะอาดอย่างดี เก็บกิ่งไม้ใบไม้ออกหมดตลอดเวลา หลังจากนั้นตัวผู้ก็จะร้องเรียกตัวเมีย เมื่อพบตัวเมีย ตัวผู้จะรำแพนขนปีกเพื่อดึงดูดใจตัวเมียก่อนผสมพันธุ์ เมื่อพ้นฤดูผสมพันธุ์แล้ว ตัวเมียจะแยกออกไปทำรังออกไข่ ตัวเมียจะสร้างรังหยาบๆ ด้วยกิ่งไม้เล็กบนพื้นดินใต้พุ่มไม้ทึบ ปูพื้นรังด้วยใบไม้ วางไข่เพียง 2 ฟองเท่านั้นโดยห่างกัน 2 วัน ไข่มีสีครีมหรือขาว ระยะฟักไข่ 26 วัน ลูกนกแรกเกิดสามารถลืมตาได้ มีขนอุยปกคลุมทั่วตัวและสามารถเดินตามแม่ไปหาอาหารได้ทันที
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพุทธศักราช 2535
ชมคลิปนกหว้าตัวผู้รำแพนหางเกี้ยวตัวเมีย ตาม link นะคะ
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา