20 ก.ย. 2021 เวลา 13:41 • ศิลปะ & ออกแบบ
ชมตัวอย่าง! สื่อสารด้วย 'ศิลปะ' อย่างไรให้สร้างสรรค์และเหมาะสม
ในช่วงที่ผ่านมาหลายคนอาจได้เห็นรูปการ์ตูนล้อเลียน ‘ลิซ่า’ จากวง BLACKPINK ในชุดไทย ซึ่งถูกโพสต์โดยกรมอนามัย เพื่อเชิญชวนให้คนดาวน์โหลดมาตรการป้องกันโควิด-19 แต่โพสต์ดังกล่าวกลับไม่ได้เป็นได้ด้วยดีอย่างที่คาดไว้ เมื่อผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตจำนวนมากออกมาต่อต้าน!
เพราะเหตุใดคนถึงออกมาแสดงความไม่พอใจ? เป็นเพราะใช้ศิลปะที่ดู ‘ไม่เป็นทางการ’ เพราะโหนกระแสมากเกินไป หรือเพราะเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม? มาหาคำตอบในเรื่องนี้กันดีกว่า
ทำไมหลายคนถึงออกมาต่อต้านโพสต์ดังกล่าว
จริงๆ แล้วการวาดรูปการ์ตูนล้อเลียนคนดัง โดยเฉพาะนักการเมือง เรียกกันว่า ‘Political Cartoon’ หรือ ‘Editoreal Cartoon’ ยังเป็นที่พบเห็นได้ทั่วไปตามเว็บไซต์ของสำนักงานข่าว อย่าง The New York Times และ The Atlantic แต่ที่คนจำนวนมากออกมาต่อต้าน เป็นเพราะรูปการ์ตูนดังกล่าวแสดงออกถึง ‘การคุกคามทางเพศ’
ตัวการ์ตูนชายสูงอายุที่ยืนเคียงข้างกับลิซ่านั้น มีการมองด้วย ‘ตาถลน’ ประกอบกับความพูดที่คิดในใจว่า “น่ารักจังเลยลุงชอบๆ” องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้สามารถตีความออกมาได้ในเชิงคุกคามทางเพศ
การ์ตูนล้อเลียนเช่นนี้ยังชวนให้หวนคิดถึงการ์ตูนเล่มเล็กๆ ราคา 12 บาท (ซึ่งต่อมามีการปรับราคาเป็น 15 บาทและ 20 บาทตามสมัย) ที่หลายคนเติบโตมาด้วย จริงอยู่ที่การ์ตูนเหล่านี้มอบความสนุกและช่วยสร้างนิสัยรักการอ่าน แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเนื้อหามักจะมีการคุกคามทางเพศอยู่จำนวนหนึ่ง ไม่ว่าจะผ่านมุกตลกหรือการวาดรูปให้ตัวการ์ตูนมีทรวดทรงเกินจริง
1
อย่างไรก็ตาม ในอดีตที่การ์ตูนเช่นนี้ยังไม่มีใครออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ใช่เพราะว่าเป็นเรื่องที่เคยถูกต้อง แต่เป็นเพราะในสมัยนั้น โลกอินเทอร์เน็ตยังไม่เชื่อมต่อผู้คน ยังไม่ได้เป็นพื้นที่ให้คนออกมาแสดงความคิด และ การตระหนักรู้ในประเด็นการคุกคามทางเพศยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าปัจจุบัน
นอกจากนั้น หลายคนยังมองว่าการวาดตัวละครคล้ายลิซ่า ซึ่งกำลังเป็นกระแสในช่วงนี้ ต้องการเกาะกระแสและพยายาม ‘เคลม’ ความสำเร็จของนักร้องท่านนี้ ทั้งๆ ที่จริงแล้วเธอโด่งดังด้วยความสามารถและความพยายามของตัวเองล้วนๆ ไม่ใช่เพราะการสนับสนุนจากรัฐบาลหรือหน่วยงานใดๆ
1
ไม่นาน กรมอนามัยก็ได้ลบโพสต์ดังกล่าวออกจากหน้าแฟนเพจและมีการออกมาขอโทษ แต่กระนั้น เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่หน่วยงานของรัฐฯ ถูกวิจารณ์เรื่องการสื่อสาร
1
ความล้มเหลวในการสื่อสารของหน่วยงานรัฐบาล
ตั้งแต่สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เมื่อปีก่อน รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องปัญหาการสื่อสารมาโดยตลอด ตั้งแต่การออกคำสั่งไม่ชัดเจน ปรับเปลี่ยนกลับไปกลับมา ไปจนถึงเรื่องเล็กน้อย อย่างความพยายามในการปรับสีภาพรายงานยอดผู้ติดเชื้อให้ดูไม่รุนแรง
การสื่อสารเช่นนี้ดูไม่น่าเชื่อถือและสร้างความ ‘ตระหนก’ มากกว่าตระหนัก
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยได้เสนอแนะว่า นอกจากรัฐบาลจะสื่อสารกว้างๆ สำหรับคนทั่วไปทุกคนแล้ว ควรออกแบบเนื้อหาและข้อมูลโดยเฉพาะเพื่อการสื่อสารกับคนเฉพาะกลุ่มด้วย อย่างการใช้ภาษาถิ่น ภาษาไม่วิชาการ เข้าใจง่าย การใช้ภาพประกอบ หรือการใช้แพลตฟอร์มที่คนกลุ่มนั้นนิยมใช้กัน
ยกตัวอย่างเช่น การใช้ภาษาต่างประเทศในการสื่อสารกับแรงงานต่างด้าวที่มีมากกว่า 2 ล้านคนในไทย หรือการเลือกทำวิดีโอผ่านแอปฯ Tiktok เพื่อสื่อสารกับกลุ่มเยาวชน เป็นต้น
ตัวอย่างความสำเร็จจาก COVIDLatino.org
ในสหรัฐฯ มีชาวเชื้อสายลาตินอเมริกาอาศัยอยู่มากถึง 60 ล้านคน และจำนวนมากเป็นแรงงาน ปัญหาที่คนเหล่านี้ต้องพบเจอในช่วงโควิด-19 คือ ข้อมูลจากภาครัฐที่สื่อสารด้วย ‘ภาษาอังกฤษ’ และมีเนื้อหา ‘เชิงวิชาการ’ ทำให้หลายคนไม่เข้าใจถึงสถานการณ์ ข้อมูลเกี่ยวกับโรค หรือข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนดีนัก จึงลังเลในการไปฉีดวัคซีน
บางคนหาทางออกด้วยการติดตามแหล่งข่าวสารจากช่องทางอื่นแทน แน่นอนว่าหลายต่อหลายครั้ง ข้อมูลที่ได้รับคือข่าวปลอม เลยกลายเป็นว่าหากคนเหล่านี้ไม่รู้ข้อมูล ก็ได้รับข้อมูลผิดๆ ไปจำนวนมาก
ผลที่ตามมาคือกว่า 30% ของตัวเลขผู้ป่วยโควิดและ 20% ของผู้เสียชีวิตจากโควิดเป็นชาวเชื้อสายลาตินอเมริกา
Gilberto Lopez ผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่ง Arizona State University จึงได้จัดแคมเปญสร้างเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ชื่อ “COVIDLatino.org” สำหรับชาวลาตินอเมริกาโดยเฉพาะ โดยเนื้อหาในเว็บไซต์มีทั้ง 2 ภาษาเป็นหลัก คือภาษาสเปนและภาษาอังกฤษ (มีการใช้ภาษา Zapateco ภาษาพื้นเมืองของประเทศเม็กซิโกในบางกรณี) มีการมีการใช้สื่อที่เข้าใจง่ายอย่าง ‘แอนิเมชัน’ และ ‘การ์ตูน’
งานศิลปะเหล่านี้ถูกเผยแพร่ผ่านหลายแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, Instagram, Youtube, และ Tiktok สาเหตุที่เน้นไปที่โซเชียลมีเดียเหล่านี้เป็นหลักเป็นเพราะว่าผู้จัดทำต้องการต่อสู้กับ ‘ข่าวปลอม’ ที่มาจากช่องทางเหล่านี้เหมือนกัน
ถือเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของการสื่อสารด้วย ‘ศิลปะ’ อย่างสร้างสรรค์ เพื่อมุ่งเน้นในการแก้ปัญหาช่องว่างระหว่างข้อมูล โดยทางผู้จัดทำหวังว่าความเข้าใจนี้เองจะนำไปสู่อัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
จะเห็นได้ว่าการสื่อสารด้วยศิลปะก็ถือเป็นวิธีหนึ่งในการเข้าถึงประชาชน แต่สิ่งที่ต้องตระหนักคือเรื่อง ‘ความเหมาะสม’ หากทางหน่วยงานของรัฐบาลได้นำผลตอบรับ จากประเด็นล่าสุดไปปรับปรุงแก้ไขคงจะดีไม่ใช่น้อย เพราะในประเทศไทยก็มีศิลปินศักยภาพสูงจำนวนมากที่รอใช้ความสามารถ ในการแก้วิกฤตนี้ร่วมกันอยู่
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
ทะยาน Live “สื่อสารอย่างไรให้เข้าถึงคนทุกเพศทุกวัย? เรื่องที่ภาครัฐและเอกชนควรเข้าใจ” >> https://bit.ly/3ExGwLI
การสื่อสารในยามวิกฤต | Mission To The Moon EP.1186 >> https://bit.ly/3EB1OrV
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#society
การ์ตูนเปรียบเทียบระหว่างคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว (Vaccinated) สามารถกลับมาทำงานได้
ต่างกับคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน (Not Vaccinated)
.
อ่านบทความได้ที่ >> https://bit.ly/3CtnDrh
‘ขอแนะนำให้รู้จักกับญาติของฉัน สายพันธุ์เดลต้า!’
(การ์ตูนอธิบายถึงความอันตรายกว่าของสายพันธุ์ใหม่ให้เข้าใจง่ายๆ พร้อมเชิญชวนฉีดวัคซีนป้องกัน)
.
อ่านบทความได้ที่ >> https://bit.ly/3CtnDrh
ข้อดีของวัคซีนผ่านการ์ตูนในรูปแบบ Loteria หรือบิงโกของชาวลาตินอเมริกา
.
เนื้อหาพูดถึงสิ่งที่คุณสามารถ ‘ลุ้นชิงโชค’ ได้หากฉีดวัคซีนแล้ว โดยมีตั้งแต่ความรัก อาหาร สุขภาพดีที่ การสังสรรค์ และการท่องเที่ยว
.
อ่านบทความได้ที่ >> https://bit.ly/3CtnDrh
โฆษณา