20 ก.ย. 2021 เวลา 23:39 • ธุรกิจ
มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero Emission ภาคธุรกิจต้องทำอะไรบ้าง?
Cr. iStock by Getty Images, Photo by NicoElNino
Net Zero Emission เป็นหนึ่งในเทรนด์ที่สำคัญของโลกในเวลานี้ องค์กร/บริษัทหลายแห่งเริ่มให้ความสำคัญ เริ่มคุ้นกับคำ ๆ นี้ และก็อาจมีข้อสงสัยว่า มันคืออะไร แล้วเราจะทำอย่างไรกับมันได้บ้าง?
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลต่อภัยพิบัติทั่วโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น ไฟป่า คลื่นความร้อน อากาศหนาวเย็นสุดขั้ว น้ำท่วม พายุเฮอริเคนในระดับที่รุนแรง ดังที่ Future Perfect ได้กล่าวถึงไว้ในบทความที่ผ่านมาก่อนหน้านี้
ดังนั้น เราจึงเห็นกระแสจากหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงองค์กรและบริษัทต่าง ๆ ได้ออกมาแสดงความมุ่งมั่นถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยตั้งเป้าหมายให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (ปริมาณที่ปล่อยก๊าซต้องไม่มากไปกว่าปริมาณช่วยดูดซับก๊าซจากกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การปลูกป่า การดักจับ/กักเก็บคาร์บอน เป็นต้น) ภายในเงื่อนเวลาที่ตั้งเป้าไว้ หรือเรียกว่าเป้าหมาย Net Zero นั่นเอง
เราจะเห็นว่ามีหลายประเทศ หรือองค์กรหลาย ๆ แห่ง ได้มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะบรรลุ Net Zero ภายในปีใด (แต่จะทำได้จริงตามที่ตั้งเป้าไว้ได้หรือไม่ ก็ต้องคอยติดตามกันต่อไป) องค์กรธุรกิจหลาย ๆ แห่ง โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ บริษัทมหาชนที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือบริษัทข้ามชาติที่มีเครือข่ายอยู่ในหลาย ๆ ประเทศ ก็มักจะมีคำถามยอดฮิตคำถามหนึ่งว่า "แล้วเราจะไปให้ถึง Net Zero กันได้ภายในปีไหนดี" เป็นคำถามที่ถามง่าย แต่ตอบยาก ถ้ายังไม่รู้ว่าตอนนี้เราอยู่ตรงจุดไหน แล้วเราจะไปถึงตรงนั้นได้อย่างไร
คำถามข้อหลังนั้นเป็นสิ่งที่ต้องตอบให้ได้ก่อนจะไปกำหนดเป้าหมาย Net Zero ซึ่งมันน่าจะง่ายกว่าการทำแบบกลับหัว นั่นก็คือ ตั้งเป้า Net Zero ขึ้นมาเพื่อปักธงไว้ก่อน (จะด้วยแรงกดดันจากบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน คู่แข่ง หรือคู้ค้า ก็แล้วแต่) แล้วค่อยมาคิดหาวิธีในการลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ไปถึงเป้าหมายให้ได้กันอีกที เช่นนี้น่าจะหืดขึ้นคออยู่พอสมควร ถ้าองค์กรยังไม่มีบริบทที่เอื้อต่อการดำเนินการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ดังนั้นแล้ว ถ้าองค์กร/บริษัท อยากมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero Emission และมีคำถามว่าต้องทำอะไรบ้างนั้น Future Perfect จะช่วยเปิดมุมคิดเพื่อไขความกระจ่างให้ต่อไป
Cr. iStock by Getty Images, Photo by NicoElNino
ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับ Net Zero กันให้ดีก่อน ตามที่ Future Perfect ได้เคยกล่าวไว้แล้วในบทความที่ผ่าน ๆ มา Net Zero ที่ทั่วโลกให้ความสนใจกันอยู่นั้น มีด้วยกัน 2 ความหมาย กล่าวคือ ดูจากก๊าซที่ปล่อยออกสู่บรรยากาศอันเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์
ถ้าพิจารณาเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 (หรือเรียกสั้น ๆ ว่าคาร์บอน) เพียงอย่างเดียว เพราะถือว่าเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีปริมาณมากที่สุดในชั้นบรรยากาศ อันนี้เรียกว่า Net Zero Carbon, Net Zero CO2 แล้วแต่จะเรียก หรือบางสำนักก็ใช้คำว่า Carbon Neutrality หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งมีความหมายเหมือนกันทั้งหมด
แต่ถ้าเราไม่ได้พิจารณาเฉพาะ CO2 เพียงอย่างเดียว นั่นหมายความว่าเราจะต้องรวมขอบเขตไปถึงก๊าซเรือนกระจกตัวอื่น ๆ ที่เหลือด้วย โดยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ประกอบด้วยก๊าซ 7 ชนิด ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเทน (CH4) ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFC) ก๊าซเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFC) ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) และก๊าซไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (NF3) เป้าหมายนี้จะเรียกว่า Net Zero GHG Emission (GHG= Green House Gas) หรือเรียกย่อ ๆ ได้ว่า Net Zero Emission
Net Zero Carbon หรือ Net Zero GHG Emission เรียกอีกอย่างว่า การปล่อยก๊าซ CO2 หรือก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตามลำดับ ซึ่งจะพิจารณาว่ามีการปล่อยก๊าซ CO2 หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปริมาณที่เท่ากันหรือสมดุลกันกับ ปริมาณที่มีการดูดซับ หรือกักเก็บ หรือชดเชยการปล่อยก๊าซดังกล่าวหรือไม่ ตามขอบเขตของก๊าซที่พิจารณา โดยหน่วยวัดที่นิยมวัดปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 หรือก๊าซเรือนกระจก จะวัดเป็นหน่วย ตันของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือ tonCO2e
ถ้าเราจำแนกการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในองค์กร/บริษัท จะสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ประเภท
ประเภทที่ 1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง (Direct Greenhouse Gas Emission) หรือเรียกว่า Scope 1 กล่าวได้ง่าย ๆ ก็คือ พิจารณาก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในกระบวนการขององค์กร/บริษัทเอง ทั้งที่มาจากอุปกรณ์ต้นกำลัง และยานพาหนะทั้งหลายที่เป็นเจ้าของ อีกทั้งรวมไปถึงการรั่วไหลของก๊าซเรือนกระจกตัวอื่น ๆ ที่เป็นอุปกรณ์ขององค์กร/บริษัทด้วย เช่น สารทำความเย็น สารดับเพลิง CO2 เป็นต้น
ประเภทที่ 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่เกิดจากการซื้อพลังงานภายนอกองค์กร (Indirect Greenhouse Gas Emission from purchased energy) หรือเรียกว่า Scope 2 เป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอันเกิดจากพลังงานที่ได้จากการซื้อจากภายนอก (องค์กร/บริษัทไม่ได้ผลิตพลังงานเอง) ได้แก่ ไฟฟ้า และพลังงานความร้อน (มักจะเป็นไอน้ำที่ซื้อจากภายนอก) และนำพลังงานนั้นมาใช้ภายในองค์กร/บริษัท
ประเภทที่ 3 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ (Other Indirect Greenhouse Gas Emission) หรือเรียกว่า Scope 3 เป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม ที่ไม่ได้เกิดจากการดำเนินงานของบริษัทโดยตรง แต่เป็นผลพวงจากการดำเนินงานของบริษัท เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีการจำหน่ายให้ลูกค้า (เมื่อลูกค้าใช้งานก็จะปล่อยก๊าซเรือนกระจก) สินค้าและบริการที่ซื้อมาจาก Supplier การขนส่งที่ดำเนินการโดย Supplier การเดินทางไปปฏิบัติงานของผู้บริหารหรือพนักงานขององค์กร/บริษัท การดำเนินงานของผู้แทนจำหน่าย Dealer หรือ Franchisee เป็นต้น เรียกได้ว่าต้นตอการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ได้เกิดจากการดำเนินงานของบริษัทเอง และไม่ได้เป็นผู้ใช้พลังงานโดยตรง แต่ส่งผลกระทบให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรอบข้างต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกแทน
โดยปกติแล้ว องค์กร/บริษัท จะต้องจัดทำการบันทึกข้อมูลให้ได้ครบถ้วนก่อนว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร/บริษัทนั้นมีอยู่ในประเภทใดบ้าง และเกิดจากกิจกรรมใดบ้าง โดยเฉพาะประเภทที่ 1 และ 2 นั้น ควรต้องทราบให้ได้ก่อน ส่วนประเภทที่ 3 นั้น ถ้าทราบข้อมูลก็จะเป็นประโยชน์ในแง่ของการหาโอกาสใหม่ ๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจก หรือโอกาสทางธุรกิจอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้จาก Low Carbon Economy
เมื่อเราทราบถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว จึงค่อยพิจารณาวิธีการในการดำเนินการที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายของ Net Zero ได้ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 แนวทาง ได้แก่
1. ลดต้นเหตุของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจก
แนวทางนี้เป็นการดำเนินงานแบบตรงไปตรงมา ก็คือลดที่ต้นเหตุของการปล่อยนั่นเอง สิ่งที่สามารถทำได้มีหลายวิธีการ เช่น การค้นหาจุดที่ใช้พลังงานแบบเดิม ๆ แล้วเปลี่ยนมาใช้เป็นพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ให้มากที่สุด หรือว่าการปฏิบัติงานในจุดใดขององค์กรที่สามารถลดการใช้พลังงงานได้ หรือทำให้มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น ก็สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ยิ่งไปกว่านั้น การดำเนินงานตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ก็มีส่วนช่วยเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ด้วยเช่นกัน (สามารถกลับไปอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความก่อนหน้า ของ Future Perfect "เมื่อ 2 เทรนด์มาบรรจบกัน: Circular Economy × Net Zero Emission")
Cr. iStock by Getty Images, Photo by Scharfsinn86
2. ดูดซับหรือกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจก
แนวทางนี้คือการจัดการกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นแล้ว คือก๊าซ CO2 หรือก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ โดยสามารถใช้แนวทางต่าง ๆ เพื่อจัดการกับผลลัพธ์ดังกล่าวโดยตรง เช่น การใช้เทคโนโลยีเพื่อดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันเกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงปกติ หรือเชื้อเพลิงแบบชีวมวล ส่วนอีกทางหนึ่งคือการจัดการผลลัพธ์ทางอ้อม กล่าวคือ ไม่ได้ดักจับและกับเก็บก๊าซ CO2 ที่มีการปล่อยจากแหล่งโดยตรงในการดำเนินธุรกิจ เช่น การปลูกป่า และการเพิ่มสมรรถนะการกักเก็บ CO2 ลงในดิน (Soil Carbon Sequestration)
ในประเด็นหลัง อาจมีบางคนสงสัยว่า การปลูกป่า กับการกักเก็บ CO2 ลงในดิน มันคือเรื่องเดียวกันหรือไม่ คำตอบคือมันมีส่วนที่สัมพันธ์กัน แต่ไม่ใช่เรื่องเดียวกันทั้งหมด กล่าวคือ การปลูกป่าเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยดูดซับก๊าซ CO2 จากบรรยากาศเพื่อเปลี่ยนสภาพให้กลายเป็นคาร์บอนหรือเนื้อไม้ในต้นไม้ และลงไปอยู่ในดิน รวมถึงทำให้เกิดระบบนิเวศที่ช่วยให้ดินสมบูรณ์ด้วย
แต่การกักเก็บ CO2 ลงในดินนั้น จะเน้นไปที่การพัฒนาผืนดินที่อาจใช้ทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์ ให้มีความสามารถในการดักจับ CO2 มากขึ้น เช่น การปลูกพืชหมุนเวียน การปลูกไม้ยืนต้น การปลูกหญ้าเพื่อเลี้ยงสัตว์ การฝังกลบขยะชีวภาพลงในดินเพื่อให้กลายเป็นปุ๋ย กล่าวโดยสรุปก็คือ เป็นกิจกรรมที่จะช่วยให้ดินยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ และมีพืชคลุมดินเพื่อช่วยในการดักจับ CO2 ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยไม่ปล่อยให้มีช่วงเวลาทิ้งร้างให้ว่างเปล่าของดิน หรือทำให้ดินเสื่อมโทรมลง
3. ชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกด้วยคาร์บอนเครดิต
วิธีนี้เป็นวิธีสุดท้ายที่จะมีส่วนช่วยในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กล่าวคือ หากองค์กรไม่สามารถดำเนินการตามวิธีการ 2 อย่างที่กล่าวมาข้างต้น เนื่องจากไม่มีทีมงานเพียงพอ หรือมองว่าต้องมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่สูงเมื่อต้องทำเอง ก็สามารถเลือกแนวทางการชดเชยการปล่อยก๊าซ CO2 ได้เช่นกัน แนวทางที่สามารถทำได้คือ การซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการที่ได้รับการรับรอง เช่น ซื้อคาร์บอนเครดิตประเภท T-VER จากหน่วยงานหรือองค์กรที่ดำเนินกิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ที่ได้รับการรับรองโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก. เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีแนวทางอื่น ๆ อีกเช่น การทำโครงการ หรือมีส่วนร่วมในการส่งเสริมโครงการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมการติดตั้ง Solar Farm ในชุมชนเพื่อหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น เป็นต้น โดยโครงการดังกล่าวสามารถนำไปขอรับรองคาร์บอนเครดิตได้ด้วยเช่นกัน โดยองค์กรก็จะได้รับคาร์บอนเครดิตตามสัดส่วนที่ได้ให้การสนับสนุน หรือตามข้อตกลงกับผู้เกี่ยวข้อง และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของ อบก. หรือหน่วยงานที่ให้การรับรองด้วย
Cr. iStock by Getty Images, Photo by kynny
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ จากแนวทางที่กล่าวมานั้น น่าจะทำให้พอเห็นภาพที่ชัดขึ้นมาบ้างว่า ถ้าองค์กรจะมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero Emission องค์กร/บริษัท สามารถเตรียมการสำหรับดำเนินการใด ๆ ได้บ้างเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้น
อย่างไรก็ดี หลักเกณฑ์ ข้อกำหนด และมาตรการต่าง ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศไทย และในระดับสากลนั้น เริ่มมีให้เห็นบ้างแล้ว แต่ยังไม่เต็มรูปแบบ หรือครบถ้วนในทุก ๆ ด้าน แต่ก็เป็นสัญญาณสำหรับองค์กรภาคธุรกิจด้วยเช่นกัน ที่จะต้องเตรียมความพร้อม เพื่อปิดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับองค์กร หรือแม้กระทั่งค้นหาโอกาสใหม่ ๆ หรือเทรนด์ธุรกิจใหม่ ๆ ที่เป็นผลมาจากเทรนด์สำคัญของโลกเรื่องนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของยูเอ็นหรือ COP26 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือน ต.ค. 64 นี้ ที่เมืองกลาสโกว์ สก็อตแลนด์ เราคงจะได้เห็นทิศทางและแนวปฏิบัติในเชิงรายละเอียดที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้จะมีประเด็นใหม่ ๆ เรื่องใดเกิดขึ้นบ้าง คงต้องติดตามกันต่อไป
หากผู้อ่านสนใจในสาระที่ช่วยเปิดมุมคิดไปสู่แนวคิดใหม่ ๆ เพื่อร่วมกันสร้างอนาคตที่ยั่งยืนในทุกมิติ โปรดติดตามได้จาก Future Perfect ในบทความถัด ๆ ไป ผู้อ่านท่านใดที่ยังไม่ได้กดติดตามเพจ Future Perfect สามารถกดติดตามได้เลยครับ และทุกท่านสามารถ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับ Future Perfect ได้ผ่านการแสดงความคิดเห็นและแบ่งปันเรื่องราวกันได้ที่ด้านล่างนี้ครับ
3 มุมคิดที่ Future Perfect ขอฝากไว้
1) การมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero Emission ขององค์กร/บริษัท จำเป็นต้องทราบก่อนว่าปัจจุบันมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใด ในปริมาณเท่าใด ในธุรกิจใดบ้าง เพื่อใช้เป็นจุดตั้งต้นในการจัดทำแผนงาน เป้าหมายที่ชัดเจน และมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ
2) การปล่อยก๊าซเรือนกระจก จำแนกออกได้เป็น 3 ประเภท (3 Scopes of GHG Emission): ปล่อยทางตรง ปล่อยทางอ้อมจากการซื้อพลังงานมาใช้ และปล่อยทางอ้อมอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับองค์กร/บริษัทโดยตรง
3) แนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3 แนวทาง: ลดการปล่อยที่ต้นเหตุ ดูดซับและกักเก็บ CO2 และชดเชยด้วยคาร์บอนเครดิต
#FuturePerfect #อนาคตกำหนดได้ #NetZeroEmission #NetZeroCarbon #NetZero #CarbonNeutrality
โฆษณา