26 ก.ย. 2021 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์
เมื่อพูดถึง "ยาปฏิชีวนะ" หลายคนอาจคุ้นเคยจากการเรียกจนติดปากว่า ยาแก้อักเสบ แต่จริงๆ นั่นเป็นความเข้าใจผิด เพราะยาปฏิชีวนะเป็นเป็นยาฆ่าเชื้อ ไม่ได้มีฤทธิ์ลดหรือต้านการอักเสบอย่างอาการปวดหรือบวม คุณสมบัติของยาปฏิชีวนะคือการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นตัวการทำให้เราเป็นโรคได้มากมาย ตั้งแต่ โรคปอดติดเชื้อ อหิวาตกโรค วัณโรค และอีกนับร้อยโรคที่คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างมหาศาลในประวัติศาสตร์ จนผู้เชี่ยวชาญยกให้เป็นยาที่เพิ่มอายุขัยมนุษย์ได้มากกว่า 10 ปี
1
ในบรรดาเชื้อแบคทีเรียที่เลวร้ายที่สุดคือแบคทีเรียกลุ่มสเตรปโตคอคไคเพียงไม่กี่สายพันธุ์ พวกมันแข็งแกร่งทนทายาด และยังพบได้ทุกแห่งตั้งแต่ในพื้นสกปรกๆ ไปจนถึงบนผิวหนังของคนเรา แต่มันจะน่ากลัวที่สุดเมื่อเข้าไปอยู่ในเลือดคุณ จากบาดแผลเล็กๆ อย่างมีดบาด หากติดเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว นั่นหมายถึงคุณจะเสียชีวิต แต่อย่าเพิ่งตกใจ นั่นเป็นในกรณีที่คุณเกิดก่อนทศวรรษ 1930
หากให้นึกถึงยาปฏิชีวนะชนิดแรก หลายคนอาจนึกถึงเพนิซิลิน แต่การปฏิวัติยาปฏิชีวนะนั้นเกิดขึ้นหลายปีก่อนหน้าที่เพนิซิลินจะแพร่หลาย เกียร์ฮาร์ต โดมัค เด็กหนุ่มนักศึกษาแพทย์ชาวเยอรมัน ถูกเกณฑ์ไปช่วยงานในโรงพยาบาลสนามในเยอรมนีช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ่งที่โดมัคเจออยู่ตลอดคือแผลน่าสยดสยองของทหารที่โดนระเบิดบ้าง ลูกปืนบ้าง เขาช่วยชีวิตทหารไว้ได้ไม่น้อยด้วยการผ่าตัดเย็บแผล แต่ไม่ใช่ทุกคนจะรอด แผลของทหารบางรายที่เขาผ่าตัดให้เริ่มแดง มีหนองซึม จากนั้นแผลก็เริ่มเปื่อยและส่งกลิ่น เนื้อตายผลิตแก๊สพร้อมแบคทีเรียสเตรปโตมหาศาลเข้าสู่กระแสเลือด กัดกินร่างกายไปเรื่อยๆ การติดเชื้อแบบนั้นคร่าชีวิตทหารช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ไปหลายกองทัพ ถึงขั้นมีการคาดคะเนว่า ทหารเสียชีวิตจากการติดเชื้อมากกว่าตายเพราะโดนกระสุนโดยทันทีเสียอีก
5
การต้องเห็นสหายในกองทัพเสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้โดมัคถึงกับ "...สาบานต่อพระเจ้าและต่อตนเองว่า จะจัดการกับความบ้าคลั่งจอมทำลายล้างนี้" หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลงโดมัคกลับไปเรียนต่อด้วยเป้าหมายที่จะหาวิธีหยุดการติดเชื้อแบคทีเรียเหล่านั้นให้จงได้ หลังจากเรียนจบในปี 1921 เขาก็ใช้ในเวลาห้องแล็บของมหาวิทยาลัยมุ่งมั่นค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับแบคทีเรีย แต่ดูเหมือนว่าเขาจะไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร และเขาเพิ่งแต่งงานมีลูก โดมัคแทบไม่เห็นทางจะหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว ตอนนั้นเองบริษัทเบเยอร์ก็เข้ามายื่นข้อเสนอที่เขาไม่อาจปฏิเสธ
2
ในวงการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ต่างหวังที่จะค้นพบยาวิเศษที่สามารถต่อสู้กับแบคทีเรียเหล่านี้มาตลอด และเบเยอร์ บริษัทผลิตสีในเยอรมนีก็ทุ่มสุดตัวในเรื่องนี้ หากคุณสงสัยว่าทำบริษัทที่ทำสี ถึงอยากจะผลิตยาขึ้นมา เรื่องนี้เป็นอีกหน้าสำคัญของประวัติศาสตร์ยาโลกซึ่งโทมัส เฮเกอร์เล่าไว้อย่างออกรสในหนังสือ Ten Drugs สิบยาเปลี่ยนโลก
วันหนึ่งเบเยอร์ชวนโดมัคมาเข้าทีม โดยเสนอเงินเดือนมากขึ้น ห้องปฏิบัติการใหม่ และเงินทุนสนับสนุนมหาศาล เขาทดสอบสารเคมีหลายสิบชนิดต่อเดือน หลายร้อยชนิดต่อปีอย่างเอาเป็นเอาตาย เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ทีมของโดมัคพบกับความผิดหวังอยู่ 5 ปีและสูญเสียหนูไปหลายกรง ทุกคนเริ่มอ่อนแรง
3
แต่แล้วก็มีบางอย่างเกิดขึ้นในฤดูในช่วงฤดูร้อนปี 1932 หลังจากพวกเขาฮึดขึ้นอีกครั้ง และทดลองผสมสีย้อมกับสารชนิดหนึ่งที่ใช้กันแพร่หลายในอุตสาหกรรมสีย้อมมาแล้วหลายสิบปี โชคก็เข้าข้าง ทีมของโดมัคเต้นเริงร่าพอๆ กับหนูในกรงที่เขาฉีดสารดังกล่าวเข้าไป เป็นครั้งแรกที่หนูรอดชีวิตทั้งกรง เบเยอร์รีบจดสิทธิบัตรสารที่ว่า และตั้งชื่อยาชนิดนั้นว่าพรอนโตซิล
3
ความสำเร็จครั้งนี้ทำให้โดมัคได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ในปี 1939 ในขณะนั้นฮิตเลอร์กำลังเรืองอำนาจ และเขาก็ไม่พอใจที่คณะกรรมการโนเบลให้รางวัลสาขาสันติภาพกับนักเคลื่อนไหวต่อต้านนาซีในปี 1935 จึงออกกฎว่าจะไม่มีชาวเยอรมันคนไหนไปรับรางวัลโนเบลอีก เมื่อโดมัคตอบรับรางวัล เขาจึงถูกตำรวจเกสตาโบตามตัวถึงบ้าน จับเขาเข้าห้องขัง และบังคับให้ปฏิเสธรางวัล ในระหว่างที่ถูกขังอยู่ที่นั่น มีคนเข้ามาทำความสะอาดและถามเขาว่าทำไมถึงมาอยู่ในนี้ เขาตอบว่า "เพราะผมได้รับรางวัลโนเบล"
4
รัฐบาลเยอรมันขังเขาอยู่ 1 สัปดาห์ก็ปล่อยตัวเขา หลังจากนั้นโดมัคยังคงมุ่งมั่นทำงานต่อสู้กับแบคทีเรีย และผลิตสารใหม่ๆ เพื่อใช้กับโรคอื่นๆ จนกลายเป็นของสำคัญของโรงพยาบาลกองทัพนาที เช่นเดียวกับกองทัพสัมพันธมิตร ในที่สุดโดมัคก็ได้รับรางวัลโนเบลอย่างที่เขาสมควรจะได้ในปี 1947 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง และเขายังมีเป้าหมายใหม่คือการค้นหายารักษาวัณโรคซึ่งระบาดอย่างหนักในช่วงสงคราม และงานวิจัยของเขาก็ถือเป็นการปูทางให้นักวิจัยรุ่นหลังทำสำเร็จในเวลาต่อมา
1
อ่านเรื่องราวการค้นพบของโดมัคเพิ่มเติมได้ใน
"Ten Drugs สิบยาเปลี่ยนโลก"
เขียนโดย โทมัส เฮเกอร์
สำนักพิมพ์ Sophia
โฆษณา