Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Sumida Studio
•
ติดตาม
4 ต.ค. 2021 เวลา 14:39 • ดนตรี เพลง
Arabesque
พอดีตอนนี้ผู้เขียนกำลังนำเพลงง่าย ๆ มาเล่นเพื่อไม่ให้นิ้วลืมเปียโนไปเสียหมด หนึ่งในเพลงที่เล่นสนุก ๆ นั้นคือ Premiere Arabesque (Arabesque No.1) ของ Claude Debussy นักประพันธ์ชาวฝรั่งเศสที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม Impressionist (ซึ่งบางแหล่งข้อมูลก็บอกว่าเจ้าตัวเหมือนจะไม่ได้ชื่นชอบนิยามนี้สักเท่าไหร่นัก!) แต่อย่างไรก็ตาม เพลง ๆ นี้น่าจะเป็นที่รู้จักของนักฟังเพลงคลาสสิกเป็นแน่
ชื่อเพลง Arabesque ไม่ได้มีเดอบุซซีเป็นผู้แต่งเพลงโดยใช้ชื่อนี้เป็นคนแรก แต่อีกเพลงเปียโนที่ฮิตก็ยังมี Arabeske Op. 18 ของ Robert Schumann อีกด้วย แต่ผู้ฟังอาจสงสัยว่าบทเพลงทั้งสองนั้นมีความ “อาหรับ” ตรงไหนและอย่างไร จริง ๆ แล้วความเป็น Arabesque (อ่านว่า อะ-รา-เบสค์) นั้นมีที่มาน่าสนใจ จึงอยากจะมาเล่าสู่กันฟังค่ะ
Arabesque ของชาวยุโรปมีความหมายที่ใช้กันตั้งแต่สมัยก่อนศตวรรษที่ 19 นานแล้วในฐานะโมทีฟ (motif) หรือ แพทเทิร์นที่ใช้ประดับประดาตกแต่งภาพ มีลักษณะของเส้นที่มีความเป็นอิสระ มักจะเป็นลายประดับเรียงต่อกันที่คล้ายพืชพันธุ์ หรือเถาวัลย์ที่วาดไว้ตามขอบมุมภาพ อาจใช้ประดับตกแต่งขอบผนัง ผืนผ้า หรือเป็นลายประกอบในหนังสือเป็นต้น โดยมักจะเป็นรองจากเนื้อหาหรือ subject หลักของภาพใหญ่
ลักษณะของโมทีฟหรือแพทเทิร์นเหล่านี้มีที่มาจากศิลปะในแบบอาหรับ/อิสลามอีกที โดยคำว่า arabesque ในภาษาฝรั่งเศสนั้น มาจากภาษาอิตาเลียน “arabesco” ซึ่งแปลว่า ในสไตล์อาหรับนั่นเอง โมทีฟ arabesque ในแบบศิลปะอาหรับ/อิสลามนั้นมักจะไม่มีการเน้นถึงตัวบุคคลหรือสัตว์ แต่จะเป็นลักษณะของเส้นโค้งประดับแบบแอ็บแสตร็คที่เกี่ยวพันกันและไม่มีขอบเขต ใบไม้หรือพืชพันธุ์ที่วาดไม่ได้ต้องเหมือนจริง โดยมักมีผู้อธิบายว่าเป็นไปตามความเชื่อของศาสนาที่ว่าพระเป็นเจ้าเป็นผู้มีอำนาจและอภิสิทธิ์สูงสุดต่อสิ่งมีชีวิตทั้งมวล
ตัวอย่างการประดับแบบ arabesque จากมัสยิด Umayyad ในซีเรีย ภาพโดย Jan Smith from Brisbane, Australia, CC BY 2.0 , via Wikimedia Commons
ในขณะที่โมทีฟ arabesque ในแบบยุโรปที่นำมาใช้นั้นมักจะเป็นลักษณะของพืช ใบไม้ ดอกไม้ หรือเถาวัลย์ ที่ใช้เพื่อช่วยเน้นองค์ประกอบภาพที่เป็นคน สัตว์ หรือแม้แต่สัตว์ในเทพนิยายต่าง ๆ ให้เด่นยิ่งขึ้น โมทีฟ arabesque ได้รับความนิยมมาเป็นช่วง ๆ ในยุโรป ตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา
ตัวอย่าง arabesque แบบยุโรป โดย Étienne de La Vallée Poussin ภาพใน Metropolitan Museum of Art, CC0, via Wikimedia Commons
เมื่อช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 การตกแต่งแบบ arabesque ก็เป็นที่นิยมขึ้นอีกครั้งเนื่องจากศิลปินนักเขียนชาวอังกฤษ Owen Jones ได้ศึกษาแบบแผนนี้จนลึกซึ้งจากพระราชวังและป้อมปราการ Alhambra ในเกรนาดา แคว้นอันดาลูเซีย ประเทศสเปน และนำสิ่งที่เขาค้นพบจากพระราชวังเก่าแก่นี้ออกแสดงในนิทรรศการในประเทศอังกฤษ ทำให้แพทเทิร์นในแบบของศิลปะอิสลามนั้นกลับมาเป็นที่นิยมอย่างมาก ดีไซน์แบบ arabesque ได้ถูกนำมาใช้เป็นศิลปะสำหรับ ตกแต่งผืนผ้า วอลล์เปเปอร์ พรม และอื่น ๆ ไปทั่วทุกบ้านเรือนในยุโรป
1
ตัวอย่างการตกแต่งบนหน้าต่างภายในพระราชวัง Alhambra ภาพโดย Harvey Barrison from Massapequa, NY, USA - Granada_2015 10 22_2123, CC BY-SA 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=47980346
ผลกระทบจากทัศนศิลป์และศิลปะแห่งการประดับประดาที่กลายเป็นที่ "ฮิต" นี้ ยังนำไปสู่การปรับใช้ในศิลปะแขนงอื่น ๆ เช่นในดุริยางคศิลป์ (ดนตรี) นาฏศิลป์ (การเต้น) และวรรณศิลป์อีกด้วย ศิลปินหลากหลายคนเริ่มใช้ลักษณะเส้นสายแบบ arabesque ออกมานอกจากการเป็นแค่สิ่งประดับตกแต่งขอบภาพ แต่นำมาใช้สื่อถึงองค์ประกอบหลักของภาพอีกด้วย โดยวาดเส้นไปตามแต่พลังงานของเส้นนั้นจะนำพาไป ลักษณะเส้นที่เป็นอิสระนี้ช่วยให้เกิดเป็นภาพวาดที่องค์ประกอบหลักมีมิติชัดเจนมากขึ้น หรืออาจจะไปในทางตรงกันข้ามเลยก็ได้ นั่นคือละลายความเป็นหลักและความเป็นรองขององค์ประกอบทั้งหมดจนเกิดมุมมองใหม่ ๆ ขึ้น ลักษณะแบบ arabesque กลายเป็นตัวแทนของจินตนาการที่เป็นอิสระ ไม่มีขอบเขต
Arabesque ในดนตรีของนักประพันธ์ชาวยุโรปช่วงตั้งแต่กลางถึงปลายศตวรรษที่ 19 เช่นบทเพลงฮิตของเปียโน 2 เพลงที่กล่าวถึงนั้น นักประพันธ์จึงบอกเล่าถึง Arabesque ไปตามทัศนศิลป์หรือการประดับประดาที่ได้เสพของยุคสมัย ซึ่งนี่เองเป็นเหตุผลว่าบทเพลงที่ขึ้นชื่อว่า Arabesque อาจไม่ได้มีสำเนียงหรือทำนองเป็น “อาหรับ” เสมอไป เช่นใน Arabeske Op. 18 ของ Schumann ที่อยู่ในรูปแบบ Rondo ให้ความรู้สึกของท่อน A ที่ “ฟรุ้งฟริ้ง” เหมือนเส้นสายของดอกไม้ใบไม้หรือเถาวัลย์ที่ประดับประดาอยู่ในรูปภาพ และนำมาสลับกับท่อน B และ C ที่ให้ความรู้สึกเข้มข้นดุดันแบบคาแรกเตอร์ “Florestan” ที่ปรากฎในเพลงอื่น ๆ ตามลายเซ็นของ Schumann
ลองฟัง Pollini เล่นกันค่ะ ^_^
youtube.com
Schumann: Arabeske in C, Op.18
Provided to YouTube by Universal Music GroupSchumann: Arabeske in C, Op.18 · Maurizio PolliniSchumann: Piano Concerto; Symphonic Etudes℗ 1984 Deutsche Grammo...
ส่วน Deux Arabesque ของ Debussy นั้นบ้างก็กล่าวว่าได้รับอิทธิพลจากดีไซน์แบบ arabesque ที่พบมากในยุคนั้น รวมถึงในงานของศิลปินที่เขาชื่นชอบ นั่นคือ Jean-Antoine Watteau ในขณะที่บางแหล่งข้อมูลกล่าวว่าได้รับอิทธิพลจากท่าเต้นบัลเลต์อีกที โดยท่า arabesque ในบัลเลต์นั้นเป็นท่าที่ต้องทรงตัวบนขาข้างเดียว ในขณะที่อีกข้างวาดออกด้านข้างและเชื่อมต่อไปสู่แขนและมือที่ทำให้เกิด “เส้น” บนร่างกายที่ละเอียดอ่อนและเป็นอิสระ Premiere Arabesque ของ Debussy ประกอบด้วยทั้งทำนองและเสียงประสานที่เคลื่อนไหววนเวียน มีการใช้เสียงประสานแบบขนานต่อเนื่อง ในบางขณะจึงทำให้ฟังเหมือนไม่รู้จบและไม่รู้ที่มาที่ไป
1
ฝากคลิปฟรุ้งฟริ้งไว้ฟังประกอบนะคะ ^_^
youtube.com
C. Debussy - Première Arabesque (Arabesque No.1)
Claude Debussy - Première Arabesque (Arabesque No. 1)ฝึกทำคลิปฟรุ้งฟริ้งเป็นครั้งแรก ไว้ดูกันสนุก ๆ นะคะ ^^
อ้างอิง
https://www.clarkart.edu/microsites/arabesque/exhibition
https://www.classical-music.com/features/articles/what-arabesque/
Harding, Christopher. Performance Notes on Deux Arabesques. Debussy 16 Piano Favorites. G. Schirmer: NY, 2018.
บันทึก
2
1
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย