21 ก.ย. 2021 เวลา 13:20 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Floppy Disk : จากจุดเริ่มต้นจนถึงตอนอวสาน
ทุกสรรพสิ่งล้วนมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเทคโนโลยี ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาและทำให้เทคโนโลยีเดิมสูญหายไปเป็นเรื่องธรรมดา
Floppy Disk
Floppy Disk ก็เป็นเทคโนโลยีเก็บข้อมูลในยุค 90 ที่ถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย ก่อนที่จะกลายเป็นของตกยุคในช่วงต้นของทศวรรษที่ 2000 และหายไปอย่างถาวรในที่สุด จึงไม่แปลกที่คนรุ่นใหม่ๆ แทบจะไม่รู้จัก Floppy Disk อีกแล้ว
📌 จุดเริ่มต้นของอุปกรณ์ปฏิวัติวงการจัดเก็บข้อมูลในทศวรรษที่ 1970
Floppy Disk ได้ถูกเปิดตัวขึ้นมาในปี 1971 โดยบริษัท IBM ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ภายใต้การนำทีมวิศวกรของคุณ Alan Shugart ในตอนนั้นถือว่าเป็นเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลที่ใหม่มากและเข้ามาแทนที่เทคโนโลยีเดิมๆ อย่าง บัตรเจาะรู (Punch Card)
1
Floppy Disk ถูกเปิดตัวในปี 1971 โดย IBM แทนที่เทคโนโลยีอย่าง Punch Card
ในตอนแรก Floppy Disk มีขนาดประมาณ 8 นิ้ว และมีความจุเพียง 80 KB เท่านั้น (0.08 MB) ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 0.24 MB ใน 2 ปีต่อมา และหลังจากนั้นในช่วงทศวรรษที่ 1980 ก็มีการพัฒนาไปเรื่อยๆ จนได้ขนาดที่เล็กลงเหลือ 5.25 นิ้ว และ 3.5 นิ้ว ตามลำดับ และความจุเพิ่มขึ้นไปเป็น 1.44 MB
ขนาด Floppy Disk ที่วางขายในท้องตลาด ในช่วงทศวรรษที่ 1980
ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 ถือได้ว่าเป็นจุดสูงสุดของ Floppy Disk ทั้งการใช้งานที่บ้านและตามออฟฟิศ ในขณะนั้น Floppy Disk ถูกขายไปกว่า 5 พันล้านชิ้นต่อปีทั่วโลก โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ ที่ขายออกมาก็ถูกบรรจุในนี้
ในช่วงปี 1990 บริษัท Microsoft เคยจำหน่าย ลงโปรแกรมรูปแบบ Floppy disk
📌 การหายไปของ Floppy Disk
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดที่สำคัญของ Floppy Disk ก็คือความจุที่ต่ำ แต่คนเริ่มต้องการที่เก็บข้อมูลที่ความจุมากขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อปลายศตวรรษที่ 1990 การเข้ามาของ CD-ROM เริ่มให้ Floppy Disk ค่อยๆ ตายลง
แต่สิ่งที่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่ทำให้คนต้องเปลี่ยนไปใช้อย่างอื่นในการเก็บข้อมูลแทน Floppy Disk เกิดขึ้นในปี 1998 เมื่อ Apple ออก iMac ออกมาโดยไม่มีช่องสำหรับใส่ Floppy Disk อีกต่อไป ตามมาด้วย Dell และบริษัทอื่นๆ ในอีกไม่กี่ปีต่อมา
1
ในปี 2006 ความต้องการใช้ Floppy Disk ลดลงกว่า 2 ใน 3 เนื่องจากผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ไม่ได้ใส่ Floppy Drive มาให้อีกต่อไป ช่วงต้นปี 2007 เหลือเพียง 2% ของคอมพิวเตอร์และแลปท็อปที่ยังคงมีช่องให้ใส่ Floppy Disk อยู่ แต่ก็มีการประกาศว่าจะนำออกภายใน 1 ปี จนกระทั่งอีกไม่กี่ปีต่อมา Sony บริษัทที่ผลิต Floppy Disk ก็ได้ประกาศยุติการผลิตอย่างเป็นทางการ นั่นจึงถือเป็นการปิดฉากตำนานอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลนี้อย่างสมบูรณ์
เครดิตภาพ : The Atlantic
📌 การเกิดขึ้นของยุคแห่ง Big Data และพื้นที่จัดเก็บข้อมูลที่ไม่จำกัด
ในช่วงทศวรรษที่ 2000 ที่เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จากแผ่น Floppy Disk กลายมาเป็น CD ต้นทุนของการจัดเก็บข้อมูลเริ่มถูกลงมาเป็นอย่างมาก และมีการพัฒนา USB Flash Drive ที่สามารถจุได้สูงสุดถึง 4 GB (ความจุสูงสุดในปี 2006) ทำให้คนเริ่มมีแนวโน้มที่จะเก็บข้อมูลจำนวนมากขึ้น เมื่อบริษัทจัดเก็บข้อมูลต่างๆ เล็งเห็นโอกาสนี้ จึงหาทางเสนอผลิตภัณฑ์จัดเก็บข้อมูลที่หลากหลายมากขึ้น นักลงทุนต่างให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพที่ทำเกี่ยวกับเรื่องการจัดเก็บข้อมูล จึงทำให้มีการเกิดขึ้นของบริษัทใหม่ๆ ที่ให้อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่มีความจุสูงขึ้น และทนทานขึ้น แค่ในช่วงเวลานั้น USB Flash Drive ก็สามารถจัดเก็บข้อมูลได้มากกว่า Floppy Disk ถึง 2000 เท่าแล้ว
ต้นทุนการจัดเก็บข้อมูลต่อ 1 GB ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาระบบ Cloud Computing ยิ่งทำให้ทุกคนสามารถนำข้อมูลไปฝากไว้บนเซิร์ฟเวอร์ที่ห่างไกลออกไปได้ ผู้ใช้งานจึงไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลเยอะแยะ และไม่จำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่จับต้องได้อีกต่อไป Amazon ถือเป็นเจ้าแรกที่เสนอพื้นที่จัดเก็บข้อมูลบนคลาวน์ขึ้นในปี 2006
และต่อมาจึงมีบริษัทจัดเก็บข้อมูลออนไลน์อื่นๆ อย่าง Dropbox Box และ Google Drive ที่เสนอพื้นที่จัดเก็บข้อมูลฟรี ในปัจจุบัน Google ได้ให้พื้นที่จัดเก็บข้อมูลฟรีๆ ถึง 15 GB ถ้าเทียบกับเมื่อปี 1961 IBM 1301 Disk Drive ที่ใช้จัดเก็บข้อมูลได้เยอะที่สุด มีราคาสูงถึง 115,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 900,000 ดอลลาร์ในปี 2013) แต่มีความจุเพียง 28 MB เท่านั้นเอง
ด้วยต้นทุนการจัดเก็บข้อมูลที่ถูกลงมาก ผู้ใช้งานจึงหันไปเก็บข้อมูลบนระบบคลาวน์ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ตลาด Cloud-Computing ทั่วโลก ได้เติบโตขึ้นอย่างมาก บริษัทอย่าง Amazon Web Services, Microsoft และ Google ก็ต่างพัฒนาศูนย์จัดเก็บข้อมูลเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของภาคส่วนนี้
จากจุดแข็งของระบบ Cloud-Computing คือ พื้นที่จัดเก็บข้อมูลที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด ประกอบกับการที่ผู้คนรวมถึงภาคธุรกิจมีความต้องการพื้นที่จัดเก็บข้อมูลที่มีความจุมากขึ้น เพื่อจัดเก็บข้อมูลทั้งไฟล์ และรูป ตลอดจนความเร็วของระบบอินเตอร์เน็ตและ 5G จึงทำให้ระบบ Cloud-Computing เข้ามาแทนที่รูปแบบการจัดเก็บข้อมูลแบบเดิมๆ อย่าง Floppy Disk หรืออุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลอื่นๆ เช่น CD, DVD, Blue-ray, USB Drive ในที่สุด ทั้งหมดนี้ ทำให้สมรภูมิทางธุรกิจเปลี่ยนไปอย่างที่ไม่มีใครคิดถึง จึงนับเป็นอีกหนึ่งเรื่อง ที่พลังความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า Creative Destruction มาทำให้อุปกรณ์เหล่านี้ ตกยุค จากหายไป เปิดทางให้กับนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิมเข้ามาแทนที่เช่นเดียวกับ เพจเจอร์ ที่เราได้เล่าไปแล้วในบทความเมื่อวานนี้
#แผ่นดิสก์ #ย้อนวันวาน #Retro_Technology
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
(2016). Competing Technologies, Competing Forces: The Rise and Fall of the Floppy Disk, 1971–2010. Technological Forecasting and Social Change. 107. 10.1016/j.techfore.2016.03.019.
Trikha, Bindu. (2010). A Journey from floppy disk to cloud storage. International Journal on Computer Science and Engineering. 2.
โฆษณา