21 ก.ย. 2021 เวลา 16:16 • ข่าว
รถไฟฟ้าสายบางนา-สุวรรณภูมิ มีความคืบหน้าแล้วนะ! เราไปเข้าร่วมการประชุมกับโครงการมาด้วย เลยจะมาสรุปเบื้องต้นให้ 10 ข้อที่น่าสนใจ จะมีอะไรบ้าง มาดูกันฮะ 🔵🚈
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา มีการจัดประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาวิเคราะห์โครงการ ของ "ระบบรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (Light Rail) สายบางนา-สุวรรณภูมิ" หรือที่หลายคนเคยได้ยินว่า "รถไฟฟ้าสายสีฟ้าอ่อน" ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าที่ดำเนินการโดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งพวกเรา LivingPop ก็ได้เข้าร่วมประชุมด้วยครับ
2
เราได้มีการสอบถามข้อมูลที่น่าสนใจที่หลายคนคงจะสงสัยกันอยู่ และรวบรวมมาให้เป็น Fun Fact 10 ข้อให้ไล้ดูกันไปทีละข้อ ตามไปดูกันได้เลยคร้าบ 👉👉
ก่อนจะเข้าข้อ 1 ขอเกริ่นถึงความเป็นมาของโครงการนี้กันก่อนนะครับ
รถไฟฟ้าสายนี้ เป็นสายที่ กทม. ได้มีการจ้างศึกษาออกแบบรายละเอียดเบื้องต้นไว้แล้วตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งตอนนี้ผ่านมาแล้ว "8 ปี" ซึ่งเอาจริงก็เป็น 8 ปีที่ไม่ได้มีความคืบหน้าเป็นชิ้นเป็นอันอะไรครับ
โดยในการศึกษาเดิมเนี่ยไม่ได้มีการศึกษาในส่วนของ "ลักษณะการดำเนินงานตาม พรบ.ร่วมทุน (PPP)" ซึ่งเราจะมีบอกไว้ 1 ใน 10 ข้อนี้ด้วยว่ามันคืออะไรฮะ
ดังนั้นการศึกษาโครงการในรอบนี้ คือการศึกษาเพิ่มเติมในส่วนของการ "PPP" เพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วนและสามารถดำเนินการในขั้นตอนต่อไปได้นั่นเอง
--- ข้อที่ 1 รถไฟฟ้าสายนี้ "ยังไม่มีสี" ---
ใช่ครับ จากที่เราเห็นๆ กันในข่าวว่ารถไฟฟ้าสายนี้มักจะถูกเรียกว่ารถไฟฟ้าสายสีฟ้าอ่อน หรือถ้าเก่ากว่านั้นเราก็อาจจะเคยเห็นในแผนที่ masterplan เวอร์ชันเก่าเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เป็นสีเขียวคล้ายๆ BTS สายสุขุมวิทบ้าง
แต่จริงๆ แล้ว รถไฟฟ้าสายนี้ #ยังไม่ได้ถูกกำหนดสี เลยครับ
อันนี้ทางทีมงานได้ยกมือถามผู้จัดการโครงการด้วยความสงสัย เพราะในเอกสารการประชุมทั้งหมดไม่ได้มีการพูดถึง "สี" ของสายรถไฟฟ้านี้เลย และก็ได้รับการยืนยันว่า ตอนนี้ยังไม่ได้มีการกำหนดสี และยังไม่ได้มีแผนที่จะกำหนดสีให้กับรถไฟฟ้าสายนี้ แต่ก็อาจจะมีการกำหนดในอนาคตครับ
ดังนั้นโครงการนี้จึงมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "โครงการระบบรถไฟรางคู่ขนาดเบา (Light Rail Transit) สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ" นั่นเอง
ซึ่งเราจะเรียกย่อๆ ว่า Light Rail สายบางนา-สุวรรณภูมิ ก็แล้วกันนะครับ
--- ข้อที่ 2 รถไฟฟ้าสายนี้อยู่ตรงไหนของกรุงเทพฯ ---
สำหรับแนวเส้นทางของรถไฟฟ้า Light Rail สายบางนา-สุวรรณภูมิ จะอยู่บนถนนเทพรัตน หรือชื่อเดิมก็คือ ถนนบางนา-ตราด นั่นเอง โดยจะเริ่มตั้งแต่หัวถนนตรงแยกบางนา ยาวไปจนถึงทางเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ แล้วเลี้ยวเข้าสนามบินไปสิ้นสุดที่ตำแหน่งที่ตั้งของอาคารผู้โดยสารทิศใต้
มีระยะทางรวมโดยประมาณ 19.7 กิโลเมตร มีสถานี 14 สถานี
โดยจะมีศูนย์ซ่อมบำรุงเนื้อที่ประมาณ 29 ไร้ อยู่บริเวณด้านหน้าโครงการธนาซิตี้ ใกล้กับทางเข้าสนามบินครับ
--- ข้อที่ 3 แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ระยะ ไม่ได้สร้างพร้อมกันทีเดียวทั้งสาย ---
จากข้อที่แล้วที่เราพูดถึงภาพรวมของแนวเส้นทาง จะเห็นว่าช่วงปลายจะมีการเลี้ยวเข้าไปในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งในปัจจุบัน ทาง AOT ยังไม่ได้มีแผนจะสร้างอาคารผู้โดยสารฝั่งทิศใต้ในเร็วๆ นี้ ทางโครงการรถไฟฟ้าสายนี้จึงมีการแบ่งช่วงก่อสร้างเป็น 2 ระยะครับ
1
โดยช่วงที่ 1 จะมีระยะทางประมาณ 14.6 กิโลเมตร เริ่มจากแยกบางนา มาจนถึงสถานีธนาซิตี้ ซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์ซ่อมบำรุง ในช่วงนี้จะมีสถานีจำนวน 12 สถานี
ส่วนช่วงที่ 2 ระยะทางประมาณ 5.1 กิโลเมตร ที่เป็นช่วงเลี้ยวซ้ายจากถนนเทพรัตน ตรงเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ จะมีการก่อสร้างในภายหลัง เมื่อมีการพัฒนาสนามบินในฝั่งทิศใต้ โดยจะมีสถานีเพิ่มเติมมา 2 สถานี
--- ข้อที่ 4 ใช้ระบบรถไฟฟ้าแบบ Light Rail ---
จากการศึกษาโครงการเมื่อปี 2556 ได้มีการออกแบบระบบรถไฟเบื้องต้นเอาไว้ให้เป็นรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา หรือ Light Rail ซึ่งในไทยอาจจะยังไม่คุ้นเคยเพราะเรายังไม่ได้มีการใช้งานรถไฟฟ้าสเกลนี้ครับ
เรามาทำความรู้จักกับชนิดของระบบรถไฟฟ้า Metro ในเมืองกันก่อน โดยทั่วไปมักจะมีการจัดประเภทเอาไว้ตาม "ความจุในการขนส่งผู้โดยสาร" ครับ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ MRT และ LRT
- MRT หรือ Mass Rapid Transit คือระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีความจุสูง ความถี่ขบวนรถสูง สามารถรองรับการขนส่งผู้โดยสารได้ปริมาณมากๆ ถึง 50,000-80,000 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง
- LRT หรือ Light Rail Transit คือระบบรางแบบที่เล็กกว่า MRT โดยจะสามารถรองรับการขนส่งผู้โดยสารได้ประมาณ 10,000-50,000 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง ตัวอย่างเช่นโมโนเรลสายสีเหลืองของเรา มีตัวเลขสูงสุดอยู่ที่ 48,000 ครับ
ซึ่งจริงๆ LRT จะหมายความรวมหมดไม่ว่าจะเป็น Tram (รถราง), Monorail แบบสายสีเหลืองและชมพู, APM แบบสายสีทอง และรถไฟที่วิ่งบนรางคู่ที่เป็นเหล็กคล้ายๆ MRT แต่มีขนาดของระบบที่เล็กกว่า ก็นับเป็น LRT ด้วยเช่นกันครับ
โดยรถไฟฟ้าสายบางนา-สุวรรณภูมิสายนี้ ในการออกแบบได้เลือกใช้ระบบ Light Rail รางคู่-ทางคู่ รูกแบบคล้ายๆ รถไฟฟ้า LRT ในเมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งในปัจจุบันมีให้บริการอยู่ 3 สาย
ตัวอย่างในภาพจะเป็น LRT สาย Kelana Jaya Line ซึ่งใช้รถไฟฟ้า Bombardier Innovia Metro 300 ที่เป็นซีรี่ส์เดียวกับ Monorail สายสีเหลือง-ชมพู และ APM สายสีทอง ที่เราใช้กันเลยครับ
แต่ทั้งนี้ในการศึกษา PPP ซึ่งจะมีการสอบถามความสนใจจากภาคเอกชนที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการ อาจจะมีการเสนอให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบของระบบรถไฟฟ้าเป็นระบบอื่นก็ได้ครับ
1
--- ข้อที่ 5 จุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่น ---
ทีนี้เรามาดูกันครับ ว่ารถไฟฟ้า Light Rail สายบางนา-สุวรรณภูมิ จะมีจุดเชื่อมต่อกับสายอื่นที่ไหนได้บ้าง โดยรถไฟฟ้าสายนี้จะมีจุดเชื่อมต่ออยู่ 2 สถานี ก็คือ "สถานีบางนา" และ "สถานีวัดศรีเอี่ยม" ครับ
🟢 สถานีบางนา - เชื่อมต่อ BTS สายสุขุมวิท
สถานีบางนาจะเป็นสถานีต้นทาง โดยจะมีการทำสกายวอล์กยาว 150 เมตร ไปเชื่อมกับปลายทางลงของระบบสกายวอล์กเดิมที่สร้างเชื่อม BTS สถานีอุดมสุขกับสถานีบางนาครับ โดยทางโครงการจะมีการติดตั้งทางเดินเลื่อนอัตโนมัติบนสกายวอล์กที่สร้างใหม่ (150 เมตร) นี้ด้วย แต่นอกนั้นไม่ได้มีแผนการพัฒนาหรือปรับปรุงสภาพของสกายวอล์กเดิมรวมอยู่ในโครงการนี้นะครับ (เราจะบ่นไว้ในรูปถัดไปฮะ)
1
🟡 สถานีวัดศรีเอี่ยม - เชื่อมต่อ Monorail สายสีเหลือง
สถานีนี้จะมีทางเดินยาวประมาณ 180 เมตร เชื่อมต่อเข้ากับสถานีศรีเอี่ยมของสายสีเหลืองครับ รวมถึงบริเวณสถานีนี้ก็ยังมีอาคารจอดรถของสายสีเหลืองตั้งอยู่ด้วยนะ เป็นจุดเชื่อมต่อที่ค่อนข้างสะดวกพอสมควรเลยครับ
1
ทีนี้ก่อนที่จะไปข้อต่อไป เราอยากแวะมาให้ทุกคนเห็น "สภาพพพพ" ของสกายวอล์กบริเวณแยกบางนากันสักนิดนึงครับ
ใครที่ผ่านไปผ่านมาแถวแยกบางนาก็คงจะเห็นว่าแยกนี้มีถนน ทางด่วน รถไฟฟ้า ซ้อนทับกันหลายชั้นมาก ก็เลยทำให้เป็นอุปสรรคในการจะสร้างสะพานลอยหรือเรียกสวยๆ ว่าสกายวอล์ก เชื่อมทางเท้าจากด้านต่างๆ เข้าหากัน
โดยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทาง กทม. ได้สร้างสกายวอล์กเสร็จสมบูรณ์ สามารถเดินเชื่อมต่อจาก BTS บางนา ไปจนถึง BTS อุดมสุขได้ แต่จะเรียกว่าสมบูรณ์แบบที่สามารถใช้งานได้สะดวกก็คงไม่เต็มปากเท่าไหร่ เพราะตัวสะพานทางเดินมีทั้งขั้นบันได ทางช่วงกว้างบ้าง แคบบ้าง มีหลังคาบ้างไม่มีหลังคาบ้าง เรียกว่าเป็นทางเดิน trail ที่มีอุปสรรคไปตลอดทาง โดยเฉพาะคนแก่ คนท้อง คนพิการ คนน้ำหนักเยอะ หรือกระทั่งคนปกติที่ต้องเดินเชื่อมระยะทางเป็นกิโลๆ ก็คงเหนื่อยกับการเดินผ่านทางนี้
อย่างที่เราบอกว่าในโครงการนี้ไม่ได้มีการบอกว่าจะปรับปรุงเส้นทางเดินที่มีอยู่เดิม มีเพียงการสร้างทางเดินจากตัวสถานีมาแปะกับของเดิมเท่านั้น
ก็หวังว่าเราจะมีทางเลือกอื่นในการเดินเชื่อมต่อกับ BTS ได้ดีกว่าทางนี้ครับ
หรือเราอาจจะต้องคาดหวังว่า BITEC จะมีทางเชื่อมมาจุ๊บกับสถานีให้เราเดินเชื่อมผ่านทะลุไป BTS บางนา หรือว่า Bangkok Mall จะมีทางให้เราได้เดินทะลุไป BTS อุดมสุขได้ ... หวังกับ กทม. ไม่ได้ ไปหวังกับเอกชนแทนละกันฮะ 😭
--- ข้อที่ 6 ทางรถไฟฟ้าจะปักเสาตรงไหน? ---
แนวเส้นทางของรถไฟฟ้า Light Rail สายบางนา-สุวรรณภูมิ หลักๆ จะปักเสาอยู่บนร่องคูน้ำที่คั่นระหว่างทางหลักกับทางคู่ขนานในฝั่งขาออกของถนนเทพรัตน (บางนา-ตราด) โดยจะมีบางช่วงที่จะหลบไปอยู่ชิดฝั่งทางเท้า เช่น ช่วงที่มีด่านเก็บเงินหรือทางขึ้นลงทางด่วน
โดยตัวสถานีรถไฟฟ้าก็จะอยู่ตำแหน่งร่องคูน้ำเช่นเดียวกัน แต่ตัวเสาของบางสถานีก็จะมีเสาแบบคร่อมถนน ที่มีเสาไปปักอยู่บนทางเท้าด้วยครับ รวมถึงบันไดทางขึ้นลงสถานี ก็จะอยู่บนทางเท้า ไม่ได้เวนคืนที่ดินทำเป็นอาคารขึ้นลงแบบหลายๆ สายที่กำลังสร้างใหม่ในปัจจุบัน
จากแบบที่ทางบริษํทที่ปรึกษานำเสนอในที่ประชุม ทำให้เราเห็นว่าบางจุดเหลือทางเท้าแค่ 1.55 เมตรเท่านั้นเอง!...
น่ามหัศจรรย์เหมือนกันนะครับ ถนนที่มีความกว้างเขตทาง 100 เมตร สามารถสร้างสิ่งต่างๆ ให้เหลือทางเท้าแค่เมตรครึ่งได้ 😰
--- ข้อที่ 7 ระดับรางรถไฟ สูงกว่าระดับพื้นถนนของทางด่วน! ---
1
ใครที่ผ่านไปผ่านมาเส้นเทพรัตน บางนา-ตราด คงจะเคยว้าวกับความสูงชะลูดของทางด่วนบูรพาวิถีใช่ไหมครับ... และในอนาคตรถไฟฟ้าสายนี้จะมาทำสถิติความสูงตีคู่กับไปกับทางด่วน เพราะมีความสูงมากกว่าถึง 2 เมตร!
เรามาดูตัวเลขชัดๆ กันครับ
🚗 ทางด่วนบูรพาวิถี มีความสูงจากระดับดินถึงพื้นถนนเฉลี่ยประมาณ 19 เมตร
🚈 รถไฟฟ้า Light Rail ช่วงบางนา-กาญจนาภิเษก มีความสูงจากพื้นดินถึงสันรางประมาณ 20 เมตร
🚈 รถไฟฟ้า Light Rail ช่วงกาญจนาภิเษก-แยกสนามบินสุรรณภูมิ มีความสูงจากพื้นดินถึงสันรางประมาณ 16.5 เมตร
🚈 ช่วงทีรถไฟฟ้าข้ามทางแยกต่างระดับวัดสลุต (Mega Bangna) มีความสูงจากพื้นดินถึงสันราง 23 เมตร
ภาพนี้เป็นวิวจากบนทางด่วน จะเห็นได้ว่ารถไฟฟ้าตีคู่กันไปประมาณนี้ครับ เรียกว่าสูงเย้ยฟ้าท้าลมกันไปเลย ใครที่ขับรถบนทางด่วนสายนี้น่าจะเข้าใจดีฮะ ⛱🌪🌪
--- ข้อที่ 8 ชื่อสถานียังไม่นิ่ง อาจมีการเปลี่ยนแปลง ---
ข้อนี้เป็นเรื่งที่เรายกมือสอบถามทางผู้จัดการโครงการไป ด้วยความสงสัยว่าชื่อสถานีหลายๆ สถานีค่อนข้างแปลก ทั้งสถานีที่ใช้ชื่อสถานที่ของเอกชน สถานีที่ใช้ชื่อไม่ตรงกับสถานี interchange อื่น เช่น "สถานีวัดศรีเอี่ยม" ที่ชื่อดันไม่ตรงกับสายสีเหลืองที่เขาชื่อ "สถานีศรีเอี่ยม" หรือสถานี "บางนา-ตราด" ตามด้วยเลข กม. หรือเลขซอย ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อถนนเป็นถนนเทพรัตนไปแล้ว
ทางโครงการบอกว่า "อาจจะมีการพิจารณาเปลี่ยนแปลงชื่อสถานีอีกทีนึง" ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะเหมือน BTS ส่วนต่อขยาย ที่มีการเปลี่ยนชื่อสถานีในช่วงสุดท้ายก่อนการเปิดบริการครับ
--- ข้อที่ 9 ตอนนี้อยู่ระหว่างศึกษา PPP ---
อย่างที่ติดค้างเอาไว้ตอนแรกครับ ที่เราบอกไว้ว่าตอนนี้โครงการอยู่ระหว่างการศึกษา PPP ทีนี้เรามาดูกันว่า PPP เนี่ยคืออะไร?
ก่อนอื่นมาดูแบบแรกกันก่อน คือ "ภาครัฐทำเอง" คือหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจดำเนินการเองทั้งหมด ตั้งแต่การก่อสร้าง การจัดหาขบวนรถไฟ การติดตั้งระบบเดินรถไฟ และการให้บริการตลอดจนการซ่อมบำรุงระบบ ยกตัวอย่างเช่น Airport Rail Link
ส่วน PPP ย่อมาจาก Public Private Partnership เป็นชื่อเรียกของวิธีการร่วมลงทุนในโครงการระหว่างภาครัฐและเอกชนครับ โดยจะแบ่งออกเป็นหลายรูปแบบ เราจะยกตัวอย่างแบบง่ายๆ ประมาณนี้ครับ
โดยแบบ PPP ทั้ง 3 รูปแบบนั้น การก่อสร้าง การจัดหาขบวนรถไฟ ติดตั้งระบบเดินรถไฟ จะเป็นรัฐ และ/หรือ เอกชนร่วมกันลงทุน โดยรัฐอาจจ่ายค่าเวนคืน ค่าก่อสร้างบางส่วน หรือค่าก่อสร้างทั้งหมด ตามแต่มูลค่าโครงการและความคุ้มทุน แต่จุดที่แตกต่างกันคือการแบ่งรายได้ที่ได้รับจากโครงการครับ โดยที่
📍 PPP Net Cost - เอกชนรับรายได้ (ไม่ว่าจะกำไร/ขาดทุน) แล้วจ่ายคืนให้รัฐในรูปแบบของส่วนแบ่ง หรือค่าสัมปทาน ที่จะมีการกำหนดสูตรคำนวณไว้ในสัญญา ยกตัวอย่างเช่น BTS สายสุขุมวิทและสายสีลม MRT สายสีน้ำเงิน เหลือง และชมพูครับ
📍 PPP Gross Cost - รัฐรับรายได้ โดยเอกชนจะรับหน้าที่เดินรถให้ได้ตามจำนวนรอบที่กำหนด รวมถึงการให้บริการและการบำรุงรักษา และจ่ายค่าจ้างให้เอกชน ตัวอย่างเช่น MRT สายสีม่วง
📍 PPP Modified Gross Cost - คล้ายกับ PPP Gross Cost แต่อาจจะมีเงื่อนไขจูงใจเพิ่มเติม เช่น ให้ส่วนแบ่งรายได้ เป็นต้น อาจจะใช้ในกรณีที่โครงการไม่น่าลงทุน แต่มีผลดีทางเศรษฐกิจ
1
เราเลยอธิบายง่ายๆ ได้ว่า ตอนนี้โครงการนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาเพื่อพิจารณาว่าจะให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในรูปแบบไหนนั่นเองครับ
--- ข้อที่ 10 Timeline การดำเนินการ ---
มาถึงข้อสุดท้ายที่หลายคนน่าจะอย่างรู้กันว่า "แล้วจะได้ใช้เมื่อไหร่?" เราหยิบ timeline จากเอกสารการประชุมมาให้ดูกันครับ
ปีที่คาดว่าจะเปิดบริการ คือปี 2572 หรือนับจากนี้ไปอีก 8 ปี
โดยระหว่างทางยังมีอีกหลาย step ที่ต้องติดตามกันต่อไป โดยใน step ปัจจุบันที่เป็นการศึกษา PPP นั้นจะเสร็จเรียบร้อยในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าครับ
1
และนี่ก็คือ 10 Fun Fact ของรถไฟฟ้าสายใหม่ Light Rail บางนา-สุวรรณภูมิ ที่เราย่อยเอามาฝากกันจากการประชุม 4 ชั่วโมงที่แสนยาวนานครับ 🤣
ไว้โอกาสหน้าเรามีอัพเดตอะไรเกี่ยวกับโครงการคมนาคมใหม่ๆ ก็คงได้เอามาฝากกันอีกเช่นเคย อย่าลืมติดตามกันด้วยน้า
"คมนาคุย: คุยเรื่องคมนาคม" ทุกเสาร์ 2 ทุ่ม
LivingPop ร่วมกับ Render Thailand จัดรายการ Live "คมนาคุย: คุยเรื่องคมนาคม" อัพเดตข่าวสารเกี่ยวกับการเดินทางและการคมนาคมขนส่งกันทุกวันเสาร์ 2 ทุ่ม ใครที่สนใจเรื่องราวแนวนี้ก็ฝากกด Like กดติดตามกันได้ที่เพจของเราบน Facebook ได้เลยนะฮะ
โฆษณา