22 ก.ย. 2021 เวลา 00:07 • สุขภาพ
ฉีดวัคซีน Johnson&Johnson เข็มที่สอง สามารถป้องกันติดเชื้อแบบแสดงอาการเพิ่มจาก 70% เป็น 94% และระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น 4-6 เท่า
ในขณะที่วัคซีนป้องกันโควิดส่วนใหญ่ต้องฉีด 2 เข็ม และเมื่อมีระดับภูมิคุ้มกันตกลง หรือเจอเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่ดื้อต่อวัคซีน ก็จะต้องมีการฉีดกระตุ้นเข็ม 3
แต่วัคซีนของบริษัท Johnson & Johnson ซึ่งใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral vector) ใช้เพียงเข็มเดียว ก็สามารถป้องกันโรคได้แล้ว และได้รับการอนุมัติให้ฉีดในสหรัฐอเมริกาได้เมื่อกุมภาพันธ์ 2564 เป็นวัคซีนลำดับที่ 3 ถัดจาก Pfizer และ Moderna
แต่เมื่อประสบปัญหาทำนองเดียวกับวัคซีนอื่น จึงมีการทำวิจัยในการฉีดกระตุ้น แต่เป็นเพียงเข็มที่สอง ก็นับเป็นเข็มฉีดกระตุ้นแล้ว(Booster)
รายงานการศึกษา 3 รายงานล่าสุดได้ผลสรุปว่า
1) การฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มหนึ่ง 2 เดือน ในอาสาสมัครจำนวน 30,000 คน และมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
พบว่ามีประสิทธิผล (Efficacy) ในการป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการได้ 94% และป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงได้ 100%
2) การฉีดเข็ม 2 ห่างออกไป 2 เดือนจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพิ่ม 4-6 เท่า แต่ถ้าทิ้งระยะห่าง 6 เดือน ภูมิคุ้มกันจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 12 เท่า ในขณะที่ผลข้างเคียงการฉีดเข็มสองพอๆกับการฉีดเข็มที่หนึ่ง
3) การศึกษาวิจัยในโลกแห่งความจริง (Real world) พบว่าประสิทธิผล(Effectiveness) เมื่อศึกษาเปรียบเทียบระหว่างคนที่ฉีดวัคซีนเข็มเดียว 390,000 คน กับกลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน 1.52 ล้านคน
พบว่ามีประสิทธิผล ป้องกันการติดเชื้อแบบต้องนอนโรงพยาบาลได้สูง 81% ( 86%ในผู้ที่อายุน้อยกว่า 60 ปี และ 78%ในผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี) และป้องกันการติดเชื้อได้ 79%
โดยที่สามารถรับมือกับไวรัสเดลต้าได้ เพราะการเก็บข้อมูลเกิดขึ้นในช่วงมีนาคมถึงปลายกรกฎาคม ซึ่งมีไวรัสเดลต้าแล้ว
ทางผู้บริหารของบริษัทแจ้งว่า ได้ส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับ USFDA แล้วและมีแผนที่จะส่งข้อมูลให้กับองค์การอนามัยโลกและอย.ของประเทศต่างๆเพื่อขออนุมัติการฉีดวัคซีนเข็มที่สองต่อไป
อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทแจ้งว่า การฉีดวัคซีนเพียงเข็มเดียว ก็เพียงพอในการป้องกันการติดเชื้อในเบื้องต้น ซึ่งเหมาะกับประเทศที่มีฐานะยากจนและยังขาดแคลนวัคซีน
สำหรับในประเทศที่มีความพร้อมมากกว่า ก็สามารถฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 2 ได้
ซึ่งในสหรัฐอเมริกาขณะนี้ มีคนฉีดวัคซีน Johnson หนึ่งเข็มไปแล้ว 14.8 ล้านคน คงจะมีข้อมูลต่อไปว่าเมื่อฉีดกระตุ้นเข็มสองให้คนทั้ง 14.8 ล้านคนแล้ว จะมีประสิทธิผลในการป้องกันโรคได้มากน้อยเพียงใด
วัคซีนของ Johnson & Johnson มีความสนใจที่จะนำเข้ามาในประเทศไทย และได้รับการอนุมัติจากอย.เมื่อเดือนมีนาคม 2564 เป็นลำดับที่สามถัดจาก AstraZeneca และ Sinovac แต่ช่วงที่ผ่านมามีการติดขัดของบริษัทเอง จึงยังไม่ได้นำเข้ามาในขณะนี้
1
วัคซีน Johnson&Johnson เป็นวัคซีนในกลุ่มเทคโนโลยีใช้ไวรัสเป็นพาหะ เช่นเดียวกับ AstraZeneca ของอังกฤษ และ Sputnik V ของรัสเซีย
Reference
โฆษณา