Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สืบสานงานท่านพุทธทาส
•
ติดตาม
22 ก.ย. 2021 เวลา 07:56 • การศึกษา
“โลกุตตระ” คือภาวะที่อยู่เหนือโลกนั้น
ต้องที่นี่และเดี๋ยวนี้ มิใช่ต่อตายแล้ว
…. “ จะขอยืนยันอยู่เสมอตลอดไปว่า หลักปฏิบัติเกี่ยวกับ“โลกุตตระ” คือ ภาวะที่อยู่เหนือโลกนั้น ต้องที่นี่และเดี๋ยวนี้ มิใช่ต่อตายแล้ว ให้ถือว่าคําว่า“โลกุตตระ”นั้น แปลว่า “ภาวะของจิตที่อยู่เหนืออํานาจบีบคั้นของโลก” ลักษณะหรือภาวะของจิตที่อยู่เหนือการบีบคั้นของโลก คือ โลกบีบคั้นไม่ได้
…. “โลก” ในที่นี้ ก็คือ สิ่งทั้งปวงที่จะเข้าไปสู่จิตใจ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจเอง เป็น ๖ ทาง สิ่งที่มีค่าแก่กิเลสตัณหาของมนุษย์ ก็คืออารมณ์ทั้ง ๖ นี้ ฉะนั้น โลกนี้มีค่า มีราคา ก็เพราะมันให้สิ่งทั้งปวงที่เป็นอารมณ์ ทั้ง ๖ เข้าสู่จิตใจ ทั้ง ๖ ทาง.
…. เราเห็นได้ทันทีว่า เดี๋ยวนี้ ในโลกเขาขวนขวายกันเป็นการใหญ่ แทบจะพลิกแผ่นดินทั้งโลกให้ทั่วถึง เพื่อค้นหาอะไรที่ดีที่วิเศษ มันก็ไม่พ้นไปจากสิ่งทั้ง ๖ นี้ คือ สิ่งที่จะอํานวยความรู้สึกเอร็ดอร่อย ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ที่พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า “อัสสาทะ” เสน่ห์ หรือ เหยื่อล่อในโลก นั่นเอง
…. สิ่งทั้งปวงระบุไปยังเรื่อง“จิตใจ”เท่านั้น อันเป็นตัวการสําคัญ ส่วนร่างกายนั้นมันไปตามอํานาจของจิตใจ : จิตใจเป็นผู้สั่งร่างกายให้เคลื่อนไหว กระทําไปตามอํานาจของจิตใจ.
…. ฉะนั้น เราจงควบคุมที่จิตใจแล้วจะเป็นการควบคุมอื่นๆทั้งหมด ส่วนร่างกายที่จะต้องเป็นไปตามอํานาจวิบากกรรมนั้น เราเรียกว่าเศษ หรือส่วนน้อย, เป็นเรื่องส่วนน้อย ที่ผลกรรมแต่หนหลังจะมาบีบคั้นบ้าง นั้นมันเป็นส่วนน้อย ไม่มากมายไม่เป็นอันตรายอะไร; สิ่งที่มาบีบคั้นหนักที่สุด ก็คือ กิเลส หรือ ความโง่ ความหลง ที่นี่และเดี๋ยวนี้
…. ถ้าหากว่าจะมองให้ละเอียดไป ถึงความเกี่ยวเนื่องกันทางสังคม อํานาจทางสังคม ความบีบคั้นทางสังคม ที่เข้ามาเกี่ยวข้องบ้างนั้นมันก็เล็กน้อย เหมือนกับเรื่องของวิบากกรรมแต่หนหลัง อย่าถือเป็นเรื่องใหญ่เลย. เรื่องใหญ่ก็คือการ บีบคั้นของกิเลส ตัณหา อวิชชา อย่างที่กล่าวมาแล้ว เมื่อใดจิตอยู่เหนือความบีบคั้นเหล่านี้ได้ เรียกว่า “โลกุตตรธรรม”, คือ ภาวะของจิตที่อยู่เหนือการบีบคั้นของโลก
…. ทีนี้ เราก็ให้ความยุติธรรมแก่พระธรรม แก่พระพุทธเจ้าบ้าง : อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องเหลือวิสัยในการที่เราจะชนะสิ่งบีบคั้นเหล่านี้”
.
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : ธรรมบรรยาย ชุดโอสาเรตัพพธรรม ลำดับ ๑๓ หัวข้อเรื่อง “หลักปฏิบัติเกี่ยวกับโลกุตตรธรรม” เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๑๔ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “โอสาเรตัพพธรรม” หน้า ๕๑๐-๕๑๑
จาก
https://www.facebook.com/227389201503419/posts/884074715834861/
Listen to 13.หลักปฏิบัติเกี่ยวกับโลกุตตรธรรม 2514 06 26 by สืบสานงานท่านพุทธทาส on #SoundCloud
https://soundcloud.app.goo.gl/QdUVa
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย