22 ก.ย. 2021 เวลา 12:55 • ประวัติศาสตร์
Black Window ในโลกความเป็นจริง
โปสเตอร์ภาพยนตร์ Black Widow
เนื่องด้วยภาพยนตร์ Black Window จะได้ฉายในไทยในเตือนตุลาคมที่จะถึงโดยจะฉายทางโรงภาพยนตร์ในวันที่ 1 ตุลาคม และบน Disney+ ในวันที่ 6 ตุลาคม บทความจึงจะพาท่านผู้อ่านมารู้จักกับ Black Window ที่ปรากฏตัวบนโลกความเป็นจริงของเรา ซึ่ง Black Widow ที่กำลังพูดถึงนี้มีบทบาทการดำเนินชีวิตที่แตกต่างจาก Black Window Superhero ของทาง Marvels Comics ในภาพยนตร์นั้น Black Widow จะอยู่ฝ่ายธรรมที่คอยต่อสู้กับเหล่าวายร้ายทั้งในและนอกโลก แต่ในโลกความเป็นจริงนั้นบทบาทของ Black Window คือกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่เป็นสตรีชาวเชเชน
ก่อนที่จะพูดถึงกลุ่ม Black Window เราต้องมาทำความรู้จักชาวเชเชนเสียก่อนเพื่อที่จะเข้าใจถึงที่มาของกลุ่ม Black Widow โดยชาวเชเชนเป็นประชาชนของสาธารณรัฐเชเชนหรือเชชเนีย อันเป็นดินแดนหนึ่งที่อยู่ภายใต้การปกครองของสหพันธรัฐรัสเซีย มีที่ตั้งอยู่ที่บริเวณเทือกเขาคอเคซัสทางทิศตะวันตะวันตกเฉียงใต้ของรัสเซีย มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ ซึ่งแตกต่างจากชาวรัสเซียที่ส่วนมากนับถือศาสนาคริสต์นิกายรัสเซียออร์ทอด๊อกซ์ (Russian Orthodox Church)
ด้วยความต่างทั้งทางชาติพันธ์และศาสนากับรัสเซียทำให้ชาวเชเชนต้องการเอกราชในการปกครองจากรัสเซีย และโอกาสดังกล่าวก็มาถึงในช่วงปลายปี 1991 อันเป็นเวลาที่สหภาพโซเวียตกำลังจะล่มสลายและรัสเซียซึ่งเป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุดของสหภาพโซเวียตก็ขาดเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้นายพลโจคาร์ ดูตาเยฟ (Dzhokhar Dudaev) ได้ประกาศให้เชเชนเป็นอิสระภาพจากสหภาพโซเวียตในวันที่ 2 พฤศจิกายน ต.ศ. 1991 ซึ่งเป็นการกระทำที่ทางรัสเซียไม่ได้ยินยอม ส่งผลให้ประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน (Boris Yeltsin) ผู้นำคนแรกของสหพันธรัฐรัสเซีย ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ของเชชเนีย และวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1991 รัสเซียได้ส่งกองกำลังทหารเข้าไปควบคุมสถานการณ์ในเชชเนีย อันเป็นชนวนเหตุให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นและประทุเป็นสงครามเชชเนียถึง 2 ครั้ง
แผนที่สาธารณรัฐเชเชนหรือเชชเนีย
สงครามเชชเนียที่ 1 กินระยะเวลาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994 - 1996 ซึ่งสงครามครั้งนี้เป็นสงครามที่มีความรุนแรงมากที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1945 สงครามครั้งนี้สิ้นสุดลงเมื่อทั้งสองฝ่ายทำการเจรจาหยุดยิงกันในปี ค.ศ. 1996 และทางรัสเซียได้ถอนกำลังทหารออกรวมทั้งให้การยอมรับรัฐบาลปกครองตนเองของสาธารณรัฐเชเชน จากสงครามครั้งนี้มีชาวเชเชนเสียชีวิตไปมากว่า 100,000 ราย
อย่างไรก็ดีการเจรจาหยุดยิงมีผลเพียง 3 ปี ในปี ค.ศ. 1996 นายพลชามิล บาซาเยฟ (Shamil Basayev) ผู้นำกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่มีอำนาจที่สุดได้เปิดฉากสงครามเชชเนียครั้งที่ 2 โดยการนำกองกำลังเข้ายึดครองสาธารณรัฐดาเกสถาน ซึ่งเป็นหนึ่งในเขตปกครองของรัสเซียและประกาศแนวทางที่ปลดแอกดินแดนทางตอนเหนือของเทือกเขาคอเคซัสให้เป็นอิสระจากรัสเซีย เพื่อเปลี่ยนให้เป็นรัฐอิสลาม ในสงครามครั้งนี้กองกำลังเชชเนียได้มีการใช้การก่อการร้ายเป็นยุทธวิธีในการโจมตีพรมแดนรัสเซียอยู่หลายครั้ง ส่งผลให้รัสเซียได้ส่งกองกำลังกลับเข้าไปในเชชเนีย และบทสรุปของสงครามครั้งนี้ทางรัสเซียสามารถยึดกรุงกรอซนีเมืองหลวงของเชชเนียเอาไว้ได้
จากสงครามทั้งสองครั้งทำให้เชเชนสูญเสียอย่างมหาศาลทั้งในแง่ของกำลังพล และสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ทำให้เป้าหมายของชาวเชเชนที่ต้องการเอกราชจากรัสเซียนั้นไม่เป็นผล ก่อนหน้าสงครามทั้ง 2 ครั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงที่นาซีเยอรมันได้ทำการบุกสหภาพโซเวียต ชาวเชเชนเคยใช้โอกาสช่วงที่โซเวียตติดพันสงครามกับนาซีเยอรมันในการลุกขึ้นสู้เพื่อเรียกร้องเอกราช อย่างที่ทราบกันดีในครั้งนั้นโซเวียตมีชัยเหนือนาซีเยอรมัน ทำให้การโซเวียตสามารถกลับปราบปรามชาวเชเชนที่เรียกร้องเอกราชและเนรเทศชาวเชเชนไปยังไซบีเรีย เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ชาวเชเชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังไม่มีใครสามารถรอดกลับมาบ้านได้
ภายหลังจากแพ้รัสเซียถึง 2 ครั้งทำให้เชเชนตระหนักได้ว่าถ้ายังใช้สงครามตามแบบจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบรัสเซียทั้งในด้านกำลังพลและยุทโธปกรณ์ เชเชนจึงได้ใช้ยุทธวิธีในการสู้กับรัสเซียแบบใหม่คือการใช้การก่อการร้าย ซึ่งเหตุการณ์ที่เป็นที่พูดถึงอย่างมากที่เชเชนใช้ยุทธวิธีกับรัสเซียคือการจับตัวประกัน 850 คนที่รู้จักกันในชื่อวิกฤตการณ์โรงละครมอสโควหรือการล้อมนอร์ด-โอสท์ ในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 2002 โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อกลุ่มติดอาวุธชาวเชเชน 40 – 50 คนที่อ้างความภักดีต่อกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเชชเนีย ได้บุกยึดโรงละครที่แน่นไปด้วยผู้คนและจับตัวประกัน 850 คน และเรียกร้องให้รัสเซียถอนกำลังออกจากเชชเนียหลังจากปิดล้อมได้ 2 วันครึ่ง
หลังจากปิดล้อมได้ 2 วันครึ่ง สเปซนาซ(หน่วยรบพิเศษของรัสเซีย)ได้ตัดสินใจสูบสารเคมีไม่ทราบชื่อ (คาดว่าเป็นเฟนตานิล หรือ 3-เมทิลเฟนตานิล) ส่งผลให้กลุ่มติดอาวุธชาวเชนเชนเสียชีวิต 39 คนและตัวประกันเสียชีวิต 139 คน การปฏิบัติการครั้งนี้ของรัสเซียถูกประณามอย่างหนักว่าเจ้าหน้าที่ใช้วิธีรุนแรงกว่าเหตุ แต่ทางรัสเซียเองให้เหตุว่าด้วยการกลุ่มติดอาวุธ 50 คนจับตัวประกันไว้และพร้อมสังหารทุกเมื่อ ทำให้มียุทธิวิธีที่จะใช้มีอย่างจำกัด
สเปซนาซกำลังปิดล้อมโรงละคร
หลังจากที่ได้เล่าถึงความขัดแย้งระหว่างเชชเนียกับรัสเซียแล้วก็ได้เวลาที่จะพูดถึงกลุ่ม Black Widow โดยกลุ่ม Black Widow นั้นเป็นผลผลิตที่เกิดจากสงครามเชชเนียทั้งสองครั้ง โดยกลุ่ม Black Widow เป็นกลุ่มก่อการร้ายของสตรีชาวเชเชนที่ต้องสูญเสียคนอันเป็นที่รักไปไม่ว่าพ่อแม่ พี่น้อง สามีหรือลูก และยิ่งถ้าผู้หญิงคนไหนที่สูญเสียสามีซึ่งเป็นเสาหลักของครอบครัว พื้นที่ทางสังคมของผู้หญิงคนนั้นแทบจะหมดไปเพราะที่เชชเนียได้ใช้กฎหมายอิสลามอย่างเคร่งขัด ผู้หญิงอยู่แต่บ้านไม่ได้ทำงาน
เมื่อไร้ซึ่งเสาหลักแล้วทำให้หนทางไปยังชีพของผู้หญิงเหล่านั้นหมดลง จนทำให้ผู้หญิงเหล่านั้นหลาย ๆ คนถูกเปลี่ยนมาเป็นผู้กระทำความรุนแรงเพื่อแก้แค้นให้กับคนที่สูญเสีย จนสตรีกลุ่มมีอีกชื่อหนึ่งว่าภรรยาหม้ายของนักรบเชเชน การกระทำความรุนแรงหรือการก่อการร้ายของกลุ่ม Black Widow ไม่ได้กระทำโดยความตั้งใจของผู้หญิงกลุ่มนั้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังได้รับการฝึกฝนอย่างเป็นระบบในเรื่องการต่อสู้และการเป็นมือระเบิดพลีชีพ
คนที่บทบาทอย่างมากต่อกลุ่ม Black Widow คือนายซามิล บาซาเยฟ (Shamil Basayev) ซึ่งเป็นถึงระดับผู้นำของขบวนการแบ่งแยกดินแดนเชชเนีย มีความเชี่ยวชาญด้านยุทธวิธีในการต่อต้านกองทัพรัสเซีย อีกทั้งชายคนนี้ยังมีความสัมพันธ์กับทหารรับจ้างชาวอาหรับที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มอัลกออิดะห์ โดยนายซามิล บาซาเยฟเป็นผู้ฝึกฝนกลุ่ม Black Widow ด้วยตนเองและส่งสตรีเหล่านั้นไปปฏิบัติการยึดโรงละครที่มอสโควในปี ค.ศ. 2002 อีกด้วย
นายซามิล บาซาเยฟ
เหตุการณ์แรกที่ทำให้ชื่อของ Black Widow เป็นที่รู้จักคือการระเบิดพลีชีพของนางสาว Khava Barayeva ที่ฐานทัพรัสเซียซึ่งอยู่ในพื้นที่เชเชน แต่เหตุการณ์ที่ทำให้ชื่อ Black Widow เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางคือเหตุการณ์การยึดโรงละครที่มอสโควในปี ค.ศ. 2002 ซึ่งในจำนวนผู้ก่อการร้ายกว่า 40 คนนั้นมีกลุ่ม Black Widow ซึ่งทำหน้ามือระเบิดพลีชีพถึง 19 คน อย่างไรก็ดีในเหตุการณ์ครั้งนั้นมือระเบิดพลีชีพทั้ง 19 คนไม่ได้จุดระเบิดแม้แต่คนเดียวเนื่องจากการสั่งการที่ล่าช้า
อ้างอิงจากปากคำของผู้รอดชีวิตที่บอกว่าผู้ก่อการร้ายที่ยึดโรงละครได้ติดต่อทางโทรศัพท์กับแกนนำที่อยู่ด้านนอกโรงละครเพื่อขอคำสั่งให้มือระเบิดพลีชีพทำการจุดระเบิด แต่คำสั่งนั้นล่าช้า จนทำให้สเปซนาซเข้าควบคุมสถานการณ์ในโรงละครด้วยการสูบแก๊สไม่ทราบชื่อเข้าไปยังระบบระบายอากาศของโรงละคร เป็นเหตุให้ผู้ก่อการร้ายที่อยู่ในโรงละครทั้งหมดเสียชีวิต ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์นายชามิล บาซาเยฟออกมายอมรับว่าเขาคือผู้อยู่เบื้องหลังจากยึดโรงละครและให้การฝึกฝนกลุ่ม Black Widow ด้วยตนเอง
นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 กลุ่ม Black Widow ได้ปฏิบัติการโดยใช้ระเบิดพลีชีพมาโดยตลอด จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 2013 ที่เกิดระเบิดที่เมืองวอลโกกราดในวันที่ 29 และ 30 ธันวาคม ซึ่งครั้งนั้นนับว่าเป็นเหตุระเบิดครั้งสุดท้ายที่ทางกลุ่ม Black Widow ปฏิบัติการ ซึ่งตอนนั้นหลายฝ่ายก็กังวลว่าทางกลุ่ม Black Widow จะมาก่อเหตุในช่วงที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2014 แต่การจัดโอลิมปิกครั้งนั้นก็ผ่านไปได้ด้วยดีไม่ได้เกิดความไม่สงบอย่างที่หลายฝ่ายเป็นกังวล
เหตุการณ์การระเบิดที่วอลโกกราดในวันที่ 30 ธันวามคม ค.ศ. 2013
สิ่งที่น่าประหลาดใจคือการระเบิดพลีชีพของกลุ่ม Black Widow นั้นประสบความสำเร็จในเรื่องของจำนวนยอดผู้เสียชีวิตมากกว่ามือระเบิดที่เป็นนักรบผู้ชาย สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากมือระเบิดผู้หญิงสามารถหลบเลี่ยงความสงสัยในการเข้าพื้นที่ต่าง ๆ ได้ดีกว่าผู้ชาย เนื่องด้วยความเป็นเพศหญิงที่ถูกมองด้วยความไม่มีพิษมีภัยทำให้เล็ดลอดระบบรักษาความปลอดภัยจนเข้าไปก่อเหตุได้
ภาพมือระเบิดพลีชีพในเหตุการณ์ระเบิดที่วอลโกกราด
อ้างอิง
CSIS (27 January 2014). 2014 Olympics Terror Threat: The Hunt for Black Widows. Retrieved September 22, 2021, from https://www.csis.org/analysis/2014-olympics-terror-threat-hunt-black-widows.
MGR Online (2 กันยายน 2547). ความขัดแย้งระหว่าง ‘เชเชน’ กับ ‘เครมลิน’. สืบค้นเมื่อ 22 กันยายน 2564, จาก https://mgronline.com/around/detail/9470000047351.
Nabi Abdullaev (n.d.). Women to the forefront in Chechen terrorism. Retrieved September 22, 2021, from https://css.ethz.ch/content/specialinterest/gess/cis/center-for-securities-studies/en/services/digital-library/articles/article.html/108029
VOICE online (28 เมษายน 2556). 'เชชเนีย' ดินแดนแห่งผู้ก่อการร้าย หรือผู้เคราะห์ร้าย?. สืบค้นเมื่อ 22 กันยายน 2564, จาก https://www.voicetv.co.th/read/68624.
Wikipedia (n.d.). Black Widow (Chechnya). Retrieved September 22, 2021, from https://en.wikipedia.org/wiki/Black_Widow_(Chechnya).
ไทยรัฐออนไลน์ (30 ธันวาคม 2556). รัสเซียระส่ำ! ระเบิดพลีชีพหน 2 ใน'วอลโกกราด'ถล่มรถบัสคร่า 14 ศพ. สืบค้นเมื่อ 22 กันยายน 2564, จาก https://www.thairath.co.th/content/392804.
ปฐมพร ผิวนวล (2562). “ผู้หญิงกับการก่อการร้าย” กรณีศึกษาการก่อการร้ายของสตรีมุสลิมกลุ่มแม่หม้ายดา ในสาธารณรัฐเชเชนผ่านทฤษฎีสตรีนิยม. (วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต. สาขา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย).
โฆษณา