28 ก.ย. 2021 เวลา 14:00
Craftsman Mindset คุณสร้างอะไรให้กับโลกนี้ได้บ้าง
เมื่อการค้นหา Passion อาจเป็นสิ่งที่ฉุดรั้งคุณไว้
“จงไล่ตามแพชชันของคุณ เป็นคำแนะนำที่ไม่ได้เรื่อง”
("Follow Your Passion" Is Bad Advice)
นี่คือคำกล่าวของคาล นิวพอร์ท ผู้เขียนหนังสือ So Good They Can't Ignore You หนังสือขายดีที่พูดถึงแนวทางในการสร้างทักษะ และการพัฒนาตนเอง
คาลไม่ได้กำลังบอกกับเราว่าอย่าไล่ตามแพชชัน ความฝัน หรือแรงปรารถนาของเรา เพียงแค่บอกว่าคำแนะนำอย่าง “จงไล่ตามแพชชันของตัวเอง” เป็นคำแนะนำที่ไม่ดีเท่านั้น
เรามักจะคุ้นเคยกับคำแนะนำนี้ เราได้ยินประโยคเช่น “หากคุณทำในสิ่งที่รัก คุณไม่จำเป็นต้องทำงานเลยสักวันในชีวิต” แต่หากคำแนะนำเหล่านี้เป็นคำแนะนำที่ได้ผลจริง ทำไมผู้คนมากมายยังคงทุกข์ทนกับการทำงาน และบางคนถึงกับเกลียดสิ่งที่เคยรักไปเลย
คาลเชื่อว่าปัจจัยที่แท้จริงที่ทำให้เรารักในงานได้นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับแพชชัน แน่นอนว่าแพชชัน ความชอบ หรือความฝัน นั้นส่งผลกับเราอย่างแน่นอน อย่างน้อยในจุดเริ่มต้น แต่ในระยะยาวแค่เเพชชันเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถพาเราไปสู่จุดหมายได้
มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยลพยายามค้นหาปัจจัยว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เรารักงานที่ทำ หรือมีความพึงพอใจต่องาน (Work Satisfaction)
และพบว่าเหล่าคนที่มีระดับความพึงพอใจต่องานสูงในอันดับต้น ๆ ล้วนมีปัจจัยที่เหมือนกันอยู่ 3 ข้อ
1. พวกเขาสามารถสร้างสรรค์งานได้ (Creativity)
2. พวกเขามีอำนาจควบคุมงานที่ทำ (Control)
3. งานของพวกเขาได้สร้างผลกระทบต่อผู้อื่น (Impact)
ซึ่งปัจจัยทั้งสามอย่างนี้มักเป็นสิ่งที่คนเพิ่งเริ่มทำงานนั้นไม่มี นั่นหมายความว่าการที่เราจะไปสู่จุดที่เราจะพึงพอใจกับงานของตัวเองได้ เราจะต้องมีความสามารถในงานที่ทำมากพอก่อน
และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมคาลถึงบอกว่าเราไม่ควรไล่ตามแพชชัน
การไล่ตามแพชชัน ในมุมมองของคาล คือการค้นหาสิ่งที่เราพึงพอใจที่จะทำ และเลือกที่จะทำสิ่งนั้น นั่นคือการไล่ตามแพชชัน หรือแนวคิดที่คาลเรียกว่า Passion Mindset
เพียงแต่ในท้ายที่สุด การไล่ตามแพชชันอย่างเดียวก็ไม่สามารถทำให้เรามีความสามารถในการสร้างสรรค์ ไม่ได้เป็นผู้ควบคุมงานที่ทำ หรือสามารถผลิตงานที่สร้างผลกระทบ (Impact) ได้เสมอไป
คาลจึงนำเสนอไว้ในหนังสือของเขาว่า สิ่งที่เราควรมีคือมุมมองแนวคิดแบบ Craftsman Mindset
Craftsman Mindset หรือแนวคิดแบบช่างฝีมือ คือแนวคิดในการทำงานแบบไม่ได้ยึดติดกับแพชชัน หรือความปรารถนาของตนเอง แต่เป็นการมองหาว่าตัวเรานั้นจะสามารถทำอะไรได้บ้าง
หากกล่าวให้ง่าย อาจบอกว่ามันคือการ “เลือกทำในสิ่งที่ถนัด” หรือเลือกทำในสิ่งที่ทำได้
แต่เราต้องไม่หยุดเพียงเท่านั้น การเลือกทำในสิ่งที่เราสามารถทำได้นั้นยังต้องมีการพัฒนา และเติบโตต่อไป ฝึกฝนฝีมือในการทำสิ่งที่ทำให้ หาทางที่จะพัฒนาตนเองขึ้น จนวันหนึ่งเราสามารถกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในสิ่งนั้น
ที่ผ่านมาเราพยายามตามหาแพชชัน และทำตามแพชชัน เพราะเชื่อว่ามันจะทำไห้เราสามารถทำงานอย่างมีความสุขได้ แต่ในท้ายที่สุดแค่เเพชชันก็อาจไม่สามารถทำให้เรามีความสุขกับงาน
แต่การทำในสิ่งที่ทำได้จนเชี่ยวชาญ เหมือนอย่างช่างฝีมือ คือการที่เราจะได้พัฒนาในสิ่งที่ทำได้ ค้นหาความหมายของมัน สร้างสรรค์ ควบคุม และสร้างงานที่มีผลกระทบอย่างแท้จริง จนในท้ายที่สุดคุณจะสามารถรักในสิ่งที่คุณทำได้
คาลได้เปรียบเทียบไว้ว่าแนวคิดของการไล่ตามแพชชัน หรือ Passion Mindset คือการที่เราพยายามคนหาว่าโลกใบนี้มีสิ่งใดที่จะนำเสนอให้แก่เราได้บ้าง
ในขณะที่ Craftsman Mindset คือการที่เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า เรามีสิ่งใดจะสามารถนำเสนอให้แก่โลกนี้ได้บ้าง และลงมือทำมัน
แล้วในวันนี้คุณล่ะ อย่างจะไล่ตามแพชชัน หรืออยากจะหันมาเป็นช่างฝีมือ
.
(อย่างไรก็ตาม นี่ก็ยังคงเป็นแค่แนวคิดของนักเขียน ที่พยายามหาแนวทางที่จะให้ผู้คนสามารถค้นหาความสุขในงานที่ทำได้ แต่วิธีการที่ว่านี้ก็อาจไม่ใช่สิ่งที่เกิดผลสำหรับทุกคน เราสามารถเป็นได้ทั้งนักไล่ตามความฝันที่มีความสุข และช่างฝีมือที่ชื่นชอบงานของตัวเองได้ทั้งนั้น)
.
.
เขียน Siravich Singhapon
Source : So Good They Can't Ignore You - Cal Newport
.
◤━━━━━━━━━━━━━━━◥
หากคุณชอบคอนเทนต์นี้อย่าลืม 'กดไลก์'
หากคอนเทนต์นี้โดนใจอย่าลืม 'กดแชร์'
◣━━━━━━━━━━━━━━━◢
.
.
“Knowledge is the only way to success”
- - - - - - - - - - - - - - - - - -
ติดตามคอนเทนต์เพื่อพัฒนาตัวเองสู่ความสำเร็จจาก Future Trends ได้ที่
(อย่าลืมกด See First เพื่อไม่ให้พลาดคอนเทนต์ใหม่ในทุก ๆ วัน)
#FutureTrends #KnowledgeforSuccess
โฆษณา