23 ก.ย. 2021 เวลา 12:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
วันนี้บังเอิญไปเจอบทความเกี่ยวกับปลาตัวหนึ่ง
ความน่าสนใจของบทความนี้เริ่มกระตุกต่อมอยากรู้อยากเห็นของคนที่ชื่นชอบวาฬอย่างเราตั้งแต่ชื่อบทความ โดยคนเขียนเขาตั้งว่า
"Whalefish ปลาวาฬที่ไม่ใช่วาฬ"
อ่านแวบแรกเราถึงกับ หือ ? ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อคำโปรยต่อมาอธิบายว่าเจ้าน้องตัวนี้เป็นปลาทะเลน้ำลึกด้วยแล้ว ก็ยิ่งสร้างความสับสน ที่ในความเข้าใจแต่เดิม เรามีความคิดฝังหัวว่าปลาทะเลที่อยู่ในน้ำลึกมาก ๆ ถ้าน้องเหล่านั้นไม่ตัวใสแจ๋วจนเห็นก้างข้างในแล้ว ก็คงตัวดำปี๋ในแบบที่ว่าย ๆ น้ำอยู่ปลาตัวอื่นก็ว่ายมาชน (เหมือนตอนเราปิดไฟในห้องแล้ววิ่งขึ้นเตียงแต่ดันไปชนโต๊ะญี่ปุ่นที่ก็อยู่ของมันดี ๆ ) แต่เจ้า Whalefish ที่เห็นในรูปคือน้องตัวสีแดงแสบตาประหนึ่งกรวยจราจรที่ตั้งอยู่กลางถนน ในตอนที่ดูรูปนั้นเราคิดว่า อย่าว่าแต่นักล่าเลย ถ้าเหยื่อของมันมาเห็นตัวอะไรแดง ๆ ผ่านมาแวบ ๆ แค่ปลายตามันก็เผ่นแนบไม่รอแล้ว และเจ้าน้องแดงของเราก็คงไม่มีอะไรตกถึงท้องไปทั้งวันแน่
แต่เราดันลืมความจริงข้อนึงไปว่า ในระดับน้ำลึกที่แสงส่องมาไม่ถึง 'สีแดง = สีดำ' นั่นหมายความว่า มันทำให้น้องแดงสามารถพลางตัวได้อย่างดีเยี่ยมในสภาพน้ำลึกที่มืดมิด genius !
พูดถึงรูปลักษณ์ของน้อง จะใช้คำว่า พิสดาร (แปลกพิลึก) ก็คงไม่เกินไปสำหรับสัตว์ทะเลน้ำลึก ทีนี้หากนำมาวิเคราะห์ทีละส่วน ก็จะสามารถอธิบายโดยพิสดาร (ละเอียด) ได้ว่าเจ้า Whalefish ซึ่งหน้าตาดูผ่าน ๆ เหมือนปลาเก๋า แต่มีลำตัวยาวแค่ไม่ถึงหนึ่งไม้บรรทัด หรือประมาน 20 เซนติเมตร ถึงอย่างนั้นบางสายพันธุ์ (จาก 30 สายพันธุ์ย่อย) ก็อาจจะยาวถึง 40 เซนติเมตร ทว่าเรื่องความยาวของลำตัว ไม่น่าสนใจเท่ากับการที่เวลฟิช มีดวงตาที่เล็กมากจนเกือบบอด ซึ่งเป็นคุณสมบัติทางกายภาพของสัตว์ทะเลน้ำลึกทั่ว ๆ ไปที่ไม่ต้องใช้ดวงตาหาอาหาร
“ในความมืดที่ยาวนาน ดวงตาก็เหมือนกับนิ้วพิการที่ไม่ถูกใช้งาน”
แต่เมื่ออวัยวะส่วนหนึ่งถูกปิดการใช้งานไป ก็มีสิ่งพิเศษหนึ่งที่แลกมา คือ ‘ปุ่มรับความรู้สึก’ ในบทความที่อ่านเขาอธิบายว่า มันมีขนาดใหญ่มาก ไล่ยาวตั้งแต่หัวไปจนถึงข้างลำตัว เขาเปรียบเทียบว่ามันคล้ายกับเกล็ดของจระเข้ (เราลองซูมดูในรูปเห็นเป็นตุ่ม ๆ ที่ปูดอยู่ใต้หนังสีแดงแล้วเรียงแถวยาวเป็นระเบียบเหมือนฝักถั่วลันเตา) ซึ่งปุ่มรับความรู้สึกนี้เองที่ทำให้น้องแดงของเราสามารถตรวจจับแรงสั่นสะเทือนในน้ำได้ เรียกว่าตัวอะไรว่ายเข้ามาใกล้น้องรู้หมดและสามารถแยกได้ทันที
มาถึงคำถามที่ว่าทำไม Whalefish ชื่อเป็นวาฬที่ไม่ใช่วาฬแต่เป็นปลา (ความย้อนแย้งที่ใช้คำยุ่งเหยิงขั้นสุด) เหตุผลที่น้องได้ชื่อนี้มาจากการที่นักสมุทรศาสตร์พบว่า เวลฟิชมีพุงที่สามารถขยายใหญ่ได้มาก และในตอนที่มันกินอาหารจะอ้าปากกว้าง ๆ แล้วงาบลงท้องไปเหมือนกับวาฬ แต่ความแตกต่างที่ชวนทึ่งและงงงวยคือ ขณะที่วาฬเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ซึ่งกินสิ่งมีชีวิตเล็กจิ๋วอย่างแพลงตอน ปลาเวลฟิชดันเลือกกินเหยื่อที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวเอง (ฟังดูไม่แปลกใจแล้วที่น้องต้องอ้าปากกว้าง ๆ เวลากิน)
ข้อสังเกตหนึ่งที่ไม่มีในบทความแต่มีอยู่ในภาพ คือ ครีบข้างลำตัวของน้อง Whalefish มีขนาดเล็กจิ๋ว ซึ่งสร้างความสงสัยให้เราได้นิดหน่อยว่า ทำไม ? แต่จากความเห็นส่วนตัวคิดว่าในน้ำที่ลึกมาก ๆ กระแสน้ำคงจะนิ่งจนแทบเหมือนลอยอยู่ในอากาศ ดังนั้นครีบใหญ่จึงไม่จำเป็น หดมาให้เหลือเล็ก ๆ ใช้บังคับทิศทางได้ก็พอแล้ว นอกจากมันจะประหยัดพลังงานเอาไปใช้ประโยชน์ในการสร้างส่วนอื่นที่สำคัญกว่า การมีครีบเล็ก ๆ มันก็ดูน่ารักดีแม้หน้าตาของมันจะยังน่ากลัวเหมือนเดิมก็ตาม
ใครสนใจอยากรู้จักน้องปลาทะเลน้ำลึกตัวนี้เพิ่มเติม เราแปะลิงก์ไว้ให้ไปตามอ่านกัน ขอบคุณบทความดี ๆ ที่ทำให้เราได้รู้จักเจ้าแดงแห่งห้วงน้ำลึกตัวนี้ https://hilight.kapook.com/view/216471
FB : ขอบคุณโลกทั้งใบ
โฆษณา