23 ก.ย. 2021 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
กล้องฟิล์ม: การคืนชีพของเทคโนโลยีถ่ายภาพที่โลกลืม
3
กล้องฟิล์ม: การคืนชีพของเทคโนโนโลยีถ่ายภาพที่โลกลืม
📌 มองย้อนสู่จุดเริ่มต้นของกล้องฟิล์ม
จุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของกล้องฟิล์มเกิดขึ้นในปี 1885 เมื่อจอร์จ อีสแมน นักธุรกิจชาวอเมริกันได้วางขายฟิล์มม้วนแบบยืดหยุ่น (Flexible Photographic Roll Film) เป็นครั้งแรก และต่อมาในปี 1888 ก็ได้เริ่มขายกล้องฟิล์ม ให้กับคนทั่วไปในราคาที่จับต้องได้ให้กับชาวอเมริกันในราคาเพียงแค่ 25 เหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น โดยมีสโลแกนสำคัญเป็นจุดขายให้กับลูกค้า ซึ่งก็คือ “You Press the Button, We Do the Rest” หรือแปลเป็นไทยว่า เพียงแค่คุณทำกดปุ่มชัตเตอร์เท่านั้น ที่เหลือเดี๋ยวเราจัดการให้เอง หรือก็คือ การส่งกล้องกลับไปให้จอร์จ อีสแมนล้างฟิล์มให้นั่นเอง
2
หลังจากนั้น ภายในระยะเวลาเพียงสองสามปีต่อมา จอร์จ อีสแมน ก็ได้ก่อตั้งบริษัท Eastman Kodak หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ Kodak ขึ้นมา ซึ่งก็ได้กลายมาเป็นบริษัทจำหน่ายกล้องฟิล์มและม้วนฟิล์มที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเวลาต่อมา ซึ่งหลังจากนั้น กล้องฟิล์มก็ได้มีการพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนจำนวนมากเริ่มเข้าถึงกล้องเหล่านี้มากขึ้น คนก็เริ่มมองหากล้องฟิล์มที่มีขนาดเล็ก กะทัดรัด พกพาสะดวก ไม่ได้ใหญ่เทอะทะเหมือนเช่นกล้องฟิล์มที่เป็นอยู่ในขณะนั้น
2
กล้อง Kodak รุ่นแรกที่วางจำหน่ายขาย ในปีค.ศ. 1888
ทั้งนี้ ทางออกก็คือการใช้ฟิล์มขนาด 35 มม. นั่นเอง ซึ่งในช่วงแรกนั้น ก็มีเพียงแค่บริษัทอย่าง Leica และ Zeiss ของเยอรมนีที่ผลิตเท่านั้น และสินค้าของบริษัททั้งสองก็เป็นราคาแพง และคนทั่วไปเข้าถึงยาก ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1930 บริษัทอย่าง Kodak ก็ได้เริ่มมีการประดิษฐ์กล้องฟิล์ม 35 มม. อย่างรุ่น Retina และ Retinette ขึ้นมา และขายในราคาที่ทำให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น
1
📌 สองจุดเปลี่ยนสำคัญของกล้องฟิล์ม
จุดเปลี่ยนสำคัญที่นำพากล้องฟิล์มไปที่จุดสูงสุดอย่างแท้จริงก็คือในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดพัฒนาการทางเทคโนโลยีขึ้นอย่างมาก เกิดระบบสายพานการผลิตขึ้น ที่ทำให้สามารถผลิตกล้องฟิล์มออกมาจำนวนมาก ในราคาที่ถูกลงได้ ทำให้คนทั่วไปเข้าถึงได้มากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็มีบริษัทต่างๆ เกิดขึ้นมามากมาย โดยเฉพาะบริษัทอย่าง Canon, Nikon, และ Fujifilm ในญี่ปุ่นที่สามารถลอกเลียนแบบเทคโนโลยีของฝั่งตะวันตกและผลิตในราคาที่ยิ่งถูกไปอีก
เทคโนโลยีและการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ ได้ส่งผลให้มีการพัฒนาออกแบบกล้องฟิล์ม 35 มม. ให้มีฟังก์ชันที่เพิ่มขึ้นและดีไซน์ที่หลากหลายมากขึ้นอีกด้วย อย่างเช่น กล้องฟิล์ม 35 มม. แบบ SLR หรือ Single-len reflex camera ที่ใช้ระบบการสะท้อนภาพจากเลนส์ (ภายหลังก็ได้พัฒนากลายมาเป็นกล้อง DSLR แบบที่ช่างภาพมืออาชีพใช้กันทุกวันนี้นั่นเอง) ​หรือกล้องฟิล์มคอมแพกต์ขนาดเล็กๆ ใช้งานง่าย พกพาสะดวก ที่ครอบครัวทั่วไปล้วนมีเป็นเสมือนของสามัญประจำบ้าน เพื่อเก็บภาพความทรงจำต่างๆ เอาไว้ ไปจนถึงกล้องฟิล์มที่บรรจุฟิล์ม 35 มม. สำหรับการใช้แล้วทิ้งอีกด้วย
2
Canon วางจำหน่ายกล้องรุ่น AE-1 ในรูปแบบกล้องฟิล์มแบบ SLR ขนาด 35 มม.
แต่อุตสาหกรรมนี้ได้เข้าจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้ง เมื่อกล้องดิจิตัลก้าวเข้ามาในช่วงทศวรรษ 1990 เป็นดั่งจุดเริ่มต้นของจุดจบของเทคโนโลยีกล้องฟิล์มอย่างแท้จริง ซึ่งความตลกร้ายของเรื่องนี้ก็คือว่าบริษัทที่เป็นผู้นำเทคโนโลยีกล้องดิจิทัลเข้าสู่ตลาดกล้องถ่ายภาพก็คือบริษัทฟิล์มยักษ์ใหญ่อย่าง Kodak เสียเอง โดยความจริงแล้ว Kodak ได้พัฒนากล้องดิจิทัลที่พกพาได้สำเร็จตั้งแต่ราว 30 ปีก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ด้วยความกลัวว่าจะไปกระทบการจำหน่ายกล้องฟิล์มและฟิล์มม้วน ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของ Kodak เองจึงไม่ได้มีการวางขายไป
หลังจากนั้น ก็ได้มีการพยายามสร้างพันธมิตรกับทางบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ อย่างเช่น Microsoft และ Apple เพื่อวางแผนให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีใหม่อย่างมั่นคงจริงๆ จนกระทั่งในปี 1996 Kodak ก็มีการออกกล้องดิจิทัลออกมา ในรุ่น DC20 และ DC25 แต่เมื่อออกผลิตภัณฑ์ไปแล้วก็ไม่ได้มีการวางแผนด้านการพัฒนาหรือปรับกลยุทธ์สำหรับสินค้าใหม่ชิ้นนี้แต่อย่างใด เพราะยังคงยึดติดกับกล้องฟิล์มแบบดั้งเดิม และคิดว่าท้ายที่สุดแล้ว คนก็คงอยากเห็นภาพถ่ายแบบเดิม ที่จับต้องได้จริงๆ ไม่ใช่ภาพที่แสดงในจอ ทำให้ไม่ทันไร ก็ถูกบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ อย่างเช่น Sony ที่เห็นศักยภาพของเทคโนโลยีดังกล่าว หยิบฉวยโอกาส และช่วงชิงพื้นที่จนสามารถแทนที่กล้องฟิล์มด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างกล้องดิจิทัลได้
6
แม้ว่าช่วงแรกๆ ภาพจะยังไม่ค่อยคมชัด รายละเอียดไม่มาก แต่เมื่อพัฒนาไปอีกระดับ ก็นำไปสู่จุดจบของบริษัทผู้ริเริ่มเทคโนโลยีกล้องฟิล์มอย่าง Kodak นั่นเอง โดย Kodak ได้ยื่นล้มละลายภายใต้ Chapter 11 ของกฎหมายการล้มละลายสหรัฐฯ เพื่อขอปรับโครงสร้างองค์กร ในปี 2011
1
ปี 1996 Kodak ได้วางจำหน่ายขายกล้องดิจิทัล รุ่นออกมาในรุ่น DC20 และ DC25
ทั้งนี้ ใช่ว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างกล้องดิจิทัลจะเป็นคำตอบสุดท้ายของการถ่ายภาพซะทีเดียว เพราะถึงแม้ว่าจะสามารถแทนที่กล้องฟิล์มได้สำเร็จ จนกลายมาเป็นเทคโนโลยีหลักในการถ่ายภาพ
ภาพการ์ตูนล้อเลียนการยื่นล้มละลายของ Kodak - Cargo Collective
ในช่วงที่ผ่านมา การถ่ายภาพโดยใช้กล้องดิจิทัลเองก็เผชิญความท้าทายอย่างมากจากมือถือรุ่นใหม่ๆ ที่สามารถถ่ายภาพในระดับที่มีความคมชัดสูงมากขึ้นเรื่อยๆ และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทุกปี จนทำให้ในปัจจุบัน กล้องในโทรศัพท์เหล่านี้สามารถถ่ายภาพในแบบเดียวกับกล้องดิจิทัลได้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับความรูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ ไปจนถึงค่า ISO เป็นต้น หรือแม้แต่มีการใช้เลนส์สองถึงสามตัวในโทรศัพท์เครื่องเดียว เพื่อให้ผู้ใช้สามารถสลับไปเป็นเลนส์ Wide หรือเลนส์ชนิดอื่น ๆ ได้ตามความต้องการ และสามารถนำไปแชร์ให้คนอื่นดูได้ทันทีผ่าน Social Network อย่างเช่น Facebook ไปจนถึง Instagram
5
กระแส Disruptions ที่เกิดขึ้นนี้ ประกอบกับบทเรียนจากอดีต ได้ทำให้บริษัทกล้องต่างๆ ก็เร่งปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดได้ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป อย่างเช่น บริษัทกล้องหรูอย่างเช่น Leica ของเยอรมนีก็ได้มีการจับมือกับ Huawei เพื่อสร้างโทรศัพท์ที่สามารถถ่ายภาพในระดับมืออาชีพได้อีกด้วย เพื่อที่จะไม่ให้ตัวเองตกเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงไป พ่ายแพ้ต่อ Creative Destruction จนนำไปสู่จุดจบแบบเดียวกับที่ Kodak เคยประสบมา
2
Leica บริษัทกล้องระดับ Luxury ของเยอรมนี จับมือกับ Huawei
อย่างไรก็ตาม ขณะที่เทรนด์ปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงจากกล้องดิจิทัลไปสู่กล้องในโทรศัพท์มากขึ้น ก็ได้เกิดอีกเทรนด์ที่เป็นกระแสตีกลับ ที่คนจำนวนไม่น้อย ตั้งแต่คนทั่วไป ไปจนถึงช่างภาพมืออาชีพ เริ่มหันกลับไปหากล้องฟิล์มแบบเดิม โดยคนเหล่านี้คือคนที่หลงในเสน่ห์ของกล้องฟิล์ม ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของภาพ และสีที่เป็นเอกลักษณ์ของกล้องและฟิล์มแต่ละประเภท ไปจนถึงเสน่ห์ของการที่ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าผลลัพธ์ที่ออกมาของภาพที่ได้ถ่ายไปเป็นอย่างไร จนกว่าจะนำฟิล์มไปล้างจริงๆ
ทั้งนี้ หากจะคิดทบทวนดู แม้เทคโนโลยีจะทำใช้ชีวิตสะดวกขึ้น แต่บางครั้งมนุษย์ก็ยังโหยหาอดีต เพราะบางทีการใช้ชีวิตแบบต้องรอคอยอะไรบางอย่าง อาจทำให้มนุษย์ได้รู้สึกถึงคุณค่า และมีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น ในยุคที่โลกหมุนไวจนแทบตามไม่ทันเช่นทุกวันนี้
2
#กล้องฟิล์ม #Kodak #Canon #Leica #Retro_Technology
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:
โฆษณา