23 ก.ย. 2021 เวลา 13:38 • กีฬา
จากลีกที่คนในยุโรปรังเกียจ และเป็นจุดอัปยศของประเทศ รัฐบาลอังกฤษทำอย่างไร ให้ฟุตบอลอังกฤษกลายมาเป็นลีกที่ถูกรัก วิเคราะห์บอลจริงจังจะเล่าประวัติศาสตร์ให้ฟัง
ครั้งหนึ่งฟุตบอลอังกฤษ ถูกมองว่าเป็นจุดด่างพร้อยอันแสนอัปยศของประเทศ
ปัญหาหลักคือเรื่อง "ฮูลิแกน" ที่รุนแรง แฟนบอลแต่ละทีมยกพวกตีกันเป็นเรื่องปกติ แม้แต่ในเกมยุโรป ยังคึกคะนองถึงขั้นไปทำร้ายแฟนบอลจากประเทศอื่น เช่นในกรณีโศกนาฏกรรมเฮย์เซล ในปี 1985 ที่แฟนลิเวอร์พูลไปกระทืบแฟนบอลยูเวนตุส จนมีคนตาย 39 ศพ
พอเกิดเหตุที่เฮย์เซล ยูฟ่าสั่งแบนลิเวอร์พูล 6 ปี และสโมสรอื่นๆ จากอังกฤษอีก 5 ปี ห้ามเล่นทุกรายการในยุโรป คือสายตาชาติอื่นๆ ณ เวลานั้น มองฟุตบอลอังกฤษเป็นตัวอันตราย จนถึงขั้นใช้คำว่า "The English Disease" (เจ้าโรคร้ายจากอังกฤษ)
1
ยุคนั้นในสนามฟุตบอลอังกฤษจะเป็นแบบ "ยืนดู" กล่าวคือในสนาม จะมีพื้นที่สำหรับแสตนด์ยืน (Terrace) มากกว่าโซนที่นั่งเสียอีก แล้วก็ไม่มีกฎหมายกำหนดปริมาณคนดู ขายตั๋วเท่าไหร่ก็ได้ ยัดมาอัดใส่สแตนด์ได้เท่าไหร่ ก็ใส่มาเท่านั้นแหละ
นอกจากนั้น ยังไม่มีการตรวจเช็กไอดีใดๆทั้งสิ้น ใครมีตั๋วก็เข้าได้เลย แถมไม่มีระบบกล้องวงจรปิดด้านในสนาม ใครก่อเรื่องก็ตรวจจับไม่ได้ทั้งนั้น ทุกอย่างมันเอื้อให้สนามฟุตบอลเป็นแหล่งมั่วสุม มีคนดื่มเหล้าและสูบบุหรี่บนสแตนด์เป็นเรื่องปกติ
ในมุมของแฟนบอลอังกฤษยุคนั้น ฟุตบอลคือกีฬาแห่งความก้าวร้าว เรื่องความรุนแรงจึงเป็นสิ่งที่ดูปกติมาก
ในปี 1988 ในศึกยูโรที่เยอรมนี แฟนบอลทีมชาติอังกฤษ 7,000 คน ไปไล่ตีกับแฟนบอลเยอรมันจนเละเทะ ที่เมืองดุสเซลดอร์ฟ จนตำรวจต้องใช้กำลังห้ามปรามกันวุ่นวาย คือไปเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่เขามาร่วมแข่ง อย่างอิตาลี, เนเธอร์แลนด์ส หรือ สหภาพโซเวียต ก็ไม่เห็นมีใครไปหาเรื่องอีกฝ่ายขนาดนี้เลย
1
ด้วยบรรยากาศของความรุนแรง ทำให้ ณ เวลานั้น ผู้หญิงไม่กล้าเข้าไปดูในสนาม เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย ส่วนผู้ชายที่มีลูก ก็คิดหนัก คือถ้าจะเอาครอบครัวไปดูบอลพร้อมกันทั้งสนาม มันจะเสี่ยงเกิดอันตรายมากกว่า
จากเรื่องฮูลิแกนที่เฮย์เซล ในปี 1985 ฟุตบอลอังกฤษมีเหตุสลดอีกครั้ง ในโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร่ ปี 1989 เมื่อกองเชียร์ลิเวอร์พูลโดนอัดก็อปปี้กับอัฒจันทร์ จนมีคนตายทั้งสิ้น 96 ชีวิต และบวกกับอีกคนที่บาดเจ็บยาวนาน ก่อนจะมาเสียชีวิตในปีนี้ รวมเป็น 97 ชีวิต
เหตุที่ฮิลส์โบโร่ ปัญหาเกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ดูแลสแตนด์ฝั่งเล็ปปิ้งเลน ปล่อยให้คนเข้าสนามอย่างไม่เป็นระบบ พอบอลกำลังจะเตะ คนก็แห่กรูกันเข้าไป ต่างคนก็ตะเกียกตะกายจะหาพื้นที่ ที่ตัวเองจะยืนดูบอลได้
1
เมื่อไร้การควบคุมที่ดีพอ ทำให้ผู้คนที่เข้ามาทีหลัง ดันคนที่อยู่หน้าตัวเองไปเรื่อยๆ กลายเป็นว่า คนที่อยู่แถวหน้าสุดโดนอัดก็อปปี้กับกำแพงและรั้วเหล็ก ไม่สามารถหนีออกมาได้ จนส่งผลให้หลายคนหายใจไม่ออกและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา
1
หลังเกิดเหตุโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร่ มาร์กาเร็ธ แธตเชอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษขณะนั้น ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทันที ว่าสาเหตุเกิดจากอะไรกันแน่
29 มกราคม 1990 ผลการสอบสวนฉบับเต็ม โดยผู้พิพากษาปีเตอร์ เทย์เลอร์ ก็อธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด และจุดที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ข้อแนะนำตอนท้ายของรายงาน ที่เขียนไว้ว่า "ความเสื่อมสลายของเกมฟุตบอลเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นสนามที่เก่า, สิ่งก่อสร้างที่มีสภาพย่ำแย่, กลุ่มฮูลิแกน และการดื่มเหล้ามากเกินไป เรื่องสภาพสนามที่อังกฤษนั้นแน่นอนว่าไม่ได้อยู่ในระดับที่ได้มาตรฐาน เอาจริงๆ มันอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่เลยก็ว่าได้ ความสง่างามของสนามฟุตบอลนั้นไม่มี เรื่องความสะดวกสบายไม่ต้องพูดถึง การควบคุมในสนามต้องใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งให้แฟนบอลเดินไปตามทาง จนชวนให้นึกถึงกลุ่มนักโทษสงครามที่โดนตั้งแถวสั่งให้เดินไปทางเดียวกัน"
1
หากนึกภาพสนามฟุตบอลในยุค 80 มันจะมีความหม่นๆ บรรยากาศมันดูอึดอัดไปหมด ส่วนเรื่องความปลอดภัยก็ตามที่ผู้พิพากษาเทย์เลอร์บอก คือมันอันตรายจนใช้แค่สจ๊วร์ตสนามก็ไม่พอ แต่ต้องเอาตำรวจมาคุมสถานการณ์ คือบรรยากาศเหมือนจะมาสงคราม มากกว่ามาดูกีฬา
กล่าวคือถ้าปล่อยทุกอย่างไปโดยไม่แก้ไข เหตุการณ์แบบฮิลส์โบโร่ ก็จะเกิดอีก เพราะสนามแข่งขัน มันเอื้อให้เกิดเหตุร้ายได้ง่ายๆ อยู่แล้ว
ในรายงานของผู้พิพากษาเทย์เลอร์ มีคำแนะนำสำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนของวงการฟุตบอลอังกฤษ นั่นคือ แนะนำให้ทุกสนามต้องโละ Terrace ออกให้หมด แล้วเปลี่ยนมาติดตั้งเก้าอี้ในสแตนด์ทุกฝั่ง (All-Seater Stand)
ผู้พิพากษาเทย์เลอร์มองว่า การดูฟุตบอลแบบมีสแตนด์ยืน เป็นจุดเริ่มต้นของความมั่วทุกอย่าง ในอังกฤษ ณ เวลานั้น หลายสนามมี Terrace มากถึง 70% ของสเตเดี้ยม ซึ่งโซนยืนก็เป็นแหล่งรวมความมั่วสุมและความรุนแรง โดยความคิดของผู้พิพากษาเชื่อมั่นว่า "คุณไม่มีทางเป็นฮูลิแกนได้ ถ้านั่งอยู่กับที่"
หากสังเกตดู กลุ่มฮูลิแกนถ้าอยู่คนเดียวขึ้นมาเมื่อไหร่ ความคึกคะนองจะหายไปเลย คือจะเคารพกฎของสังคมทันที แต่พออยู่รวมตัวกันล่ะก็ ความมั่นใจจะพุ่งมาจากไหนก็ไม่รู้ และความรุนแรงทั้งหลายเกิดขึ้นจากการปล่อยให้คนหัวรุนแรงจำนวนมาก รวมตัวในจุดเดียวกันนี่ล่ะ
นอกจากจะลดปัญหาฮูลิแกนได้แล้ว การติดที่นั่งได้ครบ คุณจะรู้ชัดเจนเลยว่าใครนั่งอยู่ตรงไหน จะกำหนดปริมาณได้อย่างถูกต้อง เหตุการณ์สลดแบบที่ฮิลส์โบโร่ก็จะไม่เกิด ผู้คนจะไม่กรูเข้ามาจนอัดกันตาย เพราะทุกคนจะรู้อยู่แล้วว่า ที่นั่งของตัวเองคือเบอร์อะไร พอเกมเริ่ม ก็ตรงไปนั่งที่นั่งของตัวเอง ง่ายๆ แค่นั้น ไม่ต้องตะเกียกตะกายเพื่อหามุมดูบอล
1
ยิ่งไปกว่านั้น การมีที่นั่งชัดเจน มันก็ปลอดภัยสำหรับเด็กๆ พ่อแม่จะรู้ว่าโซนอุลตร้า โซนฮาร์ดคอร์ของสนามอยู่ฝั่งไหน เวลาพาลูกไปดูบอล ก็จะได้ไปนั่งในส่วนอื่นของสนาม การจัดระบบโซนนิ่งก็จะทำได้ง่ายขึ้นมาก
ฟังดูแล้วมีแต่ข้อดี แต่ปัญหาคือเรื่องนี้ เกิดแรงต่อต้านจากแฟนบอลและสโมสร เพราะมันเป็นวัฒนธรรมที่คนอังกฤษไม่คุ้นชินเลย พวกเขาดูบอลบน Terrace มาตลอดหลายสิบปี คุณจะมาเปลี่ยนกันดื้อๆ แบบนี้ได้ไง
ย้อนกลับไปในปี 1981 โคเวนทรี่ เป็นสโมสรแรก ที่คิดไอเดียติดเก้าอี้ทั้งสนาม แต่ก็ทำได้อยู่แค่ 1 ปี ก็ต้องถอดออก เพราะแฟนบอลไม่เห็นด้วย เนื่องจากทำให้บรรยากาศการเชียร์อันน่าเกรงขามมันลดทอนลงไป
2
ขณะที่ในมุมของสโมสรเองก็ไม่แฮปปี้นัก คีธ อัชเชอร์ ผู้บริหารของทีมยอร์ก ซิตี้ เล่าว่า "เรามีสนามที่จุได้ 14,000 คน แต่เป็นสแตนด์ยืนไปแล้ว 11,000 คน ค่าใช้จ่ายในการติดที่นั่ง มันจะสูงมากจนน่ากลัว" ขณะที่ผู้บริหารของทีมบาร์นสลีย์กล่าวว่า "ถ้าทำตามความต้องการของผู้พิพากษา สโมสรจะเสียค่าใช้จ่ายเยอะมาก ถึงขั้นทำลายสโมสรได้เลย"
ส่วนมาร์ติน เอ็ดเวิร์ดส์ ประธานสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยอมรับว่า ถ้าจะติดที่นั่งในโอลด์แทรฟฟอร์ดทั้งหมด ต้องใช้เงินร่วม 10 ล้านปอนด์ เขากล่าวว่า "มันทำให้ทีมใหญ่ เจอความกดดัน และทำให้ทีมเล็กๆ อาจต้องยุบทีมไปเลย จริงๆเรามีส่วนที่ยืนเชียร์ไม่เยอะ และมันปลอดภัยมาก" ในมุมของเอ็ดเวิร์ดส์ เขาไม่เข้าใจว่า สโมสรทั้งประเทศต้องเปลี่ยนทั้งระบบจากเหตุการณ์แย่ๆ ที่เกิดขึ้นที่ฮิลส์โบโร่เพียงสนามเดียวอย่างนั้นหรือ
ดังนั้นมันจึงเป็นการต่อสู้กันของสองขั้วความคิด ฝั่งภาครัฐมองว่าต้องแก้ไขทันที มันไม่มีทางอื่นอีกแล้ว วัฒนธรรมที่ยาวนาน แต่ก่อให้เกิดปัญหามากมายจะเก็บไว้ทำไม
แต่ฝั่งสโมสรนั้นมองตรงข้าม เพราะกลัวว่าถ้าติดที่นั่งแล้วต้องใช้ค่าใช้จ่ายเยอะ แถมจำนวนคนดูก็จะลดลงแน่นอน การหารายได้ในอนาคตได้ยากขึ้นอีก บางสนามถ้ามีแสตนด์ยืนจะจุคนได้ 8,000 แต่ถ้าติดที่นั่งทั้งหมด จะขายบัตรได้เหลือเพียงแค่ 1,000 ใบเท่านั้น
4
สอดคล้องกับแฟนบอลเองก็ไม่สบายใจ เพราะถ้าสนามติดที่นั่ง ก็จะต้องลดปริมาณตั๋วเข้าชมในแต่ละนัด นั่นแปลว่าสโมสรก็ต้องขายตั๋วแต่ละใบแพงขึ้นกว่าเดิมโดยปริยาย แล้วผลกระทบก็จะตกอยู่กับแฟนๆ ที่ต้องเสียเงินมากขึ้น
2
การโต้เถียงเกิดขึ้นอยู่นาน อย่างไรก็ตาม ฝั่งภาครัฐไม่ยอมแพ้ และพยายามชี้ให้เห็นว่า ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง เหตุการณ์แบบที่ฮิลส์โบโร่อาจจะเกิดขึ้นกับสนามไหนก็ได้ ดังนั้นคนที่ตายไปมากกว่าเก้าสิบชีวิต มันไม่ควรเป็นแค่ "บทเรียน" เฉยๆ แต่ควรนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม
3
ฝั่งรัฐ มีการยกเคสที่สนามแอนฟิลด์ขึ้นมา ว่า ณ เวลานั้น ในทุกๆ เกมจะมีเหตุกระทบกระทั่งกันของแฟนบอลมากถึง 30 จุด ต่อเกม และมีคนที่อึดอัดกับความแออัดจนเป็นลม มีคนซี่โครงฟกช้ำ คือว่าตรงๆ เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้น คนมาดูบอลควรเข้าและออกสนามด้วยความแฮปปี้ ไม่ใช่ต้องมารู้สึกเสี่ยงภัย ว่าวันนี้ตัวเองจะเจ็บตัวกลับบ้านไปหรือเปล่า
1
การโต้แย้งลากยาวไปเกือบ 1 ปี เข้าสู่เดือนพฤศจิกายน 1990 มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ลงจากตำแหน่งนายกฯ คนที่มารับตำแหน่งต่อคือ จอห์น เมเจอร์ ซึ่งก็ยังคงเดินหน้าผลักดันเรื่องการติดที่นั่งทั้งสนามต่อไป
นอกจากนั้นยังเพิ่มเติมด้วยว่า ทุกสนามต้องมีกล้องวงจรปิด และ สร้างห้องควบคุมความปลอดภัยแบบใหม่สำหรับตำรวจ มีมอนิเตอร์คอยสอดส่องทั่วสนามด้วย คือต้องทำงานเชิงรุก เห็นจุดไหนส่อแววว่าจะเกิดเรื่องจากกล้องวงจรปิดก็รีบไปห้ามปราม ดีกว่าให้ตำรวจไปถึงตอนที่คนเขาตีกันเสร็จแล้ว
แต่ปัญหาสำคัญที่สุดที่ยังทำให้ทุกอย่างไปต่อไม่ได้ คือ "เรื่องเงิน" กล่าวคือภาครัฐอยากได้โน่น อยากได้นี่ อยากได้ความปลอดภัย แต่คนที่ต้องควักเงินจ่ายในการทุบ Terrace และติดที่นั่ง คือฝั่งสโมสรนะ ไม่ใช่ทุกสโมสรในประเทศ ที่จะมีการเงินดี ถึงขนาดจัดสรรมาแปลงโฉมสนามได้ขนาดนั้น
เมื่อรู้แบบนั้นแล้ว สิ่งที่รัฐบาลทำคือจัดสรรงบประมาณ แล้วตั้งกองทุนพิเศษขึ้นมา เพื่อมอบเงินให้สโมสรต่างๆ โดยตรงเอาไปสร้างสนามเลย
เชลซี ซันเดอร์แลนด์ เวสต์แฮม ได้เงินทีมละ 4 ล้านปอนด์ ส่วนแมนฯ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล และ อาร์เซน่อล ได้เงินรวมกันมากกว่า 10 ล้านปอนด์ หรือทีมที่เล็กลงมาหน่อยอย่างมิลล์วอลล์ได้เงิน 1.7 ล้านปอนด์ รวมแล้วกองทุนของรัฐ ใช้เงินไปทั้งหมด 168 ล้านปอนด์ ในการยกระดับสนามของทีมอาชีพทั้งระบบ
ถามว่า 168 ล้านปอนด์ (7,560 ล้านบาท ในขณะนั้น) กับการให้เงินภาคเอกชน เป็นตัวเลขที่เยอะไหม คำตอบคือ เยอะมากในสมัยนั้น แต่เรื่องนี้ภาครัฐต้องยอมจ่าย เพื่อสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นกับชีวิตของคนในประเทศ
ฟุตบอลคือวัฒนธรรมของคนอังกฤษ มันคือกิจกรรมสันทนาการแห่งความสุข และไม่มีนโยบายไหนจะแพงเกินไป ถ้าสุดท้ายประชาชนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง
2
นอกจากนั้นผลพลอยได้ที่จะตามมาในอนาคตจากงบก้อนนี้ คือมันจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ฟุตบอลอังกฤษ
กล่าวคือในช่วงปลายปี 1991 ยูฟ่า จะเปิดรับสมัครชาติที่สนใจจะเป็นเจ้าภาพศึกยูโร 1996 ดังนั้นถ้านโยบายการเปลี่ยนแปลงสนามเกิดขึ้นจริงล่ะก็ อังกฤษก็สามารถไป Bid กับยูฟ่าได้อย่างมั่นใจ เพื่อทำให้คนทั้งยุโรปได้เห็นชัดๆเลยว่า ฟุตบอลอังกฤษยุคใหม่ ไม่มืดหม่นเหมือนอดีตอีกแล้ว ทุกสนามจะเต็มไปด้วยความสวยงามและความปลอดภัย
เมื่อภาครัฐบอกว่าจะยอมช่วยจ่ายเงิน เสียงต่อต้านจากสโมสรก็เบาลง จากนั้นร่างกฎหมายฉบับใหม่ Football Spectators Act 1989 ก็ถูกดันเข้าสภา ก่อนที่จะได้รับมติเห็นชอบ นำมาใช้เป็นกฎหมายในที่สุด
Terrace ทั้งหมดของสโมสรในลีกสูงสุด จะถูกเปลี่ยนเป็น All-Seat ภายในฤดูกาล 1994-95 ส่วนในดิวิชั่น 2 ลงไป จะต้องติดเก้าอี้ให้ครบ ไม่เกินฤดูกาล 1999-2000
เมื่อกฎหมายผ่าน ทีมใหญ่ๆก็เริ่มทุบ Terrace ทิ้ง เช่นแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทุบสแตนด์ฝั่งสเตรตฟอร์ด เอนด์, อาร์เซน่อล ทุบฝั่งนอร์ธแบงค์ และ แอนฟิลด์ ทุบฝั่งสปิออนค็อป ปิดฉากสแตนด์ยืนในตำนาน แต่ก็นำมาสู่ สแตนด์ใหม่ ที่มีที่นั่งอันเป็นระเบียบเรียบร้อย
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงแรก คือตั๋วแพงขึ้นจริงๆ ตัวอย่างเช่น ตั๋วปีราคาถูกที่สุดของแมนฯ ยูไนเต็ด ในฤดูกาล 1990-91 เคยอยู่ที่ 111 ปอนด์ แต่พอเข้าฤดูกาล 1991-92 ตั๋วเพิ่มราคาเป็น 228 ปอนด์ คือมันก็ช่วยไม่ได้จริงๆ เมื่อบัตรเข้าชมมันน้อยลง ก็ต้องขายของแพงขึ้น เพื่อถัวเฉลี่ยกับรายได้ที่ลดไป
แม้ตั๋วจะแพง แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ มันขายได้ การปรับปรุงคุณภาพของสนามแข่งขัน อาจทำให้เสียลูกค้ากลุ่มหนึ่งไป แต่มันก็ได้ลูกค้ากลุ่มใหม่มาแทนที่ และยังเป็นลูกค้าที่กระเป๋าหนักกว่า พร้อมจะจ่ายเงินมากกว่าอีกต่างหาก
ไม่ว่าจะเป็นคนที่เขามีครอบครัว มีลูก มีภรรยา ให้จ่ายแพงกว่าเป็นเท่าตัวก็จ่ายได้ ถ้ามันแลกมากับความปลอดภัยของคนที่รัก หรือนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่พร้อมจ่ายเงินเต็มที่ เพื่อแลกกับการมาดูบอลสนุกๆ เก็บความทรงจำกลับประเทศตัวเอง แต่ถ้าหากดูบอลไป เสี่ยงโดนกระทืบไป นักท่องเที่ยวที่ไหนจะกล้าเข้าไปดู
2
นับจากกฎหมายบังคับติดที่นั่งในสนามถูกนำมาใช้ ภาพลักษณ์ของวงการฟุตบอลอังกฤษ ก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากที่เคยเป็นกิจกรรมของฮูลิแกน กลายเป็นความบันเทิงของคนทุกเพศทุกวัย ผู้หญิง เด็ก คนชรา สามารถมาดูในสนามได้อย่างมีความสุข
กลุ่มฮูลิแกนที่เคยแข็งกร้าว ก็ค่อยๆ สูญสลายไป คือคุณจะมีเรื่องต่อยตีอะไรกันนอกสนามก็แล้วแต่ แต่พออยู่ในสนามพอโดนล็อกที่นั่ง สมมุติด้านซ้ายเป็นเด็กหญิง 7 ขวบ ด้านขวาเป็นคนสูงอายุวัย 85 ต่อให้คุณจะคึกคะนองแค่ไหน ก็คงทำอะไรไม่ได้หรอก
ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยกล้องวงจรปิด ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้น ใครส่อแววจะก่อปัญหาก็ไปเอาตัวออกมาได้ ซึ่งก็จะนำมาสู่การแบนห้ามเข้าสนาม ไม่ใช่เป็นเหมือนยุคก่อน ที่เวลามีเรื่องวิวาท ไม่สามารถจับมือใครดมได้เลย
ถ้าคุณบอกว่าตัวเองเป็นแฟนพันธุ์แท้ และรักทีมฟุตบอลจริงๆ คุณจะไม่กล้าทำอะไรที่เสี่ยงโดนแบนห้ามเข้าสนามแข่งหรอก ดังนั้นเหตุความรุนแรง จากกลุ่มฮูลิแกนก็ค่อยๆ ลดลงนับจากนั้น
เช่นเดียวกับเรื่องความแออัดของสแตนด์ก็ไม่มีอีกแล้ว ทุกคนนั่งเป็นสัดเป็นส่วน และเหตุการณ์คนอัดก็อปปี้กัน จนเสียชีวิตอย่างโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร่ ก็ไม่เคยเกิดขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 2
เมื่อแฟนบอลและสนามต่างพัฒนาไปพร้อมๆกัน ทำให้ในปี 1992 สมาคมฟุตบอลอังกฤษ รีแบรนด์ลีกสูงสุดจากดิวิชั่น 1 เป็นพรีเมียร์ลีก เพื่อเป็นการบอกโลกให้รู้ว่า ยุคมืดของลีกอังกฤษแบบดั้งเดิมมันจบแล้ว จากนี้ไปจะเข้าสู่ยุคใหม่ ที่ฟุตบอลอังกฤษ จะเล่นด้วยความสนุก ด้วยสปิริต และบรรยากาศคึกคักแต่เต็มไปด้วยความปลอดภัยอย่างแท้จริง
1
นับจากในยุค 80 ที่ฟุตบอลเคยเป็นจุดด่างพร้อยของประเทศ และโดนคนชาติอื่นมองว่าเป็นเชื้อโรคร้าย ทุกอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
ในตอนนี้ ฟุตบอลอังกฤษ ไม่ใช่จุดด่างพร้อยของประเทศอีกต่อไป ตรงกันข้าม มันคือความภูมิใจ ที่นำมาซึ่งศักดิ์ศรีและรายได้อย่างมหาศาล
จุดเปลี่ยนทั้งหมดมันอยู่ตรงนั้นจริงๆ เมื่อภาครัฐ เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในเฮย์เซลและฮิลส์โบโร่ ถ้ารู้ทั้งรู้ ว่าปัญหาคืออะไร แล้วไม่คิดจะแก้ไข เราอาจไม่เห็นความยิ่งใหญ่ของฟุตบอลอังกฤษแบบในวันนี้
3
ในบางครั้ง การตัดสินใจอะไรสักอย่าง ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยไปหมด แต่นั่นล่ะคือบทพิสูจน์ความสามารถของคนมีอำนาจว่าจะแก้ปัญหาได้หรือไม่
1
คนที่ถืออำนาจในมือ จำเป็นต้องยึดผลประโยชน์ในระยะยาวของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ต้องหนักแน่นในเหตุผลของตัวเอง แต่อีกด้านก็ต้องมองหาหนทางประนีประนอมฝ่ายที่รู้สึกว่าเสียผลประโยชน์ ไม่ให้เขารู้สึกเหมือนถูกทิ้งไว้กลางทาง
3
ในช่วงวิกฤติที่ชี้เป็นชี้ตาย การตัดสินใจอันแม่นยำ จะเป็นเครื่องชี้วัดเลยว่าองค์กรหรือประเทศนั้นๆ สุดท้ายจะอยู่รอด หรือจะดับสูญ
3
#DARETODO
โฆษณา