23 ก.ย. 2021 เวลา 14:24 • ประวัติศาสตร์
The Post เมื่อสื่อรับใช้ประชาชน
โปสเตอร์ภาพยนตร์ The Post (2017)
The Post เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่สหรัฐฯกำลังพัวพันกับสงครามเวียดนาม โดยภาพยนตร์จะเล่าถึงการทำงานของสื่อมวลอย่าง The Washington Post และ The New York Times
แต่โดยหลัก ๆ แล้วภาพยนตร์จะเน้นไปที่การเล่าผ่านมุมมองของ The Washington Post ที่มีแคทเธอรีน เกรแฮม (Katharine Graham) เจ้าของหนังสือพิมพ์ที่รับไม้ต่อจากสามีที่เสียชีวิตและเบน แบรดลี (Ben Bradlee) บรรณาธิการของ The Washington Post เนื้อหาหลัก ๆ ที่ภาพยนตร์ต้องการสื่อคือการที่แบรดลีต้องการที่จะตีพิมพ์เอกสารลับจากเพนตากอนหรือที่เรียกกันว่า “Pentagon Papers”
Katharine Graham และ Ben Bradlee
ซึ่งเป็นเอกสารที่จัดอยู่ในระดับลับสุดยอดที่ทางรัฐบาลสหรัฐฯต้องการที่จะปกปิดว่าทางรัฐบาลได้พัวพันกับสงครามเวียดนามมาอย่างยาวนาน การที่แบรดลีต้องการตีพิมพ์ “Pentagon Papers” เป็นสิ่งที่ท้าทายตัวของแคทเธอรีนเป็นอย่างมาก
เนื่องจากการตีพิมพ์เอกสารลับของรัฐบาลมีความเสี่ยงที่อาจเป็น “ภัยคุกคามความมั่นคงแห่งชาติ” ซึ่งจะทำให้เธอและพนักงานในบริษัทหลายๆคนมีสิทธิ์ที่จะติดคุกสูงมาก และที่สำคัญครอบครัวของแคทเธอรีนยังสนิทสนมกับโรเบิร์ต แมคนามารา (Robert McNamara) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลเคนเนดี้และจอห์นสัน ซึ่งแมคนามาราคือผู้สั่งให้จัดทำเอกสารลับดังกล่าวขึ้นมา
Robert McNamara
แต่ด้วยความตระหนักถึงหน้าที่อันพึงทำของสื่อมวลชนคือการเสนอความจริงต่อสาธารณชน ทำให้แคทเธอรีนไม่นำประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัวมาเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าวครั้งประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้แคทเธอรีนสั่งให้แบรดลีสามารถตีพิมพ์เอกสารลับของเพนตากอนได้
ภายหลังจากการตีพิมพ์เอกสารลับเพนตากอน แคทเธอรีนและสำนักพิมพ์ของเธอตเองรับผลที่ตามมาคือการต่อสู้คดีในชั้นศาล ซึ่งคู่กรณีของเธอคือรัฐบาลของนิกสัน และที่สำคัญการที่ The Washington Post ได้ตีพิมพ์เอกสารลับเพนตากอนยังเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ต่อวงการสื่อมวลชน
หนังสือพิมพ์ฉบับที่พาดหัวว่ารัฐบาลสหรัฐฯสั่งห้ามตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับเวียดนาม
เนื่องจากหลังจากที่ The Washington Post ได้ตีพิมพ์เอกสารดังกล่าว ปรากฏว่าหนังสือพิมพ์จากสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ได้ตีพิมพ์ข่าวที่ทางรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม ซึ่งทำให้ทาง The Washington Post ไม่ได้สู้คดีกับทางรัฐบาลเพียงลำพัง แต่ท้ายที่สุด The Washington Post สามารถเอาชนะรัฐบาลนิกสันได้ในการต่อสู้ในชั้นศาลด้วยผลการตัดสิน 6:3
แต่ที่สำคัญที่สุดจากการที่ The Washington Post ได้ตีพิมพ์เอกสารลับซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำสงครามเวียดนาม ได้ก่อให้เกิดกระแสการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ต่อต้านการทำสงครามเวียดนามของสหรัฐฯ ซึ่งการประท้วงดังกล่าวถือว่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้ประธานาธิบดีนิกสันได้ประกาศลัทธินิกสัน อันเป็นการประกาศว่าสหรัฐฯจะเริ่มทำการถอนทหารออกจากเวียดนาม
ชาวอเมริกาประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนามที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
สิ่งที่สำคัญที่ภาพยนตร์เรื่อง The Post สะท้อนให้เห็นคือชัยชนะของเสรีภาพของสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลให้สาธารณชนได้รับทราบ หาก The Washington Post ไม่ทำการเปิดโปงเอกสารลับเพนตากอน ชาวอเมริกาก็จะไม่ทราบเลยว่าทางรัฐบาลได้ปกปิดข้อมูลของสงครามเวียดนามมากว่า 30 ปี โดยในภาพยนตร์ได้บอกว่าสหรัฐฯนั้นพัวพันกับปัญหาสงครามเวียดนามมาตั้งแต่ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ ประธานาธิบดีเคนเนดี้ ประธานาธิบดีจอห์น จนกระทั่งถึงประธานาธิบดีนิกสัน
7
ที่สำคัญในภาพยนตร์ยังบอกว่าอีกว่าแมคนามารารู้อยู่แล้วว่าสหรัฐฯไม่มีทางชนะสงครามเวียดนามมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1966 แต่เขาก็ยังดึงดันให้สหรัฐฯทำสงครามเวียดนามต่อ ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่ต้องการให้สหรัฐฯขายหน้าในเวทีระหว่างประเทศ
2
การกระทำดังกล่าวนั้นเสมือนเป็นการโกหกหลอกลวงประชาชนในประเทศด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงแห่งชาติ แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำโหกของรัฐบาลมากที่สุดกับเป็นชาวอเมริกาที่ต้องเดินทางเข้าร่วมสงครามเวียดนาม อีกทั้งคนที่เดินทางไปรบที่เวียดนามส่วนมากนั้นก็ไม่มีโอกาสได้กลับมาเหยียบแผ่นดินเกิดอีกเลย
อีกสิ่งหนึ่งที่ภาพยนตร์ The Post สะท้อนออกมาได้เป็นอย่างดีคือบทบาทของสื่อมวลชนที่ดีที่มีหน้าที่รับใช้ประชน ซึ่งในภาพยนตร์เราจะเห็นบทบาทนี้จากการตัดสินใจให้ตีพิมพ์เอกสารลับของเพนตากอนของแคทเธอรีน ซึ่งการกระทำดังกล่าวของเธอเป็นสิ่งที่กล้าหาญเป็นอย่างมาก เพราะถ้าเธอแพ้คดีต่อรัฐบาลทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอมีจะมลายหายไปจนหมดสิ้น
แต่เธอก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ดีคือการเสนอข่าวให้สาธารณชนได้รับทราบข้อเท็จจริงต่าง ๆ จนทำให้เธอชนะคดีต่อรัฐบาลนิกสัน ดังประโยคข่วงท้ายของภาพยนตร์ที่กล่าวว่า “บิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐได้ให้การปกป้องเสรีภาพสื่อ เพื่อให้สื่อสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนในระบอบประชาธิปไตยได้ นั่นคือการรับใช้ประชาชน ไม่ใช่รัฐบาล”
และอีกหนึ่งประเด็นที่จะต้องกล่าวถึงคือในประเทศที่เป็นเสรีประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์อย่างสหรัฐอเมริกาจะเห็นได้ว่า The Washington Post กับรัฐบาลนิกสัน ได้ต่อสู้ภายในชั้นศาลด้วยมาตรฐานของกฎหมายเดียวกัน ไม่มีข้อได้เปรียบสำหรับหน่วยงานของรัฐบาล ซึ่งสิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ
ท้ายที่สุดปีนี้ยังครบรอบ 50 ปีที่ Pentagon Papers ถูกเปิดเผยอีกด้วย
อ้างอิง
Christopher B. Daly (13 June 2021). Fifty years ago the Pentagon Papers shocked America — and they still matter today. Retrieved September 23, 2021, from https://www.washingtonpost.com/outlook/2021/06/13/fifty-years-ago-pentagon-papers-shocked-america-they-still-matter-today/.
ศิลปวัฒนธรรม (15 พฤศจิกายน 2563). 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512 ชาวอเมริกันกว่าครึ่งล้านชุมนุมประท้วงการส่งทหารไปรบในสงครามเวียดนาม. สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2564, จาก https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_41717.
สมร นิติภัณฑ์ประกาศ. (2553). ประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ค.ศ.1945 - ปัจจุบัน
พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
โฆษณา