23 ก.ย. 2021 เวลา 15:10 • กีฬา
#Monet
สวัสดีแฟนเพจยามเย็นวันพฤหัสบดี สบายๆวันนี้ ถึงแม้จะผ่านเกมที่เราพ่ายแพ้และตกรอบมา อย่างที่ผมเขียนเอาไว้ให้ในรีวิวหลังเกม ที่ทุกๆท่านได้อ่านกันไปแล้วในบทความ [เสียดาย2] ในโพสต์ด้านล่างบนหน้าเพจ
ซึ่งต้องบอกว่า โพสต์นั้นเป็นรีวิวหลังเกมที่เขียนได้แค่ประมาณนึงเท่านั้น ยังเก็บรายละเอียดไม่ได้เท่าไหร่นัก จบเกมผมก็เขียนเลยเท่าที่เห็น เท่าที่จำได้ ซึ่งมันจะไม่ครบเท่ารีวิวยาวที่ผมทำแบบละเอียดด้วยการนั่งวิเคราะห์เทปซ้ำช็อตต่อช็อตแบบฟูลแมตช์
เพราะยังไงดูจากสายตาแค่คู่เดียว มันก็ยังมีขีดจำกัดอยู่ที่คงมองทุกอย่างได้ไม่ครบจากการดูแค่ครั้งเดียว
รีวิวเมื่อวานมันจึงอาจจะขาดความละเอียดไปบ้าง แต่คิดว่าเนื้อหาหลักๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นอย่างที่เขียนไปนั่นแหละครับ เพียงแค่ว่าแอดไม่ได้เจาะลึกลงไปในรายละเอียดแบบช็อตต่อช็อตให้เท่านั้นเอง เพราะต้องรีบนอนพักผ่อน เนื่องจากบ่ายวันนี้ที่ผ่านมา แอดก็มีธุระสำคัญต้องไปทำช่วงกลางวัน จึงต้องเขียนรีวิวฉบับกะทัดรัดให้อ่านกันไปก่อน
แต่หนึ่งช็อตที่ผมประทับใจที่สุดของเมื่อวานนี้ มันคือการเล่นอันยอดเยี่ยมของ "สองนักเตะพรสวรรค์" ที่เป็นสมบัติของทีมเรา อย่าง Mason Greenwood และ Donny van de Beek
ทุกคนคงจำกันได้ว่าช็อตนี้คือช็อตที่ดอนนี่ เปิดให้เมสัน กรีนวู้ด วิ่งหลุดไปเดี่ยวกับอเรโอล่าอย่างโคตรสวย และฉีกกองหลังเวสต์แฮมขาดกระจุยแบบไม่มีชิ้นดี แต่น่าเสียดายที่ กรีนวู้ด ยิงลูกนี้ยังไม่ดีพอจะเป็นประตูได้ และติดเซฟของอเรโอล่าไปซะก่อน ในนาทีที่ 62
เรารู้ว่าลูกนี้สวย กรีนวู้ดลงมาก็แผลงฤทธิ์ทันที แต่เมื่อมา "เจาะ" รายละเอียดของการเล่นในจังหวะนี้ มีอะไรดีๆให้เขียนเยอะแยะเลย ซึ่งคุณจะมองเห็นชัดเจนกว่าเดิมว่า "ทำไม" ศาลาผีถึงให้ VDB เป็นแมนออฟเดอะแมตช์เมื่อวาน
และทำไม เมสัน กรีนวู้ด ถึงได้สำคัญกับเราในระดับที่เป็นสมบัติที่ล้ำค่าที่สุดคนหนึ่งของสโมสร ในระดับที่เขาสามารถจะกลายเป็นนิวบ็อบบี้ ชาร์ลตัน ให้กับสโมสรได้เลย
การเข้าทำสวยงามเหมือนภาพวาดของ กลอด โมเนต์
1. งานศิลปะแบบ Impressionism ของเมสัน กรีนวู้ด
เมื่อเราย้อนมาดูจังหวะนี้ซ้ำอีกครั้ง จะเห็นได้เลยว่า เมสัน กรีนวู้ด เล่นบอลในลักษณะของการ "ให้แล้วไป" (give and go) ซึ่งตัวที่เขาให้ คือการคืนฝากบอลไปที่ "เนมันย่า มาติช" ในช็อตแรก (เส้นสีเหลืองแรก)
เมสัน กรีนวู้ด ฝาก มาติช แล้วออก "วิ่งทำทาง" ทันที ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจมากก็คือ "ตำแหน่งการเริ่มสตาร์ทวิ่ง" ของน้องไม้เขียว วิ่งตั้งแต่ "ขอบๆของวงกลมกลางสนาม" อย่างที่ทุกคนเห็นแอดวงกลมสีเขียวไว้ให้ดู
ซึ่งมันเป็นจุดสตาร์ทที่ "ไกลมาก" นะครับสำหรับการวิ่งทำทางจ่ายให้เพื่อน
ปกติคุณจะเห็นรูปแบบการวิ่งทำทางให้เพื่อนจ่ายบ่อยๆอยู่แล้ว จากการเล่นของ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ หรือ เอดินสัน คาวานี่ ในฤดูกาลที่แล้ว ทุกคนคงจะนึกภาพกันออก
แต่นักเตะเหล่านั้นจะชิงจังหวะสั้นๆ และวิ่งทันทีแบบรวดเร็ว โดยจุดเริ่มสตาร์ทบริเวณ รอบๆกรอบเขตโทษ หรือไม่ก็เริ่มวิ่งจากการ "พิงกับไลน์แนวรับคู่แข่ง" ที่เลี้ยงไลน์ประคองไว้อยู่
ซึ่งอันนี้เป็นเทคนิคของ คาวานี่ ที่ใช้อยู่เป็นหลักๆ ในการเลี้ยงประคองไลน์ได้อย่างเทพ โดยที่ตัวเองขยับตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อเลี้ยงไลน์ และบอลพร้อมเมื่อไหร่เขาจะฉีกทันที
นั่นคือคาวานี่ และ โรนัลโด้
แต่เมสัน กรีนวู้ด วิ่งทำทางตั้งแต่เฉียดๆ "ครึ่งสนาม" อย่างที่เห็น ซึ่งเป็นจุดเดียวกันกับที่กรีนวู้ด ฝากบอลคืนให้มาติช แล้วหันหน้าวิ่งทันทีแบบไม่รีรอ ไม่ยึกยัก และไม่ลังเลทั้งนั้นว่า
วิ่งแล้วกูจะเหนื่อยฟรีรึเปล่า
วิ่งแล้วกูจะตีรถเปล่าหรือไม่
หรือว่า
"จะมีคนมองเห็นกูมั้ย จะมีใครจ่ายกูมั้ย"
เมสัน ไม้เขียว ไม่มีคำว่าลังเล แล้วสตาร์ทวิ่งหน้าตั้งพุ่งเข้าใส่พื้นที่ Final Third ทันทีเหมือนกำลังแข่งวิ่ง100เมตรอยู่
แต่นอกจากความขยันที่พร้อมจะวิ่งทำทางให้ทีมตลอดเวลาแล้วนั้น มันมาพร้อมกับ "การอ่านเกมที่เหนือชั้น" ของเมสัน กรีนวู้ดด้วย ... ทั้งๆที่เด็กอายุยังไม่ 20 เลย แต่เข้าใจจังหวะของเกมอย่างดี และ เซนส์ + จินตนาการก็ดีด้วย
รู้ไหมครับว่าทำไมกรีนวู้ดถึงวิ่งแหลกขนาดนั้น ทั้งๆที่เขาเพิ่งจ่ายบอลคืนไปให้มาติช นั่นเป็นเพราะว่าเขาอ่านเกมข้ามช็อต วินาทีต่อวินาที
อ่านเกมทั้งหมด "สี่ดอกส์" เต็มๆ
เมสัน กรีนวู้ด ที่จ่ายคืนไปให้มาติช ซึ่งทำหน้าที่เหมือนเป็นทีมลีดเดอร์ของฝ่าย "Ground Staff" ของสนามบิน ที่กำลังจะสื่อสาร(ส่งบอล) ต่อไปยังศูนย์บัญชาการอย่าง VDB นั่นคือดอกแรก
เมสัน กรีนวู้ด ที่กำลังรีบวิ่งข้าเกทให้ทัน เหลือบไปมองเห็น "ดอนนี่ ฟานเดอเบค ยืนว่างอยู่ทางขวา นั่นคือดอกสอง
เมสัน กรีนวู้ด อ่านทางของมาติชว่า จุตต่อไปที่มาติชจะจ่ายบอลไปให้ คือดอนนี่ ฟานเดอเบค นั่นคือดอกสาม
เมสัน กรีนวู้ด จินตนาการร่วมกันกับVDB และซิงค์กันทันทีด้วยความเชื่อมั่น ที่มั่นใจในตัวเพื่อนแน่ๆว่า
"บอลไปถึงดอนนี่ เขาเปิดบอลขึ้นหน้าให้กูแน่นอน" นี่คือดอกที่สี่
เมสัน กรีนวู้ดอ่านตำแหน่งเพื่อน อ่านตำแหน่งการจ่าย และอ่านช็อตต่อไปที่เพื่อนน่าจะเล่นมาให้ตัวเอง จากนั้นไม่มีลังเล เขาวิ่งแบบไม่ชะลอฝีเท้า แล้วพุ่งตรงข้างหน้าที่มี "รูเล็กๆ" ให้วิ่งผ่านไปทันที ซึ่งไลน์วิ่งนั้น มีนักเตะเวสต์แฮมยืนอยู่ระหว่างทาง "3 คน"
แต่เขาคือตัวเล่นที่ไม่มีบอล และนี่คือมิติ "off the ball" ของเมสัน กรีนวู้ด ที่แสดงให้เห็น ดังนั้นเมื่อเขาไม่มีบอล ไม่ว่าจะมีตัวอะไรยืนขวางข้างหน้าเขาอยู่สัก 5-6 คนยังไง มันก็ไม่มีอะไรต้องกลัวเลย
เพราะเขาไม่มีบอล
เมสัน กรีนวู้ด ที่อ่านเกมจนขาดทั้งหมด จึงทำการวิ่งขึ้นหน้าแบบม้วนเดียวจบ ในเส้นสีเขียวอ่อน ที่ผมได้ลากเอาไว้ให้ดูในรูปว่า นั่นคือช่องวิ่งของน้อน ที่น้อนวิ่งผ่านกองหลังสองชั้นของเวสต์แฮม แล้วทะลุ Defensive Line ของขุนค้อน หลุดขึ้นหน้าไปทันที ตามเส้นสีเขียว
(จังหวะนี้ แนวรับเวสต์แฮม มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เก๋าพอจะอ่านการเล่นของ เมสัน กรีนวู้ด ขาดกระจุย นั่นก็คือ มาร์ค โนเบิล ที่ชี้ให้เพื่อนวิ่งตามกรีนวู้ดไป แต่ดูเหมือนว่าเพื่อนจะตอบสนองไม่ทันซะแล้ว)
และคุณเห็นอะไรในภาพด้านล่างนี้ไหมครับ ในหัวลูกศรเส้นสีเขียว นั่นก็คือ "พื้นที่ว่างหลังแนวกองหลัง" ที่เป็นสเปซใหญ่โคตรๆ ซึ่งเอาจริงๆ เวสต์แฮมจังหวะนี้ "ตั้งตัวไม่ทัน" เพราะเล่นแบบนี้เรามาตลอดทั้งเกมด้วยการเล่นคุมพื้นที่กับเรา
และไม่มีใครเลยที่จะมา "วิ่งฉีกไลน์กองหลัง" ของพวกเขามาตลอด1ชั่วโมงอย่างชัดเจน
พอเมสัน กรีนวู้ดลงมา พวกเขายังไม่ทันระวัง และไม่รู้ว่า รูปแบบของการบุกแมนยูไนเต็ด เปลี่ยนไปตามplayerที่ลงมาด้วย นี่คือแทคติกที่ทีมงานปรับลงมา ซึ่งใช้ได้ดีแบบเห็นผลทันตา เวสต์แฮมจึงเกือบจะเสียประตูตีเสมอจากแทคติกตรงนี้
แบบนี้เรียกว่าแก้แทคติกหรือไม่ สำหรับผม ใช่ แต่สำหรับบางคน ก็คงจะชมว่า "เป็นเพราะความสามารถของนักเตะอย่างเดียว"
แต่คุณจะไม่พูดแบบนี้ ถ้ายังจำหนังสือแทคติกรูปแบบการเข้าทำ ที่ทีมโค้ชมักจะติวเข้มเมสัน กรีนวู้ดเสมอๆมาตั้งแต่ซีซั่นก่อนๆ และฟุตบอลระดับสูงเช่นนี้ เขาต้องมีการพูดคุยกันแล้วว่าจะใช้วิธีอะไรบ้าง
ทีมสตาฟฟ์โค้ชเขาของจริงนะครับ ไม่ใช่คนซื่อบื้อที่ไหนที่อยู่ดีๆโชคดีได้มาคุมนักเตะแมนยูลงซ้อมนา - -''
นอกจากจะเป็นเพลย์การเล่นที่นักเตะเวสต์แฮมคาดเดาไม่ได้ ว่าจะมีใครวิ่งทำทางยาวขนาดนี้ มันยังมีปัจจัยเรื่องของ "pace" ความเร็วในการวิ่งของเมสัน กรีนวู้ดด้วยว่า เขาวิ่งด้วยความเร็วสูงเกินว่านักเตะกองกลางของเวสต์แฮม จะตามMarkingทันจริงๆ
จังหวะวิ่ง กรีนวู้ด หันไปมองที่ดอนนี่อยู่อีกแวบหนึ่งเมื่อบอลกำลังพุ่งไปหาเขา เขาวิ่งขึ้นหน้าทันทีโดยไม่มองต่อ ในขณะที่ ดอนนี่ ได้บอลปุ๊บก็เงยหน้าขึ้นมามองหากรีนวู้ดทันที
และก็ "เห็น" เมสัน กรีนวู้ด กำลังวิ่งฉีกไลน์เวสต์แฮมไปแล้วด้วยความเร็ว ดอนนี่ก็เปิดเร็วทันทีที่เห็นว่ามีตัววิ่งแว้บเข้าไปดงตรงนั้น
การคิดเร็วทำเร็วของดอนนี่ที่เซนส์ทันกันตรงนี้ ส่งผลให้บอลมันถูกถ่ายออกจากเท้าก่อนที่กรีนวู้ดจะ "ล้ำ" ทำให้บอลมันไม่ล้ำ
บอกเลยว่า จังหวะนี้สองคนนี้ซิงค์กันชัดเจน100% ไปดูภาพช้าก็จะเห็นเอง
ลงตีนพอดีเป๊ะ แม่นชิบหาย
การวิ่งทำทางในครั้งนี้ของกรีนวู้ดจนหลุดไปยิง มันจึงเป็น "ศิลปะการเล่น" ที่เจ๋งมากๆ ซึ่งสมบูรณ์แบบหมด ทั้งจินตนาการ ทั้งการใช้ความแข็งแกร่งทางกายภาพด้านความเร็ว รวมถึงการอ่านเกมล่วงหน้า ความเข้าใจเกม รวมถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของเจ้าตัว ผสมกับความ "รู้ใจ" กับเพื่อนที่ซิงค์กันได้อย่างดอนนี่
เห็นแล้วมันน่าประทับใจ เหมือนได้ดูภาพศิลปินแขนงลัทธิอิมเพรสชั่นนิสม์ยังไงยังงั้น ที่ดูกี่รอบๆก็ตราตรึงใจในบรรยากาศของมัน
เหมือนเราได้ดูภาพวาดของ "โมเนต์" บนสนามฟุตบอลเลยยังไงยังงั้น
ไม้เขียวที่เล่นสวยหมือนภาพวาดของโมเนต์ ก็น่าจะตรงกับภาพนี้พอดี "Wheat Field" ปี 1881
2. ตำแหน่ง และ "Role" ของ ดอนนี่ ฟานเดอเบค
อีกหนึ่งคนสำคัญของจังหวะนี้ จุดที่น่าสนใจก็อยู่ที่คนเปิดบอลลูกนี้อย่าง "ดอนนี่ ฟานเดอเบค" นั่นเอง
แต่จุดที่ผมชื่นชอบ กลับไม่ใช่ "ลูกเปิด" ของเขานะครับ เพราะลูกเปิดของดอนนี่มันยอดเยี่ยมมากอยู่แล้ว ด้วยน้ำหนัก ทิศทาง จินตนาการที่ซิงค์ร่วมกับเพื่อน ลูกเปิดดอนนี่มันเจ๋งอยู่แล้ว
และลูกนี้ ฟานเดอเบค ประกาศศักดาให้คนอื่นๆเห็นว่า เขาคือเพลเมคเกอร์ที่ "เปิดบอลได้" ไม่แพ้ใครเช่นกัน
(ถ้าคิดจะวางบอลอะนะ ทักษะระดับmasterมีในตัวอยู่แล้ว แค่ว่าจะใช้ตอนไหนเท่านั้น)
เรื่องสกิลทักษะและจินตนาการตรงนี้เยี่ยมยอดมาก อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ดอนนี่เร็วพอจะอ่านเกม และรีบเปิดบอลทันที ก่อนที่กรีนวู้ดจะล้ำหน้า แต่จุดที่ผมสนใจมากกว่าลูกเปิด ก็คือเรื่องของ "ตำแหน่งการยืน" และ "บทบาทการเล่น ของดอนนี่ ฟานเดอเบค"
สิ่งที่แฟนๆน้องดอนนี่ และหลายๆคน คาดหวัง และรอคอย .. มันเกิดขึ้นแล้วแบบเต็มๆในวันนี้ แถมมาครบทุกมิติด้วย
(มิติของมิดฟิลด์กลางสนามแบบเบอร์6, 8 ช่วงครึ่งแรก และการเล่นเป็น เบอร์10 ในครึ่งหลัง)
สิ่งที่ผมอยากให้สังเกตก็คือ ให้ดูที่ "ตำแหน่งการยืน" ที่ ดอนนี่ ฟานเดอเบค ไปยืนรับบอล ในกรอบ "สีชมพู" ของภาพนี้
ตรงนั้นคือพื้นที่ริมเส้นจริงๆ ไม่ใช่พื้นที่กลางสนาม และไม่ใช่ฮาล์ฟสเปซด้วย แต่เป็นริมเส้นจริงๆ
ดอนนี่ไปอยู่ตรงนั้นได้ยังไง? แทคติกเต็มๆครับ และชัดเจนด้วย นี่คือสิ่งที่โอเล่ และทีมงาน เซ็ตลงมาในครึ่งหลัง ซึ่งมันไม่มีแบบนี้ให้เห็นเลยในครึ่งแรก
บางทีแฟนบอลหลายๆส่วนถ้าดูบอลกันให้ละเอียดและพยายามจะเข้าใจมากกว่าที่จะใช้แต่ "อารมณ์" คุณอาจจะเชียร์บอลสนุกขึ้นก็ได้นะ เพราะคุณจะเข้าใจว่า ทีมเราไม่ได้กระจอกงอกง่อยขนาดนั้น ทั้งนักเตะและทีมโค้ช
ทุกอย่างถูกฝึกซ้อมความเข้าใจแผนให้นักเตะมาหมดแล้ว ไม่งั้นมันจะไม่มีทางเห็นการเล่นแบบนี้ ถ้าแมนยูเล่นกัน "ไร้ทรง" จริงๆเหมือนที่คนดูถูก
ดอนนี่ถ่างออกไปริมเส้นตรงนั้น และด้วยความสูงของตำแหน่งการยืนที่ชัดเจนมากๆว่า ทิ้งห่างออกมาจากมาติช ที่ปักวอร์ดด้านหลังแล้ว ดอนนี่ขึ้นสูงมาทำเกมรุกเต็มตัวในครึ่งหลัง และสิ่งที่เห็นนี้ ทั้งตำแหน่งการยืนที่ "ถ่างออกมาริมเส้น" และการ "เปิดบอลด้วยจินตนาการที่สร้างสรรค์"
คุณผู้อ่านนึกถึงอะไรครับ? สิ่งที่ผมเขียนอยู่ตลอดบนเพจ แฟนเพจขาประจำจะเก็ทภาพออกทันที..ภายใน 3.. 2 .. 1
"Advance Playmaker"
ใช่ครับ นี่คือมิติการเล่นของ Advance Plamaker แบบเดียวกับที่ บรูโน่ แฟร์นันด์ส และ ปอล ป็อกบา ทำได้ มันคือสิ่งเดียวกันกับสองคนนั้นที่เล่นในฐานะ "เบอร์10"
ดอนนี่ ฟานเดอเบค โชว์ให้เห็นแล้วว่า การเล่นเป็นเบอร์10 ตัวAP เขาก็เล่นได้ ในวันที่สองคนนั้นไม่อยู่ในสนาม ดอนนี่ก็แบกทีมด้วยลูกเปิดได้เช่นกัน
1
ผมเขียนมาถึงตรงนี้แล้วผมจุกข้างในว่ะ.. กับความเจ็บปวดที่ต้องเห็นคำด่าใส่นักเตะเหล่านี้ พูดแล้วก็เซ็งนะ ที่บางทีก็ต้องเห็นแม้แต่ฟานเดอเบค โดนแฟนเราด่าเสียๆหายๆว่ากระจอก แปะบอลได้อย่างเดียว
สิ่งหนึ่งที่ผมไม่ได้เขียนในรีวิวหลังเกมเมื่อวาน และจริงๆก็ยังไม่ได้เขียนในรีวิวเกมชนะ 1-2 ในพรีเมียร์ลีกด้วย(แหะๆ) นั่นก็คือ "การสลับตำแหน่งกันตลอดเวลาของ ป็อกบา บรูโน่"
ที่สุดท้ายแล้ว การลงมาเล่น LW ของป็อกบา ที่เราเห็นๆกันในทีมชีท มันก็เป็นแค่ "กระดาษ" อย่างที่แอดบอกจริงๆ เพราะว่าในสนาม เอาจริงๆบรูโน่ถ่างออกLWมากพอๆกับป็อกบาเลย แล้วก็เปิดบอลครอส สลับกันวางบอลยาวให้เพื่อนตลอดเวลา
นักเตะที่มีสกิลทักษะสูงเท่านั้น ถึงจะสามารถเล่นได้จากทุกจุดของสนาม ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ตรงกลาง หรือในจุดที่แคบๆอย่างการเล่นริมเส้น นักเตะพวกนี้จะมีชุดทักษะสูงพอจะเล่น
บรูโน่ ป็อกบา และ "ดอนนี่ ฟานเดอเบค" ทำสิ่งพวกนี้ได้เหมือนกันหมดในฐานะ Advance Playmaker
เพียงแต่ว่า มันก็ไม่ถึงกับเหมือนกันไปซะทุกอย่าง ในความเป็นเพลเมคเกอร์ สามคนนี้ก็มีสิ่งที่เป็นไม้ตายเอกลักษณ์เฉพาะตัวอยู่ด้วยเช่นกัน
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพดังนี้
Bruno > Advance Playmaker + Second Striker
เขาจึงทำได้ทั้งยิงทั้งจ่าย เพราะเปิดเกมได้ และเติมขึ้นไปยิงเป็นกองหน้าตัวที่สอง หรือหน้าต่ำได้ด้วย
Pogba > Advance Playmaker + DLP / Mezzala
ป็อกบาเป็นตัวรุกเพลเมคเกอร์ ที่มีมิติการเล่นของ "มิดฟิลด์แท้" อยู่ในตัวในระดับที่ดีพอๆกัน ซึ่งป็อกสามารถยืนกดต่ำๆและวางบอลเทพๆได้แบบ DLP จากป้อมบัญชาการกลางสนาม ในลักษณะที่เป็นการวางบอลยาวขึ้นหน้าแม่นๆให้ตัววิ่ง ป็อกบาสืบทอดวิชามาจาก "ปีร์โล่" ขวัญใจแอดแบบเต็มๆ
(เผื่อใครจะยังไม่รู้ว่าปีร์โล่คือขวัญใจสุดๆคนนึงของแอดเลย)
นอกจากนี้ ความเร็ว การเคลื่อนที่ ความแข็งแกร่ง ป็อกบายังสามารถเล่นแบบ Mezzala หรือ กองกลางสายขับเคลื่อนในแดนกลางได้อีกด้วย เหมือนตอนที่อยู่ยูเว่ เพราะตอนอยู่ที่นั่นมันมี DLP หรือ Regista อยู่แล้วไง ป็อกจึงเล่นเยื้องสูงขึ้นมาหน่อย ซึ่งตำแหน่งที่ดีที่สุดของป็อก คือตำแหน่งที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง มิดฟิลด์ กับ ตัวรุกนี่แหละ
1
VDB > Advance Playmaer + Shadow Striker
ข้อนี้คงอธิบายกันบนหน้าเพจบ่อยมากแล้ว ดอนนี่ ฟานเดอเบค เป็นเพลเมคเกอร์ที่มีสกิลการเป็น"กองหน้าเงา" ในแบบ ชาโดว์ สไตรค์เกอร์ ที่วิ่งเติมเข้าไปในกรอบเขตโทษ จากตำแหน่งมิดฟิลด์เข้าไปเป็นตัวพิเศษ ที่เข้าไปกดดันพื้นที่ และหาตำแหน่งตามจุดต่างๆในกรอบของคู่แข่ง
โดยที่เหมือนเป็นกองหน้าอีกคนนึงที่มักจะมาโดยคู่แข่งไม่รู้ตัว และมองหาไม่เจอ เนื่องจากขยับตำแหน่งตลอดเวลา
ถ้าใครจะเข้าใจเรื่องปีกพลังจิตอย่าง รอมด๊อยเตอร์ ของมุลเลอร์ ที่สอดจากตำแหน่งปีกเข้ามายิงเอาดื้อๆ ไอ้เจ้าชาโดว์สไตรค์เกอร์ของดอนนี่ ก็คือการสอดขึ้นมาจากแผงมิดฟิลด์เข้ามาในกรอบเหมือนกันนั่นแหละ มิติคล้ายๆกัน
ดังนั้นทุกคนจะเห็นแล้วว่า มิดฟิลด์สามคนนี้ สามารถเล่นเป็น เบอร์10 แบบ Advance Playmaker กันได้หมดเลย แต่มิติการเล่นอื่นๆก็มีความแตกต่างกันอยู่ ซึ่งสามารถปรับใช้ดีๆ จะเกิดแผนที่น่ากลัวและอลังการกว่านี้เยอะมาก
และอย่างที่ผมบอก เอาจริงๆแล้วถ้าวางแทคติกดีๆ เราสามารถใช้
"กองกลาง3B" (Bru-Ba-Beek) ลงเล่นพร้อมกันสามคนยังได้เลย เรื่องนี้แอดก็เขียนมานานมากแล้ว
อ่ะ คิดง่ายๆอย่างที่อธิบายไปแล้ว ถ้าจะใช้สามคนนี้พร้อมกัน ผมก็แค่จับป็อกบา ลงมาเล่น DLP ยืนมิดฟิลด์คู่double pivot กับใครสักคน มาติช แม็ค เฟร็ด ได้หมด ขอแค่อีกคนไม่ปล่อยให้ป็อกโดดเดี่ยว และป็อกไม่เติมสูงบ่อยเกินไปแค่นั้น เน้นรักษาตำแหน่งต่ำไว้ ป็อกบาจะเล่นคู่กับใครก็ได้ครับในทีม ไม่ว่าเฟร็ด แม็ค มาติชก็ตาม
1
ป็อกบาเล่นกลางละหนึ่ง
ด้านหน้า กลางรุกตัวกลาง เราใช้ บรูโน่ได้เลย ให้เล่นแบบเดิมไป เป็นตัวเชื่อมเกม ตัวฟลิตบอลเร็ว รวมถึงยิงไกล ให้บรูโน่อยู่ตรงกลางไว้ เพราะทำอะไรได้เยอะมากจากจุดนั้น
1
ดอนนี่ ให้เล่นเป็นตัวปั้นเกมอีกตัวเช่นกัน แต่อยู่ข้างๆบรูโน่ และถ่างออกข้างได้ ไม่ว่าจะซ้ายหรือขวา หรือจะหุบเข้ากลางมาเล่นสั้นกับบรูโน่ และเติมเข้าไปในกรอบได้อีกตัว
ซึ่งหากส่งสองคนนี้ลงตัวรุกแดนหน้าพร้อมกัน ตำแหน่งของดอนนี่ จะไม่วันทับกับบรูโน่แน่นอน รับประกันได้ เพราะไอคิวฟุตบอลในการหาตำแหน่งของเขามันดีเกินกว่าจะวิ่งทับตำแหน่งกันโง่ๆแน่นอน
ปรับดีๆ สามคนนี้ลงพร้อมกันสบายๆครับ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผ่านมาปีกว่าแล้ว แอดยังได้เห็นแค่ไม่กี่ครั้งเอง เสียดาย
เรื่อง False Nine แอดจะยังไม่พูดถึงวันนี้ แต่จะแย้บไว้ให้ก่อนว่า อย่าคิดว่าโอเล่ กุนนาร์ โซลชา ไม่รู้จักแผนF9 นะครับ คนบ้าแทคติกพรรค์นั้นรู้อยู่แล้วแหละ แต่อยู่ที่ว่าเขาจะตัดสินใจฉับได้เมื่อไหร่เท่านั้นเองว่า จะพอหรือไม่พอกับ "คนบางคน" หรือยัง
เพราะถ้าพอ ในวันที่เราต้องพักหน้าเป้าตัวหลักเช่นนี้ มีนักเตะหลายคนเลยที่นำมาเล่นในแผนนี้ได้ และโอเล่ก็เคยใช้แล้ว
- สรุปในช็อตการเล่นนี้ของดอนนี่ ที่ออกไปยืนริมเส้น และปั้นเกมได้นั้น มันทำให้เราเห็นถึงแทคติกที่ทีมใช้เมื่อวานในครึ่งหลัง และรวมถึง ความสามารถของ ดอนนี่ ฟานเดอเบค ในการเล่นมิดฟิลด์ตัวรุกแบบ Advance Playmaker ด้วยแบบเต็มๆนั่นเอง ซึ่งนอกจากช็อตนี้ ท้ายๆเขายังเติมสูงขึ้นไปถึงในกรอบ โชว์ความเป็น Shadow Striker ให้เห็นด้วย
จะบอกอีกครั้งว่า ถ้าผมเป็นกองหลังคู่แข่ง ผมจะระแวงไอ้หอกนี่ที่สุดเลยเวลาเข้ามายุ่งวุ่นวายในกรอบเขตโทษกู เพราะไม่รู้มันจะไปโผล่ตรงไหน แล้วตัวผมเองก็จะต้องรักษาตำแหน่งด้วย(ถ้าเป็นกองหลัง)
"ของแสลงกองหลัง" ผมว่าผมนิยามดอนนี่ ฟานเดอเบค แบบนั้นได้
#สรุป
และทั้งหมดนี้คือประเด็นที่น่าสนใจ จากช็อตนี้แค่ช็อตเดียวที่แอดหยิบมาพูดถึง แค่ช็อตเดียว แต่คุณผู้อ่านเห็นดีเทลไหมครับว่า มันสามารถวิเคราะห์อะไรออกมาได้บ้าง ถ้าคิดจะดูรายละเอียดการเล่นจริงๆ ซึ่งทุกอย่างมันสมบูรณ์แบบหมดแล้วในภาคการสร้างสรรค์เกม
แต่เสียดายที่การจบสกอร์ในจังหวะสุดท้าย ยังไม่คมพอจะเป็นประตูได้ จากการจับบอลอย่างนิ่มของกรีนวู้ด และตัดสินใจยิงดีดด้วยซ้าย ปาดไซด์ก้อยหนีมืออเรโอล่า ซึ่งตัดสินใจได้ดีมากแล้วที่ยิงเร็ว แต่ลูกยิงมันยังไม่ดีพอจะหนีมือเข้าโกลเท่านั้นเอง ขาดแค่นั้นจริงๆ
จุดสังเกตอีกจุดหนึ่ง ที่แอดลืมเขียนไปแล้ว แต่มีแฟนเพจทักมาพอดี นั่นก็คือ จังหวะวิ่งนี้ของกรีนวู้ดนั้น จริงๆแล้วมี อ็องโตนี่ มาร์กซิยาล ยืนอยู่ใกล้ๆด้วย ดูในภาพจะเห็น อยู่ตัวบนทางซ้าย
แต่ก็เหมือนเดิมครับ ปฏิกิริยาตอบสนองไม่มีทั้งนั้น ยืนดูน้องวิ่ง แล้วก็จ็อกตามมาเบาๆเท่านั้น ไม่คิดจะรีบวิ่งสปีดตามขึ้นมาช่วยเลยเผื่อบอลกระฉอก ไปดูภาพช้าจะชัดมากๆ ผมไม่อยากตำหนิเลย แต่มันเป็นแบบนั้นจริงๆนะ
ผู้อ่านไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมรีวิวแอดมันถึงยาวระดับA4 เขียนเป็นปีกๆ14-15แผ่นขนาดนั้น เพราะช็อตเดียวแอดยังอธิบายดีเทลได้ขนาดนี้
ถ้าเป็นไปได้ แอดอยากจะรีวิวช็อตต่อช็อตให้ดูแบบ Watch Along ไปด้วยซ้ำ เสียดายว่าแอดไม่มีความสามารถทางด้านการตัดต่อวิดิโอ ไม่มีความรู้ในการทำคลิป ไม่มีอุปกรณ์
ไม่งั้นแอดสามารถนั่งanalyzeแทคติกให้ดูได้ตั้งแต่นาทีแรกยันนาทีสุดท้ายเลย ซึ่งทุกวันนี้ก็พยายามพัฒนาตัวเองอยู่ หวังว่าสักวันคงจะทำเป็นคลิป ให้ผู้อ่านดูกันได้ จะได้เก็ทภาพกันมากกว่านี้
ยังไงก็อ่านเป็นตัวหนังสือกันไปก่อนนะครับ
ขอฝากโพสต์นี้อยู่เป็นเพื่อนท่านผู้อ่านไปก่อนพลางๆ ส่วนงานอะไรที่ติดค้างผู้อ่านไว้ผมยังไม่ได้ลืม ไม่ต้องห่วง แอดวิเคราะห์เสร็จแล้วเกมนั้นน่ะ แต่ยังไม่ได้เขียนแค่นั้นเอง
เดี๋ยวขอเวลาพักผ่อนก่อนนะครับ เมื่อพร้อมจะเขียนแน่นอน เพราะแอดก็ต้องใช้เวลาทำงานอื่นๆเนอะ เอาเป็นว่าใครที่สนใจ ก็รอกันนิดนึง คุณจะไม่ผิดหวังแน่นอน เพราะผมตั้งใจเขียนทุกๆครั้ง ยิ่งเป็นเกมที่ประทับใจ ผมก็อยากจะค่อยๆเขียนแบบสบายๆมากกว่า แล้วงานมันจะออกมามีความสุข คนอ่านก็จะมีความสุขไปด้วยครับ
1
เจอกันพรุ่งนี้นะครับ จัดแบบหนักๆบึ้มๆ ทั้งรีวิว ทั้งบทความที่เขียนเสร็จแล้ว เตรียมอ่านกันให้ตาแฉะเถอะสองวันนี้ ไม่ต้องทวงแอดหรอก
เดี๋ยวตูนี่แหละ จะทวงพวกเอ็งให้มาอ่านบทความกันเอง!!!! (ฮา)
หวังว่าโพสต์นี้จะมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ในรายละเอียดการแข่งขัน และช่วยพัฒนามุมมองเรื่องการดูฟุตบอลได้ครับ
#BELIEVE
-ศาลาผี-
โฆษณา