24 ก.ย. 2021 เวลา 08:44 • การ์ตูน
คำถาม : แอดมิน เรื่องนี้ "อนิเมะโปรโมทนิยาย" หรือเปล่าครับ
ผม : (โคตรเกลียดคำนี้เลยครับ ... จะตอบแบบนี้คงไม่ดี)
ชวนให้นึกภาพเหมือน โปรดักชั่นเอาเงินไปตบหน้าทางสตูดิโอ
"เอาเงินก้อนนี้ไป ขออนิเมะ 12-13 ตอน ทำให้หนังสือขายดีๆ ด้วย"
"อ้อ มีงบแค่นี้นะ ไม่มีต่อแล้ว ทำลวกๆ ให้มันเสร็จไป" (เสียงสูง)
/me กุมขมับ
เหตุผล .... ทุกเรื่องก็ทำมาโปรโมทต้นฉบับหมด ถ้าตัดพวกเรื่องยาวเป็นร้อยตอนแบบ วันพีซ โคนัน โบรูโตะ มันก็ทุกเรื่องที่ไม่ได้คาดหวังทำยาว
ถึงยุคก่อน 2010 จะมีหลายเรื่องที่ทำหลายภาค แต่ด้วยจำนวนเรื่องที่ล้นตลาดพวกออกมาภาคเดียวจบจึงเพิ่มขึ้น
อนิเมะโปรโมทนิยาย คือ อะไร ?
ศัพท์ที่บางกลุ่มตั้งขึ้นมา นิยามพวกที่ทำออกมาภาคเดียวจบ ทั้งที่ต้นฉบับไปไกลมาก
1. ส่วนใหญ่ทำอนิเมะแค่ 12-13 ตอน (24 นาที/ตอน)
2. ส่วนใหญ่ตัดเนื้อหา จนคนเคยอ่านนิยาย-มังงะไม่พอใจ
3. (เชื่อว่า) ทุนมักจะต่ำ งานคุณภาพน้อย แบบเอาให้จบๆ ไป
พอเห็นแนวนี้เยอะเข้า อาจถึง 80%-90% ของเรื่องที่ผลิตจากนิยายในปัจจุบันที่ไม่ได้ไปต่อ ทำให้นิยมคำนี้มากขึ้น
ความจริง ก็ไม่ใช่คำที่ผิด ... เพราะทุกเรื่องก็ทำมานิยายให้ขายดีขึ้นจริง
แต่เหตุผลที่ไม่มีทางทำได้จบ เพราะ
1. ต้นฉบับยาวมากทุกเรื่อง : นักเขียนก็ไม่ยอมเลิก เพราะขายได้ โดยเฉพาะธีม Isekai ต่างโลกที่นิยม เขียนไหลไปเรื่อย จะเขียนยาวแบบนิยายกำลังภายในจีนยังได้ แต่มักโดนสนพ.เบรคไว้
เนื้อหาถ้าเอาไปวาดเป็นมังงะ บางเรื่องก็ยาวระดับน้องๆ One Piece ได้สบาย
เหตุผล นักเขียนก็ไม่อยากตกงานนั่นแหละ ไม่ต้องแข่งแบบมังงะในนิตยสารรายสัปดาห์ที่ต้องแย่งพื้นที่กันลง แค่เขียนไปเรื่อยจนกว่าคนอ่านจะเลิกเอาไปดอง (คนซื้อนิยายเรื่องเดียวที่ยาว 20-30 เล่ม บางคนไม่ได้อ่านด้วยซ้ำ) แล้วไปเขียนเรื่องใหม่
แน่นอนว่า "เขียนแบบน้ำๆ" ให้ครบเล่ม ก็เยอะ พวกพระเอกช่วยชาวบ้านแล้วกลับมาเดินเรื่องต่อ เป็นเหตุผลที่พอตัดเนื้อหาได้ แต่ก็มักทำให้คนอื่นเคยต้นฉบับไม่พอใจที่ลดทอนเนื้อหาบางส่วน
2. ทุนแพง : อนิเมะเรื่องหนึ่ง 12 ตอน ถ้าตีเป็นเงินไทย ทุนล่อไปเป็น 100 ล้านบาทได้ อาจจะกำไรภาคแรก แต่สถิติคนจะตามภาค 2 น้อยลงเสมอ ทำให้สปอนเซอร์ถอนตัว
3. ไลท์โนเวลล้นตลาด : ถ้าไปดูเว็บสำนักพิมพ์ญี่ปุ่น จะเห็นว่าแต่ละหัวหนังสือมีแค่ไม่กี่เรื่องที่ได้เป็นอนิเมะ ส่วนที่ยังไม่ได้ทำมีเป็นร้อยเรื่อง ซึ่งแบรนด์ย่อของสำนักพิมพ์ในญี่ปุ่นมีเยอะมาก ถ้านับจริงๆ เรื่องที่ยังไม่จบและไม่เคยได้ทำอนิเมะ ปัจจุบันมีเป็นพัน ไม่นับบนเว็บที่เป็นหมื่นเรื่อง
มองฝั่งโปรดักชั่น คงพอเห็นภาพนะครับว่า
1. จะดันเรื่องเดียวทำไม ในเมื่อตัวเลือกมีอีกเยอะ
2. ดันเรื่องใหม่ อาจเจอเรื่องทำเงินได้ดีกว่า
3. ยอดคนตามจะลดลงเสมอในภาคต่อ เพราะขาดความแปลกใหม่ (นึกภาพไม่ออกก็ดูพวกที่มีภาค 2 กระแสมีแต่ดรอป ยกเว้นเรื่องที่มีจุดพีคที่ดีกว่าภาคแรก)
ว่าด้วยเรื่องการ หั่น ตัดจนยับ
ทำไมบางเรื่องที่หั่นเรื่องแหลก จนเหมือนไม่อยากทำต่อ ... ตรงข้ามเลยครับ เพราะอยากทำต่อถึงต้องหั่น งงไหม ?
เพราะหลายเรื่องวางจุดไคล์แม็กซ์ไว้ไกล โดยเฉพาะ 4-5 ซึ่งยากต่อการอนิเมะ 12-13 ตอน
ยกตัวอย่าง เช่น พวกขอพระเอกโชว์บ้าง อย่าง DanMachi ใช้เนื้อหานิยาย 5 เล่ม, Re:Zero ใช้เนื้อหา 9 เล่ม, Overlord ใช้เนื้อหา 3 เล่มใหญ่ ถ้าเดินเรื่องไม่ถึงจุดพีค แทบไม่ต้องหวังภาคสอง กระแสหลังฉายก็จะเงียบๆ
บทตัวละครสำคัญมากมาตอนเล่ม 3-5 ก็เช่นกัน อย่าง บทคุรุมิ ก็มาใน Date A Live ก็ต้องทำถึงนิยายเล่ม 4 ถ้าทำไม่ถึงกระแสก็ไม่ดี
ถ้าพวกเรื่องวางโครงมาดี อย่าง ผู้กล้าสุดแกร่งขี้ระแวงขั้นวิกฤต ทำ 2 เล่มก็เจอไคล์แม๊กซ์ จะผลิตออกมาง่ายขึ้น หรือ 86 ที่สามารถจบได้ตั้งแต่เล่มแรก
เป็นข้อเสียของไลท์โนเวล ที่มักจะปูทางให้คนตามไปเรื่อยๆ ไม่ได้วางไคล์แม็กซ์สำคัญไว้ต้นเรื่อง ต่างกับมังงะ ที่ต้องสนุกทุกตอนตั้งแต่แรก ไม่งั้นโดนตัดจบ จึงมีจุดไคล์แม็กซเป็นระยะ
ที่สำคัญ เขาไม่ได้ทำให้คนอ่านมังงะ/นิยาย อยู่แล้วดู เขาเล็งกลุ่มที่ยังไม่เคยดู (โปรโมทนิยายนั่นแหละ) จึงให้ความสำคัญกับคนไม่เคยดูมากกว่า ถ้าเพิ่มทุนขอทำ 2 ซีซั่นไม่ได้ ก็เหลือตัวเลือกเดียว คือ ตัดเนื้อหาให้กระชับ แบบคนไม่เคยอ่านก็สะดุดไม่มาก ตัดน้ำออกและเน้นเนื้อๆ
เลยอาจมีประเภทนักอ่านที่แยกน้ำ-เนื้อไม่ออก อยากได้แบบต้นฉบับเป๊ะๆ จนวิจารณ์ทางโซเชียลบ่อยครั้ง
อีกจุดที่น่าสังเกต คือ ตัวสำนักพิมพ์ ที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการการผลิต (Anime Production Commitee) ก็มีผลต่อการทำภาคต่อ
อย่าง กลุ่มที่ไม่ค่อยมีอนิเมะ เน้นทุ่มเรื่องเดียวไปหลายภาค เช่น
- เกิดใหม่ทั้งทีก็เป็นสไลม์ไปซะแล้ว (GC Novels บริษัท Micro Magazine)
- การปฏิวัติของสาวน้อยหนอนหนังสือ (TO Bunko บริษัท TO Books)
- เกิดใหม่เป็นนางร้าย จะเลือกทางไหนก็หายนะ (Ichijinsha Bunko Iris บริษัท Ichijinsha)
ตรงข้ามกับพวกที่ถือลิขสิทธิ์เยอะแบบ Media Factory, GA Bunko หรือ Dengeki ที่มีเรื่องเดียวหลายภาคบ้าง แต่ก็มีหลายเรื่องที่ไม่ดันต่อ ทำให้จบแค่การโปรโมทนิยาย
สตูดิโอก็สำคัญ มีเงิน ก็ไม่เหลือตัวเลือก
งานตอนนี้ก็ตึงมือกับแทบจะทุกบริษัท อาจได้เคยยินข่าวว่า Ufotable ผู้ทำ ดาบพิฆาตอสูร งานไม่ว่าง 5 ปี จริงๆ สตูดิโออื่นก็งานเต็ม 2-3 ปีเหมือนกันแค่ไม่ได้เป็นข่าว
ไม่แปลกที่งานช่วงนี้จะได้เห็นชื่อสตูดิโอใหม่ หรือ เอาต์ซอร์สต่างชาติมากขึ้น (สังเกตตรง Credit ท้ายตอน) คุณภาพงานก็ดรอปลง ตามประสบการณ์ของทีมงาน
สรุปสั้นๆ (จบเหอะ จะเขียนสั้นๆ ทำไมยาวก็ไม่รู้)
- ถ้าเอาเหตุผลมารวมกัน คงพอเห็นภาพว่า "อนิเมะจากนิยายส่วนใหญ่ ก็ทำเพื่อโฆษณาต้นฉบับ และสินค้าที่เกี่ยวข้อง"
- "อนิเมะโปรโมทนิยาย" ก็ทุกเรื่อง แทบไม่ได้หวังทำภาคต่อ ขอจบให้ดีสุดแล้ววัดกระแส ถ้าคนตามเยอะอาจได้ทุนทำต่อ
- ที่เห็นมีภาค 2 ก็อาจไม่ใช่ภาคสองจริง แค่เว้นช่วง (แต่ไม่ประกาศว่า Split Season) ทำให้คนดูอนิเมะเข้าใจต้นฉบับมากขึ้น จนไปหาอ่าน
- เรื่องที่ไปต่อได้ยาวๆ แบบ Sword Art Online, Toaru Series ก็ตัดละครติดตลาด ขายสินค้าที่เกี่ยวข้องได้ง่าย เหมาะที่จะดันต่อ เอาไปทำเกมง่าย
- ถ้าสังเกต พวกมีภาคต่อเยอะ มีเกมมือถือมาช่วยดันเสมอ
- ทุนต่างประเทศก็สำคัญ ตอนนี้อเมริกาและจีนมีผลมาก ถ้าคนดูเยอะจนน่าดันต่อ จะมีสปอนเซอร์ต่างประเทศเข้า ทำให้บางเรื่องได้ทำต่อ อย่าง ผู้กล้าโล่ผงาด (2019) ที่เหมือนจบภาคแรก แต่ประมาณภาค 2-3 ในงานของฝั่งอเมริกาก่อนญี่ปุ่น
สุดท้ายก็ คำถามประเภท "อนิเมะเรื่องนี้ โปรโมทนิยาย" ไหม ?
ตอบ: อนิเมะที่สร้างมาเพื่อโปรโมทนิยาย "ขอภาคเดียวจบ" ไม่มีหรอกครับ
ทุกเรื่องก็พยายามทำออกมาให้ดีสุด บางเรื่องขายได้ ก็ได้ไปต่อหลายภาค ซึ่งก็ขึ้นกับฝีมือของแต่ละสตูดิโอว่าจะบริหารงบออกมาได้ดีแค่ไหน และทีมงานมีฝีมือ เข้าใช้ความสนุกของชิ้นงานที่ได้รับขนาดไหน
ถึงงานดีในภาคแรก แต่ตัวเลือกที่มีมากและต้นฉบับที่ยาวมาก ทำให้เลือกเอางบไปดันเรื่องอื่นแทนเป็นส่วนใหญ่ เหลือประมาณ 1-2 เรื่องของหัวหนังสือที่พยายามดันยาว เพื่อไม่ให้เกิดการวิจารณ์มาก
ด้วยจำนวนอนิเมะที่มากขึ้น แต่กำลังการผลิตจำกัด แนวโน้มที่จะได้เห็นเรื่องจบแค่ซีซั่นเดียวก็คงเยอะขึ้น ถ้าอยากดูต่อคงต้องไปตามต้นฉบับแทนจะดีกว่า
โฆษณา