24 ก.ย. 2021 เวลา 07:23 • การเมือง
คิด-มา-เล่า 03
ว่าด้วยเรื่องวัฒนธรรม-ไทย
01 ความสูง-ต่ำทางสังคม
.
ในสังคมไทยที่พ่อรู้จัก สถานะกึ่งอัตโนมัติเกิดขึ้นระหว่างบุคคลทั้งระดับปัจเจก กลุ่มบุคคล องค์กร หรือสถาบัน มีสภาพไร้น้ำหนัก ไร้ตัวตน มองไม่เห็น แต่ส่งผลให้สามารถรับรู้ได้ถึงตำแหน่งแห่งหน ที่ทาง หรือลำดับชั้นของทุกหน่วยในสังคม สถานะดังกล่าวส่งผ่านประสบการณ์ ความทรงจำ และการบ่มเพาะ มันกระตุ้นเตือนให้ทุกคนรู้ซึ้งถึงสิ่งที่ควรแสดงออกระหว่างบุคคลต่อบุคคล หรือบุคคลต่อกลุ่มบุคคล แม้กระทั่งสามารถกำหนดพฤติกรรมในเชิงกดข่ม เพื่อสร้างสภาวะสงบเรียบร้อยและเป็นที่ยอมรับภายในทุกหน่วยของสังคม สถานะดังกล่าวพ่อเรียกมันอย่างเรียบง่ายว่า ‘ความสูง-ต่ำในสังคม’ ซึ่งได้สืบทอดส่งต่อผ่านมาจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่ยุคโบราณจวบจนถึงปัจจุบัน และได้มีฐานะเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมทางสังคม
ภาพประกอบ คิด-มา-เล่า 03 โดยพ่อเอง
-
สิ่งสำคัญที่ควรสร้างความเข้าใจเสียก่อนคือ วัฒนธรรมสูง-ต่ำนี้มีทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งช่วยสร้างระเบียบแบบแผนให้เกิดขึ้นจนกลายเป็นข้อควรปฏิบัติที่สมาชิกในสังคมพึงกระทำ บ้างให้คำจำกัดความโดยพฤติกรรมหรือสภาวะนั้น ๆ ว่าเป็น กาลเทศะ ความอ่อนน้อม ความสุภาพ ความเคารพ ฯลฯ สุดแท้แต่จะเรียกขาน ซึ่งค่อนไปในทางที่เป็นบวก ส่วนอีกด้านหนึ่งที่พ่อกำลังจะอภิปรายเป็นแง่มุมที่ความสูง-ต่ำทางสังคมสร้างสถานะหรือลำดับชั้นให้เกิดจนมีผลต่อการสถาปนาอำนาจที่สูงกว่าของบุคคล กลุ่มคน หรือองค์กร-สถาบัน ไม่ว่าจะเล็กน้อยเท่าหอยมด หรือใหญ่โตคับฟ้ามหาสมุทร ล้วนส่งผลกดทับต่อผู้ที่ต่ำกว่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งนั่นอาจมองว่าเป็นด้านลบหรือไม่ คงต้องใช้วิจารณญาณ
เพื่อให้สามารถพิจารณาได้อย่างมีระบบระเบียบเป็นขั้นตอน พ่อขอใช้ขนาดของหน่วยทางสังคม ประกอบกับเงื่อนไขความใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างผู้คนที่ร่วมหน่วยทางสังคมนั้น ๆ เป็นตัวกำหนดการอภิปรายอย่างเป็นลำดับ
ครอบครัว - หน่วยย่อยที่สุดของสังคมในช่วงเวลาของพ่อ แต่พ่อก็เชื่อในความเป็นไปได้ว่า อำนาจแห่งวิวัฒนาการจะส่งผลให้เกิดหน่วยที่ย่อยลงไปมากกว่านี้ได้ในอีกไม่นาน วัฒนธรรมสูง-ต่ำในสังคมไทยที่เกิดขึ้นในครอบครัวเป็นเรื่องปกติทั่วไปอย่างมาก เพราะด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดต่อมาและมีอิทธิพลจากความเชื่อทางศาสนาเป็นส่วนสนับสนุน จึงสร้างลำดับชั้นในครอบครัวไว้โดยธรรมชาติ ในส่วนของด้านบวกเราคงไม่ต้องอภิปรายให้มากความ แต่ด้านอื่น ๆ (อาจไม่ใช่ลบ) เป็นเรื่องที่พ่อให้ความสนใจ เมื่อการเกิดก่อน-เกิดหลังเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดความสูง-ต่ำ คนที่อายุมากที่สุดในครอบครัวย่อมอยู่ในลำดับที่สูงที่สุดและไล่เรียงลงมาจนถึงอายุน้อยที่สุด สมัยพ่อเป็นเด็ก คุณปู่คุณย่าก็มีสิทธิ์และหน้าที่โดยชอบในการใช้สถานะที่สูงกว่าตัดสินสิ่งต่าง ๆ
เพื่อให้ชีวิตของพ่อดำเนินไปอย่างเหมาะสมและปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จนเมื่อถึงจุดที่การตัดสินใจในชีวิตย้ายมาเป็นของพ่อโดยชอบสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตหลังจากนั้น คนที่รับผิดชอบย่อมเป็นพ่อเอง ไม่ใช่ใคร และไม่มีปัญหา
••
แต่ปัญหามักจะเกิดระหว่างนั้น ช่วงระหว่างที่พ่อแม่ก้ำกึ่งว่าจะเป็นผู้ตัดสินใจให้ลูก หรือลูกควรตัดสินใจเรื่องของชีวิตตัวเองด้วยตัวเอง โดยไม่มีพ่อแม่เข้ามาเกี่ยว ณ ช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ วัฒนธรรมสูง-ต่ำจะเข้ามามีบทบาทในครอบครัวที่ไม่ฝึกวิธีการบริหารความสูง-ต่ำนี้ตั้งแต่เนิ่น ๆ บางครั้งส่งผลลดทอนความสามารถในการตัดสินใจหรือลด self-esteem ของลูกโดยไม่ตั้งใจ ด้วยเหตุผลของพ่อแม่ที่ว่า “เพราะเป็นห่วง” ตัวอย่างเช่น นักศึกษาจำนวนมากต้องอยู่ในภาวะเลือกเรียนคณะที่ไม่ได้เลือกเอง แต่พ่อแม่เลือกให้ บางคนอยากเรียนคณะอื่น บางคนหนักถึงขั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องการเรียนอะไร จากประสบการณ์การเป็นอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยของพ่อทำให้เห็นปัญหาเช่นนี้บ่อยครั้ง
จนต้องยอมรับอย่างไม่เต็มใจว่า “สังคมไทยก็เป็นอย่างนี้แหละ” แต่หากความสูง-ต่ำในครอบครัวได้รับการบริหาร เป้าหมายที่น่าจะดีกว่า คือ เมื่อถึงจุดหนึ่งการตกลงและยอมรับระหว่าง พ่อ - แม่ - ลูก (รวมทั้งคนอื่นๆในครอบครัว) ว่าลูกมีสิทธิ์เลือกหนทางของตัวเองและมีความชอบธรรมอย่างที่สุดในความรับผิดชอบต่อการเลือกดังกล่าวนั้น
•••
เป้าหมายที่น่าจะดีที่สุดในมุมมองของพ่อต่อกรณีข้างต้น คือ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากทั้งสองฝ่ายแบบไม่มี สูง-ต่ำ กล่าวคือ ทุกคนอยู่ในระนาบเดียวกัน สำหรับพ่อแล้วมันเป็นโอกาสในการเปิดรับหรือพิจารณาแนวทางความคิดอื่น ๆ จากมุมมองที่คนเป็นพ่อแม่ไม่มีวันเข้าใจด้วยข้อจำกัดของการรับรู้ที่มีกำแพงอายุเป็นเครื่องกั้น พูดให้ง่ายอีกนิดคือ พ่อเองก็น่าจะมีโอกาสพัฒนาไปพร้อมกันกับลูกด้วยเช่นกัน การแลกเปลี่ยนถกเถียงอย่างมีวุฒิภาวะโดยไม่มีสถานะสูง-ต่ำ น่าจะเป็นทางออกของปัญหาเรื่องช่องว่างภาระการตัดสินใจที่ดีที่สุดเท่าที่พ่อนึกออก แน่นอนว่ามันต้องการการฝึกฝน ตรงนี้พ่อเสนอว่าเป็นความรับผิดชอบของพ่อแม่ที่จะค้นหาและสร้างวิธีบริหารกระบวนการเหล่านี้ เพราะสถานะและภาวะสูงกว่าของพ่อแม่นั่นแหละเป็นเหตุผลโดยชอบธรรม แต่ถ้าพ่อแม่ปล่อยให้ความสูง-ต่ำครอบงำความเป็นเหตุเป็นผล ความเมตตากรุณา
เราก็มักจะเจอกรณีปัญหาอย่างการขัดแย้งทะเลาะวิวาท ที่ร้ายแรงถึงขั้นตัดความสัมพันธ์ เกิดเป็นปัญหาทางสุขภาพจิตของคนในครอบครัวตามมาอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งล้วนเกิดขึ้นได้ทั้งต่อพ่อแม่หรือตัวลูกเองก็ตาม
••••
โรงเรียนหรือสถานศึกษา - ความสัมพันธ์ระหว่างลูกศิษย์กับครูอาจารย์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องวนเวียนอยู่กับวัฒนธรรมความสูง-ต่ำจนถึงขั้นการใช้อำนาจกดข่มหลากหลายกรณี หลากหลายสถานการณ์ สำหรับสังคมไทยชีวิตในรั้วสถานศึกษาอาจเริ่มตั้งแต่ 3-4 ขวบ ไปจนถึง 22-23 ปี นั่นหมายถึงอนุบาลถึงระดับปริญญาตรี รวมเป็นเวลากว่า 20 ปีโดยประมาณ อาจมากน้อยไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับสถานะทางรายได้ของแต่ละคน พ่ออยากอภิปรายเรื่องนี้โดยพุ่งประเด็นไปที่สถานะทางอำนาจของครูอาจารย์ที่มีต่อลูกศิษย์ มากกว่ารายละเอียดปลีกย่อยอื่น ๆ อีกหลากหลายมากมายที่กล่าวถึงอย่างไรก็ไม่หมดโดยง่าย
ข้อสังเกตสำคัญของพ่อสำหรับเรื่องความสูง-ต่ำในชั้นเรียน คือ สถานะหรือลำดับชั้นที่สูงกว่าของครูอาจารย์ไม่เปิดโอกาสให้เกิดการวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาจากลูกศิษย์ (หรือถ้าเปิดก็มีผลน้อยมาก) ด้วยขนบธรรมเนียมที่ผู้น้อยซึ่งต่ำกว่าต้องเคารพนบนอบผู้ใหญ่ซึ่งสูงกว่า เมื่อผู้สูงกว่ากำหนดหรือขีดเส้นอะไรผู้ต่ำกว่าควรปฏิบัติตาม เพื่อให้เกิดระเบียบ เป็นบรรทัดฐานความงดงามอันดีของสังคม
•••••
สำหรับพ่อซึ่งมีโอกาสอยู่ในฐานะครูอาจารย์ด้วยแล้ว สภาวะดังกล่าวไม่ส่งผลดีต่อโอกาสในการพัฒนาทั้งความคิดจิตใจและสติปัญญา ขอยกตัวอย่างเฉพาะเรื่องที่เห็นว่าควรกล่าวถึง หลักสูตรเนื้อหาที่ถูกจัดทำเอาไว้ใช้ในห้องเรียน ไปจนถึงระบบการประเมินผลหรือการสอบวัดผล หากไม่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้วิจารณ์เลย องค์ความรู้หรือทักษะที่เหมาะสมกับผู้เรียน หรือที่ผู้เรียนต้องการจริง ๆ หรือเป็นสิ่งที่นำไปใช้งานได้จริง ๆ ก็อาจอยู่ในเครื่องหมายคำถาม แม้วิจารณ์ได้แต่ด้วยวัฒนธรรมสูง-ต่ำก็ต้องบังคับให้ทำโดยไม่เปิดเผยผู้วิจารณ์และเกิดขึ้นภายหลังผ่านชั้นเรียนไปแล้ว ระบบหรือลักษณะเช่นนี้ ไม่เอื้อให้เกิดการปรับปรุงหรือแก้ไขอย่างทันท่วงทีโดยมีผลลัพธ์ของการเรียนรู้เป็นที่ตั้ง ตลอดจนไม่ได้มุ่งหวังเป้าหมายของชั้นเรียนที่สามารถมีพัฒนาการได้เสมอ
ข้อเสนอของพ่อสำหรับเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ สลายสถานะสูง-ต่ำเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของความ real-time การสร้างพื้นที่ปลอดภัยของห้องเรียนเพื่อเอื้อให้เกิดความเป็นไปได้ทุกอย่างของระดับการวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาในทุกช่วงเวลา เป็นสภาวะที่พ่อใฝ่ฝันถึง มันเป็นความคาดหวังที่นอกจากการสร้างโอกาสของความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ขององค์ความรู้ในห้องเรียนแล้ว มันยังน่าจะเปิดโอกาสให้ทั้งลูกศิษย์และครูอาจารย์ได้มีพัฒนาการร่วมกัน มากกว่าการกำหนดระเบียบปฏิบัติและข้อตกลงที่ส่งตรงจากบนลงล่างซึ่งผู้สอนไม่ได้รับการสะท้อนอะไรกลับมา
••••••
ที่ทำงานหรือสถานประกอบอาชีพ - หลังจากผ่านช่วงเวลายาวนานกับประสบการณ์ของการอยู่ในลำดับชั้นต่ำกว่า การเข้าสู่สถานะใหม่ในฐานะคนทำมาหาเลี้ยงชีพ ก็ยังมิวายเป็นหน้าใหม่ในสถานที่ใหม่ คนมาใหม่ในสังคมถูกจัดวางให้เป็นผู้น้อย ต่ำกว่าผู้ใหญ่ที่มาก่อน วัฒนธรรมต่ำ-สูงในที่ทำงานแม้ผู้สูงกว่าจะให้ความเอ็นดูผู้ต่ำกว่าตามขนบธรรมเนียมอย่างไทย แต่ในทางปฏิบัติช่างเป็นการยากเหลือเกินที่ผู้ต่ำกว่าจะตั้งคำถามหรือวิจารณ์ผู้สูงกว่าได้อย่างตรงไปตรงมา ความอ้อมค้อมคลุมเครือจึงเป็นแบบแผนสำหรับ ต่ำวิจารณ์สูง แต่หากสูงวิจารณ์ต่ำ แรงยังไงก็นับว่าเป็นความเมตตากรุณา (ธงชัย วินิจจะกูล, 2559, น.210) แม้จะไม่สามารถใช้ความข้างต้นเป็นตัวอย่างของวัฒนธรรมต่ำ-สูงได้ทุกที่ทำงาน แต่พ่อเชื่อเหลือเกินว่าองค์กรที่มีรูปแบบการบริหารอย่างอนุรักษ์นิยม ไม่สามารถหลุดจากสภาวะดังกล่าวได้ง่าย ๆ
ความเป็นไปได้ของเหตุการณ์นี้ที่มักจะพบเจอได้ไม่ยาก คือ ผู้น้อยที่ต่ำกว่าแม้ว่าจะเก่งกล้าสามารถขนาดไหนการจะก้าวหน้าเติบโตได้นั้นต้องไม่ข้ามผู้ที่มาก่อนหรือสูงกว่า สิ่งที่มีโอกาสตามมาคือ แนวโน้มของความก้าวหน้าในช่วงต้นของผู้มาใหม่จะถูกกลืนและหายไปตามกาลเวลาอย่างน่าเสียดาย
•••••••
นอกจากความสูง-ต่ำในที่ทำงานจะถูกกำหนดด้วย อายุ หรือ การมาก่อน-หลัง วัฒนธรรมความสูง-ต่ำก็ยังสามารถกำหนดได้ด้วย ยศถาบรรดาศักดิ์ เกียรติยศชื่อเสียงที่ติดตัวมา ทั้งจากชาติกำเนิดหรือการศึกษา และด้วยสถานะที่สร้างได้ดังกล่าว เป็นเหตุผลส่งเสริมให้สังคมการทำงานสามารถสร้างสภาวะการเหยียดหรือดูแคลนผู้ที่ต่ำกว่าได้ หรืออย่างน้อยที่สุดแต่ละบุคคลมีเกียรติที่ควรได้รับความเคารพไม่เท่ากัน ตัวอย่างเช่น Doctor กับ Messenger แม้วัฒนธรรมสูง-ต่ำในที่ทำงานจะปฏิเสธเรื่องโครงสร้างเชิงอำนาจได้ยาก แต่การแก้ไขปรับปรุงที่พ่อชวนให้คิดเป็นเรื่องเป้าหมายความสำเร็จขององค์กรซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายมากกว่า หากเราตั้งเป้าที่ความสำเร็จแบบใดก็ตาม
การสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบแบนราบน่าจะเอื้อต่อการพัฒนาที่คล่องแคล่วและปรับตัวได้ง่ายกว่า เพราะเมื่อทุกคนเท่ากัน อย่างน้อยการเสนอความคิดเห็นและนำไปปฏิบัติ ย่อมไม่ต้องดำเนินไปตามลำดับขั้นตอนจากล่างขึ้นบน แค่เพียงเดินไปเคาะประตูหรือบอกที่โต๊ะก็เพียงพอต่อการเริ่มสิ่งใหม่แล้ว ตำแหน่งของบุคคลจะมีความสำคัญแค่ตามบทบาทหน้าที่ ไม่ใช่ด้วยเกียรติยศของตำแหน่งนำหน้า โอกาสในการเปิดหรือยอมรับแนวทางความคิดที่แตกต่างจากหลากหลายที่มาจึงเป็นไปได้มากขึ้น
••••••••
วัฒนธรรมสูง-ต่ำในสังคมโดยรวม - แม้ว่าบ้านเมืองนี้จะไม่ใช่รัฐจารีตอย่างเป็นทางการ แต่คงจะปฏิเสธได้ยากมากถึงไม่ได้เลยว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ยึดถือจารีตประเพณีซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากอารยธรรมอื่นในหลากหลายช่วงเวลา ทั้งจากอินเดีย - จีน - ชาติตะวันตก โดยผ่านเข้ามาทางสถาบันสูงสุดของสังคม อย่างสถาบันศาสนาและสถาบันกษัตริย์ และเมื่อพิจารณาให้ละเอียดยิ่งขึ้นย่อมเห็นได้ไม่ยากว่า ขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดส่งต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ล้วนเป็นผลมาจากการผลักดันผ่านสัญลักษณ์ที่มองเห็นได้ด้วยตาหรือพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของชนชั้นนำ เป็นผลให้เกิดสถานะหรือลำดับชั้นทางสังคมที่มีช่วงระยะห่างของความสูง-ต่ำในระดับที่ ‘มิบังอาจเอื้อม’ รูปแบบวัฒนธรรมสูง-ต่ำเช่นนี้ส่งผลต่อภาพรวมของสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะในระดับหน่วยย่อยที่สุดอย่างครอบครัวไปจนถึงหน่วยที่ใหญ่มากที่สุดคือทั้งประเทศ
ผลกระทบที่ชัดเจนอย่างมากในยุคของพ่อคือ ปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งลงลึกไปถึงระดับความสัมพันธ์ในครอบครัว ความสูง-ต่ำได้สร้าง ‘ความเป็นอื่น’ ให้กับคนที่ควรใกล้ชิดสนิทสนมกันมากที่สุดอย่างสมาชิกในครอบครัว เพียงเพราะว่า คนต่ำ “ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง” ส่วนในสังคมระดับชาติความสูง-ต่ำเป็นสิ่งที่แยกขาดจากกันไม่ได้กับ อำนาจครอบงำสร้างสภาวะแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แม้การกระทำของชนชั้นสูงกว่าหากเป็นสิ่งผิด ชนชั้นต่ำกว่าจะชี้นิ้วเอาผิดก็ผิดเสียแล้วในสายตากลุ่มคนสนับสนุน
•••••••••
สภาพวัฒนธรรมสูง-ต่ำดังกล่าวเป็นปัญหาต่อการใช้วิจารณญาณตัดสินด้วยจริยธรรมสากล ลดทอนคุณค่าสากลหลากหลายด้าน โดยเฉพาะเสรีภาพและความเสมอภาคของปัจเจกชนในสังคม ปัญหาที่พ่อเชื่อว่าฝังรากลึกที่สุดคือ มันมีอิทธิพลต่อ ‘ชุดความคิด’ ของคนในสังคมจนยากต่อการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงไปสู่เส้นทางที่ต่างออกไปจากความรู้ที่เชื่อต่อ ๆ กันมา สาเหตุเพราะชั้นของความคิดได้ถูกกรอบเอาไว้ภายใต้อำนาจครอบงำทางสังคมผ่านสถานะสูงล้ำ ที่มิอาจเอื้อมเพื่อตั้งคำถามได้เสียแล้ว
.
แน่นอนว่าหน่วยของสังคมที่พ่อยกตัวอย่างไว้ ตั้งแต่ครอบครัว - โรงเรียน - ที่ทำงาน หากไม่สามารถหลุดพ้นออกมาจากวัฒนธรรมสูง-ต่ำที่มีอำนาจระดับครอบงำได้ทั้งสังคมแล้ว เส้นทางการพัฒนาเพื่อสร้างคุณค่าของปัจเจกชนก็อาจกลายเป็นเรื่องฝันเฟื่อง
อ้างอิง :
“โฉมหน้าราชาชาตินิยม”. ธงชัย วินิจจะกูล. นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2559.
#จริงจริงคืออยากเล่าให้ลูกฟัง #คิดมาเล่า #คิดมาเล่าจริงจริง #วัฒนธรรมสูงต่ำ #้highlowculture
โฆษณา