24 ก.ย. 2021 เวลา 12:26 • กีฬา
ดาร์บี้ เคาน์ตี้ อีกหนึ่งทีมใหญ่ในอังกฤษ เจอวิกฤติจนอาจล่มสลาย เพราะใช้เงินเกินตัว เรื่องราวเป็นอย่างไร วิเคราะห์บอลจริงจังจะอธิบายให้ฟัง
2
สิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง ที่ขับเคลื่อนเกมฟุตบอลอาชีพให้เดินหน้าต่อไปได้ ไม่ใช่เรื่องประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เรื่อง Passion แต่เป็นเรื่องเงิน
คุณอยากคว้าแชมป์ก็ต้องมีนักเตะเก่งๆ อยู่ในทีม แต่ผู้เล่นเก่งๆ ไม่สามารถลอยมาเองได้จากสวรรค์ คุณจำเป็นต้องจ่ายเงินซื้อตัวมาจากสโมสรอื่น หรือไม่ก็สร้างระบบอะคาเดมี่อันแข็งแกร่งขึ้นมา ซึ่งไม่ว่าจะทางไหนก็ต้องลงทุนมหาศาลอยู่ดี
สนามสวยๆ สตาฟฟ์เก่งๆ เยาวชนชั้นเลิศ ทุกสิ่งทุกอย่างใช้เงินทั้งสิ้น ดังนั้นถ้าสโมสรไหนไม่เข้าใจเรื่องการบริหารเงิน ก็ไม่สามารถเติบโตได้ในโลกของฟุตบอลอาชีพ
ด้วยความที่เกมฟุตบอลต้องใช้เงินในการสร้างความสำเร็จ ทำให้สมาคมฟุตบอลอังกฤษจึงกลัวมาก ว่าจะมีสโมสรไหนใช้เงินเกินตัว ไปกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อทำให้ทีมแข็งแกร่ง แล้วสุดท้ายไม่มีปัญญาจ่ายหนี้คืนจนทีมต้องล้มละลาย คล้ายๆกับ กรณีของลีดส์ ยูไนเต็ดในอดีต
1
ดังนั้นจึงมีการออกกฎว่าสโมสรใดก็ตามที่ขาดทุนเกินลิมิตที่กำหนดไว้ และผิดนัดชำระกับสถาบันการเงิน ต้องเข้าสู่กระบวนการ ชื่อ Administration หรือโดนควบคุมกิจการ
กล่าวคือ เอฟเอจะส่งบริษัทที่ชำนาญเรื่องการดูแลธุรกิจที่ใกล้ล้มละลาย มาควบคุมการเงินอย่างสมบูรณ์ และรีดเงินออกจากสโมสรให้หมดเพื่อชำระเจ้าหนี้ให้ได้
1
หากทีมไหนโดนบังคับเข้ากระบวนการนี้ จะมีบทลงโทษขั้นต่ำคือ ตัด 12 แต้มจากในลีก แต่ถ้าวิกฤติรุนแรงจนแก้ปัญหาไม่ได้ ก็ปรับเพิ่มมากกว่านั้น หรือไม่ก็ปรับตกชั้นไปเลย โทษฐานไม่รักษาวินัยทางการเงินให้ดี
จริงๆ มันเป็นเหมือนกฎที่มีไว้ขู่สโมสร ว่าถ้าไม่อยากให้ทีมพังพินาศ ก็อย่าใช้จ่ายเกินตัว แต่ถึงกระนั้นก็มีหลายๆ สโมสรที่กล้าจะเสี่ยงกับกฎนี้
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สโมสรที่ชอบท้าทายกับกฎนี้มากที่สุด คือทีมในระดับแชมเปี้ยนชิพ
ทุกคนคงทราบดี ว่าช่องว่างเรื่องรายได้ ระหว่างสโมสรในพรีเมียร์ลีก กับสโมสรในแชมเปี้ยนชิพ มันต่างกันแบบคนละโลก
2
ถ้าคุณอยู่ในพรีเมียร์ลีก คุณจะได้เงินค่าถ่ายทอดสด, เงินกินเปล่า, ค่าบำรุงสนาม รวมแล้วขั้นต่ำก็ 100 ล้านปอนด์ต่อปี แต่ทีมในระดับแชมเปี้ยนชิพ ได้เงินสูงสุดแค่ 10 ล้านปอนด์ต่อปี ห่างกันเต็มๆ 10 เท่าตัว
1
ดังนั้นเมื่อตัวเงินมันห่างกันซะขนาดนี้ ทีมจากแชมเปี้ยนชิพ จึงทำทุกทางเพื่อเลื่อนชั้นมาเล่นลีกสูงสุดให้ได้ ซึ่งกลยุทธ์ในการเลื่อนชั้นก็มีสองแบบ
แบบแรกคือประคองตัวไปเรื่อยๆ ค่อยๆ พัฒนาทีมไปช้าๆ และเมื่อไหร่ที่ทีมได้เพชรเม็ดงามมาร่วมทัพ ก็จะแกร่งพอจนเลื่อนชั้นได้สำเร็จ
ทีมที่ใช้วิธีนี้ ก็อย่างเช่นเบรนท์ฟอร์ด พวกเขาเล่นในแชมเปี้ยนชิพมาตั้งแต่ปี 2014 อันดับก็ทรงๆ อยู่กลางตาราง ไม่ได้เด่นอะไร แต่พอฤดูกาล 2020-21 ไปซื้อตัว อีวาน โทนีย์ กองหน้าพรสวรรค์จากปีเตอร์โบโร่เข้ามาอยู่ด้วย สุดท้ายโทนีย์ก็ยิง 33 ประตู คว้าดาวซัลโวของลีก จนช่วยทีมเลื่อนชั้นได้สำเร็จ
ส่วนแบบที่ 2 คือพวกที่อดทนรอไม่ได้ เพราะการอยู่ในแชมเปี้ยนชิพนานๆ มันอาจทำให้คุณภาพทีมลดลงไปเรื่อยๆ กลายเป็นขาประจำของลีกรองอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นก็จะมีบางสโมสร ที่เดิมพันไปเลย กู้หนี้ยืมสิน เปย์เงินหนักๆ เพื่อสร้าง Squad ที่แข็งแกร่งมากๆ แล้วเลื่อนชั้นให้เร็วที่สุด คือแม้จะติดหนี้ก็จริง แต่ถ้าเลื่อนชั้นปั๊บ ก็จะได้เงินจากพรีเมียร์ลีก อย่างน้อย 100 ล้านปอนด์ สามารถจ่ายหนี้ที่มีอยู่ได้อย่างสบายๆ
สโมสรที่ทำแบบนี้แล้วสำเร็จก็มี เช่นควีนสพาร์ก เรนเจอร์ส ในฤดูกาล 2013-14 พวกเขายอมจ่ายค่าเหนื่อยแพงๆ ให้นักเตะอย่าง นิโก้ ครานชาร์, ฌอน ไรท์-ฟิลลิปส์, ยอสซี่ เบนายูน ฯลฯ รวมแล้วใช้เงิน มากกว่ารายรับถึง 195% แต่สุดท้ายเลื่อนชั้นได้สำเร็จ ดังนั้นจึงได้เงินจากส่วนแบ่งของพรีเมียร์ลีก เอามาจ่ายหนี้สินได้ รอดตายกันไป
1
แต่ไม่ใช่ทุกทีม ที่จะทำแบบนี้ได้ หนึ่งในทีมที่ใช้กลยุทธ์นี้ แล้วกำลังเจอวิกฤติร้ายแรง คือ "แกะเขาเหล็ก" ดาร์บี้ เคาน์ตี้
ณ เวลานี้การเงินของพวกเขากำลังพังพินาศ และถูกคำสั่ง ให้เข้าสู่กระบวนการ Administration เมื่อวันพุธที่ผ่านมา
ดาร์บี้ เคาน์ตี้ อยู่ในแชมเปี้ยนชิพมาตั้งแต่ปี 2008 ทีมก็ทรงๆ ทรุดๆ ไม่ตกชั้นไปลีกวัน แต่ก็ไม่ดีพอจะเลื่อนไปเล่นพรีเมียร์ลีก
ในปี 2015 เมล มอร์ริส นักธุรกิจท้องถิ่นตัดสินใจเทกโอเวอร์สโมสร พร้อมนำไอเดียใหม่เข้ามา คือแทนที่จะอยู่แบบนี้ไปตลอด สู้อัดเงินรัวๆ ซื้อนักเตะใหม่ และจ่ายค่าเหนื่อยแพงๆ เพื่อให้ทีมเลื่อนชั้นให้ได้เร็วๆ ไม่ดีกว่าหรือ
มอร์ริสมั่นใจว่า ด้วยการอัดเงินลงไปเต็มที่ กล้าจ้างนักเตะในราคาที่สูงกว่าทีมอื่นๆ จากแชมเปี้ยนชิพ พวกเขาก็ควรมีศักยภาพดีพอที่จะเลื่อนชั้น
รายละเอียดเรื่องตัวเลขการขาดทุนนั้น กฎของ EFL (อิงลิชฟุตบอลลีก) ระบุว่า สโมสรในแชมเปี้ยนชิพ สามารถขาดทุนได้ 39 ล้านปอนด์ ในช่วง 3 ฤดูกาล แต่ด้วยนโยบายอัดเงินสร้างทีม ทำให้ดาร์บี้ไม่สามารถควบคุมตัวเลขการขาดทุนได้
6
ซีซั่น 2015-16 ดาร์บี้ ขาดทุน 14.7 ล้านปอนด์ (จบอันดับ 6 ได้เพลย์ออฟ แต่ไม่เลื่อนชั้น)
ซีซั่น 2016-17 ดาร์บี้ ขาดทุน 8 ล้านปอนด์ (จบอันดับ 9)
ซีซั่น 2017-18 ดาร์บี้ ขาดทุน 25.3 ล้านปอนด์ (จบอันดับ 6 ได้เพลย์ออฟ แต่ไม่เลื่อนชั้น)
2
จะเห็นได้ว่า 3 ฤดูกาลแรกของเมล มอร์ริส เขาพาทีมขาดทุนไปแล้ว 48 ล้านปอนด์ เกินลิมิต 39 ล้านปอนด์ ที่ EFL ตั้งเอาไว้เรียบร้อย
สิ่งที่เมล มอร์ริสทำ คือเปิดบริษัทใหม่ของตัวเองขึ้นมา ชื่อ เกลลอว์ นิวโก้ 202 ลิมิเต็ด และให้บริษัทนั้นซื้อสนามเหย้าไพรด์ พาร์ก ในราคา 81.1 ล้านปอนด์ ส่วนสโมสรดาร์บี้ ก็จะทำการเช่าสนามผ่านบริษัทต่ออีกทีหนึ่ง
หลังจากได้เงินมาจากการขายสนาม ก็เอามาจ่ายหนี้สิน แล้วก็ยังเหลือเงินอีกก้อนหนึ่ง ซึ่งคราวนี้เมล มอร์ริสก็มีทางเลือก ว่าดำเนินธุรกิจแบบเพลย์เซฟประหยัดเงินไว้ ค่อยๆประคองตัวกันไป หรือลุยต่อไปให้สุดเลยดีกว่า
2
มอร์ริสมองว่า ดาร์บี้ได้เข้าเพลย์ออฟ มา 2 ครั้ง ในรอบ 3 ปี มันใกล้มากๆ ที่จะได้เลื่อนชั้น ดังนั้นเขาจึงเลือก "ไปต่อ"
1
ในฤดูกาล 2018-19 มอร์ริสจัดหนักเต็มที่ ใช้เงินซื้อนักเตะแพงกว่าเดิม และจ่ายค่าเหนื่อยเยอะกว่าเดิม จนตัวเลขขาดทุนยับ 46.7 ล้านปอนด์ แต่มันก็สะท้อนว่าเขาตั้งใจมากจริงๆ ที่จะพาทีมเลื่อนชั้นให้ได้ในซีซั่นนี้
1
ดาร์บี้จ้างแฟรงค์ แลมพาร์ด เป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ ซื้อนักเตะใหม่รวม 12 คน ตามด้วยจ่ายเงินยืมตัวทั้ง เมสัน เมาท์ และฟิกาโย่ โทโมริจากเชลซี กับแฮร์รี่ วิลสัน จากลิเวอร์พูล
ด้วยคุณภาพของโค้ชและผู้เล่น ทีมมีผลงานใช้ได้ทีเดียว จบอันดับ 6 ในตารางคะแนนได้เข้าเพลย์ออฟอีกครั้ง ตามด้วยชนะลีดส์ ในรอบรองชนะเลิศ ไปเจอแอสตัน วิลล่าในนัดชิงชนะเลิศที่เวมบลีย์ อีกแค่ก้าวเดียว เมล มอร์ริสจะสบายแล้ว ไม่ต้องกลุ้มใจเรื่องการขาดทุนอีก
แต่ความฝันก็ต้องสลาย เมื่อรอบชิง ดาร์บี้แพ้แอสตัน วิลล่า พลาดการเลื่อนชั้นอย่างน่าเจ็บปวดอีกหน
2
ถ้าหากเลื่อนชั้นได้ ทุกอย่างจะจบ ดาร์บี้จะลอยตัว แต่เมื่อทำไม่ได้ คราวนี้ก็ต้องเจอมรสุมทางการเงินต่อไป
1
ด้วยความที่ยังเหลือเงินจากการขายสนาม เมล มอร์ริสจึงไม่ยอมแพ้ ตั้งใจจะพาทีมเลื่อนชั้นให้ได้ในซีซั่น 2019-20 แม้จะเสียแฟรงค์ แลมพาร์ด ให้กับเชลซี แต่ก็ได้ตัวฟิลิป โคคู มาเป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ พร้อมทั้งจ่ายเงินคว้าตัว คริสเตียน บีลีค จากอาร์เซน่อลในราคา 10 ล้านปอนด์ และดึงเวย์น รูนี่ย์ มาจากดีซี ยูไนเต็ด
แม้จะพอทราบกันว่าในดีลของรูนี่ย์ บริษัทพนัน 32RED จะช่วยออกค่าใช้จ่ายบางส่วน (นี่คือเหตุผลที่รูนี่ย์ใส่เบอร์ 32 ตอนย้ายมาดาร์บี้) แต่ในระยะยาว ค่าเหนื่อยของรูนี่ย์ ดาร์บี้ก็ต้องควักเองนั่นล่ะ
ในคราวนี้ ผู้จัดการทีมคนใหม่ ฟิลิป โคคู ก็เหมือนจะทำได้ดี หลังจบเกมที่ 37 ดาร์บี้อยู่อันดับ 7 ห่างจากโซนเพลย์ออฟนิดเดียวเท่านั้น แต่ทว่าใน 5 เกมสุดท้าย อยู่ๆ ก็ฟอร์มช็อตไปดื้อๆ แพ้ติดกัน 4 เกมรวด แม้จะมาชนะได้ในนัดที่ 42 เกมสุดท้ายของฤดูกาล ก็ไม่ทันแล้ว ดาร์บี้จบแค่อันดับ 10 พลาดการเลื่อนชั้นอีกครั้ง
1
คราวนี้ ดาร์บี้อยู่ในสภาวะวิกฤติ เงินสดก็ร่อยหรอมาก แถมต้องจ่ายค่าเช่าสนามในทุกสัปดาห์ (เพราะในทางทฤษฎีสนามถูกขายให้บริษัทอื่นไปแล้ว) ยิ่งไปกว่านั้นค่าเหนื่อยนักเตะก็แพงมาก และมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นตลอดเวลา
ตัวอย่างเช่น ในเดือนกันยายน 2019 เมื่อกัปตันทีมริชาร์ด คีโอห์ เมาแล้วขับไปชนข้างทางจนได้รับบาดเจ็บหนัก ไม่สามารถลงเล่นได้ 1 ปี สโมสรขอให้คีโอห์ลดค่าเหนื่อยลงเพื่อแสดงสปิริต แต่คีโอห์ไม่ยอมลด ดาร์บี้โมโหจึงไล่คีโอห์ออกจากทีม โทษฐานทำผิดวินัย แต่ไปมาๆ คีโอห์ไปฟ้อง EFL ว่าสโมสรจะไล่เขาออกแบบนี้ไม่ได้ สุดท้ายคีโอห์ชนะ ได้เงินชดเชย 2.3 ล้านปอนด์
3
เข้าสู่ฤดูกาล 2020-21 ดาร์บี้เริ่มติดขัดเรื่องการเงิน สโมสรเริ่มจ่ายเงินเดือนนักเตะไม่ตรงเวลาจนมีการบ่นอุบกันใหญ่ โฆษณาก็หดหาย ยิ่งวิกฤติโควิด-19 ยังคงรุนแรง ทำให้แฟนบอลเข้ามาดูในสนามไม่ได้ รายได้ยิ่งไม่เหลือเลย
4
เมล มอร์ริส เองก็จนปัญญาแล้ว เขาพยายามหาเศรษฐีมาเทกโอเวอร์ เพื่อจ่ายหนี้สินให้ทีมได้ไปต่อ มอร์ริสเคยไปคุยกับไมเคิล เดลล์ ผู้ก่อตั้งบริษัทคอมพิวเตอร์ DELL รวมถึงกลุ่มทุนจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่กับสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ บวกทิศทางของทีมที่มีแต่ขาลง จึงไม่มีใครกล้าเสี่ยง สุดท้ายการเทกโอเวอร์จึงไม่เกิดขึ้น
2
ในฤดูกาล 2020-21 ดาร์บี้ไล่ฟิลิป โคคู ที่ผลงานแย่ออก แล้วแต่งตั้งเวย์น รูนีย์ เป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ ซึ่งเขาพาทีมรอดตายหวุดหวิดในเกมสุดท้ายของฤดูกาล ด้วยอันดับ 21 มีแต้มเฉือนอันดับ 22 วีคอมบ์ ที่ตกชั้นเพียงแค่ 1 แต้มเท่านั้น
จริงๆ หลายสโมสร พยายามร้องเรียน EFL ว่าดาร์บี้ใช้วิธีขายสนามไพรด์พาร์ก ให้บริษัทของประธานสโมสรตัวเอง มันดูเป็นวิธีหาเงินที่พิลึกไปหน่อยหรือเปล่า จริงๆ เคสนี้ควรให้ดาร์บี้ตกชั้นไปเลยมากกว่า
แต่สุดท้าย EFL อนุญาตให้การขายสนามสามารถทำได้ ทำให้ดาร์บี้ยังอยู่รอดในแชมเปี้ยนชิพอย่างหวุดหวิด
เรื่องการขายสนาม โดยโยกไปอีกบริษัท มันก็เป็นกลยุทธ์ที่ไม่เลวในการหาเงินระยะสั้น แต่มันใช้ได้ทีเดียวเท่านั้น ตอนนี้เมล มอร์ริส ไม่มีหนทางหาเงินอีกแล้ว
เข้าสู่ช่วงซัมเมอร์ปี 2021 มีรายงานเปิดเผยว่า ดาร์บี้มีหนี้สินสะสมที่ยังไม่จ่ายเจ้าหนี้หลายสิบล้านปอนด์ รวมถึงค้างชำระภาษีอีกต่างหาก แถมยัง EFL ตรวจสอบย้อนหลังว่าอาจโกหกเรื่องเอกสารรายได้ในอดีต
นั่นทำให้ก่อนออกสตาร์ตฤดูกาล 2021-22 ดาร์บี้ โดนลงโทษ Transfer Embargo หรือแบนการซื้อขาย
อธิบายโดยง่ายคือดาร์บี้ โดนล็อกเอาไว้ในเงื่อนไขดังนี้
- ห้ามซื้อนักเตะมาครองแบบถาวร (ก็คุณไม่มีเงิน เลิกคิดซื้อผู้เล่นใหม่ได้เลย)
- การยืมตัวนักเตะทำได้ แต่ห้ามเสียเงินในการยืมแม้แต่ปอนด์เดียว
1
- การยืมตัวนักเตะ จ่ายค่าเหนื่อยได้ แต่ห้ามจ่ายแพงกว่าที่นักเตะได้รับจากสโมสรสังกัดแม่
 
- การยืมตัวสามารถทำได้แค่ระยะสั้นไม่เกิน 6 เดือน
กฎทุกอย่างเป็นการป้องกันไม่ให้ดาร์บี้ใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือย คือถ้าได้เงินมา เอาไปจ่ายหนี้สิ อย่ามาใช้เรื่องการซื้อผู้เล่น
เมื่อทีมส่อแววจะแย่แล้ว นักเตะบางคนก็ชิ่งหนี ย้ายทีมออกไป ดาร์บี้จึงต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการเซ็นฟรีนักเตะหลายคนมาทดแทน เช่น ฟิล จากีลก้า (38 ปี), ริชาร์ด สเตียร์แมน (35 ปี) และ แซม บัลด็อก (32 ปี) รวมถึงผู้เล่นที่ร้างสนามมานาน อย่างราเวล มอร์ริสัน คือรวมๆแล้ว หาตัวผู้เล่นให้ครบพอลงแข่งให้ได้ก่อน
1
เรื่องในสนามก็สู้กันไป แต่นอกสนาม เมล มอร์ริส จำเป็นต้องหาคนมาเทกโอเวอร์ให้ได้ก่อนฤดูกาลใหม่จะเริ่มขึ้น เพราะในช่วง 3 ซีซั่น (2018-19, 2019-20, 2020-21) ทีมขาดทุนทะลุ 39 ล้านปอนด์ มาไกลมากแล้ว แต่ทางมอร์ริสพยายามอธิบายว่า ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มันเป็นวิกฤติโควิด EFL จะไม่เห็นใจกันบ้างเลยหรือ
2
แต่คำตอบจาก EFL ก็เหมือนเดิม ถ้าหาเงินจ่ายหนี้สินไม่ได้ ก็ต้องเข้ากระบวนการ Administration อย่างเดียว
นาทีนี้ สโมสรอื่นก็รุมด่าดาร์บี้กันรัวๆ ว่า ทุกทีมเขาก็มีปัญหาโควิดกันทั้งนั้นแหละ แต่ยังบริหารการเงินให้อยู่รอดปลอดภัยได้ ดังนั้นดาร์บี้จะหยิบไพ่โควิดมาใช้ในสถานการณ์นี้ไม่ได้หรอก
1
สุดท้ายเมื่อหาคนเทกโอเวอร์ไม่ได้ ดาร์บี้ก็จนแต้ม และโดนบังคับเข้าสู่กระบวนการ Administration ในที่สุด พร้อมโดนตัดทันที 12 แต้ม และถ้าหากโดนจับได้ว่าให้ข้อมูลเท็จเรื่องเอกสารการเงินในช่วงปี 2016-18 จะโดนตัดเพิ่มอีก 12 แต้ม รวมแล้วอาจโดนตัด 24 แต้มในคราวเดียว ซึ่งเอาจริงๆ ถ้าโดนขนาดนั้น โอกาสอยู่รอดแทบจะทำได้ยากมากๆ
ไม่ใช่แค่ตัดแต้ม แต่ดาร์บี้ต้องเข้าสู่กระบวนการรีดทรัพย์เต็มรูปแบบ โดยหน่วยงานที่จะมาทำเรื่องนี้ คือบริษัทเอกชนชื่อควอนทูม่า ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องสโมสรที่ล้มละลาย เมื่อก่อนพวกเขาเคยจัดการกับเอ็มเค ดอนส์ และ พอร์ทสมัธมาแล้ว จึงเชื่อว่าคงหาทางรีดเงินออกจากสโมสรมากที่สุดเท่าที่ทำได้
1
สำหรับกลุ่มนักเตะ รวมถึงผู้จัดการทีมเวย์น รูนีย์ ก็พูดอะไรไม่ออก พวกเขาลงเล่นในฤดูกาล 2021-22 มาแล้ว 8 นัด ทำได้ 10 แต้ม (ชนะ 2 เสมอ 4 แพ้ 2) ตามจริงต้องอยู่อันดับ 12 ของตารางคะแนน แต่เมื่อ EFL สั่งตัดเปรี้ยงเดียว 12 แต้ม เท่ากับว่าดาร์บี้เด้งมาอยู่บ๊วยของตารางทันที แต้มปัจจุบันคือ ติดลบ 2
ในทวิตเตอร์ ทีมอื่นๆ แซวดาร์บี้ว่า ไม่ใช่แค่บัญชีธนาคารที่ติดลบ แต่แต้มในตารางคะแนนยังติดลบไปพร้อมๆกันอีก สะท้อนให้เห็นการจัดการที่ย่ำแย่มาก
1
ณ เวลานี้ ทั้งนักเตะ และแฟนบอล เต็มไปด้วยความหดหู่ กล่าวคือคุณจะรอดตกชั้นได้อย่างไร หากโดนตัดไปก่อน 12 แต้ม และเผลอๆ อาจเป็น 24 แต้มด้วยซ้ำ
1
การโดนตัดแต้มขนาดนี้ มันก็มองได้สองมุม มุมแรกคือนักเตะต้องสู้กันลืมตาย ต้องเล่นให้ดีที่สุดในชีวิต เพื่อทำแต้มเยอะเป็นพิเศษเพื่อการอยู่รอด นั่นคือถ้าคุณมองโลกในแง่ดี
3
แต่ถ้ามองโลกในแง่ร้าย เจอจัดแต้มแบบนี้ ผู้เล่นบางคนอาจจะหมดกำลังใจเล่นไปเลย แล้วเริ่มมองหาทางย้ายทีม ซึ่งก็จะนำมาสู่การร่วงตกชั้นในที่สุด
ณ เวลานี้คนที่ได้รับคำชมมากที่สุดคือเวย์น รูนีย์ เพราะแม้จะเจอปัญหารุมเร้าขนาดนี้ เขายังอยู่คุมทีมต่อไป ไม่สละเรือกลางทาง เช่นเดียวกับนักเตะในทีม ที่ตั้งใจเล่นเต็มที่ ในเกมล่าสุดสามารถเอาชนะสโต๊คได้ 2-1 ทั้งๆที่สภาพจิตใจแต่ละคนก็ย่ำแย่ คือเอาจริงๆ เล่นแบบต้องต่อให้คู่แข่งในลีกตั้ง 12 แต้ม ใครจะไปมีกำลังใจสู้
3
ส่วนเมล มอร์ริส อยู่ๆ ก็หายไปจากเรดาร์ โดยรูนี่ย์เล่าว่า เขาพยายามโทรหาเจ้าของสโมสร กลับไม่ยอมรับสาย แต่พอไปยืมโทรศัพท์ของแพทย์สโมสรโทรหา เจ้าของทีมกลับรับสาย คือรูนี่ย์ก็ไม่เข้าใจว่า พยายามจะหลีกหนีอะไร ทำไมไม่กล้าเผชิญหน้ากัน
2
รูนี่ย์เล่าว่า "ผมไม่ได้คุยกับเมล ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม ผมรู้สึกว่า เขาไม่ให้เกียรติกันเลย ผมไม่ได้จะบอกให้เขาต้องขอโทษ แต่ผมในฐานะผู้จัดการทีม ต้องเจอคำถามจากนักเตะ และสตาฟฟ์ตลอดเวลา เรื่องความมมั่นคงของสโมสร แต่ผมกลับไม่สามารถให้คำตอบพวกเขาได้ มันน่าเสียใจตรงนี้"
1
"เขาบอกว่าจะคุยกับนักเตะและสตาฟฟ์ แต่สิ่งที่เขาพูด ก็เหมือนตอนไปให้สัมภาษณ์ที่วิทยุ สำหรับผมมันไม่ใช่ความจริงใจ ผมไม่รู้สึกว่าเขาซื่อสัตย์กับพวกเรา บทสนทนาตัวต่อตัวก็ไม่มี ผมพยายามโทรหาเขาแต่เขาก็ไม่รับสาย เรื่องทั้งหมดนี้ มันน่าผิดหวังมากจริงๆ"
1
สำหรับสถานการณ์ล่าสุดของดาร์บี้ ทีมงาน Administration จะทำทุกทางเพื่อเอาเงินคืนเจ้าหนี้ให้ได้ นั่นแปลว่าอะไรที่ขายได้ จะโดนขายทั้งหมด นักเตะค่าเหนื่อยแพงๆ จะโดนปล่อยทิ้งหมด เช่นเดียวกับสตาฟฟ์จำนวนมาก เพื่อลดค่าใช้จ่ายทุกอย่าง
เมื่อวันที่รีดเงินจากสโมสรได้สำเร็จ ตอนนั้นดาร์บี้คงไม่เหลืออะไรเลย ในทีมคงเต็มไปด้วยผู้เล่นอะคาเดมี่อย่างเดียว ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น คงต้องใช้เวลานานมาก กว่าจะกลับมาประสบความสำเร็จ
การ Administration เป็นบทลงโทษที่โหดมาก เพื่อสั่งสอนสโมสรที่ไม่มีวินัยทางการเงิน หลายทีมที่เข้าสู่กระบวนการนี้ต้องพินาศไปเลย เช่น เชสเตอร์ ซิตี้ กับ รัชเดน แอนด์ ไดม่อนส์ ถึงขนาดต้องยุบทีมทิ้ง ส่วนโบลตัน พอร์ทสมัธ และวีแกน ที่เคยยืนหยัดในพรีเมียร์ลีกได้หลายซีซั่น ตอนนี้กลายเป็นขาประจำของลีกวันไปแล้ว ซึ่งก็ต้องดูกันว่า ปลายทางของดาร์บี้ จะไปถึงจุดนั้นบ้างหรือเปล่า
ร็อบ คูฮิก เจ้าของสโมสรวีคอมบ์ แชร์มุมมองว่า "ดาร์บี้จะโดนตัดแต้มอย่างมหาศาลในซีซั่นนี้ และในปีหน้าถ้าพวกเขายังหาเงินมาจ่ายไม่ได้อีก ก็ต้องโดนตัดแต้มอีก ทางเดียวที่จะรอดได้คือมีใครสักคนมาซื้อสโมสร แต่ลองคิดดูนะ ถ้าพวกเขาโดนตัดแต้ม 2 ซีซั่น แล้วร่วงไปเรื่อยๆ จนถึงลีกทู ถามว่าจะมีนักธุรกิจคนไหน อยากจะมาชำระหนี้สินให้ทีมจากลีกทู ผมว่าน้อยคนมากนะ ที่จะทำแบบนั้น"
2
เอาล่ะ แล้วตอนนี้ ดาร์บี้ เคาน์ตี้ต้องทำอย่างไร?
แน่นอนว่าฝั่งนักเตะก็ต้องสู้อย่างเต็มที่ก่อน เพื่อลุ้นปาฏิหาริย์อยู่รอดให้ได้
ซีซั่นที่แล้ว ทีมสุดท้ายที่อยู่รอดในลีก ทำได้ 44 แต้ม แปลว่าซีซั่นนี้ ดาร์บี้ต้องทำ 56 แต้มถึงจะพอลุ้นที่จะอยู่รอดได้ (56-12 = 44)
หรือถ้าโดนตัดเพิ่มเป็น 24 แต้ม ก็ต้องทำให้ได้ 68 แต้ม ถึงจะเพียงพอในการอยู่รอด (68-24 = 44)
1
68 แต้ม ก็ราวๆ อันดับ 9 ในตาราง ส่วน 56 แต้ม ก็อันดับ 16 ในตาราง เอาจริงๆ ก็ไม่ถึงกับยากเกินไป ยังมีลุ้นอยู่ เพียงแต่ต้องรวมกำลังใจในทุกนัดจริงๆ ให้มีฮึดเอาชนะคู่แข่งให้ได้
1
ส่วนฝั่งเมล มอร์ริส ก็จำเป็นต้องหาผู้มาเทกโอเวอร์ให้เร็วที่สุด เพื่อปลดหนี้ปลดสิน แล้วให้ทีมเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่ แต่ก็อย่างว่า ใครจะยอมมาซื้อทีมที่วิกฤติขนาดนี้
1
สุดท้ายนี้ ก็ถือว่าดาร์บี้โชคไม่ดี ถ้าหากในเพลย์ออฟ 3 ครั้ง พวกเขาทำได้สักครั้ง เลื่อนไปพรีเมียร์ลีกได้ ป่านนี้อาจจะกลายเป็นทีมอย่างเลสเตอร์ไปแล้ว ใครจะไปรู้
หรือต่อให้ไม่เลื่อนชั้น แต่ถ้าไม่มีโควิด-19 สโมสรก็อาจยังมีรายได้มากพอ ที่จะประคองตัวโดยไม่ขาดทุนเละเทะ จะดีจะร้าย ก็คงจะตื๊อๆ อยู่ในแชมเปี้ยนชิพได้ต่อไปเรื่อยๆ
แต่ก็อย่างที่เขาพูดกัน ทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ควรศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุนทุกครั้ง
เพราะหากตัดสินใจชอยส์ผิด เงินหายไปจากมือแล้ว มันมีแต่ต้องดิ้นรนแก้ปัญหาอย่างเดียว เพราะไม่สามารถย้อนเวลากลับไปเปลี่ยนอดีตได้อีกแล้ว
1
#NOMONEYNOHUNNY
โฆษณา