24 ก.ย. 2021 เวลา 16:33 • หุ้น & เศรษฐกิจ
จับตารถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) จะไปต่อหรือรอที่เดิม
หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับฟ้อง กรณีเอกชนฟ้องการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ล้มการประมูลโรงการรถไฟฟ้าสีส้ม ทำให้เดือนตุลาคม 2564 นี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จะเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มสายตะวันตก วงเงินลงทุนสายตะวันตก 122,041 ล้านบาทใหม่อีกครั้ง โดยประกาศขายเอกสารการประกวดราคาให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน จากนั้นในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2564 หรือ 60 วัน จะให้บริษัทเอกชนที่สนใจนำเสนอข้อเสนอ และจะสามารถหาประกาศผู้ได้รับการคัดเลือกราวไตรมาสที่ 1 ปี พ.ศ.2565
หลายคนคงจำ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – แยกร่มเกล้า) มูลค่าการลงทุนตลอดทั้งสาย 235,320 ล้านบาท (สายตะวันออก 113,279 ล้านบาท และสายตะวันตก 122,041 ล้านบาท) ระยะทางรวมทั้งสิ้น 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็น
1
ส่วนตะวันออก มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 22.5 กิโลเมตร (ใต้ดิน 13.6 กิโลเมตรและยกระดับ 8.9 กิโลเมตร) มีสถานีทั้งหมด 17 สถานี แบ่งเป็น ใต้ดิน 10 สถานีและยกระดับ 7 สถานี
ส่วนตะวันตกเป็นโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินตลอดทั้งสาย รวมระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี รวมสถานีทั้งเส้น จำนวน 28 สถานี แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 21 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี
รฟม. เปิดประมูลให้บริษัทเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร รวมทั้งจัดหารถไฟฟ้าและให้บริหารจัดการเดินรถตลอดเส้นทาง ช่วงบางขุนนนท์- แยกร่มเกล้า ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร ก่อนวันยื่นประมูล รฟม. มีการเปลี่ยนทีโออาร์การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มกลางอากาศ โดยมีการเปลี่ยนเกณฑ์ใหม่
2
ทำให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BTS ยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครอง โดยตั้งข้อสังเกตว่า การประมูลไม่ยุติธรรม เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางราย ขณะที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา ในที่สุด รฟม.ได้ล้มการประมูล ทำให้ บีทีเอส ฟ้องต่อศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบอีกหนึ่งคดี
รถไฟฟ้าสายสีส้ม เดิมทีมีกำหนดช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2567 และจะเปิดให้บริการตลอดเส้นทาง ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในเดือนกันยายน 2569 แต่ขณะนี้เร็วสุดที่จะสามารถเปิดให้บริการตลอดทั้งสายได้ เร็วสุดช่วงไตรมาส 3 ปี พ.ศ.2570
หลายคนให้ความเห็น ว่า โครงการนี้ยิ่งช้ายิ่งเสียโอกาส ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ประเมินว่า ประเทศจะเสียหายสูงถึง 42,903 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็น ค่าเสียโอกาสเก็บค่าโดยสารจากรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก 1,764 ล้านบาทต่อปี ค่าสูญเสียทางเศรษฐกิจ 40,644 ล้านบาทต่อปี และค่าดูแลรักษา (Care of Works) โครงสร้างงานโยธาส่วนตะวันออก 495 ล้านบาทต่อปี
ถ้าการประมูลไม่เกิดขึ้นประเทศชาติก็เสียหายเพิ่มากขึ้น ซึ่งรฟม.ควรต้องเป็นคนรับผิดชอบความเสียหายดังกล่าว ที่สำคัญการนำเงื่อนไขการประมูลแบบเทคนิคและราคา ผสมกันมาใช้ จะทำให้เกิดปัญหาเช่นเดิม
1
การเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งใหม่นี้ คงต้องรอลุ้นว่า รฟม. ยังคงยืนยันที่จะนำเงื่อนไขเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกแบบ ข้อเสนอด้านเทคนิคและราคาประกอบกัน (ในสัดส่วน 30:70) ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นมาใช้อีกหรือไม่ เพราะรายงานผลสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สรุปว่าผู้ว่าการ รฟม.และกรรมการคัดเลือกรวม 7 คน ที่มีส่วนในการปรับเปลี่ยนเกณฑ์คัดเลือกมาใช้ในการประมูลเข้าข่ายกระทำผิด มาตรา157 และกฎหมายอื่น ๆ อีก ซึ่ง DSI ได้นำรายงานดังกล่าวส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
นอกจากนี้ ต้องลุ้นว่าจะมีเอกชนจำนวนกี่รายและใครบ้างที่จะเข้าร่วมซื้อซอง จะมีชื่อบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR) (ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) , บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) และบริษัท ชิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC)) เข้าร่วมซื้อซองหรือไม่
การที่ระบบโครงสร้างพื้นฐานขนส่งมวลชนในกรุงเทพมีความล่าช้า ทำให้ผู้เกี่ยวข้องสูญเสียโอกาส ไม่ใช่เพียงแต่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าชาวกรุงเทพเท่านั้น
ติดตามสตอรี่ดี ๆ จาก The Story Thailand ได้ตามช่องทางเหล่านี้
#TheStoryThailand #เดอะสตอรี่ไทยแลนด์ #สตอรี่ดีๆ
โฆษณา