27 ก.ย. 2021 เวลา 05:42 • ธุรกิจ
การเป็นผู้นำทางความคิดที่คุณก็ทำได้
ภาพถ่ายโดย Chevanon Photography จาก Pexels
เมื่อพูดถึง “ผู้นำทางความคิด” (thought leader) คุณนึกถึงใคร
คุณอาจนึกถึง สตีฟ จอบส์ , อีลอน มัสก์ , แจ็ค หม่า , เนลสัน แมนเดลา หรือคนดังในวงการต่าง ๆ แต่ทราบไหมว่า คุณก็เป็นผู้นำทางความคิดได้เช่นกันครับ
ผมเรียนคอร์สออนไลน์ชื่อ “How to become a thought leader and advance your career” ของ Linkedin Learning ซึ่งสอนวิธีพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้นำทางความคิด มีเนื้อหาน่าสนใจมาก
จึงเขียนสรุปมาให้อ่านกันครับ
คุณ Jenny Foss ผู้สอนคอร์สนี้ (Credit : Linkedin Learning)
ลักษณะของผู้นำทางความคิด
1. เป็นบุคคลที่คนอื่นนึกถึงในวงการหรือศาสตร์ต่าง ๆ (go-to people) เช่น มีความชอบ ความเชี่ยวชาญ หรือความน่าเชื่อถือในเรื่องนั้น
2. เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ ทำให้คนอื่นอยากติดตาม อยากเรียนรู้ หรืออยากทำงานด้วย
3. เป็นตัวจริงและเป็นของแท้ เช่น มีสไตล์ชัดเจน มีแนวคิดหรือความเห็นที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เป็นที่รู้จัก
ทุกคนเป็นผู้นำทางความคิดได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้บริหารหรือผู้จัดการระดับสูง
ประโยชน์ที่ได้จากการเป็นผู้นำทางความคิด
- ได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้น
- ได้รับเชิญไปร่วมงานที่ได้ค่าตอบแทน
- เป็นที่ปรึกษา
- ได้รับเชิญไปพูดหรือบรรยาย
- ได้รับตำแหน่งสำคัญ
การหาเวลาเล็กน้อยในการสร้างตัวเองให้เป็นผู้นำทางความคิดอย่างสม่ำเสมอ จะให้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า
เช่น คุณ Jenny Foss ผู้สอนคอร์สนี้หาเวลาพัฒนาตัวเองเป็นผู้นำทางความคิด จนได้รับเชิญไปร่วมงานต่าง ๆ และได้รับเชิญมาทำคอร์สออนไลน์หลายคอร์สใน Linkedin Learning ซึ่งเปิดโอกาสมากขึ้นอีก
คำถามตัวเองเพื่อเป็นผู้นำทางความคิด
“ฉันอยากให้คนอื่นรู้จักฉันในด้านไหน” ลองคิดประโยคสั้น ๆ เช่น ฉันอยากให้คนอื่นรู้จักฉันว่า เก่งเรื่องการเปลี่ยนธุรกิจด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม
“ฉันต้องการเน้นเรื่องไหน” เช่น เน้นเรื่องความทัดเทียมกัน
“กลุ่มเป้าหมายของฉันคือใคร” เช่น ถ้าคุณทำงานด้านไอที คุณจะสนใจกลุ่มบริษัทด้านเทคโนโลยีเป็นพิเศษ
“ฉันอยากส่งข่าวสารด้านไหน” เพื่อทำให้คนอื่นทราบว่า คุณเก่งหรือสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ
“ฉันจะใช้วิธีใดเพื่อทำให้ความเป็นตัวฉันเองโดดเด่นเป็นที่รู้จัก” อย่าเลียนแบบผู้นำทางความคิดคนอื่น แสดงความเป็นตัวคุณเองให้โลกเห็น โลกมีที่ว่างเสมอสำหรับตัวจริงและของแท้
ภาพถ่ายโดย Streetwindy จาก Pexels
ทักษะของผู้นำทางความคิด
ผู้นำทางความคิดมีหลายช่องทางในการเผยแพร่ เช่น การเขียน การพูดในพอดแคสต์ การทำวิดีโอ การสอนหรือสัมมนา
ผู้นำทางความคิดไม่ต้องอยู่ทุกแห่ง ไม่ต้องใช้ทุกแพลตฟอร์ม ไม่ต้องถนัดทุกเรื่อง เช่น ถนัดเขียน แต่ไม่ถนัดพูดก็ได้
ถ้าคุณเก่งทุกเรื่อง เช่น เขียนเก่ง พูดคล่อง ทำวิดีโอได้ชิล ๆ ก็ทำทุกช่องทาง
แต่ถ้าคุณเพิ่งเริ่มต้น สิ่งสำคัญคือ การใช้แพลตฟอร์มเดียวในการติดต่อกับบุคคลที่เกี่ยวข้องเท่านั้นก็พอแล้ว
ดังนั้นผู้นำทางความคิดควรเลือกสิ่งที่ทำได้อย่างเป็นธรรมชาติและถนัดที่สุด 1 อย่างก่อนครับ
การเขียน
เริ่มต้นด้วยการระดมสมองหาไอเดียเรื่องที่คุณจะเขียน จากนั้นเริ่มเขียนที่ Linkedin , Instagram , Quora หรือบล็อกของตัวเองก็ได้
ถ้าเขียนในบล็อกตัวเอง แชร์เนื้อหาลงในโซเชียล มีเดียด้วย เพื่อให้งานแพร่หลายมากขึ้น
ไม่จำเป็นต้องเขียนทุกวัน เนื้อหายาวเท่าไรก็ได้ เช่น 1–2 ประโยค , คำถามชวนคิดหรือบทความยาว สิ่งสำคัญคือ เป็นเนื้อหาของคุณเอง
การทำวิดีโอ
เนื้อหาของวิดีโอ เช่น เล่าเนื้อหาที่น่าสนใจ , แนะนำผลิตภัณฑ์ , สัมภาษณ์คนอื่น , AMA (Ask Me Anything)
จากนั้น เลือกว่า จะถ่ายทอดสดหรือทำวิดีโอล่วงหน้า แล้วลงแพลตฟอร์ม เช่น Linkedin, Instagram, Youtube, Facebook
การบันทึกเสียง
เลือกว่า จะทำพอดแคสต์ที่ทำเป็นประจำ หรือทำนาน ๆ ครั้ง
การพูดหรือการบรรยายให้คนฟัง
กูเกิลว่า มีเว็บไซต์ งานประชุม virtual event ที่ไหนบ้างที่รับสมัครผู้พูด
เช่น ถ้าคุณเชี่ยวชาญด้าน cybersecurity ก็กูเกิลว่า มีงานประชุมด้าน cybersecurity ที่ไหนบ้างที่กำลังรับสมัครคนพูด
คุณอาจจัดงานพูดของคุณเองก็ได้ เช่น จัด Zoom เพื่อเล่าเรื่องที่คุณสนใจ แล้วเชิญคนอื่นมาฟัง หรือจองห้องเล็ก ๆ แล้วเชิญคนสนใจมาฟัง ไม่จำเป็นต้องจัดงานใหญ่โต
สิ่งสำคัญของการพูดคือ อย่าเลคเชอร์เพียงอย่างเดียว ควรใช้การเล่าเรื่อง (storytelling) ประกอบด้วย เพื่อทำให้เนื้อหาน่าสนใจและเป็นที่จดจำครับ
การช่วยเหลือคนอื่น
คุณอาจเป็นพี่เลี้ยงพนักงานใหม่ , ตอบคำถามคนอื่น , เป็นอาสาสมัครในงานประชุม , ช่วยเหลือคนอื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน
Content curator
แต่ถ้าคุณไม่ถนัดเรื่องเหล่านี้ ไม่ชอบออกสื่อ ก็ใช้บทบาทของ Curator ซึ่งใช้ทักษะการเขียนน้อยมาก และแทบไม่ต้องพูดต่อหน้าคนอื่น
Curator คือผู้ค้นหา คัดเลือก รวบรวม และแชร์เนื้อหาน่าสนใจ เช่น บทความ วิดีโอ ข่าว ประกาศน่าสนใจ แนวโน้มที่น่าสนใจ ในวงการตัวเองให้ผู้ติดตามรับทราบ
ดังนั้น curator จึงไม่ได้สร้างเนื้อหาของตัวเอง แต่แชร์เนื้อหาของคนอื่น
ข้อดีของการเป็น content curator มีดังนี้
- ทราบข่าวทันเหตุการณ์ตลอดเวลา เพราะต้องคัดเลือกเนื้อหาน่าสนใจมาแชร์ให้ผู้ติดตาม
- เป็นบุคคลที่ผู้อื่นนึกถึงในวงการหรือศาสตร์ด้านนั้น
Photo by isco on Unsplash
เส้นทางของการเป็นผู้นำทางความคิด
การเป็นผู้นำทางความคิดไม่ต้องใช้เวลามากมาย เน้นที่ความสม่ำเสมอและความเกี่ยวข้อง
ถึงแม้ว่ามีเวลาเพียงสัปดาห์ละ 30 นาที ก็เป็นผู้นำทางความคิดได้ โดยใช้วิธีต่อไปนี้
1.ตั้ง google alerts ให้ส่งอีเมลเกี่ยวกับหัวข้อหรือเนื้อหาที่คุณสนใจ เช่น ส่งอีเมลให้คุณทุกวัน หรือส่งสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
2.จดบันทึกหัวข้อต่าง ๆ ที่จะแชร์ในอนาคตในแอป เช่น Evernote, Microsoft OneNote, Apple Notes หรือแอปที่คุณถนัด
3. ในแต่ละสัปดาห์ หาเวลาว่างเพื่อทำกิจกรรมผู้นำทางความคิด โดยไม่ต้องใช้เวลามากมาย 15 นาทีก็พอแล้ว เช่น แชร์บทความ , แชร์รูปจากเวิร์คชอปใน Zoom , เตรียมตัวทำวิดีโอใน Linkedin เป็นต้น
คุณไม่ต้องรู้เรื่องมากที่สุดหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญที่สุด แค่รู้เรื่องมากกว่าคนทั่วไป 20% ก็เป็นผู้นำทางความคิดได้
ถ้าคุณเป็นนักอ่านหรือผู้ชอบการเรียนรู้ เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ออกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือนเพื่อแนะนำเรื่องน่าสนใจ เช่น บทความ หนังสือ เว็บไซต์ แอป วิดีโอ คอร์สออนไลน์ เป็นต้น
สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่
โฆษณา