1 ต.ค. 2021 เวลา 02:00 • ธุรกิจ
10 เรื่องจริงที่คุณไม่รู้! ไผ่ทองไอสครีม
จากข่าวที่ลุงขายไอศกรีมถูกเทศกิจจับเพราะจอดรถขายกีดขวางการจราจร ก็มีแง่มุมของเหตุและผลด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย แต่สิ่งที่ www.ThaiFranchiseCenter.com สนใจคือเรื่องของ “ไอศกรีม” ด้วยรู้สึกว่านี่คือสินค้ายอดฮิตที่แม้จะดูว่าไม่น่าสนใจแต่ที่จริงแล้วคนขายไอศกรีมแบบรถเข็นในประเทศไทยมีอยู่เยอะมาก ซึ่งรายได้ของคนกลุ่มนี้ก็เพียงพอจะเลี้ยงครอบครัวได้ และในปัจจุบันแบรนด์ไอศกรีมยอดฮิตที่เราเห็นส่วนใหญ่จะเป็น “ไผ่ทองไอสกรีม” ที่บางคนยังไม่รู้จักที่มาที่ไปของแบรนด์นี้ดีพอ
 
1.จุดเริ่มต้นของแบรนด์ไผ่ทอง
ภาพจาก facebook.com/PaithongIcecream
แบรนด์ไผ่ทองมีมานานกว่า 70 ปีตั้งแต่ยุคของคุณกิมเซ้ง แซ่ซี เดินทางมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ เริ่มอาชีพในเมืองไทยด้วยการเป็นพนักงานขายไอศกรีม สิ่งที่ได้รับคือคำติเตียนจากลูกค้าที่ไม่พอใจในรสชาติ และเมื่อเขาเอาคำต่อว่าของลูกค้าไปบอกเจ้าของโรงงานกลับกลายเป็นถูกไล่ให้ไปปรับปรุงเอง จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้กิมเซ้ง เริ่มออกมาผลิตไอศกรีมในแบรนด์ของตัวเองนับแต่นั้น
 
2.จากแบรนด์หมีบินสู่ “ไผ่ทอง”
ภาพจาก facebook.com/PaithongIcecream
แบรนด์แรกที่คุณกิมเซ้งใช้คือ “หมีบิน” ปรากฏว่าขายดิบขายดี จนต้องสั่งซื้อเครื่องจักรที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นมาใช้ในการผลิต พร้อมปรับปรุงสูตรให้ถูกปากคนไทยมากขึ้น และต่อมาได้พบว่าว่าคำว่าหมีบินมีชื่อคล้ายกับนมตราหมี อาจทำให้ลูกค้าสับสนได้ จนกระทั่งเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา ถึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ไผ่ทองไอสครีม” โดยคำว่าไผ่ทองมาจากคำว่า กิมเต็ก แปลว่า คนที่มีคุณธรรมดั่งทอง และไผ่เป็นไม้มงคลของคนจีน และใช้ชื่อไผ่ทองทำตลาดไอศกรีมตั้งแต่นั้นมา
 
3.กรณีพิพาทของ “ไผ่ทอง”
ภาพจาก https://bit.ly/3ALOhes
ประมาณปี 2561 มีข่าวใหญ่เกี่ยวกับแบรนด์ “ไผ่ทอง” เพราะเกิดกรณีพิพาท “ตัวจริง” “ตัวปลอม” เกิดขึ้น ทำให้แบรนด์ไผ่ทองแยกออกเป็น 2 แบรนด์กลุ่มแรก คือ กลุ่ม “ไผ่ทองไอศกรีม”จุดเด่นของแบรนด์คือการใช้ “ส.” เป็นตัวสะกด และใช้ต้นไผ่เป็นตัวสะกดแทน “ไ” และกลุ่มที่สองคือ กลุ่ม “ไผ่ทองไอศครีม”จุดเด่นของแบรนด์คือการใช้ตัวสะกดด้วย “ศ.” และมีต้นไผ่เป็นส่วนประกอบ ซึ่งทั้ง 2 แบรนด์แม้จะมีทัศนคติไม่ตรงกันแต่ก็ดำเนินการขยายธุรกิจของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
4.เคล็ดลับความอร่อยของ “ไผ่ทองไอสกรีม”
ภาพจาก facebook.com/PaithongIcecream
เคล็ดลับ “ไผ่ทอง” ที่เป็นตำนานที่อยู่คู่คนไทยมาถึง 70 ปีนั้น ต่างมีเคล็ดไม่ลับ ที่ใครๆก็สามารถนำไปประยุกต์ได้ ก็คือ.. การรักษาคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า, การให้ความสำคัญกับคำพูดและความรู้สึกของลูกค้า, การทำธุรกิจแบบกองทัพมด ดังที่เราจะเห็น “ไผ่ทอง” อยู่ถ้วนทั่วแทบจะทุกพื้นที่ในประเทศไทย
 
5.ข้อดีของการขายแบบ “รถเร่”
ภาพจาก facebook.com/PaithongIcecream
กลยุทธ์การขายของไอสกรีมไผ่ทองจะเน้นการตลาดแบบกองทัพมดคือเน้นใช้รถเร่เป็นหลัก โดยมีข้อดีคือคนส่วนใหญ่ที่มีรายได้ไม่เยอะ เงินทุนไม่สูง สามารถมีอาชีพเป็นของตัวเองได้ เพราะการขายแบบรถเร่ถือเป็นวิธีขายแบบโบราณที่ไม่ต้องเช่าร้าน ไม่ต้องมีพื้นที่ อาศัยความขยัน และเคลื่อนที่เข้าหาลูกค้าได้ในทุกทำเล
 
6.ไอสกรีมไผ่ทองสร้างรายได้เฉลี่ยวันละ 500-800 บาท
ภาพจาก facebook.com/PaithongIcecream
ราคาของไอศกรีมก็มีหลายราคา มีทั้งถ้วยเล็ก ถ้วยใหญ่ ใส่ขนมปังหรือไม่ใส่ หรือจะใส่ถ้วยโคนก็ โดยมีไอศกรีมอยู่ 8 รส ได้แก่ กะทิ ช็อกโกแลต วานิลลา สตอร์เบอรี่ เผือก กาแฟ ส้ม ทุเรียน และแตงไทย เมื่อขายเสร็จเรียบร้อยในแต่ละวัน คนขายก็จะมานั่งคิดคำนวณรายได้ว่าขาดทุนหรือกำไรเท่าไหร่ ในแต่ละวันจะมีรายได้ตั้งแต่ 500-800 บาท ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับทำเลในการขายและความขยันตั้งใจของผู้ลงทุนเองด้วย
 
7.ต่อยอดการขายยุคโควิดเป็น “ไผ่ทองสเตชั่น”
ภาพจาก facebook.com/PaithongIcecreamStation/
สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดทำให้ไอสกรีมไผ่ทองเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ด้วยเหตุนี้จึงได้ต่อยอดปรับรูปแบบใหม่แตกไลน์มาเป็น บริการเดลิเวอรี ในชื่อ "ไผ่ทองสเตชั่น" จำหน่ายอยู่ที่กล่อง(Set)ละ 390 บาท มีอัตราค่าบริการจัดส่งขึ้นอยู่กับ ผู้ให้บริการฟู้ด เดลิเวอรี แต่ละราย ที่มีการบริหารจัดการ หรือ ทำโปรโมชันแตกต่างกันออกไป จากปกติไผ่ทองไอสครีม มีราคาขายผ่านรถเข็น อยู่ที่ 15, 20, 30 และ 50 บาทต่อถ้วย
 
8.ใช้ระบบเอเย่นต์ดูแลผู้ขาย
ภาพจาก facebook.com/PaithongIcecream
แนวทางการทำตลาดไผ่ทองไอสครีม ช่วงที่ผ่านมา จะใช้ "เอเยนต์"ตัวแทนขายเป็นผู้ดูแลในแต่ละพื้นที่ขาย คือ "หนึ่งเอเยนต์ดูแลหนึ่งเขต" โดย "เอเยนต์" แต่ละรายมีหน้าที่บริหารบริการยอดขายของตัวเองในแต่ละพื้นที่ และมีรูปแบบการจำหน่ายภายใต้แพลตฟอร์มต่างๆ เช่น หน่วยรถเข็น, รถพ่วงมอเตอร์ไซค์, สาวรถเข็น ฯลฯ ซึ่งเอเยนต์ แต่ละเจ้าจะมีกี่ยูิต ก็ได้ไม่จำกัด โดยเอเยนต์ มีรายได้จากยอดขายสินค้าที่รับมาจากโรงงาน ในรูปแบบ "ซื้อมาขายไป" ให้กับผู้ประกอบการรถเข็นที่มาซื้อสินค้าจากเอเยนต์นั้นๆอีกทอดหนึ่ง ซึ่ง "กำไร" ได้มาเท่าไหร่ก็จะเป็นของ พ่อค้า แม่ค้า รายย่อยหน่วยรถสินค้านั้นๆ
 
9.การตลาดแบบกองทัพมด
ภาพจาก facebook.com/PaithongIcecream
ไอสกรีมไผ่ทองใช้การตลาดแบบกองทัพมดผ่านรถเข็นและรถซาเล้งตระเวนขายตามแหล่งชุมชนต่างๆ โดยรถขายไผ่ทองติดสติกเกอร์สีเขียวเป็นสัญลักษณ์ว่าไผ่ทอง โดยราคาจำหน่ายไม่กำหนดราคาตายตัว ให้ผู้ขายที่เป็นรถเข็นสามารถตั้งราคาได้ตามความเหมาะสม ทำให้ราคาจำหน่ายไอสกรีมไผ่ทองแต่ละที่ราคาไม่เท่ากัน เช่นราคาขายในสีลมอาจจะแพงกว่าวงเวียนใหญ่เพราะอยู่ในตัวเมือง เป็นต้น
 
10.รายได้ของ “ไอสกรีมไผ่ทอง”
ภาพจาก facebook.com/PaithongIcecream
ในแง่ของการเติบโตถือว่าไอสกรีมไผ่ทองสามารถขยายสาขาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเกิดจากกลยุทธ์การตลาดที่เข้าถึงลูกค้าได้ทุกเพศทุกวัย ในส่วนของรายได้ถ้าดูข้อมูลจากช่วงที่ผ่านมาถือว่าไม่ธรรมดา ยกตัวอย่างในปี 2560 รายได้มากกว่า 75 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขรายได้นี้มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี แต่อาจจะมีสะดุดบ้างในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด แต่เชื่อว่าถ้าสถานการณ์คลี่คลายรายได้ของไผ่ทองไอสกรีมจะกลับมาเพิ่มสูงขึ้นได้อย่างแน่นอน
การลงทุนขายไอศกรีมแบบรถเร่ จุดเด่นคือใช้เงินลงทุนน้อย แต่ต้องขยันและมีความอดทนสูงมาก ในเรื่องของวิธีการลงทุนไม่ยุ่งยาก แค่มีบัตรประจำตัวประชาชนกับเงินทุนเริ่มต้นหลักพันบาทก็สามารถเริ่มต้นอาชีพได้ทันที หรือจะสมัครเป็นเอเย่นเพื่อรับตัวแทนจำหน่ายก็ถือว่าน่าสนใจจะช่วยให้เรามีรายได้จากการลงทุนได้มากขึ้นด้วย
 
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
 
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ www.thaifranchisecenter.com/document/
 
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
 
 
อ่านเพิ่มเติม https://bit.ly/3zLfdtO
โฆษณา