29 ก.ย. 2021 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์
คณะราษฎร ตอนที่ 6 : เรื่อง “เสรีไทย” ในแบบที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน!
ชื่อ เสรีไทย เป็นชื่อที่ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงวอชิงตันดีซี ได้สถาปนาขึ้น เป็นชื่อกลุ่มทางการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมฝ่ายอักษะของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และประกาศตัวต่อต้านการกระทำของรัฐบาล โดยประกาศทางวิทยุถึงประชาชนชาวไทยในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 1941 ว่า “ไม่ยอมรับการกระทำของรัฐบาลจอมพล ป.ในการยอมจำนนต่อญี่ปุ่นและตัดขาดจากรัฐบาลเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนผู้ไม่เห็นด้วยต่อการกระทำเหล่านั้น”
ส่วนในสหราชอาณาจักร รัฐบาลอังกฤษประกาศสงครามกับไทยในเดือนกุมภาพันธ์ปีต่อมา คือ ค.ศ. 1942 ผลก็คือคณะทูตไทยก็จำเป็นต้องเดินทางกลับไทยเหลือแต่เพียงนักเรียนไทยในอังกฤษกลุ่มหนึ่งประมาณหนึ่งร้อยคนและบรรดาเชื้อพระวงศ์ไทยที่หนีคณะราษฎรไปอยู่อังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระนางเจ้ารำไพพรรณี ก็ได้ประกาศไม่ยอมรับรัฐบาลจอมพล ป.และจัดตั้งกลุ่มต่อต้านเช่นกันเรียกว่า ‘เสรีไทยสายอังกฤษ’
1
ในห้วงแรก แม้จะรับทราบถึงการมีอยู่ของ ‘เสรีไทย’ ชาติสัมพันธมิตรก็ไม่ได้รับรองกลุ่มต่อต้านแบบเป็นทางการในทันที ซึ่งมันก็แน่อยู่แล้วใครจะไปยอมรับได้ มันอาจจะเป็นการเดินเกมแบบสองหน้าก็ได้ และที่สำคัญถ้านับหัวแล้ว กลุ่มเสรีไทยในต่างแดนน่าจะมีราว ๆ 200 คน ไม่มีใครมีกำลังทหาร และไม่ได้มีตำแหน่งที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้ มีแต่นักเรียน กลุ่มทูตที่ไม่ยอมรับรัฐบาล หรือเจ้านายที่ลี้ภัยออกจากประเทศ และถ้าช่วยเสรีไทยและสัมพันธมิตรชนะขึ้นมาจริง ๆ แล้วจะมีอะไรการันตีได้ว่าไทยจะยอมส่งคืนดินแดนต่างๆ ของอังกฤษและฝรั่งเศส ทั้งอินโดจีนหรือสหพันธรัฐไทยเดิมทางตอนเหนือ ดังนั้น ตอนแรกเรื่องของกลุ่มต่อต้านญี่ปุ่นในไทย เลยเป็นเรื่องที่ถูกเก็บเอาไว้เพื่อขอดูท่าทีก่อนสำหรับฝ่ายพันธมิตร
เหตุการณ์เริ่มแกว่งในปี ค.ศ. 1943 เมื่อเริ่มมีความชัดเจนว่าญี่ปุ่นกลับกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบและเริ่มเห็นทางว่าสัมพันธมิตรอาจเอาชนะญี่ปุ่นได้ในที่สุด กลุ่มผู้นำในคณะราษฎร พูดง่าย ๆ ก็คือ กลุ่มปรีดี พนมยงค์ เริ่มจะต้องมองหาทางลงกันอย่างจริงจังเพราะการมาอยู่ในฝ่ายแพ้สงครามย่อมจะต้องเป็นความรับผิดชอบของคณะราษฎรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะทำยังไงให้สามารถพูดได้ว่า การตัดสินใจเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะไม่ใช่ความต้องการร่วมกันของคณะราษฎร แต่เป็นการตัดสินใจแบบเผด็จการของจอมพล ป. ล้วน ๆ ก็วางแผนจะแกล้งเพื่อน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เพราะตอนนโยบายชาตินิยมของจอมพล ป. กำลังรุ่ง ตอนทำสงครามอินโดจีน ตอนฉลองอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ยังไปร่วมปาร์ตี้กันอยู่เลย
1
อย่างที่ได้เล่าให้ฟังไปใน ‘ตอนที่ 5’ แล้ว คือ ตามตรรกะและเหตุผลแล้วอุดมการณ์ทางการเมืองแบบคณะราษฎรยังไงก็ไม่สามารถจะเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรได้ เนื่องจากอุดมการณ์หลักของคณะราษฎรก็ คือ การต่อต้านจักรวรรดินิยมตะวันตกซึ่งก็คือสัมพันธมิตรนั่นแหละ เพราะอังกฤษและฝรั่งเศสก็คือประเทศเจ้าอาณานิคมและเป็นเจ้าอาณานิคมที่เข้ามารุกรานสยามโดยตรง คราวนี้ ปรีดีจะเอายังไงดีที่จะเข้าหาทีมสัมพันธมิตรที่ไม่ได้มีเหตุบาดหมางกันตรง ๆ ในทางที่จะขัดกับอุดมการณ์หลักของคณะราษฎร ไม่มีประวัติศาสตร์บาดแผลในทางการล่าอาณานิคม ? ก็ต้องจีนน่ะสิ
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
รัฐบาลจีนในตอนนั้นคือ ‘รัฐบาลจีนคณะชาติ’ ของ ‘จอมพลเจียงไคเช็ค’ ไม่ใช่ ‘รัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์’อย่างในปัจจุบัน ในตอนนั้น จีนรบกับญี่ปุ่นมาเป็นสิบปีแล้ว และได้ทำข้อตกลงหยุดยิงกับพรรคคอมมิวนิสต์ของ ‘เหมา เจ๋อ ตง’ เพื่อผนึกกำลังกันรบกับญี่ปุ่นซะก่อน
กลับมาที่ปรีดีกับรัฐบาลเจียงไคเช็ค เอาเป็นว่า ณ ตอนนั้น ฝ่ายต่อต้านญี่ปุ่นในไทย มีภาระกิจสำคัญคือการติดต่อกับรัฐบาลคณะชาติที่ถอยมาตั้งเมืองหลวงที่เมืองชงฉิ่ง (หรือจุงกิง) ให้ได้ เพื่อบอกกับฝ่ายสัมพันธมิตรว่าในประเทศไทยนั้นคนส่วนใหญ่เข้าข้างกับฝ่ายสัมพันธมิตร ที่ต้องเข้ากับฝ่ายอักษะก็เพราะถูกญี่ปุ่นบังคับนั่นเอง แน่นอนว่าการติดต่อกับรัฐบาลจีนคณะชาตินั้น เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้สำหรับไทยที่รัฐบาลอยู่ฝ่ายญี่ปุ่น ถ้าใครติดต่อกับจีนแล้วโดนจับได้ ก็ต้องโดนคดีกบฎแน่ ๆ และ เมืองชงฉิ่งนั้นตั้งอยู่ทางเหนือของยูนนานและเป็นป่าเขา เส้นทางที่ต้องฝ่าไปคือจากทางภาคเหนือของไทยเข้าสู่ลาว ผ่านยูนนาน และอีกเส้นทางคือผ่านทางภาคเหนือของประเทศอินโดจีนหรือทางเหนือของฮานอยนั่นเอง การจะออกจากประเทศไทยได้ต้องหลบทั้งตำรวจ ทั้งทหารไทยและทหารญี่ปุ่น
ตั้งแต่กลางปี ค.ศ. 1942 กลุ่มต่อต้านในไทยที่นำโดยปรีดี ก็อาศัยความสัมพันธ์ของเหล่าผู้แทนราษฎรสายอีสานและภาคเหนือลักลอบพานักการเมืองไทยข้ามไปจีน ถึง 5 คณะด้วยกัน ว่ากันว่าส่งออกไปคณะแรก หายสาบสูญ! คณะที่สอง ไปไม่ถึง จนคณะที่สาม นายจำกัด พลางกูรและไพศาล ตระกูลลี้ ได้พบกับประธานธิบดีเจียงไคเชคในที่สุด นี่คือสิ่งที่เค้าเรียกกันว่าเสรีไทยสายจีน เรื่องเล่าแต่เดิมก็คือ การไปเจรจากับเจียงไคเช็คของนายจำกัดทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของขบวนการเสรีไทยในประเทศและได้ทำการประสานงานร่วมกันในที่สุด
1
แต่หลักฐานใหม่ที่วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ พบและนำเสนอในหนังสือเรื่อง The Crown and The Capitalists คือ ห้วงเวลาที่ไม่บรรจบกัน กล่าวคือ คณะของจำกัด พลางกูร เดินทางไปถึงจีนในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1943 แล้วถูกจับขังไว้ เกือบสองเดือนก่อนที่ทางการจีนจะยืนยันได้ว่าจำกัดเป็นใคร เป็นคนของฝ่ายไหน แล้วจึงได้เข้าพบเจียงไคเช็คในที่สุด ซึ่งตอนเข้าพบก็ปาเข้าไปเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1943 แต่กลับมีหลักฐานว่ารัฐบาลจีนคณะชาติรับรองสถานะของกลุ่มเสรีไทยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943 ซึ่งก็คือ ก่อนที่จำกัด พลางกูร จะเดินทางออกจากกรุงเทพฯเสียอีก
หลักฐานที่ว่านี้ก็คือ บันทึกคำปราศรัยของประธานาธิบดีเจียงไคเช็คผ่านวิทยุกระจายเสียงว่ารัฐบาลจีนรับรู้ถึงการมีอยู่ของกลุ่มต่อต้านญี่ปุ่นและบอกว่าไทยไม่ได้ร่วมมือกับญี่ปุ่น แต่เป็นเหยื่อที่ถูกญี่ปุ่นบังคับนั่นเอง ซึ่งหลังจากการประกาศของเจียงไคเช็คเพียง 2 สัปดาห์ ประธานาธิบดี รูสเวลท์ แห่งสหรัฐอเมริกาก็รับรองกลุ่มเสรีไทย ของ เสนีย์ ปราโมช มาติด ๆ
ตกลงอะไรยังไง ? ถ้าเรื่องราวเป็นดังเช่นที่กล่าวไปข้างต้น ใครล่ะที่เป็นคนไปวิ่งเต้นให้เจียงไคเช็คประกาศรับรองเสรีไทย ? แล้วที่เจียงไคเช็คพูดว่า กลุ่มต่อต้านญี่ปุ่น เจียงไคเช็คหมายถึงใครกันแน่ ?
ต้องกลับมาที่ต้นตอของคำว่า ‘เสรีไทย’ เสียก่อน อย่างที่บอกเสรีไทยเป็นสิ่งที่ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ตั้งขึ้นในสหรัฐอเมริกา ติดต่อประสานงานแสดงเจตจำนงต่าง ๆ ผ่านรัฐบาลอเมริกัน รัฐบาลอเมริกันถือว่า เสนีย์ ปราโมช คือผู้แทนของเสรีไทย, เสนีย์ ปราโมช เป็นฝ่ายนิยมเจ้าอย่างไม่มีข้อสงสัย, เสนีย์ ปราโมช ไม่เอาคณะราษฎรอย่างไม่ต้องสงสัยเช่นเดียวกัน, เสนีย์ ปราโมช ไม่เคยพูดเลยว่าทำงานร่วมกับปรีดี หรือ ฝ่ายต่อต้านในไทย, เสนีย์ ปราโมช ไม่นับว่าปรีดี เป็นเสรีไทย รัฐบาลชาติสัมพันธมิตร ที่เสนีย์ติดต่อสื่อสารมาด้วยตั้งแต่ต้นจึงไม่นับว่าทางฝ่ายปรีดีเป็นเสรีไทย
ดังนั้นจีนรับรองเสรีไทยไปแล้ว เมื่อ จำกัด พลางกูร ไปถึงจีน บอกจีนว่ามาจากเสรีไทยในประเทศ คือ กลุ่มของปรีดี จีนก็ต้องสื่อสารกับฝั่งสหรัฐอเมริกา ให้ถามเสนีย์ว่าจำกัดกับปรีดีนี่คือพวกเดียวหรือเปล่า ? คำตอบจากเสนีย์ก็คือ จำกัด พลางกูร ไม่ใช่ เสนีย์ไม่รับรอง ทางการจีนจึงยอมรับจำกัดในฐานะตัวแทนจากปรีดีเท่านั้น ไม่ได้ยอมรับในฐานะกลุ่มเสรีไทย เพราะในสายตาของฝ่ายสัมพันธมิตร หัวหน้ากลุ่มต่อต้านก็คือ ‘เสนีย์ ปราโมช’
ถามว่าสิ่งที่จำกัด พลางกูรได้รับมอบหมายมาสื่อสารกับเจียงไคเช็คคืออะไร ก็ต้องบอกว่ามีหลายข้อครับ ได้แก่
1. นำสารจากปรีดี ถึง เสนีย์ ปราโมช ตัวแทนกลุ่มต่อต้านในอเมริกาให้สื่อสารกับรัฐบาลสหรัฐและอังกฤษ
2. ขอให้ฝ่ายสัมพันธมิตร สนับสนุนกิจกรรมของเสรีไทยในอนาคต
3. ขอให้พาตัวนักการเมืองฝ่ายต่อต้านไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น
4. ขอให้รัฐบาลอังกฤษเอาเงินของรัฐบาลไทยที่ถูกฟรีซบัญชีเอาไว้ มาใช้สนับสนุนเสรีไทย
ก็ฟังดูเหมือนเป็นการพยายามหักหลังขบวนการเสรีไทยของปรีดี โดยอาศัยความเป็นบุคคลสำคัญในรัฐบาลไทย เพราะเอาจริง ๆ การเป็นฝ่ายต่อต้านญี่ปุ่นมันไม่เหมือนการจดทะเบียนพรรคการเมืองหรือจดทะเบียนบริษัท ไม่ได้มีชื่อผู้ก่อตั้งหรือตำแหน่งนั่นนี่ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานใดอย่างเป็นทางการ
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
อย่างไรก็ตาม คณะของจำกัด พลางกูร ก็ไม่ได้บรรลุข้อตกลงใด ๆ ตาม 4 ข้อที่กล่าวไป จำกัด พลางกูร เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารขณะที่ยังอยู่ในเมืองจีน บางคนคิดว่าอาจจะเป็นการวางยาพิษ แต่ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ทางใดทางหนึ่ง
เมื่อยังไม่บรรลุเป้าหมาย ปรีดี พนมยงค์ จึงส่งคณะเจรจาคณะที่สี่ ไปยังสาธารณรัฐจีน คราวนี้ นำโดย สงวน ตุลารักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ ยังเป็นสมาชิกคนสำคัญของคณะราษฎรด้วย พร้อมกับ แดง คุณะดิลก จากกระทรวงต่างประเทศและเป็นพี่เขยของนายควง อภัยวงศ์ ซึ่งเป็นชุดที่การเจรจามีความคืบหน้ามาก เพราะสงวนเป็นคนไทยเชื้อสายจีน พูดจีนได้และมีสายสัมพันธ์กับคนจีนในไทย ซึ่งคนจีนในไทยก็ไม่ชอบและไม่ต้องการจอมพล ป. เพราะถูกปราบปรามมานาน โดยคณะเจรจาของสงวน ตุลารักษ์ ก็สามารถเจรจาผลประโยชน์ของจีนหลังสงครามได้มากกว่า ทางการจีนก็มีท่าทีที่ยอมรับมากกว่า ซึ่งก็พาเรากลับมาที่ความน่าฉงนของการประกาศออกวิทยุรับรองเสรีไทยของเจียงไคเช็คตั้งแต่ก่อนจำกัด พลางกูร จะไปถึงฉงชิ่งซะอีก
สรุปว่าเจียงไคเช็คทำอย่างนั้นทำไม ? มีคำตอบให้คุณตามข้อมูลดังต่อไปนี้
คุณรู้มั้ยครับว่าสยามหรือประเทศไทย เป็นที่ ๆ มีชาวจีนโพ้นทะเลอาศัยอยู่มากที่สุดในโลก และชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทยก็เป็นกำลังสำคัญทางการเงินให้กับฝ่ายก๊กมินตั๋งมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยกบฏซิ่นไห่ การรบกับญี่ปุ่นอย่างยาวนานทำให้รัฐบาลจีนคณะชาติบอบช้ำมาก เจียงไคเช็คก็เห็นอยู่แล้วว่าจบสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลจีนก็ยังต้องกลับไปรบกับพรรคคอมมิวนิสต์ของเหมา เจ๋อ ตง ต่ออีก คืออย่างที่ทุกคนทราบกันการทำสงครามมันแพงมาก ถ้าตังค์หมดนี่เรื่องใหญ่ เจียงไคเช็คเล็งเห็นว่า ถ้าไทยดันตกอยู่ในสถานะผู้แพ้สงครามเศรษฐกิจจะต้องตกอยู่ในมือไม่อังกฤษก็สหรัฐอเมริกาแน่นอน
รัฐบาลจอมพล ป. ซึ่งเป็นฝ่ายอักษะก็ดำเนินนโยบายชาตินิยมไม่สนับสนุนความจีนของคนจีนโพ้นทะเล มีการแบนโรงเรียนจีน แบนการแต่งตัวหรือวิถีชีวิตแบบจีนโพ้นทะเล และแน่นอน รัฐบาลยังมีนโยบายตัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลจีนคณะชาติกับคนจีนโพ้นทะเลในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง การสนับสนุนทางการเงินจากคนจีนโพ้นทะเลในไทยก็ร่อยหรอมากพออยู่แล้ว ถ้าจีนเปิดทางให้ไทยได้มีประตูออกจากการเป็นผู้แพ้สงคราม จีนจะได้เปรียบในการเข้ามาร่วมบริหารจัดการกับรัฐบาลไทยหลังสงคราม ยกเลิกกฎหมายที่บีบรัดคนจีนโพ้นทะเล และผ่อนคลายให้ท่อน้ำเลี้ยงเดินทางสะดวกได้เหมือนเดิม นี่คือเหตุที่เจียงไคเช็ครีบประกาศรับรองการมีอยู่ของเสรีไทยตั้งแต่ก่อนที่จะมีใครที่เคลมว่าเป็นเสรีไทยเดินทางไปถึงซะอีก
กลับมาที่ปรีดี อย่างที่บอกไปแล้วว่า เมื่อคณะเจรจาของสงวน ตุลารักษ์ สามารถเจรจากับจีนมีความคืบหน้าได้มากขึ้นก็ได้รับการยอมรับในระดับหนึ่งจาก ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ทำให้เกิดการยอมรับข้อเสนอเพียงเรื่องเดียว นั่นก็คือการตั้งค่ายทหารในดินแดนของสัมพันธมิตร กลุ่มเสรีไทยจากทั้งสหรัฐฯ และอังกฤษถูกส่งมาฝึกทหารที่อินเดียโดยค่ายทหารของอังกฤษ เรียกว่าค่ายช้างเผือก และค่ายทางตอนใต้ของจีนถูกฝึกโดยรัฐบาลจีนเรียกว่าค่ายช้างแดง ซึ่งแน่นอนว่า ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ก็เคลมผลงานไปเต็ม ๆ
นอกจากนั้น ก็ยังมีอีกหลายสัญญาณ ที่ชี้ให้เห็นว่าฝ่ายสัมพันธมิตรเชื่อว่าหัวหน้าเสรีไทยคือเสนีย์ ปราโมชมากกว่า ปรีดี พนมยงค์ กล่าวคือสหรัฐฯ และอังกฤษก็ไม่ได้ตอบรับความช่วยเหลือข้ออื่นๆ ทั้งเรื่องการเอาเงินของรัฐบาลไทยที่ถูกฟรีซบัญชีเอาไว้มาให้กับทางขบวนการ และไม่ได้ช่วยพานักการเมืองฝ่ายปรีดี ออกไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในต่างประเทศ ซึ่งก็น่าคิด ถ้าปรีดีออกไปเป็นนายกรัฐมนตรีพลัดถิ่นได้ สงครามจบ ‘ปรีดี พนมยงค์’ ก็คงได้รับการสนับสนุนให้เป็นรัฐบาลต่อทันที แล้ว ม.ร.ว. เสนีย์ จะไปยืนตรงไหน ? แล้วเรื่องอะไรที่ฝ่ายนิยมเจ้าจะยอมปล่อยโอกาสทองในการกำจัดคณะราษฎรให้พ้น ๆ ไปซะทั้งยวง ยิ่งฝ่ายอักษะอ่อนกำลังลงเท่าไหร่ การกระเสือกกระสนหาทางลง หาที่อยู่ที่ยืนและการมองไปถึงระเบียบโลกใหม่ก็ยิ่งทวีความสำคัญขึ้นทุกวัน
ทีมของสงวน ตุลารักษ์ เมื่อเจรจากับรัฐบาลจีนแล้ว ก็เดินทางไปสหรัฐอเมริกา เพื่อพบ ม.ร.ว. เสนีย์เสนีย์ ปราโมช และไปลอนดอนต่อเพื่อพบกับพระนางเจ้ารำไพพรรณีด้วย แล้วจึงย้อนกลับมาที่กองบัญชาการของอังกฤษในเมืองแคนดี ประเทศศรีลังกา เป็นการเดินทางที่กินเวลาหลายเดือนตั้งแต่ธันวาคม ค.ศ. 1943 ถึง มีนาคม ค.ศ. 1944 ในตอนนั้นทางเสรีไทยก็ทำการฝึกทหารให้เหล่าคนไทยในต่างแดน เพื่อคอยแทรกซึมและคอยให้ญี่ปุ่นล่าถอยในอนาคต ตัวอย่างก็เช่น นักเรียนไทยในอังกฤษ ‘ป๋วย อึงภากรณ์’ ได้กระโดดร่มเข้าไทย ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1944 เพื่อนำสารไปให้ปรีดี พนมยงค์ เป็นต้น
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้สถานะของจอมพล ป. ก็เดินทางเข้าสู่สภาวะวิกฤต ในสภาก็มีการโหวตคว่ำกฎหมายของรัฐบาล จนจอมพล ป. ต้องยอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนายควง อภัยวงศ์ เข้ามารับตำแหน่งแทนในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1944 อย่างที่เคยเล่าไปในตอนที่แล้ว นายควง อภัยวงศ์ นี่สุดท้ายแล้วก็ต้องเรียกว่าเป็นสายเจ้ามากกว่าสายคณะราษฎร น่าจะเป็นคนสำคัญที่ปรีดียอมผลักดันให้เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อเป็นคนคุยกับฝ่ายนิยมเจ้าซึ่งก็คือทั้ง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช และ ฝ่ายพระนางเจ้ารำไพพรรณี ซึ่งก็ชัดเจนเมื่อมีการก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์โดย ควง และ เสนีย์ ในเวลาต่อมา
1
ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1944 ทีมเจรจาของนักการเมืองฝั่งปรีดีก็เดินทางไปถึงสาธารณรัฐจีนอีกชุดหนึ่ง เป็นชุดที่ห้า โดยนายถวิล อุดล หนึ่งในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสายอีสานคนสำคัญที่สุด เป็นตัวแทนนำสารจากปรีดี ถึง ปธน. เจียงไคเชคโดยตรง โดยในสารนี้ปรีดี พูดแยกตัวเองออกจากรัฐบาลของจอมพล ป. อย่างชัดเจน บอกว่ารัฐบาลจอมพล ป. หันไปเข้าข้างฝ่ายญี่ปุ่นเอง และพยายามเคลมกับจีนว่าตนเป็นผู้นำกลุ่มเสรีไทย โดยเป็นผู้นำในนามของคนไทยและคนจีนโพ้นทะเล และยังคงขอให้จีนสนับสนุนการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นและขอให้สนับสนุนกำลังทหารด้วย เพื่อเห็นแก่ความสัมพันธ์ที่มีกันมาอย่างยาวนาน ความยาวนานที่ว่าก็คือบรรดาคนจีนโพ้นทะเลในประเทศไทยที่สนับสนุนรัฐบาลของฝ่ายเจียงไคเชคมาอย่างยาวนานนั่นเอง
1
การเจรจาของ ถวิล อุดล กับรัฐบาลเจียงไคเชคคือ ทางปรีดีรับปากว่ารัฐบาลหลังสงครามโลกจะฟื้นฟูความสันพันธ์และการค้ากับจีน ยกเลิกกฎหมายต่อต้านจีนทั้งหลายที่ออกมาเพื่อตอบสนองชาตินิยมแบบจอมพล ป. การชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคนจีนในระหว่างที่ญี่ปุ่นยึดครองไทยด้วย
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
แต่ถึงการเลือกเข้ากับสาธารณรัฐจีน ณ ตอนนั้นของฝั่งปรีดี ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเรียกว่าประสบความสำเร็จก็คงจะยาก จริงอยู่ที่กลุ่มการเมืองฝ่ายคณะราษฎรไม่ได้ติดร่างแหแพ้ไปกับญี่ปุ่นเหมือนแบบที่จอมพล ป. โดน แต่เพราะสุดท้ายแล้วในเกมการเมืองระหว่างชาติสัมพันธมิตร สาธารณรัฐจีน ก็ไม่ได้มีความได้เปรียบมากพอจะเรียกร้องผลประโยชน์ได้มากพอให้ตกมาถึงกลุ่มของปรีดี และสาธารณรัฐจีนที่บอบช้ำจากสงครามมากที่สุดเพราะรบกับญี่ปุ่นด้วยตนเองมายาวนาน ก็ยังพ่ายแพ้ให้กับสงครามกลางเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนในอีกหลายปีให้หลัง คือปี ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) รัฐบาลคณะชาติก็ต้องล่าถอยไปอยู่ที่เกาะไต้หวันและก็เป็นไต้หวันแบบที่เรารู้จักในทุกวันนี้
อิทธิพลในการเข้าไปจัดการประเทศต่างๆ ในเอเชียหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงตกอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต หรือที่เราเรียกว่า ‘สงครามเย็น’ นั่นเอง เมื่ออำนาจของสาธารณรัฐจีนช่วยอะไรไม่ได้มาก ฝ่ายปรีดีก็คงอำนาจไว้เท่าเดิม คือมีนักการเมืองและ ส.ส. ในสภาจำหน่วยหนึ่งเท่านั้น
เมื่อฝ่ายอักษะเริ่มพลาดพลั้ง แค่ดูเหมือนสัมพันธมิตรอาจจะเอาชนะได้ ทางผู้นำที่เรียกว่า Big Three ได้แก่ สตาลิน(สหภาพโซเวียต) รูสเวลท์(สหรัฐฯ) และ เชอร์ชิล(อังกฤษ) ก็เริ่มคุยกันเรื่องการแบ่งเค้กและบริหารจัดการระเบียบโลกใหม่ การประชุมที่เตหะรานในปี ค.ศ. 1943 ถือเป็นการเจรจาอย่างเป็นทางการในเรื่องนี้เป็นครั้งแรก ซึ่งก็เพียงแค่ 2 ปีหลังจากที่สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงคราม
ในฮอลลีวูด อเมริกันชอบทำหนังสงครามมาก ก็รู้ ๆ กันอยู่ ต้นตำรับระเบิดภูเขาเผากระท่อมอย่างแท้จริง อเมริกันผลิตภาพยนตร์เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ออกมาเยอะมาก ไปทลายคุกนาซีที่ขังคนยิว ดูเป็นพระเอกมากกกก
แต่เรื่องจริง ประเทศที่คนตายในสงครามโลกครั้งที่ 2 มากที่สุดคือสหภาพโซเวียต ทหารตายไป 10 กว่าล้านคน รวมกับพลเรือนด้วยก็ปาเข้าไป 24 ล้านคน และทหารโซเวียตได้เข้าไปทลายคุกนาซีและปลดปล่อยคนยิวก่อนใคร คุกเอาชวิทซ์อันโด่งดัง ซึ่งเป็นคุกที่ใหญ่ที่สุดก็ได้รับการปลดปล่อยโดยทหารโซเวียต
อันดับสองของประเทศที่ตายมากที่สุดคือ เยอรมัน ทหาร 5 ล้าน รวมประชาชนด้วยก็ราว 8 ล้าน ต่อด้วยจีน ทหารตาย 4 ล้าน รวมประชาชนด้วยก็ 20 ล้าน คนธรรมดาเสียชีวิตไปเยอะมากๆ เพราะญี่ปุ่นบุกเข้าไปในจีนและทำอะไรเลวร้ายไว้เยอะมากอย่างที่ทราบกันอยู่ และ สหรัฐอเมริกา มาอันดับ 5 เลย คือ ทหารสี่แสนหกพันนาย และน่าสนใจกว่านั้นคือ ถ้านับรวมพลเรือนด้วยตัวเลขก็ขึ้นมาแค่ สี่แสนหนึ่งหมื่นแปดพันคน ทั้งนี้ก็เพราะสงครามจริงๆ ไม่เคยไปถึงพื้นที่จริง ๆ ของประเทศเลย วอชิงตันดีซีไม่เคยโดนทิ้งระเบิด นิวยอร์คไม่เคยถูกทิ้งระเบิด เรียกว่าเป็นสงครามที่อยู่นอกเขตบ้านอย่างแท้จริง ขนาดญี่ปุ่นที่ประเทศเล็กกว่าเยอะมากยังมีคนตายมากกว่า คือ ทหารตายไป 2 ล้านคน พลเรือนตายไป 1 ล้านคน
ที่ไล่ ๆ มาก็เพื่อให้เห็นภาพว่าสหรัฐอเมริการนั้นถือว่าผ่านสงครามโลกครั้งที่สองมาได้แบบมีรอยขีดข่วนน้อยมาก ไม่ต้องกังวลเรื่องเงินเพราะค้าขายในช่วงสงครามอยู่ถึงสามปีก่อนจะเข้าร่วมสงคราม และไม่ต้องมีภาระในการสร้างบ้านสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ จึงสามารถออกไปเจ้ากี้เจ้าการนั่นนี่กับคนอื่น และในที่สุดก็สามารถตั้งตัวเป็นหัวหน้าฝ่ายโลกเสรี ทำให้เงินดอลล่าร์กลายเป็นสกุลเงินของโลก ตั้งธนาคารโลก ตั้ง IMF มีอิทธิพลยิ่งใหญ่เป็นมหาอำนาจใหม่หลังสงครามสงบ ที่เล่า ๆ มาทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะบอกว่า การให้การยอมรับและสนับสนุนขบวนการเสรีไทยที่นำโดย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกานั้นเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐอเมริกามากกว่า การเลือกสนับสนุนเสรีไทยของปรีดี ซึ่งเลือกที่จะมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีนก่อน
สงครามเย็นเริ่มก่อตัวมาก่อนที่สงครามโลกครั้งที่สองจะจบลงนานกว่าที่คิด ไม่ใช่ว่าสงครามโลกเลิกแล้วค่อยมาเริ่มสงครามเย็นกัน เพราะการแบ่งเค้ก แบ่งเขตอิทธิพล แบ่งผลประโยชน์กันในหมู่ประเทศที่คาดว่าตัวเองจะชนะมันเริ่มตั้งแต่ก่อนจะชนะจริง ๆ นานพอสมควรเลยทีเดียว เรื่องของเรื่องคือ สหรัฐอเมริกาไม่อยากให้สหภาพโซเวียตเข้ามาร่วมปลดอาวุธญี่ปุ่น เนื่องจากไม่อยากให้เกิดแบบเดียวกับที่เยอรมันคือเจรจากันไปมา สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหภาพโซเวียต แบ่งเยอรมันเป็น 4 เขตเพื่อปลดอาวุธ แต่ไป ๆ มา ๆ โซเวียตก็เอาไปเลยครึ่งนึง อเมริกาเอาไว้อีกครึ่งนึง จนกลายเป็นเยอรมันจะวันออกกับเยอรมันตะวันตกในที่สุด ยุโรปต้องกลายเป็นถูกแบ่งเป็น East bloc ที่เป็นประเทศใต้อิทธิพลโซเวียต กับ West bloc ที่อยู่ใต้อิทธิพลโลกเสรี
จากการประชุม Yalta ที่ไครเมีย ฝ่ายสัมพันธมิตรตกลงกันว่าสหภาพโซเวียตจะบุกญี่ปุ่นในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1945 แต่สหรัฐอเมริกาไม่ต้องการให้สหภาพโซเวียตขยายอิทธิพลในมหาสมุทรแปซิฟิกอีกแล้ว ในวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1945 สหรัฐฯ จึงชิงทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา และอีก 3 วันต่อมาก็ทิ้งอีกลูกที่นางาซากิ โดยอ้างว่าเพื่อให้ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามและเพื่อลดการสูญเสียจากการปลดอาวุธด้วยวิธีอื่น แต่คือญี่ปุ่นแพ้ไปแล้ว มีการทิ้งระเบิดเพลิงของชาติสัมพันธมิตรไปถึง 67 เมืองจนแทบจะราบแล้ว การทิ้งระเบิดครั้งนี้ทำเพื่อให้ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามโดยไม่มีเงื่อนไขกับสหรัฐอเมริกาโดยปราศจากการรับรู้ใด ๆ ของชาติสัมพันธมิตร บางแหล่งข้อมูลบอกว่าอังกฤษให้ความยินยอมที่ควิเบคตั้งแต่กรกฎาคม ค.ศ. 1945 จุดประสงค์หลักคืออเมริกาต้องการมีอิทธิพลเหนือญี่ปุ่นแต่เพียงผู้เดียวนั่นแหละ
หากกล่าวถึงเรื่องนี้สำหรับเมืองไทยแล้ว ระเบียบโลกใหม่ของสหรัฐอเมริกา ก็เริ่มมาแต่ไกลเช่นกัน การที่สหรัฐฯ เริ่มเข้ามามีอิทธิพลไปพร้อมๆ กับการกลับเข้าสู่อำนาจการเมืองของฝ่ายเจ้า ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ตอนที่จอมพล ป. ลาออกใหม่ๆ และนาย ควง อภัยวงศ์ เข้ามาเป็นนายกฯ และเริ่มอภัยโทษให้นักโทษคดีกบฎและคืนฐานันดรศักดิ์ให้กับบรรดาเจ้านายเช่น การอภัยโทษกรมพระยาชัยนาทนเรนทร หรือ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ อดีตผู้ต้องโทษประหารชีวิตในคดีกบฎล้มล้างการปกครอง ซึ่งต่อมาก็ได้กลับมาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และประธานองค์มนตรีในสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งการเข้ามามีอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคนี้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากแต่ถูกวางแผนมาแล้วเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องการเข้ามาเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือไทยแทนอังกฤษที่มีอิทธิพลครอบงำไทยในยุคอาณานิคมมาก่อน สหรัฐฯ ต้องการใช้ไทยเป็นฐานที่มั่นและเขตอิทธิพลในสงครามเย็น ดังนั้นการครอบงำและเลือกกลุ่มคนที่มั่นใจว่าต่อรองและสามารถควบคุมได้ตามสั่ง จึงเป็นความต้องการอันดับแรกของสหรัฐอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลงอย่างเป็นทางการ และที่เห็นชัดเข้าไปอีกก็คือตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครับ นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกต่อจากจอมพล ป.ได้ประมาณ 1 ปีครึ่ง ก็ต้องลาออกเพื่อเปิดทางให้นายกฯ ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ที่มีภารกิจหลักก็คือการเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตร ตอนแรกนายทวี บุญยเกต จากคณะราษฎรเป็นนายกอะไหล่อยู่ 17 วัน เพื่อรอให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 6 ของไทย เป็นนายกคนแรกที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัย 2475 โดยถ้าไม่นับพระยามโนปกรณ์ฯ
เพื่อเข้าสู่ระเบียบโลกใหม่ของสหรัฐอเมริกา และเป็นส่วนหนึ่งของสหประชาชาติ ไทยก็ต้องการการยอมรับจากห้าชาติสมาชิกของฝ่ายสัมพันธมิตร นอกจากการเจรจากับสาธารณจีนของนักการเมืองฝ่ายปรีดีจะทำให้สาธารณจีนพอใจไปแล้ว ที่เหลืออีกสี่ชาติเช่นหรัฐอเมริกาซึ่งในทางเทคนิคไม่เคยประกาศสงครามกับไทย และนายกรัฐมนตรีเป็นคนที่อเมริกันคุ้นเคยด้วย ส่วนอังกฤษและฝรั่งเศสไทยต้องเจรจาชดใช้ค่าเสียหายและคืนดินแดนสหรัฐไทยเดิมและจังหวัดต่างๆ ในอินโดจีนทั้งหมด ("ความตกลงสมบูรณ์แบบเพื่อยุติภาวะสงคราม ระหว่างไทยกับบริเตนใหญ่และอินเดีย" ที่สิงคโปร์ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2489)
ส่วนสหภาพโซเวียต ไม่น่าเชื่อว่าครั้งหนึ่งเราเคยต้องเอาใจโซเวียต ด้วยการยกเลิก พ.ร.บ. คอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476 ซึ่งก็คือฉบับของพระยามโนปกรณ์ฯ ที่เขียนเอาไว้ไล่ ปรีดี พนมยงค์ ตั้งแต่ปีมะโว้ (ยกเลิก กันยายน พ.ศ. 2489) ซึ่งก็เป็นช่วงสั้นๆ ที่ประเทศเรามีทีท่าแบบเฉยๆ กับการเป็นคอมมิวนิสต์ เรามีพรรคการเมืองเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ ที่มีหัวหน้าพรรคคือนายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ปลายปี ค.ศ. 1946 ไทยก็ได้เข้าเป็นสมาชิกของสหประชาติในที่สุด จะสังเกตได้ว่า สังคมไทยเราแยกแยะเก่ง คือแยกแยะคอมมิวนิสต์จริงๆ กับ คำว่าคอมมิวนิสต์ที่เป็นอาวุธไว้กำจัดศัตรูทางการเมืองออกจากกันอย่างชัดเจน ไม่เอามาปนกัน เพราะต่อมาเพื่อเอาใจสหรัฐอเมริกา รัฐบาลจากคณะรัฐประหารก็ประกาศ พ.ร.บ.ปราบปรามคอมมิวนิสต์ฉบับใหม่ในปี พ.ศ. 2495 ซึ่งมีบทลงโทษรุนแรงกว่าเดิมมาก
สภาพไม่แพ้ไม่ชนะโดยบทสรุปเรื่องเล่าแบบเสรีไทยนี้ ก็ทำให้ไทยเสียโอกาสไปอย่างหนึ่ง นั่นก็คือภายใต้การเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรที่มีฝ่ายอำนาจเก่ากลับมาในการเมืองได้แล้ว ฝ่ายนิยมเจ้าเลือกจะเก็บกองทัพไทยแบบเดิมๆ ไว้ จนลัทธิทหารที่จอมพลป.สร้างขึ้นมา นั้นไม่ถูกแตะต้องเลย แปลกดี ทั้งๆ ที่เราก็โยนความผิดทั้งหมดที่ทำให้เราเข้ากับฝ่ายอักษะว่าเป็นการตัดสินใจแบบเผด็จการทหารของจอมพล ป. ในขณะเดียวกันกระบวนการทำให้จอมพล ป. รอดจากการต้องตกเป็นอาชญากรสงคราม ก็ประหลาดไม่แพ้กัน ตอนนั้นชาติสัมพันธมิตรเรียกร้องให้มีการชำระคดีอาญกรรมสงคราม เช่นเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในเมืองนูเรมเบิร์กและโตเกียว ที่ ‘โตโจ ฮิเดกิ’ ถูกตัดสินประหารชีวิต แต่จอมพล ป. ยังไปไม่ถึงตรงนั้น ไม่ต้องไปขึ้นศาลที่โตเกียว เพราะติดขั้นตอนขบวนการยุติธรรมในไทย รัฐบาลตอนนั้นใช้การตราพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 ให้อำนาจศาลฎีกาพิจารณาคดี
นอกจากตัวจอมพล ป. ที่ต้องขึ้นศาลแล้วก็ยังมีคนรอบๆ ตัวไม่ว่าจะเป็น หลวงวิจิตรวาทการ พลตรีประยูร ภมรมนตรี และนายสังข์ พัธโนทัย จากกรมโฆษณการ หรือดีเจจากรายการวิทยุที่เอาไว้เป่าหูประชาชนของจอมพล ป. รับบทเป็น ‘นายมั่น’ ในรายการ ‘นายมั่น นายคง’ แต่พอขึ้นศาลจริงๆ ศาลฎีกาก็ตีความว่าตัว พ.ร.บ. อาชญากรสงครามนั้นขัดรัฐธรรมนูญ เพราะว่าเป็นการออกฎหมายมาทีหลังความผิด มันผิดหลักกฎหมาย เพราะว่ากฎหมายจะเอาผิดย้อนหลังไม่ได้ สุดท้ายศาลไทยจึงยกฟ้องทุกคนและทำให้ประเทศเราไม่มีอาชญากรสงครามไปซะอย่างนั้น
คุณผู้ชมคิดเห็นเป็นอย่างไร? ว่านี่เป็นการช่วยเพื่อนของฝ่ายคณะราษฎรที่ไปเจรจาต่อรองจนจอมพล ป. ไม่โดนอะไร หรือนี่เป็นจุดเริ่มต้นในการรวมพลังของ พญาอินทรี กองทัพไทย และฝ่ายศักดินากันแน่!
การเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ของไทย ก็เริ่มมาจากจุดนี้นี่เอง ในกลุ่มเสรีไทยสายสหรัฐและอังกฤษ คลี่คลายออกมาเป็นกลุ่มการเมืองที่อยู่ในอำนาจมาอีกยาวนาน พรรคประชาธิปัตย์ก็ตั้งขึ้นมาในช่วงนี้
แต่นักการเมืองสายของปรีดีกลับเลือนหายไปจากประวัติศาสตร์ ดูเหมือนถูกกำจัดให้พ้นทาง ทั้งๆ ที่ก็ทำภารกิจสำคัญอย่างการเดินทางไปเมืองจีน ไม่ว่าจะเป็นคุณจำกัด พลางกูร ที่คนรุ่นหลังไม่มีใครรู้จัก หรือ ถวิล อุดล ที่เป็นกลุ่ม 4 ส.ส. อีสาน ที่มีบทบาทอย่างสูงในการต่อต้านญี่ปุ่น ก็ถูกอุ้มฆ่าโดยเผด็จการทหารในปี พ.ศ. 2492 ส่วนคุณสงวน ตุลารักษ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเอกอัคราชทูตสาธารณรัฐจีนคนแรกในปี พ.ศ. 2489 ได้ตามรัฐบาลคณะชาติไปประจำการที่ไต้หวันหลังแพ้สงครามกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ และขอลี้ภัยอยู่ที่ไต้หวันนานนับสิบปี เพราะไทยเข้าสู่ยุคเผด็จการทหารยาวนาน และเมื่อกลับมาในปี พ.ศ. 2500 ก็ยังถูกจับกุมข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์และติดคุกนานถึง 8 ปี
ประเทศไทยสุดท้ายอำนาจของฝ่ายเจ้าถูกฟื้นฟูกลับมาในเวทีการเมืองโดยยอมเล่นเกมอยู่ในสภาอีกเกือบๆ 2 ปี สุดท้ายก็ล้มกระดานทำรัฐประหารที่เป็นการจับมือกันของฝ่ายเจ้าและทหารบกของจอมพล ป. และลูกน้องในปี พ.ศ. 2490 และนำประเทศไทยเข้าสู่วงจรการรัฐประหารและเผด็จการซ้ำซากต่อมาจนถึงทุกวันนี้นี่แหละครับ
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง ในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง ในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500
จอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง ในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514
จอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง ในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514
พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519
พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519
พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534
พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549
พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา เป็นการประกาศรัฐประหารเพื่อให้รัฐมนตรีรักษาการทั้งหมดหมดอำนาจ และเปลี่ยนผ่านสู่การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา เป็นการประกาศรัฐประหารเพื่อให้รัฐมนตรีรักษาการทั้งหมดหมดอำนาจ และเปลี่ยนผ่านสู่การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ข้อมูลเพิ่มเติม :
The Crown and the Capitalists: The Ethnic Chinese and the Founding of the Thai Nation : วาสนา วงศ์สุรวัฒน์
ประวัติการเมืองไทยสยาม พ.ศ.2475-2500 : ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
หนังสือพิมพ์เก่าจาก D-library หอสมุดแห่งชาติ: http://164.115.27.97/digital
การควบคุมโรงเรียนจีนของรัฐไทยตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองถึงสมัยจอมพล ป. พิบุลสงคราม (พ.ศ. 2475 - 2487) เพ็ญพิสุทธิ์ อินทรภิรมย์: http://ejournals.swu.ac.th/index.php/JOH/article/view/1255

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา