29 ก.ย. 2021 เวลา 11:30 • ประวัติศาสตร์
ซามูเอล มอร์ส: หัวใจที่แตกสลายจนกลายเป็นจุดกำเนิดมอร์สโค้ด
เจอร์ไมห์ เดนตัน (Jeremiah Denton) ผู้บัญชาการทหารชาวอเมริกันถูกจับเป็นเชลยในสงครามเวียดนามในปี 1965 หลังจากกระโดดร่มหนีออกจากเครื่องบินที่ถูกยิงตกได้อย่างหวุดหวิด เขาถูกคุมขังในคุกและถูกทรมานสารพัดวิธีทั้งทางร่างกายและจิตใจ เขาพยายามจะส่งข้อความให้โลกรู้ว่าสิ่งที่เผชิญอยู่นั้นมันเลวร้ายแค่ไหน แต่ก็ไม่สามารถทำได้ ได้เพียงแต่อดทนรอจนวันหนึ่งโอกาสมาถึง
.
1
เดนตันถูกผู้จับกุมบังคับให้เข้าร่วมในการสัมภาษณ์โฆษณาชวนเชื่อทางโทรทัศน์ในปี 1966 ซึ่งออกอากาศในสหรัฐอเมริกา เขาถูกบังคับให้ตอบตามสคริปต์ว่าตัวเองไม่ได้เป็นอะไร ได้รับการดูแลที่โอเค อาหารโอเค (แน่นอนว่าถ้าไม่ตอบตามนี้ก็คงโดนหนัก) ในระหว่างที่ตอบคำถาม ทุกอย่างก็เป็นไปตามสคริปต์ที่เขียนมา แต่ตาของเขาไม่ได้พูดแบบนั้น เขาใช้โอกาสนี้แสร้งทำเป็นมีปัญหากับไฟโทรทัศน์ที่แยงเข้ามาที่ตา ต่อจากนั้นก็กะพริบตาเป็นมอร์สโค้ด สะกดคำว่า ‘T-O-R-T-U-R-E’ ซึ่งเป็นการยืนยันเป็นครั้งแรกกับหน่วยข่าวกรองกองทัพเรือสหรัฐฯ ว่าเชลยศึกชาวอเมริกันถูกทรมานในเวลานั้น จนกลายเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้การสื่อสารมอร์สโค้ดเป็นที่พูดถึงกันในวงกว้าง
.
19
เมื่อเอ่ยถึง ‘มอร์สโค้ด’ (Morse Code) ภาพลักษณ์ที่เราเห็นมักอยู่ในสถานการณ์คล้ายกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเดนตัน ภาพยนตร์หรือสารคดีนำเสนอมอร์สโค้ดในรูปแบบของการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ (SOS) ในสถานการณ์อันเลวร้าย มีการส่งมอร์สโค้ดด้วยไฟฉายบ้าง การเคาะผนังบ้าง (อย่างเช่นในฉากหนึ่งของภาพยนตร์เอเชียเรื่องดัง Infernal Affairs (2002) ก็มีฉากที่สายลับปลอมตัวอยู่กับแก๊งมาเฟีย ส่งมอร์สโค้ดด้วยการเคาะกับผนังเพื่อสื่อสารกับตำรวจ) หรือบางทีเป็นการส่งข้อความลับระหว่างสายลับเพื่อไม่ให้ศัตรูจับได้ แต่ถ้าย้อนกลับไปดูจุดกำเนิดของมอร์สโค้ด ความตั้งใจข้างต้นไม่ได้ลุ้นระทึกแบบในหนัง ในตอนนั้นมอร์สโค้ดเป็นส่วนประกอบสำคัญในยุคของการสื่อสารด้วยโทรเลขช่วงศตวรรษที่ 18 (ก่อนจะกลายมาเป็นโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต และสมาร์ทโฟนเหมือนอย่างทุกวันนี้)
3
ที่ก่อนหน้านั้นการส่งข้อความหากันต้องอาศัยการส่งจดหมาย ที่นอกจากจดหมายจะตกหล่นอยู่บ่อยครั้งแล้ว การสื่อสารแบบนี้ยังใช้เวลานานหลายวัน บางครั้งเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน และก็เป็นเพราะข่าวร้ายจากความล่าช้าในการส่งข้อความสำคัญทางจดหมายนี้เองที่เปลี่ยนชีวิตของซามูเอล มอร์ส (Samuel Morse) จนกลายเป็นต้นกำเนิดของมอร์สโค้ดที่พลิกโฉมวงการโทรคมนาคมที่เคยมีอยู่ไปตลอดกาล
2
#Samuel_Morse
.
ซามูเอล มอร์ส (Samuel Morse) เกิดวันที่ 27 เมษายน 1791 ที่เมืองชาร์ลส์ทาวน์ รัฐแมสซาชูเซตส์ เป็นลูกคนโตของครอบครัว มีคุณพ่อเป็นบาทหลวงและนักภูมิศาสตร์ เขาเติบโตและเล่าเรียนในโรงเรียนประจำจนอายุได้ 14 ปี หลังจากนั้นก็ไปเรียนต่อวิทยาลัยเยลในเมืองนิวเฮเวน รัฐคอนเนตทิคัต เขารักการวาดรูปมาตั้งแต่วัยเด็ก ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยก็หารายได้จากการวาดรูปเพื่อส่งตัวเองเรียน วิชาที่เขาเรียนก็ค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่เคมี ปรัชญาธรรมชาติ (ฟิสิกส์) ฝรั่งเศส กรีก เรขาคณิต และภูมิศาสตร์ ซึ่งวิชาที่เขาสนใจเป็นพิเศษคือเรื่องเกี่ยวกับไฟฟ้า
.
3
เขาสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเยลในวัย 19 ปีเมื่อปี 1810 ก่อนตัดสินใจไปเรียนต่อที่ Royal Academy of Arts ที่ลอนดอนในปีถัดมา ตอนนั้นเขาศึกษาเกี่ยวกับศิลปะเรอเนซองส์ และในเวลาเดียวกันก็สร้างสรรค์ผลงานศิลปะของตัวเองออกมาหลายชิ้น ภายหลังกลับมาที่อเมริกาในปี 1815 ด้วยความสามารถและผลงานที่โดดเด่น ทำให้เขากลายเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง มีโอกาสได้วาดภาพของบุคคลสำคัญต่าง ๆ มากมาย รวมถึง จอห์น อดัมส์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ และหนึ่งในกลุ่มบิดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
.
1
#จดหมายที่ไปถึงช้าจนเกินไป
.
ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1825 มอร์สเดินทางไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อโอกาสในการทำงานศิลปะที่เขาภาคภูมิใจและสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเขาเอง ในเวลานั้นถึงแม้ว่าเขาจะเป็นศิลปินที่มีความสามารถเพียงใด รายได้ก็ยังไม่เพียงพอเลี้ยงปากท้องและครอบครัวสักเท่าไรนัก อายุก็ปาเข้าไป 34 ปีแล้วยังไม่มีผลงานที่เรียกว่าเป็นชิ้นเอกเหมือนกับศิลปินชื่อเสียงก้องโลกคนอื่น ๆ
.
1
การมายังกรุงวอชิงตันครั้งนี้เป็นการตัดสินใจที่ไม่ง่ายนัก ภรรยาที่กำลังท้องแก่ลูกคนที่สามนั้นต้องการคนดูแลอย่างใกล้ชิด แต่การที่จะปฏิเสธโอกาสในการได้วาดภาพเหมือนของ ฌีลแบร์ ดูว์ มอตีเย เดอ ลา ฟาแย็ต (Marquis de Lafayette) ผู้เปรียบเสมือนฮีโร่ในการทำสงครามประกาศอิสรภาพอเมริกา เพื่อนสนิทของจอร์จ วอชิงตัน, อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน และ ทอมัส เจฟเฟอร์สัน แถมยังได้เงินค่าจ้างอีกกว่า 1,000 เหรียญฯ ก็เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เช่นเดียวกัน
.
ลูเครเชีย (Lucretia) ภรรยาของเขาก็เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เหมือนดั่งถ้อยคำในจดหมายที่ถูกส่งมาจากบ้านที่ในเมืองนิวเฮเวนที่ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 วันบอกว่า
.
2
“เราควรภูมิใจที่คุณได้รู้จักกับพวกเขานะ” ก่อนจะเสริมต่อว่า “ฉันคิดว่าตอนนี้เราสามารถดื่มด่ำกับความหวังที่มีเหตุผลว่าอีกไม่นานในอนาคตคุณจะได้มีความสุขในอ้อมอกของครอบครัวที่คุณรักมากสักที”
.
มอร์สก็รู้สึกเช่นนั้นเหมือนกัน ในจดหมายที่เขียนตอบกลับไปหาภรรยาบอกว่า
.
“ผมรออย่างใจจดจ่อที่จะได้รับข่าวคราวของคุณอีก”
1
แต่เรื่องน่าสลดใจก็คือว่า ตอนที่มอร์สเขียนจดหมายฉบับนั้นแล้วส่งกลับไป
.
หลังจากนั้นก็เกิดเรื่องเศร้าขึ้นมา...
.
1
ลูเครเชียได้เสียชีวิตไปแล้วโดยที่เขาไม่รู้ข่าวคราวเลย
.
จนกระทั่งเขาได้รับจดหมายจากพ่อของลูเครเชียบอกว่า “หัวใจของฉันเจ็บปวดและโศกเศร้ายิ่งนักในตอนนี้ที่จะบอกข่าวให้คุณรู้ถึงการจากไปอย่างกะทันหันของภรรยาอันเป็นที่รักของคุณ”
.
ก่อนหน้าที่จดหมายของมอร์สจะไปถึง ลูเครเชียได้เสียชีวิตไปแล้วจากภาวะหัวใจล้มเหลวหลังจากคลอดลูก มอร์สรีบออกเดินทางกลับบ้านทันที การเดินทางใช้เวลาทั้งหมด 4 วัน กว่าเขาจะไปถึง ศพของลูเครเชียได้ถูกฝังไปเรียบร้อยแล้ว
.
1
หัวใจที่แตกสลาย และความล่าช้าของการส่งข้อความทางจดหมาย ทำให้เขาพลาดโอกาสในการบอกลาภรรยาครั้งสุดท้ายก่อนเธอจะจากโลกใบนี้ไป กลายมาเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่เขาอยากทำให้การสื่อสารในระยะทางไกลนั้นรวดเร็วมากขึ้น
.
1
#การค้นพบของ_Joseph_Henry
.
ที่เมืองออลบานี นิวยอร์ก โจเซฟ เฮนรี (Joseph Henry, 1797 - 1878 นักฟิสิกส์ชาวอเมริกันที่มีส่วนร่วมในการบุกเบิกความเข้าใจและการประยุกต์ใช้แม่เหล็กไฟฟ้า) ค้นพบว่าเขาสามารถใช้ไฟฟ้าแรงสูงเพื่อส่งกระแสไฟฟ้าในระยะทางที่ไกลกว่าเดิม ด้วยความที่เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกเรื่องแม่เหล็กไฟฟ้าในยุคนั้น เขาคาดว่าการค้นพบเรื่องไฟฟ้าแรงสูงนี้สามารถเอามารวมกับแม่เหล็กไฟฟ้าที่เขาเชี่ยวชาญเพื่อใช้เป็นการส่งสัญญาณบางอย่างได้
.
เฮนรีได้สาธิตผลงานที่ค้นพบโดยให้นักเรียนของเขารวมตัวกันรอบ ๆ กระดิ่ง ส่วนตัวเขาอยู่ห่างออกไปประมาณ 1,000 ฟุต (305 เมตร) กระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้าวิ่งไปตามสายไฟแล้วทำให้กระดิ่งส่งเสียงดังขึ้นมาได้ หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ พัฒนาให้ระยะทางไกลมากขึ้นจนเกือบประมาณหนึ่งไมล์ (1.6 กิโลเมตร)
.
2
การค้นพบของเฮนรีนำไปสู่การพัฒนาอุปกรณ์ที่มีประโยชน์หลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือโทรเลขที่กลายเป็นเครื่องมือสื่อสารสำคัญในยุคต่อมา
.
เขาไม่เคยจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับสิ่งที่เขาค้นพบเลยเพราะถือว่าตัวเองเป็นเพียงนักวิทยาศาสตร์ที่ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยเม็ดเงินหรือโอกาสทางธุรกิจ
.
1
กลับมาที่เรื่องราวของรหัสมอร์สกันต่อ...
.
2
#The_Telegraph_และ_Morse_Code
.
ในปี 1832 ระหว่างที่มอร์สกำลังเดินทางกลับมาจากยุโรป เขามีโอกาสได้คุยกับคนที่อยู่บนเรือเกี่ยวกับผลงานประดิษฐ์แม่เหล็กไฟฟ้าชิ้นใหม่ของ ไมเคิล ฟาราเดย์ (Michael Faraday นักเคมีและนักฟิสิกส์ ชาวอังกฤษ เป็นผู้คิดค้นไดนาโมในปี 1821) มอร์สเริ่มเข้าใจเรื่องพื้นฐานของการทำงานของมันและคิดว่าน่าจะนำไปดัดแปลงเพื่อใช้ในการส่งข้อความตามสายไฟได้ แต่ด้วยความที่ตัวเองก็ไม่เชี่ยวชาญเรื่องไฟฟ้ากับแบตเตอรี่นี้สักเท่าไรนัก มอร์สจึงติดต่อลีโอนาร์ด ดี. เกล (Leonard D. Gale) เพื่อนร่วมงานและศาสตราจารย์วิชาเคมีที่มหาวิทยาลัยแห่งนครนิวยอร์ก เกลคุ้นเคยกับงานของ ‘โจเซฟ เฮนรี’ ที่เคยตีพิมพ์เกี่ยวกับพื้นฐานเบื้องต้นของสิ่งที่พวกเขากำลังสนใจ ทั้งสองคนไปดึงเอาอัลเฟรด เวล (Alfred Vail) นักประดิษฐ์และผู้เชี่ยวชาญด้านไฟฟ้ามาร่วมทีมด้วยเพื่อจะพัฒนาไอเดียของเฮนรีให้สามารถใช้งานได้ดียิ่งขึ้น
.
2
ตอนนี้พวกเขากำลังอยู่ในจุดที่กำลังจะพลิกโฉมวงการสื่อสารครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์แล้ว
.
หลังขลุกอยู่กับโปรเจกต์นี้เป็นเวลาหลายปี ในที่สุด มอร์สก็ยื่นคำร้องเพื่อให้รัฐบาลกลางช่วยสนับสนุนเงินสำหรับโครงการที่กำลังทำอยู่ แต่กลับถูกปฏิเสธเนื่องจากตอนนั้นประเทศกำลังอยู่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจทางการเงิน ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ กินเวลาไปจนถึงกลางปี 1840 (รู้จักกันในชื่อว่า Panic of 1837) เมื่อไม่ได้รับเงินสนับสนุน เขาจึงตัดสินใจเดินทางไปยุโรปเพื่อขอจดการคุ้มครองสิทธิบัตร ในเวลาเดียวกันก็ไปศึกษาคู่แข่งทางโทรเลขในอังกฤษด้วย
.
4
มอร์สและทีมงานไม่ใช่กลุ่มแรก ๆ ที่ทดลองส่งกระแสไฟฟ้าผ่านสายไฟเพื่อส่งสัญญาณบางอย่าง และไอเดียของโทรเลขที่จริงก็มีอยู่ก่อนบ้างแล้วในยุโรป แต่ว่าเครื่องมือที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นเสาส่งสัญญาณที่ใช้งานยาก ซับซ้อน และไม่สามารถส่งสัญญาณระยะทางไกลได้ คนที่ประจำอยู่ตามเสาก็จะต้องใช้กล้องส่องทางไกลเพื่อถอดข้อความเพื่อส่งต่อไปยังเสาต่อไป ตัวอย่างที่ชัดเจนอาจจะเป็นการใช้คนขึ้นไปถือธงเป็นแล้วโบกเป็นสัญลักษณ์ทีละตัวอักษร หรืออย่างการใช้สัญญาณไฟ โคมไฟ หรือแขนของกังหันลมต่าง ๆ แต่สิ่งประดิษฐ์ที่ทีมของเขาคิดค้นนั้นใช้งานง่ายกว่ามาก และสามารถขยายขอบเขตของการส่งสัญญาณได้
.
5
นอกจากการประดิษฐ์โทรเลขที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว พวกเขายังต้องการวิธีการส่งข้อความไปมาที่ง่ายขึ้นด้วย มอร์สจึงคิดค้นรหัสขึ้นมาเพื่อใช้แทนตัวอักษรในภาษาอังกฤษ โดยการใช้ ‘dots’ (จุด) และ ‘dashes’ (ขีด) เพื่อประกอบกันให้เป็นประโยค (ยกตัวอย่างเช่น S = ‘...’ O = ‘- - - ’ เมื่ออยากประกอบเป็น SOS ก็จะเป็น ‘... --- …’) ทำให้ข้อความที่ส่งไปนั้นชัดเจน ไม่ซับซ้อน จนกลายเป็นมาตรฐานสากลของการส่งข้อความ ที่เรารู้จักกันว่า ‘มอร์สโค้ด’
.
2
ต่อมาในภายหลังแม้ดูเหมือนทุกอย่างพร้อมแล้ว ทั้งอุปกรณ์การส่งและวิธีการสร้างประโยคด้วยมอร์สโค้ด พวกเขาจึงพยายามยื่นคำร้องขอทุนต่อรัฐบาลอีกครั้ง แต่ก็ยังถูกปฏิเสธกลับมาอีกรอบอยู่ดี
.
#The_First_Message
.
พวกเขายังไม่ลดละความพยายาม เชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทำขึ้นนั้นจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับการสื่อสารทางไกลได้อย่างแท้จริง พวกเขาจึงมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีและสิ่งประดิษฐ์ของตัวเองต่อมาเรื่อยๆ จนกระทั่ง 4 ปีต่อมา ปี 1842 สิ่งที่มอร์สทำได้รับความสนใจจากฟรานซิส ออร์มันด์ โจนาธาน สมิธ (Francis Ormand Jonathan Smith) สมาชิกสภาคองเกรสของรัฐเมน ในเดือนธันวาคมของปีเดียวกันนั้นเอง มอร์สได้รับโอกาสเข้าไปสาธิตการส่งข้อความระหว่างห้องของคณะกรรมการสองห้องในศาลากลางให้ดูว่าสามารถส่งสัญญาณได้จริง ๆ สมิธเห็นว่าสิ่งที่มอร์สทำนั้นมีประโยชน์ จึงสนับสนุนให้กลับไปขอทุนอีกรอบ ครั้งนี้พวกเขาประสบความสำเร็จ ได้ทุนมา 30,000 เหรียญฯ เพื่อสาธิตผลงานที่ใหญ่ขึ้น โดยการส่งข้อความผ่านสายทดลองโทรเลขยาว 40 ไมล์ (ประมาณ 65 กิโลเมตร) จากวอชิงตัน ดี.ซี. ไปยังบัลติมอร์
.
6
หลังจากวางแผนทุกอย่างเรียบร้อย การก่อสร้างเริ่มต้นขึ้นทันที มอร์สว่าจ้าง เอซรา คอร์เนลล์ (Ezra Cornell) วิศวกรก่อสร้างให้วางท่อสำหรับสายโทรเลขใต้ดิน หลังจากคอร์เนลล์เริ่มขุดและวางสายก็พบปัญหาอย่างหนึ่งว่าสายที่ซื้อมานั้นมีปัญหาเรื่องฉนวนกันความร้อน แต่เงินที่มีก็ไม่มากพอที่จะไปซื้อสายใหม่ คอร์เนลล์เลยแนะนำว่าให้พาดสายไว้บนเสาและต้นไม้ไปแทนเพื่อลดค่าใช้จ่ายและเวลา
.
มอร์สอยู่ในจุดที่ถอยไม่ได้ ต้องเดินหน้าต่อและยอมปรับแผนไปตามนี้ สุดท้ายการก่อสร้างก็แล้วเสร็จ
.
วันที่ 24 มิถุนายน 1844 เวลและมอร์สเป็นสองผู้ควบคุมที่อยู่คนละฝั่งของสายโทรเลขที่เชื่อมระหว่างหอศาลฎีกาในวอชิงตัน ดี.ซี. และสถานีรถไฟบัลติมอร์ ทุกอย่างพร้อม มอร์สกดส่งข้อความเป็นมอร์สโค้ดผ่านอุปกรณ์โทรเลขที่พวกเขาสร้างขึ้นไปหาเวลเป็นครั้งแรกว่า
.
“What hath God wrought”
3
“สิ่งต่าง ๆ ล้วนพระผู้เป็นเจ้าทรงรังสรรค์ขึ้น”
(ที่มาจากพระคำภีร์ไบเบิล กันดารวิถี 23:23)
.
พวกเขาทำได้สำเร็จแล้ว...
.
2
หลังจากนั้นไม่นานมอร์สโค้ดและการส่งข้อความผ่านโทรเลขก็ถูกนำมาใช้กันอย่างกว้างขวางทั่วประเทศและทั่วโลก สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของการสื่อสารด้วยจดหมายที่มีอยู่ไปตลอดกาล
.
มีธุรกิจมากมายเกิดขึ้นภายหลังจากสิ่งที่ทีมของมอร์สสร้างขึ้นมา การส่งข่าวสารสำคัญจากจุดหนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เชื่อมต่อเมืองเล็ก เมืองใหญ่ สังคม ธุรกิจ ครอบครัวและโลกเข้าด้วยกัน การส่งข้อความที่เคยใช้เวลา 4 วันจากวอชิงตัน ดี.ซี. ไปนิวเฮเวนลดลงมาเหลือแค่ 4 วินาที
.
ความสำเร็จของมอร์สและเหตุการณ์ที่จดหมายฉบับนั้นที่ไปไม่ถึงภรรยาของเขานั้นเกิดขึ้นห่างกันหลายปีก็จริง แต่ตลอดเวลานั้นในใจของมอร์สยังคงคิดถึงภรรยาของเขาอยู่เสมอ จากข้อความบางส่วนของจดหมายฉบับหนึ่งที่เขาเขียนถึงลูกสาวคนโตระหว่างที่กำลังขอทุนสนับสนุนว่า
.
3
“ลูกไม่สามารถหยั่งรู้ถึงความลึกของบาดแผลที่ถูกทิ้งเอาไว้จากการที่แม่อันเป็นที่รักของลูกถูกพรากจากพ่อไปได้”
.
มันแสดงให้เห็นว่าแม้อดีตเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ถ้าวันนั้นมีโทรเลขและรหัสมอร์สเพื่อส่งข้อความแทนที่จะเป็นจดหมายที่ต้องใช้เวลาถึง 4 วัน อย่างน้อย ๆ ข้อความที่เขาส่งไปคงไปถึงภรรยาได้ทันเวลา และเธอคงได้รับรู้ว่าเขาคิดถึงเธอมากขนาดไหนก่อนจะสิ้นลมหายใจ
.
8
โฆษณา