5 ต.ค. 2021 เวลา 10:00
“อายุเท่านี้แล้วยังไม่รู้เลยว่าตัวเองเก่งอะไร”
เพราะอะไรเราจึงเติบโตโดยไม่รู้ว่าทำสิ่งไหนได้ดี
ปัญหาของ ‘มนุษย์เป็ด’ อาจจะเป็นการทำได้ทุกอย่าง แต่ตอบไม่ได้ว่าชอบทำอะไรที่สุด
ปัญหาของ ‘specialist’ คือรู้ว่าตัวเองเก่งอะไร ทำสิ่งไหนได้ดี แต่ก็อาจจะเบนเข็มยากมากในยุคที่ทักษะ ‘multi-tasking’ และคนเก่งแบบ ‘T-Shaped’ และ ‘X-Shaped’ กำลังเป็นที่ต้องการ
แต่สำหรับบางคน ปัญหาของพวกเขาไม่ใช่การเก่งด้านใดด้านหนึ่งแบบสุดโต่ง หรือหยิบจับได้ทุกอย่างที่ได้รับมอบหมาย ในทางกลับกัน เขาตอบตัวเองไม่ได้เลยต่างหากว่า จริงจริงแล้วชอบทำอะไร และอยากอยู่กับงานแบบไหนไปทั้งชีวิต
เรื่องนี้อาจจะมีความคาบเกี่ยวกับมนุษย์เป็ดอยู่นิดหน่อย ตรงที่คนจำพวกเป็ดก็ตอบไม่ได้เหมือนกันว่า เก่งอะไรมากที่สุด แต่เป็ดก็ยังสามารถเอาตัวรอดได้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน
แม้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนที่สุดแต่การที่พวกเขาทำสิ่งต่างๆ ได้มากมายก็ทำให้เป็ดผ่านแต่ละวันไปได้โดยไม่ยากลำบากมากนัก ผิดกับคนที่ในใจมีแต่ความเปล่า ทำงานไปวันๆ แบบที่ไม่มีเป้าหมายข้างหน้า
เป้าหมายในที่นี้ไม่ใช่แค่ตัวเงินนะคะ แต่การมีเป้าการเติบโตของ ‘career path’ ก็เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ที่จะทำให้เราเห็นภาพตัวเองอีก 2-3 ปีข้างหน้าได้ชัดว่า เราอยากอยู่ ณ ตำแหน่งแห่งที่ตรงไหนของสายงานนี้
ดิฉันขอคิดต่างกับคำถามสัมภาษณ์งานที่มักจะโยนมาปิดท้ายเพื่อเพ่งดูทัศนคติของเราบ่อยๆ ว่า “อีก 5 ปีคุณมองอนาคตตัวเองไว้แบบไหน?” หรือ “อีก 10 ปีคุณคิดว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่?”
คำถามเหล่านี้อาจจะใช้ทบทวนตัวเองได้หากย้อนเวลากลับไปก่อนวิกฤตโควิด-19 จะเกิดขึ้น แต่ปัจจุบัน พูดตรงๆ ว่า เอาแค่อีก 1 ปีข้างหน้าแพลนที่วางไว้จะเป็นไปตามเดิมหรือเปล่าก็ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้เลย
ฉะนั้น คำถามเดิมแต่ลดจำนวนช่วงปีลงหน่อย เพื่อให้เราเกาะกับปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ได้มากขึ้น อาจจะทำให้ร่างภาพอนาคตตัวเองได้เป็นรูปเป็นร่างมากกว่าค่ะ
กลับไปที่คำถามเรื่องการเติบโตหรือการมอง ‘growth’ ในเส้นทางการทำงานของตัวเอง เรื่องนี้สำคัญและเป็นจุดตัดของประเด็นคำถาม ความขี้เกียจ เหนื่อยล้า หรืออาการหมดไฟจากการทำงานยังสามารถจุดขึ้นมาใหม่ได้ และนั่นไม่ได้แปลความหมายเท่ากับการมองไม่เห็นตัวเองในอนาคต
ทว่า เมื่อไรก็ตามที่คุณไม่มีเป้าหมายการเติบโต ตอบตัวเองไม่ได้ว่าอยากเป็นแบบไหน/สิ่งไหนในอีก 1-2 ปีข้างหน้า อาจจะต้องย้อนกลับมาที่คำถามแรกว่า ที่ตอบไม่ได้เพราะคุณยังลังเลกับเส้นทางที่เลือก หรือคุณยังไม่มั่นใจว่าตัวเองชอบ รัก และอยากอยู่กับสิ่งไหนไปตลอด ‘path’ นี้กันแน่
ดิฉันมีเพื่อนหลายคนที่ได้ทำงานที่ตัวเองไม่ชอบ ไม่ได้รู้สึกแพชชัน หรืออยากตื่นขึ้นมาทำงานในทุกทุกวัน งานกลายเป็นแค่สิ่งที่ไว้หล่อเลี้ยงชีวิตให้มีเงินใช้จ่ายก็เท่านั้น ในระยะสั้นอาจจะพอทำไปได้ค่ะ
แต่เมื่อเราต้องอยู่กับมันทุกวันในช่วงเวลาที่ยาวนานขึ้น บวกกับสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็ทำให้เพื่อนสนิทคนหนึ่งของดิฉันบอกว่า เธอรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นหุ่นยนต์ที่ไม่ได้มีความรู้สึกสุขหรือทุกข์กับงาน คิดเพียงว่าอย่างไรก็ต้องทำเพื่อเก็บออมและนำมาใช้จ่าย
ซึ่งหากย้อนกลับไปเพื่อหาต้นตอสาเหตุที่ไกลกว่านั้นก็จะพบว่า ระบบการศึกษาไทยไม่ได้เอื้อให้เราได้ใช้เวลาในการตามหาความเก่ง ความถนัดมากเท่าที่ควรจะเป็น หลายคนจึงตอบไม่ได้ว่า เก่งอะไร เนื้องานแบบไหนที่อยากทำและอยู่กับสิ่งนั้นไปได้ทั้งชีวิต
การเรียนที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้สอดรับกับความถนัดของคนทุกคน ระบบที่ไม่สามารถให้คำตอบและอิสระกับความชอบของปัจเจกได้
และเมื่อเด็กเหล่านี้ต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานหลายคนจึงเพิ่งตระหนักได้ว่า ในวันที่ต้องโตเป็นผู้ใหญ่งานไม่ใช่แค่การสแกนนิ้วเช้า-เย็น แต่มันยังหลอมรวมตัวตน ชีวิตจิตใจของเราไว้แทบจะทั้งหมดเลยด้วย
ถามว่า ทำไมหลายคนหรือกระทั่งตัวดิฉันเองจึงหาคำตอบได้ว่า ชอบอะไร ถนัดอะไร และอยากทำงานแบบไหน เรื่องนี้อาจจะเป็นรายละเอียดปลีกย่อยของชีวิตที่แต่ละคนได้พบ ได้เจอผู้คนที่ช่วยจุดประกายให้กับการมอง ‘career path’ ของตัวเองในมุมที่แตกต่างกัน
เมื่อชีวิตดำเนินมาถึงจุดที่ต้องตอบตัวเองให้ได้แล้วว่า เราทำสิ่งไหนได้ดีกันแน่ ขอให้เชื่อมั่นว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาด้วยความพิเศษเฉพาะตัวกันทั้งนั้นค่ะ วันนี้คุณอาจจะยังตอบตัวเองไม่ได้ว่าชอบอะไร แต่ถึงอย่างนั้นไม่เป็นไรเลยนะคะ
หลายคนเพิ่งค้นพบความชอบของตัวเองในวัยสามสิบปลายๆ ก็มี บางคนได้ออกมาเปิดร้านขนมที่ตัวเองชอบในวัย 40 นิดๆ หรืออาจจะรู้ตัวเร็วหน่อยก็ได้ทำสิ่งที่แพชชันมากๆ ตั้งแต่จบใหม่
ไม่ว่าจะตอบได้ตอนไหน ถ้ายังไม่ถึงจุดสิ้นสุดของเส้นทางนี้อย่าเพิ่งยอมแพ้ไปนะคะ ค่อยๆ ลัดเลาะตามหามันไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ได้เจอลู่ที่ใช่ของคุณเองแหละ มั่นใจเข้าไว้นะ:)
เขียนโดย Piraporn Witoorut
.
◤━━━━━━━━━━━━━━━◥
หากคุณชอบคอนเทนต์นี้อย่าลืม 'กดไลก์'
หากคอนเทนต์นี้โดนใจอย่าลืม 'กดแชร์'
◣━━━━━━━━━━━━━━━◢
.
.
“Knowledge is the only way to success”
- - - - - - - - - - - - - - - - - -
ติดตามคอนเทนต์เพื่อพัฒนาตัวเองสู่ความสำเร็จจาก Future Trends ได้ที่
(อย่าลืมกด See First เพื่อไม่ให้พลาดคอนเทนต์ใหม่ในทุก ๆ วัน)
#FutureTrends #KnowledgeforSuccess
โฆษณา