29 ก.ย. 2021 เวลา 14:21 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Ben Bernanke ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ผู้นำในการกอบกู้เศรษฐกิจจากวิกฤติการเงินโลก
วิกฤติการเงินโลก (Global Financial Crisis) หรือที่หลายคนอาจจะรู้จักในชื่อ วิกฤติซับไพร์ม (Subprime Crisis) ถือเป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง ที่ต้องอาศัยสรรพกำลังและการระดมความคิดจากผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเพื่อมากอบกู้เศรษฐกิจของโลกกลับมา
1
Ben Bernanke ประธาน FED ในช่วงปี 2006 - 2014
และในแนวรบแถวหน้าของวิกฤติครั้งใหญ่นี้ ก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากประธานธนาคารสหรัฐที่ดำรงตำแหน่งอยู่ตอนนั้น อย่าง เบน เบอร์นานเก้ (Ben Bernanke)
📌 จุดเริ่มต้นของเส้นทางนักเศรษฐศาสตร์
เบน เบอร์นันเก้ เกิดเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 1953 ที่เมือง Augusta รัฐ Georgia และได้มาเติบโตที่เมือง Dillon รัฐ South Carolina ในครอบครัวที่มีคุณพ่อเป็นเภสัชกรและคุณแม่เป็นคุณครูในโรงเรียน แต่ตัวของเบอร์นันเก้เองกลับได้มาเรียนเศรษฐศาสตร์ โดยในระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย Harvard และในระดับปริญญาเอกจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT)
พอจบการศึกษา เบอร์นันเก้ ก็ได้มีโอกาสได้เป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Stanford และ Princeton ตามลำดับ แต่จุดหักเหที่สำคัญในเส้นทางอาชีพเกิดขึ้นเมื่อเขาได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานของสภาที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ (Council of Economic Advisors) ในสมัยของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) ในปี 2005 ที่หลายคนบอกว่าเป็นเสมือนบททดสอบก่อนเข้ารับตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed Chairman) ในปี 2006
1
และในตำแหน่งประธานธนาคารสหรัฐนี่เองที่เขาได้เจอบททดสอบสำคัญในชีวิต เมื่อหลังจากนั้นไม่กี่ปี อเมริกาก็เจอกับวิกฤติการเงินที่ใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี “วิกฤติซับไพร์ม” หรือที่หลายท่านน่าจะรู้จักในชื่อ “วิกฤติการเงินโลก”
📌 “วิกฤติซับไพร์ม” วิกฤติการเงินที่ดึงเศรษฐกิจโลกให้ตกต่ำไปหลายปี
มีคำกล่าวจากมาร์ค ทเวน (Mark Twain) ว่าไว้ว่า “หาใช่สิ่งที่คุณไม่รู้ ที่ทำให้คุณเจอปัญหา หากแต่เป็นสิ่งที่คุณมั่นใจว่ารู้ดี แต่มันดันเป็นสิ่งที่ไม่จริงต่างหากที่ทำให้ปัญหามาหาคุณ”
1
(It ain’t what you don’t know that gets you into trouble. It’s what you know for sure that just ain’t so.)
The Big Short (2015)
(เกร็ดเล็กน้อย: quote นี้เป็น quote ที่ “The Big Short” หนังที่นำเสนอเรื่องราวของวิกฤติซับไพร์มที่ชนะหลายรางวัลออสการ์และได้เข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนต์ยอดเยี่ยม ใช้ตอนเปิดเรื่องเช่นกัน)
ในวิกฤติเศรษฐกิจหลายครั้งในประวัติศาสตร์ของมนุษย์คำกล่าวข้างต้นใช้อธิบายถึงต้นเหตุได้อย่างดีเยี่ยม และในตอนวิกฤติซับไพร์มก็เช่นกัน เมื่อในตอนนั้นผู้เชี่ยวชาญในวงการการเงินเกือบทั้งหมด ต่างเชื่อมั่นว่าพวกเขารู้ดีกับสิ่งที่ตัวเองกำลังเจออยู่ สินทรัพย์อย่าง “บ้าน” นั้นมั่นคงและยากที่จะล้ม แต่สุดท้ายตลาดบ้านก็ล้มลงจริงๆ แต่เรื่องราวกลับเลวร้ายกว่าแค่ตลาดบ้านที่เกิดฟองสบู่แตกมาก...
เมื่อมองลึกไปในวิกฤติซับไพร์ม เราจะเห็นต้นเหตุการณ์การเกิดวิกฤติอาจจะแบ่งออกได้เป็นสองส่วน
ส่วนแรกคือ ต้นเหตุของวิกฤติที่เราเคยพบเจอมาแล้วในประวัติศาสตร์ก่อนปี 2008 ทั้งเรื่องฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ เรื่องของการปล่อยกู้อย่างขาดธรรมาภิบาลให้กับผู้กู้ที่ไม่มีความสามารถชำระ (หรือที่เราเรียกว่าผู้กู้ซับไพร์ม) หรือเรื่องของความหย่อนยานของผู้ควบคุมและตั้งกฎ แต่ส่วนที่ทำให้วิกฤติครั้งนี้รุนแรงอย่างมากคือส่วนที่สองที่เป็นต้นเหตุที่ไม่เกิดขึ้นมาก่อน
1
และในส่วนที่สองนี้ ต้นเหตุสำคัญที่สุดก็ คือ การเกิดขึ้นของเครื่องมือทางการเงินรูปแบบใหม่อย่าง Mortgage Backed Securities (MBS) หรือสินทรัพย์ที่หนุนโดนหนี้สินเชื่อบ้าน ที่นำสินเชื่อบ้านไปแปลงเป็นสินทรัพย์ออกมาขายให้กับนักลงทุน คิดง่ายๆ ก็คือ แทนที่ธนาคารจะรอเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยจากบ้านไปเรื่อยๆ เป็นเวลาหลายสิบปี ธนาคารก็ปล่อยให้นักลงทุนเช้ามาซื้อด้วยเงินก้อนแทน ธนาคารก็ได้เงินไปหมุนเวียนลงทุนต่อ ส่วนนักลงทุนก็ได้สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเพราะผูกติดอยู่กับบ้าน ที่คนทั่วไปก็มักจะทำทุกทางเพื่อรักษาไว้ ไม่ยอมให้หลุดมือไป ทุกอย่างดูจะไปได้ดี แต่ปัญหาก็เกิดขึ้น
จากความดึงดูดในผลตอบแทนของ MBS ทำให้ธนาคารเริ่มหย่อนมาตรการในการปล่อยกู้สินเชื่อบ้านลงมากจนมีลูกหนี้ที่ไม่ดีจำนวนมาก
จำนวนหนี้ด้อยคุณภาพ (ซับไพร์ม) สูงขึ้นมากในช่วงก่อนปี 2008
และซ้ำร้ายก็ยังได้สร้างสินทรัพย์ที่มีการแบ่ง MBS ออกมาขายรอบที่สองรอบที่สามต่อไปอีก ที่เราเรียกกันว่า CDOs (Collateralized debt obligations) โดยอาจจะอธิบายอย่างง่ายของสิ่งที่เกิดขึ้นก็ คือ
- คนที่ซื้อ MBS ก็ได้ทำการพนันว่าคนที่ถือสินเชื่อบ้านจะไม่เบี้ยวหนี้ แล้วเขาจะได้เงิน (ซึ่งถ้าคนที่กู้เงินบ้านไม่เบี้ยวหนี้ก็จะไม่มีปัญหาแต่ธนาคารดันปล่อยสินเชื่อง่ายเกินไป)
- คนที่ซื้อ CDOs ก็ได้ทำการพนันว่าคนทื่ถือ MBS จะได้เงิน แล้วเขาจะได้เงิน
- คนที่ซื้อ CDOs ที่ทำจาก CDOs รอบแรกอีกที ก็พนันว่า CDOs รอบแรกจะได้เงิน
ต่อกันไปเป็นทอดๆ ทำให้มูลค่าของตลาดนี้ทั้งหมดสูงขึ้นไปกว่าตลาดบ้านอย่างเดียวมหาศาล และเมื่อฟองสบู่ในตลาดบ้านเกิดแตกขึ้นมาจริงๆ ผู้คนที่ถือสินทรัพย์ต่อๆ มาทั้งหมดก็ได้รับผลกระทบด้วย รวมถึงสถาบันการเงินจำนวนมาก แต่กรณีโด่งดังที่สุดก็คือ การฟ้องล้มละลายของ Lehman Brother ที่เป็นวาณิชธนกิจ (Investment Bank) ขนาดใหญ่ที่ก่อตั้งตั้งแต่ปี 1847
Lehman Brother วาณิชธนกิจขนาดใหญ่ที่ล้มละลายจากวิกฤติการเงินปี 2008 - Oli Scarff/Getty Images.
📌 บทบาทของที่พึ่งสุดท้าย (The lender of last resort)
ก่อนหน้าวิกฤติปี 2008 ธนาคารกลางได้ชื่อว่าเป็น “ที่พึ่งสุดท้าย (The lender of last resort)” เพราะปกติพวกเขาจะไม่เข้ามาแทรกแซงระบบเศรษฐกิจมากจนเกินไป จะคอยดูแลเพียงภาพรวมกว้างๆ ของดอกเบี้ย ปริมาณเงิน เงินเฟ้อ และ GDP
2
แต่ในวิกฤติครั้งนี้แม้ธนาคารกลางสหรัฐในยุคของเบอร์นันเก้ (The Federal Reserve: The Fed) จะปรับลดดอกเบี้ยลงไปตามติดศูนย์อย่างที่ไม่เคยทำมาก่อนในประวัติศาสตร์แล้ว เศรษฐกิจอเมริกาก็ยังดูจะไม่กระเตื้องขึ้นมา ปัญหาความตื่นตระหนกและความเชื่อมั่นของผู้คนที่ตกต่ำก็ยังคงอยู่จนระบบการเงินไม่สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างสะดวก จนธนาคารกลางสหรัฐต้องนำนโยบายการเงินแบบนอกกรอบ (Unconventional Monetary Policy) มาใช้
ในวิกฤติซับไพร์มเป็นครั้งแรกที่ธนาคารกลางสหรัฐปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดขอบศูนย์แต่ก็ยังไม่พอจะกระตุ้นเศรษฐกิจ
นโยบายที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่ถูกนำมาใช้ในสหรัฐครั้งแรกในยุคของเบอร์นันเก้ และก็ได้นำกลับมาใช้ในวิกฤติเศรษฐกิจจากโควิดในปัจจุบันด้วยก็คือการทำ Quantitative Easing (QE) ที่ในตอนนั้นได้เข้าซื้อทั้งพันธบัตรและ MBS ที่เป็นสินทรัพย์จากบ้านที่มีปัญหา เพื่อลดอัตราดอกเบี้ยในตลาด รวมถึงเพื่อสภาพคล่องในระบบ ถึงสามระยะด้วยกัน โดยในระยะที่สามถึงขั้นไม่ได้กำหนดขอบเขตการทำที่ชัดเจน จนถูกเรียกว่า “Infinite QE” รวมเบ็ดเสร็จทั้งสิ้นเป็นมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังเห็นได้จากขนาดของ Balance Sheet ของ Fed ที่พุ่งขึ้นสูงและยังไม่เคยกลับไปสู่ระดับเดิมก่อนหน้าวิกฤติครั้งนั้นได้เลย
การทำ QE ครั้งแรกของสหรัฐ เกิดขึ้นในสมัยของเบอร์นันเก้ จนทำให้ balance sheet พุ่งขึ้นสูงกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนั้น ในยุคสมัยของเบอร์นันเก้ ยังมีการทำ Bailout เข้าไปช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติ กรณีที่โด่งดังก็ คือ การช่วยเหลือให้ JP Morgan สามารถเข้าซื้อ Bear Stearns ที่เป็นอีกหนึ่งวาณิชธนกิจขนาดใหญ่อีกแห่งที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก และการเข้าไปช่วยให้เงินกู้กับ AIG ที่เป็นบริษัทประกันที่สำคัญ
ที่การเข้าไปช่วยเหลือสถาบันการเงินแบบนี้ ก็ถูกโจมตีอย่างมากจากหลายฝ่ายว่า เป็นการช่วยเหลือคนที่ทำผิดโดยอาศัยเงินจากภาษีประชาชนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ด้วย ซึ่งทางเบอร์นันเก้เองก็เคยตอบคำถามในประเด็นนี้หลายครั้งถึงแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังการช่วยเหลือสถาบันการเงินใหญ่ๆ เหล่านี้ อย่างเช่นในครั้งที่เขาได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ “60 Minutes” เบอร์นันเก้บอกว่า “สิ่งที่ธนาคารกลางทำตอนนั้น คือ การพยายามควบคุมไฟไหม้บ้านที่กำลังจะลามไปสู่ส่วนอื่น แล้วค่อยมาตั้งกฎเกณฑ์กันทีหลังว่า จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้แบบนี้ขึ้นอีก” ซึ่งแนวทางการป้องกันไฟลามแบบนี้ก็มีอิทธิพลต่อการทำนโยบายการเงินในยุคต่อมาอย่างมาก
1
📌 บทเรียนจากวิกฤติที่กลายมาเป็นคู่มือเศรษฐศาสตร์การเงินยุคใหม่
บทบาทของธนาคารกลางสหรัฐในยุคนั้นกลายมาเป็นบทเรียนที่สำคัญต่อแนวคิดของเศรษฐศาสตร์การเงินยุคใหม่อย่างมาก
บทเรียนแรก คือ การดูแลรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินอย่างรอบคอบผ่านนโยบายที่เรียกว่า Macroprudential ที่ธนาคารกลางไม่ได้พิจารณาแค่เศรษฐกิจมหภาคอย่างเดียว และก็ไม่ได้ดูแค่การดำเนินงานของแต่ละสถาบันการเงินอย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาด้วยว่าการดำเนินงานของแต่ละสถาบันการเงินอาจจะส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมได้อย่างไร ทั้งในแง่เสถียรภาพระบบการเงิน และเสถียรภาพสถาบันการเงิน
บทเรียนที่สอง คือ การเตรียมความพร้อม เพื่อจัดการกับปัญหาความตื่นตระหนกและความเชื่อมั่นของผู้คนในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่อาจจะเกิดขึ้นอีกได้ ที่ต้องมีการสร้างกฎเกณฑ์และเครื่องมือที่พร้อมรับสถานการณ์เหล่านั้น
และบทเรียนที่สาม คือ เรื่องของความโปร่งใสและการสื่อสารนโยบายที่ชัดเจนไปข้างหน้า (Forward Guidance) ที่กลายมาเป็นหนึ่งแนวทางการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลกที่แม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ใช้ โดยในยุคสมัยของเบอร์นันเก้นี่เองที่ธนาคารกลางมีการจัดแถลงข่าวกับสื่อมวลชนรายไตรมาสครั้งแรก และก็ยังมีการนำเป้าหมายเงินเฟ้อที่สหรัฐไม่เคยใช้มาก่อน มาใช้ในปี 2012 ซึ่งเป็นการยอมทิ้งความยืดหยุ่นในการปรับดอกเบี้ยเพื่อ GDP แต่แลกมาด้วยการสร้างการสื่อสารกับประชาชนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นแทน
การตอบจัดแถลงต่อสื่อมวลชนครั้งแรกของเบอร์นันเก้เพื่อช่วยเพิ่มความโปร่งใสและการสื่อสารกับประชาชน เครดิตภาพ : C-Span 3
สำหรับพรุ่งนี้ ในตอนสุดท้ายของซีรี่ย์ประธานธนาคารกลางสหรัฐ เราจะพาทุกท่านไปพบกับประธานคนใด ฝากติดตามกันด้วยครับ
#Ben_Bernanke #FED #FederalReserves
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
โฆษณา