1 ต.ค. 2021 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
บ้านเมืองของเรามีพื้นฐานมาจาก : อยุธยา-กรุงเทพฯ "เมืองลอยน้ำ"
การสร้างบ้านแปงเมืองกรุงเทพฯนั้น อาจารย์ศรีศักรเริ่มต้นจากทบทวนการสร้างบ้านแปงเมืองของกรุงศรีอยุธยาอีกรอบและขยายความเพิ่มว่า อยุธยานั้นตัวเมืองอยู่กับน้ำ น้ำทุกสายวิ่งเข้าอยุธยา แต่น้ำเหล่านี้จะถูกกระจายไปตามทุ่งรอบๆหมดและตามคลองต่างๆ เพราะฉะนั้นระดับน้ำในตัวเมืองอยุธยาจึงไม่สูง รวมทั้งน่าสนใจในเรื่องผังเมืองมาก โดยในช่วงที่โปรตุเกสเข้ามามีการสร้างกำแพงสูงแบบตะวันตกและมีการขุดคลองผ่าน ผังเมืองเปลี่ยนในตอนนั้น ส่วนการย้ายเมืองของกรุงศรีอยุธยาคือการย้ายที่ทำการเหมือนกับธนบุรีย้ายมากรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเพียงการย้ายวัง แต่ชุมชนดั้งเดิมก็ยังอยู่
เมื่อมีการย้ายที่ทำการเมืองใหม่ ชุมชนแห่งใหม่ที่เกิดขึ้นจึงอยู่รอบๆบึงพระรามที่เรียกว่าหนองโสน เหตุที่ย้ายมาบริเวณนี้เพราะเป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ การสร้างบ้านแปงในเมืองสมัยก่อนน้ำอุปโภคบริโภคเป็นเรื่องสำคัญที่สุด จึงเกิดเมืองรอบๆ และพระราชวังก็อยู่บริเวณวัดพระราม
อยุธยาไม่มีแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะลำน้ำนี้ไม่ได้เรียกเจ้าพระยาแต่เรียกลำน้ำบางแก้ว ถัดไปเป็นลำน้ำน้อย พอมาสมัยพระบรมไตรโลกนารถก็มีการขุดคลองสระบัวเชื่อมลำน้ำลพบุรี เป็นการเชื่อมชุมชน มีการสร้างกำแพงเมืองล้อมรอบซึ่งมีหน้าที่กันไม่ให้น้ำท่วม โดยน้ำจะท่วมที่ชานเมืองนอกกำแพงเท่านั้น
แต่พื้นที่ชานเมืองถัดจากกำแพงที่โดนน้ำท่วมนี้คือพื้นที่เศรษฐกิจจึงประกอบด้วยบ้านเสาสูงและเรือนแพมากมาย เวลาน้ำมากก็ถูกกำแพงกั้นไว้ให้ท่วมบริเวณนี้แล้วระบายน้ำด้วยคลองต่างๆ มีช่องประตูปิดเปิดโดยใช้ระบบกำลังของน้ำโดยสร้างเป็นระหัดและเกิดเป็นระบบประปาโบราณ
“น่าสลดใจมาก ก่อนน้ำท่วมได้ไปดูกำแพงโบราณซึ่งถูกไถเป็นถนนตั้งแต่สมัยพระยาโบราณ หรือราวรัชกาลที่ ๕ แต่ตอนหลังถูกไถมากกว่านั้น วันที่ออกมาจากอยุธยาน้ำก็เข้ามาทางวัดท่าทราย ทะลวงเรียบร้อย พังทันทีและเร็วด้วย ซึ่งเดิมอยุธยาน้ำไม่ท่วมเพราะกระจายสู่ทุ่งหมด แต่พอสร้างอะไรรอบๆ บ้านจัดสรรเต็มไปหมดที่ทุ่งภูเขาทอง กั้นน้ำแหลกเลย นี่คือสิ่งเกิดขึ้นซึ่งสมัยก่อนเขาอยู่กับน้ำและน้ำไม่สกปรก”
อาจารย์ศรีศักร เล่าว่า ในอดีตฤดูน้ำเป็นฤดูนักขัตตฤกษ์จึงมีการเล่นสักวากัน ตรงนี้ทำให้เห็นภาพวัฒนธรรมว่าเป็นอย่างไร และมีวรรณกรรมอยุธยาในยุคแรก ๓ เรื่องด้วยกันที่อยากให้ได้ศึกษา เรื่องแรกคือกำสรวลสมุทร เรื่องที่สองคือทวาทศมาส เรื่องที่สามคือลิลิตยวนพ่าย เขาจะบันทึก Place Name ต่างๆ ที่คนในอยุธยาเขาสร้างขึ้นในแต่ละยุคสมัย
อย่างกำสรวลสมุทรหรือที่เรียกกำสรวลศรีปราชญ์เกิดขึ้นในสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ซึ่งเจริญในเรื่องวรรณกรรมมาก พูดถึงการเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยาลงมาตามลำน้ำเจ้าพระยา โดยเล่าว่าล่องผ่านเกาะเรื่อยมามาถึงเกาะใหญ่ราชครามจนเข้ากรุงเทพ ผ่านบางบำหรุ บางระมาด ไปออกแถวๆดาวคะนอง ดังนั้นจะได้ตำแหน่งชื่อเก่าๆ เช่น ชุมชนเกียนสวายที่เดี๋ยวนี้คือวัดเทียนถวาย วัดราชาธิวาสก็คือวัดทมอราย ซึ่งทมอรายเแปลว่าภูเขา ส่วนเกียนสวายคือหมู่บ้านมะม่วงหรือบ้านม่วง เหล่านี้คือ Place Name ที่บอกว่าแถวนี้คือหมู่บ้านเก่า ชุมชนเก่ามีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีชุมชนที่เรียงรายตามริมน้ำ
แต่สังเกตว่า แม่น้ำอ้อมใกล้ปากน้ำเป็นทางออกทะเลจะไม่มีการขุดคลองลัด เพราะสภาพนิเวศกรุงเทพเป็นดินลัดจืดลัดเค็มเหมาะแก่การทำสวน หากขุดคลองจะทำให้น้ำทะเลหนุน ปลูกพืชไม่ได้
แต่เมื่อมาถึงสมัยอยุธยาตอนปลายเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงถ้าอ่านตามจดหมายเหตุของเดอ ลาลูแบร์ โดยมีบ้านใหม่ โบราณสถานใหม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่เรียกว่าสามโคก ซึ่งแต่ก่อนนั้นไม่มีเพราะเมืองอยู่ทางด้านตะวันออก มีแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำอ้อม มีคลองตัด ต่ำลงมามีเกาะธรรมชาติ ตั้งแต่เกาะเรียน เกาะบางปะอิน เกาะเกิดเรื่อยมา จนถึงเชียงราก มันมีลำน้ำอ้อมลำหนึ่งเรียก เกร็ดใหญ่โดยมีคลองเชียงรากขุดลัดสมัยพระเจ้าทรงธรรม
อาจารย์กล่าวว่าเส้นทางนี้เป็นเส้นทางล่องลงมากรุงเทพ จากนั้นจึงอธิบายสภาพต่างๆว่า จากภาพถ่ายทางอากาศ แม่น้ำเจ้าพระยาผ่านเกาะท้ายสุด คือ เกาะใหญ่ราชคราม เป็นเกาะธรรมชาติกลางน้ำต่ำลงมาจากเกาะเกิดซึ่งใหญ่ยาวเกือบ ๒ กิโลเมตร มีชื่อปรากฏในกำสรวลสมุทร และสุนทรภู่ก็เคยเขียนโคลงไว้ว่าแม่น้ำมันแยกออกเป็นสองแคว
บริเวณนี้เป็นเขตที่เรียกว่าลานเทซึ่งมันต่ำ เป็นบริเวณจากแม่น้ำน้อยกับแม่น้ำเจ้าพระยาสบกัน ซึ่งคนสมัยก่อนไม่ค่อยกล้าผ่าน เพราะพายุมันแรง เรือจึงล่มแถวๆนี้มาก เกาะราชครามปัจจุบันมีศูนย์ศิลปาชีพของสมเด็จพระราชินี ในอดีตต้องเลาะริมน้ำมาบริเวณนี้ แต่สมัยรัชกาลที่ ๕ อาศัยคลองเปรมประชากรหลีกเส้นทางนี้ โดยลานเทคือชื่อที่บอกให้ระวัง ทั้งมีโจรผู้ร้ายหรือสลัดน้ำจืดเยอะ ต่ำจากตรงนี้จะเห็นวัดมอญ ย่านชุมชนมอญ ซึ่งเข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เพราะหลังขุดคลองเกร็ดใหญ่เรียบร้อยแล้วก็เกิดชุมชนขึ้นริมแม่น้ำอ้อมหรือคลองลัดเรียกว่าสามโคก ชุมชนมียาวไปถึงปทุมธานี ซึ่งตัวลำน้ำอ้อมเป็นท้องทุ่งเทน้ำลง มีกอบัวมากมาย สมัยรัชกาลที่ ๒ สุนทรภู่เขียนไว้ว่า
ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า พุทธเจ้าบำรุงซึ่งกรุงศรี
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว
ความสำคัญของสามโคกคือหลังจากสมเด็จพระนารายณ์ขุดคลองแล้วก็ให้พวกมอญมาอยู่ปั้นหม้อจึงเกิดสามโคกขึ้นเป็นบ้าน เป็นเมือง เป็นอุตสาหกรรมขึ้นมา แถวนี้มีวัดเก่ามากมาย ถ้าเป็นวัดมอญจะมีเจดีย์ข้างหน้า ตอนสุนทรภู่ผ่านก็แอบนินทา สนุกถ้าอ่านนิราศเพราะจะเห็นว่าคนเขาอยู่กันอย่างไร เช่นว่า บ้านขวางเหมือนดังคนขวาง ผู้หญิงมอญจะทำตากุ้งยิงเพราะนุ่งผ้าถุงแหวกดังเขียนว่า “ก้าวย่างสว่างวาบ” เป็นต้น
นอกจากนี้ ถ้าอ่านนิราศของสุนทรภู่จะเห็นว่าช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้นมีคลองเท่าไหร่ จากงานศึกษาที่เกาะใหญ่ราชครามเป็นต้นไปจะพบว่ามีคลองซอยมากมายโดยมีลำน้ำเจ้าพระยาเป็นแกน คลองซอยสั้นๆนี้มีนับไม่ถ้วน เพราะเป็นการกระจายชุมชนไปจนถึงนนทบุรี แหล่งอาศัยจะไปตามคลองเล็กๆแล้วเทน้ำออกทางท้องทุ่ง ดังนั้น จึงจะเห็นว่ากรุงเทพฯพัฒนามาจากสองฝั่งน้ำเจ้าพระยาโดยตรงแล้วขุดคลองแยกออกไปถึงนนทบุรี
ต่ำลงมาจากเกร็ดใหญ่หรือคลองเชียงรากลงมาจะมีเกร็ดน้อย คือ ปากเกร็ด ซึ่งเกิดจากการขุดคลองลัดสมัยพระเจ้าท้ายสระ ถิ่นฐานมอญก็ต่อเรื่อยมาจนถึงปากเกร็ด เดิมบริเวณนี้มีแม่น้ำอ้อมก่อนถึงวัดเฉลิมพระเกียรติ คือเป็นปากคลองอ้อมผ่านมาถึงบางใหญ่ต่อมาถึงบางกรวยแล้วออกหน้าวัดเขมาภิตราราม ตรงนี้เป็นคลองขุดทำให้เกิดเป็นเกาะ ดังนั้นก็คือ เกร็ดใหญ่ก็เกาะ เกร็ดน้อยก็เกาะ
เกาะใหญ่อีกแห่งคือบางกรวย บางใหญ่ พื้นที่เกาะนี้ทำให้เกิดนิเวศชาวสวนเพราะดินดี สมัยโบราณเวลาเดินทางต้องอ้อมก่อนที่จะขุดคลองลัดนี้ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง นนทบุรีจึงเกิดขึ้นสองฝั่งคือเมืองที่เรียกว่า ตลาดแก้ว ตลาดขวัญ และเป็นนิเวศชาวสวน วัดก็เรียงรายสองฝั่งน้ำ บ้านเมืองที่เกิดขึ้นก็เกิดจากคลองขุดทั้งสิ้น
เมื่อผ่านบางใหญ่มาบางกรวย ออกตรงบริเวณหน้าวัดเขมาฯก็เข้าสู่ลำน้ำธรรมชาติ ผ่านพระรามหก มาถึงปากคลองบางกอกน้อยก็ผ่านแม่น้ำอ้อมอีกแห่งหนึ่ง อ้อมผ่านคลองชักพระ บางระมาด ไปออกคลองบางหลวง แม่น้ำอ้อมตรงนี้มีการขุดคลองลัดเก่าที่สุด ขุดในสมัยพระชัยราชาธิราช เป็นคลองลัดบางกอกทำให้เกิดเกาะบางกอกขึ้นมา
ดังจะเห็นว่า ในกำสรวลสมุทรซึ่งเป็นวรรณคดีสมัยต้นกรุงไม่เคยพูดถึงบางกอก เรือที่มาจากอยุธยาผ่านเข้าคลองบางกอกน้อยไปตามลำคลองเก่า แต่ออกทางไปดาวคะนอง ก่อนถึงคลองด่าน ตรงนั้นมันมีมาก่อนการขุดคลองลัดในสมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราช คลองลัดนี้ขุดผ่านบริเวณธรรมศาสตร์และศิริราชในปัจจุบันทะลุไปออกปากคลองบางหลวง หน้าวัดอรุณราชวรมหาวิหาร กลายเป็นกรุงเทพฯ ธนบุรี นี่คือความเปลี่ยนแปลง
“เวลาเราพูดถึงบางกอกหรือบางเกาะมันมีคำถามเกิดขึ้น ชาวต่างประเทศบันทึกว่าบางเกาะ แต่เราไปตีความว่าบางกอก เลยกลายเป็นบางกอกหมด ซึ่งส่วนตัวไม่คิดว่ามีต้นมะกอก เพราะเป็นป่าชายเลน น่าจะมีต้นลำพูมากกว่า แต่ถิ่นฐานจะเกิดขึ้นตรงนี้ จากภาพความเปลี่ยนแปลง” อาจารย์ศรีศักรกล่าว
1
สำหรับวัดสำคัญที่เก่าที่สุดในฝั่งธนบุรี อาจารย์ศรีศักรประเมินว่าน่าจะเป็น วัดปรางค์หลวง ที่บางใหญ่ ซึ่งสัมพันธ์กับคลองบางกรวยบางใหญ่ เป็นพระสถูปบรมธาตุ ซึ่งสร้างสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ลงมาถือเป็นเป็นปรางค์ที่เก่ามาก อายุต่ำลงมาคือปรางค์วัดระฆังโฆษิตาราม ก็เป็นสมัยอยุธยาตอนต้น แต่เผอิญวัดมากลายเป็นพระบรมธาตุที่สำคัญสำหรับกรุงธนบุรีในระยะแรก แล้วมาพัฒนาต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๑
สำหรับทางเดินออกทะเล จากการเสด็จของพระเจ้าเสือทำให้รู้ว่าไม่ได้ผ่านไปทางแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งเส้น แต่ผ่านไปทางคลองด่าน แถวคลองโคกขาม จึงมีเรื่องพันท้ายนรสิงห์ขึ้น หลังเหตุการนี้ไปแล้วจึงให้ฝรั่งมาช่วยขุดเป็นคลองมหาชัยไปเชื่อมแม่น้ำท่าจีน ส่วนสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้ขุดคลองมหาสวัสดิ์และคลองภาษีเจริญเชื่อมระหว่างแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำเจ้าพระยา
การสร้างบ้านแปงเมืองของกรุงเทพในระยะต้นๆนั้นเน้นทางตะวันตกคือฝั่งธนบุรี ไม่ได้เน้นเข้ามาทางด้านตะวันออก ส่วนแม่น้ำบางปะกงที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาคือคลองสำโรง ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น คือครั้งลอกคลองสำโรงก็พบเทวรูปเขมร แต่คลองสำโรงคิดว่าไม่ได้ออกแม่น้ำบางปะกง เพราะจะไม่เชื่อมแม่น้ำใหญ่ภายหลังจึงขุดเพิ่มขึ้น
เส้นทางที่เกิดการสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นมา แถบปากน้ำเรียกบางเจ้าพระยา ก่อนหน้านั้นแม่น้ำสายนี้ไม่มีชื่อ ฝรั่งก็เรียกเพียงแม่น้ำ แต่สมัยก่อนลำน้ำเป็นพื้นที่ของแต่ละถิ่นจึงน่าจะมีชื่อเรียกของแต่ละถิ่น ดังจะเห็นได้จากลำน้ำสุพรรณบุรี ต้นน้ำชื่อคลองมะขามเฒ่า ผ่านสุพรรณก็เรียกแม่น้ำสุพรรณบุรี ถัดลงมาคือแม่น้ำนครชัยศรี ปลายน้ำคือแม่น้ำท่าจีน เป็นต้น
“ลำน้ำนี้ก็เช่นกัน ปลายน้ำคือเจ้าพระยา แต่รัชกาลที่ ๕ เปลี่ยนเป็นชื่อแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดสาย ตรงนี้สำคัญ เพราะน้ำที่ผ่านแต่ละช่วงมันผ่านถิ่น แต่ละถิ่นเป็นนิเวศของเขาเพราะฉะนั้นต้องดูแลกันเอง คนในท้องถิ่นเขาแชร์ทรัพยากรร่วมกันสองฝั่งน้ำ ประเพณีวัฒนธรรมเกิดขึ้นตรงนี้”
คลองสมัยรัชกาลที่ ๕ ตัดเป็นแนวตั้งแนวนอนใช้เพื่อการเกษตรมาก ส่วนชุมชนก็เรียงรายไปตามประเพณีเดิม มีวัดเป็นศูนย์กลาง แต่ปัจจุบันพื้นที่เปลี่ยนไปแล้ว อย่างไรก็ตาม อาจารย์ศรีศักรชี้ว่า กรุงเทพฯกับธนบุรีคือเมืองเดียวกัน เพียงแต่ Seat of Power เปลี่ยน รัชกาลที่ ๑ ทรงเปลี่ยนมาอยู่บริเวณพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นที่โล่ง และขุดคลองบางลำพูเป็นคลองเมืองก็เกิดถนนราชดำเนินใน ต่อมาขยายออกไปเป็นราชดำเนินกลาง ราชดำเนินนอก และขยายกว้างออกไปมาก
ที่สนใจก็คือมีคลองหลอดที่เชื่อมกับฝั่งธนบุรี ฝั่งธนบุรีคูเมืองหายไปกลายเป็นสวนรถไฟไปหมด ความเก่าของธนบุรีมันหายไป คนไม่รู้ว่าธนบุรีคืออะไร ซึ่งคลองหลอดที่จริงเสมือนกำแพงเมืองธนบุรี แต่เวลาเรียนประวัติศาสตร์กรุงเทพไม่เคยพูดถึงตรงนี้
“หากพูดถึงประวัติศาสตร์กรุงเทพฯตรงนี้คือจำลองอยุธยาเข้ามา ความเป็นกรุงเทพธนบุรีซ้อนให้เห็นจากวัด สมัยรัชกาลที่ ๓ Landscape อยู่ที่วัดอรุณ พอฝรั่งเข้ามาเขาไม่เห็นกรุงเทพหรอกแต่เห็นจากตรงนี้ มันเป็นสองฝั่งน้ำโดยตลอด ตัวกรุงเทพฯน้ำจะไม่ท่วมเพราะมีกำแพงเหมือนอยุธยาและมีคลองขุดตัดไปมาเพื่อระบายน้ำคล้ายกัน และเหมือนอยุธยาที่มีชานพระนคร ซึ่งเมืองอื่นไม่มี แต่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ อย่างที่หน้าวัดบวรนิเวศฯ กำแพงเมืองยังมีและถัดไปยังมีชานพระนครอยู่ มีบ้านเรียงรายไปตลอด บ้านเก่าก็มีอยู่ใกล้ๆภูเขาทองเป็นบ้านเสาสูง คนก็อยู่ตรงนั้น แต่ถ้าคนบอกว่ากรุงเทพสวย อย่าไปเชื่อ สกปรกมาก อยุธยาก็สกปรก น้ำคลำก็มี เวลาเขาพูดเขาพูดในวรรณคดี เมื่อก่อนหน้าวัดบวรฯหน้าแล้งนี่ดำเลย มีตัวสงกรานต์เต็มไปหมด แต่เวลาหน้าน้ำใส มันมีการระบายของมันอยู่”
อาจารย์ศรีศักร ยังสันนิษฐานว่า รัชกาลที่ ๓ เป็นผู้ขยายความสำคัญของกรุงเทพมาด้านตะวันออก โดยมีการสร้างเจดีย์ภูเขาทองขึ้นเป็น Land Mark แต่ไม่สำเร็จในตอนนั้น พอมาถึงรัชกาลที ๔ ก็สร้างคลองผดุงกรุงเกษมขึ้น ถึงยุคนี้ไม่มีกำแพงเมืองแล้ว ความเป็นกรุงเทพก็เกิดขึ้นตอนนี้ พอเข้าสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีถนนขยายออกไป แม่น้ำลำคลองเริ่มคลายความสำคัญ ย่านที่อยู่อาศัยแบบใหม่เกิดขึ้นมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ กรุงเทพฯ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่๕ คือ New Siam แต่ความเป็น Old Siam ยังอยู่ด้านธนบุรี และคงเปลี่ยนแปลงเมื่อไม่นานมานี้เอง
ทั้งนี้ อาจารย์ศรีศักร ระบุว่า สาเหตุที่น้ำท่วมด้านฝั่งตะวันออกเพราะเราไม่เข้าใจระบบทางเดินของลำน้ำป่าสัก ซึ่งน้ำที่ผ่านจากสระบุรีมาสู่วังน้อยนั้นมากเหลือเกิน แต่เราไม่คำนึงถึงโดยมองเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา รักษาเฉพาะน้ำที่มาจากเจ้าพระยา และผันไปทางตะวันออกยากเพราะเป็นที่สูง ดังนั้นน้ำจากป่าสักลงมามันก็ถล่ม ตรงนี้ถ้าไม่เข้าใจ Landscape โบราณ จะจัดการไม่ได้
อีกประเด็นหนึ่ง อาจารย์ศรีศักรพูดถึงสาเหตุที่ในอดีตไม่ขุดคลองลัดที่บางกระเจ้าทั้งๆที่ขุดที่อื่นได้ ซึ่งเรื่องนี้สำคัญ เพราะถ้าขุดคลองลัดที่บางกระเจ้าจะทำให้น้ำเค็มเข้าทำลายพื้นที่สวนของกรุงเทพ - ธนบุรี จนถึงบางใหญ่ บางกรวย ซึ่งพื้นที่นี้สำคัญเพราะเป็นดินลัดจืดลัดเค็ม พันธุ์ไม้เกิดขึ้นตรงนี้มาก ดังนั้น กรุงเทพจึงไม่ใช่นิเวศวัฒนธรรมของคนทำไร่ทำนา แต่เป็นเรื่องของชาวสวนและชาวประมง เพราะต่ำจากกรุงเทพเป็นเขตป่าชายเลนตลอด เป็นการตั้งถิ่นฐานของคนที่มาจากถิ่นอื่น เช่นที่บ้านขุนสมุทรจีนเป็นตัวอย่างการตั้งถิ่นฐานของคนจีนที่เข้ามาในกรุงเทพฯ ลูกหลานคนจีนที่อยู่นานๆเข้าก็เป็นชาวสวน ดังนั้นสวนกรุงเทพ ธนบุรีเมื่อนานๆเข้าก็เป็นการเข้ามาจากคนกลุ่มใหม่ทางตอนใต้ของจีนอย่างกวางตุ้ง กวางสี
เมื่อมาแล้วจึงเกิดการทำสวนแบบยกร่องขึ้น นอกจากนี้พืชพันธุ์ไม้ต่างๆอย่างมังคุด ทุเรียน ลางสาด เงาะ ไม่ใช่พันธุ์ไม้ท้องถิ่นแต่มาจากที่อื่น ทว่า มีกล่าวถึงตั้งแต่ในกำสรวลสมุทรแล้ว
“ถิ่นฐานตั้งแต่ปากน้ำ แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา จนถึงบางปะกงเป็นถิ่นฐานของคนจีน แล้วเกิดลูกหลานและชุมชนชาวสวน แต่ตรงนี้เราก็ไม่ได้ศึกษา ตอนนี้สวนในคือสวนธนบุรี กรุงเทพพังแล้ว ส่วนสวนนอกกำลังจะพัง ซึ่งถ้าจะศึกษานิเวศวัฒนธรรมของคนทำสวนต้องไปที่แม่น้ำแม่กลอง จะยังเห็นระบบเขาชัดเจนมาก”
ติดตามบทความ วิดีโอ และรายการต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่
โฆษณา