30 ก.ย. 2021 เวลา 17:12
🏵...เบญจมาศบานเดือนเก้า ความงามดุจดรุณีแรกรุ่น คล้องกิ่งจูอี๋ว์ ดื่มสุรารสดีแช่ดอกเบญจมาศ...🏵
เทศกาลฉงยาง (重阳节) หรือตามสำเนียงแต้จิ๋วว่า "ถ่งเอี๊ยงโจ็ยะ" เดิมนั้นเป็นเทศกาลใหญ่ทางตอนเหนือของจีน ส่วนทางตอนใต้แถบมณฑลฮกเกี้ยน กวางตุ้ง ไหหลำ นั้นนับเป็นเทศกาลขนาดเล็ก ในหนังสือเทศกาลจีนและการเซ่นไหว้ของ อ.ถาวร ได้กรุณาแปลความไว้ว่าเป็นเทศกาล "ซ้อนหยาง" เนื่องด้วยคนจีนในสมัยโบราณนั้นแบ่งเลขออกเป็น 2 กลุ่มหลักคือ เลขฝั่งหยินได้แก่เลขจำนวนคู่ และเลขฝั่งหยางซึ่งเป็นเลขจำนวนคี่ ในจำนวนทั้งหมดนั้นเลข 9 นับเป็นเลขหยางสูงสุด ดังนั้นวัน 9 ค่ำ เดือน 9 จึงนับเป็นเท่าทวีคูณ กลายเป็นวันที่เรียกว่า "ฉงหยาง (重阳) - หยางซ้อนหยาง" อันเป็นที่มาของชื่อเทศกาลนี้ นอกจากนี้ยังเรียกวัน 9 ค่ำเดือน 9 ว่าวัน "ฉงจิ่ว(重九)" แปลว่า เก้าซ้อนเก้า ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า “ยืนยาว” (久久) อันมีนัยยะแสดงถึงความมีอายุยืนยาว 👶🧓
ดังนั้นในปี พ.ศ.2532 รัฐบาลจีนจึงได้ประกาศให้เทศกาลฉงหยางนั้นเป็นเทศกาลผู้สูงอายุ (老人节) จนกระทั่งปี พ.ศ.2549 เทศกาลฉงหยางจึงได้รับการยกย่องเป็นมรดกวัฒนธรรมระดับชาติร่วมกับเทศกาลอื่นๆ เนื่องด้วยเป็นเทศกาลที่มีสารัตถทางสังคมและวัฒนธรรมของจีนแฝงอยู่เป็นอย่างมาก กิจกรรมที่สำคัญและมักจะทำกันในช่วงเทศกาลฉงหยางก็คือ การขึ้นที่สูง ชมดอกเบญจมาศ เสียบใบจูอี่ว์ และดื่มสุราแช่ดอกเบญจมาศ เป็นต้น จากงานเขียนของจางจวิน ในหนังสือเรื่อง "ประเพณีลี้ลับในเทศกาล" ได้สันนิษฐานเอาไว้ว่า เทศกาลฉงหยางที่จัดขึ้นในวัน 9 ค่ำนั้น คงมีต้นกำเนิดมาจากแคว้นฉู่ในยุครณรัฐ (战国 : ราวปี พ.ศ.68 - 323) ซึ่งมีกิจกรรมอันสื่อถึงความสวัสดิมงคลหลายประการ โดยกิจกรรมหลักคือ "การขึ้นที่สูง" ในสมัยโบราณนิยมการไปปีนเขา ซึ่งถือว่าเป็นการเที่ยวชมชนบทเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่ฤดูหนาวจะมาถึง ❄🌨❄
เนื่องจากเดือน 9 เป็นเดือนที่ต้องเตรียมตัวรับมือกับอากาศที่จะหนาวขึ้นและอาจนำพาโรคภัยต่างๆมาด้วย คนจีนโบราณจึงถือว่าเดือน 9 นั้นเป็นเดือนร้ายเช่นเดียวกับเดือน 5 ซึ่งเป็นช่วงการรับมือฤดูร้อน และโรคภัยที่จะตามมาด้วยเช่นกัน ส่งผลให้วัน 9 ค่ำเดือน 9 จึงถือเป็นวันร้าย เช่นเดียวกับวัน 5 ค่ำ เดือน 5 ของเทศกาลตวนอู่ (端午节) หรือที่เรารู้จักในชื่อ "วันไหว้บะจ่าง" อนึ่งจากที่ได้กล่าวไปแล้วว่ากิจกรรมหลักในอดีตคือการปีนเขา ซึ่งช่วงเดือน 9 นี้ต้นไม้ใบหญ้าส่วนใหญ่จะเป็นสีเหลืองเนื่องจากเตรียมผลัดใบ ส่งผลให้มีสีเหลืองมากกว่าสีเขียวจึงถือเป็นการ "ลาเขียว : 辞青"ในเดือน 9 คู่กับการ "เหยียบเขียว : 踏青" ในเดือน 3 อันตรงกับช่วงเทศกาลเช้งเม้ง ซึ่งความสอดคล้องของทั้ง 2 เทศกาลนี้เองจึงทำให้เกิดเรื่องเล่าในเทพปกรณัมของจีนเกี่ยวกับเทพเจินอู่ (เสวียนอู่ : เฮี่ยงบู้,จิงบู้ ในสำเนียงแต้จิ๋ว) ☯️☯️
ตำนานเกี่ยวกับเทพเจินอู่ต้าตี้ หรือเสวียนอู่นั้นกล่าวว่า ท่านเกิด 3 ค่ำ เดือน 3 และสำเร็จเป็นเซียนละทิ้งสังขารในวัน 9 ค่ำ เดือน 9 นับเป็นหนึ่งในเทพปราบมารที่สำคัญของลัทธิเต๋า เทพเจินอู่ได้รับการเคารพเรื่อยมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัยจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ แห่งราชวงศ์หมิง ที่ทรงเลื่อมใสเทพเจินอู่เป็นอย่างมาก มีอารามมากมายที่สร้างขึ้นเพื่อบูชาเทพเจินอู่โดยเฉพาะ แม้กระทั่งในรัชสมัยจักรพรรดิซุ่นจื้อ แห่งราชวงศ์ชิงก็โปรดให้มีพิธีบูชาเทพเจินอู่ทุกครั้งเมื่อถึงวันพระราชสมภพของพระองค์ ณ ตำหนักเสี่ยนโย่วกง นอกประตูตี้อันเหมิน โดยพระองค์ทรงกระทำพิธีพร้อมเหล่าขุนนาง เพื่อขอพรให้พระองค์มีพระชนมายุยืนยาว อันแสดงนัยยะของเทพเจินอู่ว่าเป็นผู้รับหน้าที่ในการดูแลอายุขัยของมนุษย์ด้วยนั้นเอง ภาพลักษณ์ของเทพเจินอู่เป็นเทพเซียนอาวุโส มือถือพัดขนนกและกระบี่ ผมยาวสยาย เท้าซ้ายเหยียบเต่า เท้าขวาเหยียบงู 🐢🐍
จบเรื่องเทพปกรณัมของเทพเจินอู่ ก็ขอกลับมาที่เทศกาลฉงหยาง ในราชวงศ์ฮั่นนั้นปรากฏคำว่า "ฉงหยาง : 重阳" ครั้งแรกในกวีนิพนธ์ "เดินทางไกล (远游)" ของชีว์หยวน (屈原) เสนาบดีและนักประพันธ์ผู้มีชื่อเสียงในยุครณรัฐ และต้นกำเนิดของเทศกาลแข่งเรือมังกรในปัจจุบัน ซึ่งคำว่าฉงหยางที่ปรากฏในบทประพันธ์นั้นหมายถึงสวรรค์ทั้ง 9 ชั้น เรียกว่าฉงหยาง แต่ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับเทศกาลฉงหยางแต่อย่างใด และปรากฏเด่นชัดอีกครั้งในบันทึกเรื่องเบ็ดเตร็ดในละครตะวันออก ซึ่งนักวิชาการบางส่วนมีความคิดเห็นว่าเทศกาลฉงหยางน่าจะมีมาตั้งแต่ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (รางปี พ.ศ.337-551) โดยปรากฏความว่า
"...เจี่ยเฟ่ยหลาน นางข้าหลวงในรัชกาลฮั่นอู่ตี้ พอถึงวัน 9 ค่ำ เดือน 9 คล้องกิ่งจูอี่ว์ กินเฟิงเอ่อร์ จิบสุราดอกเบญจมาศ นางบอกว่า ทำให้อายุยืน เป็นประเพณีสืบทอดมาแต่โบราณ ไม่ทราบต้นกำเนิด" 🍶🍂🏵
บันทึกที่เก่าที่สุดเกี่ยวกับวัน 9 ค่ำ เดือน 9 นั้นปรากฏอยู่ในบันทึกช่วงปลายราชวงศ์ฮั่น "บันทึกเรื่องเทศกาลประจำเดือนของราษฎร : 四民月今" ในตอนที่เฉาผีเขียนถึงจงเหยา ความว่า
"ปีเดือนผ่านไป วัน 9 ค่ำ เดือน 9 เวียนมาถึงอีก 9 เป็นเลขหยาง เมื่อเดือนกับวันมาซ้อนกันอย่างนี้ ตามประเพณีถือว่าเป็นมงคล เชื่อว่าจะยิ่งยืนนาน จึงจัดงานชุมนุมเลี้ยงอาหารกันที่สูง เดือนนี้ไม่ค่อยมีแสงตะวัน ต้นไม้ใบหญ้าขาดแสงแดดที่ทำให้งอกงาม แต่เบญจมาศกลับงามโดดเด่นอยู่ได้ ถ้ามิใช่เพราะรวมพลังบริสุทธิของฟ้าดินไว้ ไยจะมีความหอมงามผุดผ่องเช่นนี้ได้ ดังนั้นเมื่อชีว์หยวนเศร้าระโหยว่าตนเริ่มชรา จึงคิดเสพบุปผาเบญจมาศฤดูสารทเพื่อบำรุงร่างกายและเจริญอายุ" นอกจากนี้บันทึกแทบทุกเล่มต่างมีกิจกรรมที่หลากหลายเช่นเดียวกับเทศกาลอื่นๆ จนกระทั่งช่วงปลายราชวงศ์ชิงจึงเงียบเหงาซบเซาลง และเมื่อเข้าสู่ยุคสาธารณรัฐจึงกลายเป็นเทศกาลรองไปในที่สุด
ในวัฒนธรรมร่วมสมัยปรากฏเทศกาลฉงหยาง จากภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อย่างเรื่อง "ศึกโค่นบัลลังก์วังทอง" ของผู้กำกับมากฝีมือ จางอี้โหมว ซึ่งแสดงนำโดยดาราชายอย่าง โจวเหวินฟะ ในบทบาทฮ่องเต้ราชวงศ์โฮ่วถัง กับการแย่งชิงอำนาจของบัลลังก์มังกรกับฮองเฮารับบทโดยกงลี่ และองค์ชายรองหยางเจี๋ยน รับบทโดยเจย์ โชว เนื้อเรื่องเล่าถึงเรื่องราวการขับเคี่ยวอำนาจระหว่างฮ่องเต้และฮองเฮา ความลับในรั้ววังทอง และบัลลังก์มังกรของราชวงศ์โฮ่วถังที่มีแต่ผู้หมายปอง โดยฉากสำคัญของเรื่องนี้คงหนีไม่พ้นฉากการเลี้ยงเฉลิมฉลองในวันเทศกาลฉงหยาง ที่ให้เหล่าขันทีและนางกำนัลทำการเนรมิตลานหน้าพระที่นั่งให้เต็มไปด้วยดอกเบญจมาศสีเหลืองสวยงามก่อนจะเข้าสู่ฉากการต่อสู้อันดุเดือดย้อมเบญจมาศให้กลายเป็นสีแดง นับเป็นภาพยนต์ที่อยู่ในใจของใครหลายคนได้เป็นอย่างดี 🎎👑🏵
2
ปัจจุบันแม้เทศกาลฉงหยางจะไม่ได้รับความนิยมหรือจัดงานอย่างยิ่งใหญ่เหมือนดั่งในอดีต เนื่องจากอยู่ใกล้กับวันชาติจีน (1-10 ตุลาคม) ทำให้ถูกลดบทบาทลงกลายเป็นเทศกาลระดับรอง แต่ก็ยังเป็น 1 ใน 7 เทศกาลเก่าแก่ที่สำคัญของจีนทั่วประเทศ และเป็น 1 ใน 3 เทศกาลประจำฤดูกาล นับว่าเทศกาลฉงเหยานั้นอุดมไปด้วยเรื่องราว คุณค่าทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และงานวรรณกรรม ที่สะท้อนให้เห็นภูมิปัญญาของชาวจีนได้เป็นอย่างดี 🇨🇳🇨🇳
九月九日忆山东兄弟
"วัน 9 ค่ำ เดือน 9 รำลึกถึงพี่น้องที่ซานตง"
独在异乡为异客,
"มาเป็นแขกเดียวดายในต่างถิ่น"
每逢佳节倍思亲。
"วันเทศกาลถวิลถึงน้องพี่"
遥知兄弟登高处,
"รำลึกยามขึ้นที่สูงในวันนี้"
遍插茱萸少一人。
"ปักจูอี่ว์ขาดข้าเพียงคนเดียว"
 
王维 : 唐朝
หวังเว่ย : กวีสมัยราชวงศ์ถัง
Cr. by : เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้
ของ ถาวร สิกขโกศล
100 เทพและเซียนจีน
ของ อู่ลี่ว์ชิง เขียน ส. สิริวิทย์ แปล
ศาลเจ้าจีนในกรุงเทพฯ
ของ ผศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช
Cr. Picture by : weibo, baidu,
โฆษณา