1 ต.ค. 2021 เวลา 05:10 • ข่าวรอบโลก
โบกมือลาถาวร Shinkansen E4 Max
ปลดระวางเกลี้ยง ปิดตำนานรถไฟหัวกระสุน 2 ชั้น
ช่วงนี้เราได้ยินข่าวการปลดระวางรถไฟของประเทศญี่ปุ่นค่อนข้างถี่ ที่มักผูกโยงกับกรณีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย จะนำรถไฟรุ่นโบราณอายุเกือบ 40 ปี ที่ได้รับบริจาคมา ซึ่งมักเป็นดราม่าถกเถียงกันระหว่างผู้รู้ และผู้อวดรู้มากมาย
แต่ล่าสุดญี่ปุ่นก็ยังคงปลดระวางรถไฟรุ่นเก่าอีกหนึ่งรุ่นแล้ว แต่คราวนี้เป็นรถไฟหัวกระสุน Shinkansen E4 Max ที่วันพรุ่งนี้จะเป็นวันสุดท้ายที่รถไฟคลาสดังกล่าวจะให้บริการรับส่งผู้โดยสาร ก่อนที่มันจะกลายเป็นตำนานม้าเหล็กความเร็วสูงอีกรุ่นของวงการรถไฟญี่ปุ่น ทำให้ชาวญี่ปุ่นต่างออกมาร่วมกันอำลา E4 Max หนึ่งในสองขบวนสุดท้ายกันเต็มสถานีเมื่อคืนที่ผ่านมา
🔵 รู้จักกับ E4 Max รถไฟสองชั้นในตระกูล Shinkansen
Shinkansen E4 Max เป็นรถไฟหัวกระสุนคลาสย่อยของรุ่น E4 ซึ่งให้บริการโดย JR East ตั้งแต่ปี 1997 ผลิตโดยบริษัท Hitichi และ Kawasaki Heavy Industries เป็น Shinkansen รุ่นพิเศษที่สุดเพราะเป็นเพียงรุ่นเดียวที่มีลักษณะเป็นรถไฟสองชั้น ให้บริการบนเส้นทางสาย โทโฮกุ ชิงกันเซ็ง และ โจเอ็ตสึ ชิงกันเซ็ง สามารถพ่วงกันสองขบวนเพื่อเพื่อความจุได้ยาวถึง 16 คัน มีที่นั่งผู้โดยสารทั้งหมด 1,634 ที่นั่ง ซึ่งนับว่าเป็นรถไฟความเร็วสูงที่มีความจุสูงที่สุดในโลก
1
สำหรับด E4 ขบวนแรก ให้บริการจากสถานี Sendai เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 1997 ซึ่งในช่วงนั้นรถไฟคลาสนี้ ยังสามารถให้ผู้โดยสารสูบบุหรี่ได้ กระทั่งกฎหมายห้ามสูบบังคับใช้บนรถไฟเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2007
เดือนมีนาคม ปี 2011 ทางผู้ให้บริการได้ประกาศว่าซีรีส์ E4 ทั้งหมดจะปลดระวางทั้งหมดในปี 2016
โดยในเดือนกันยายน 2012 ซีรีส์ E4 ได้ยกเลิกให้บริการในสายโทโฮกุทั้งหมด และเหลือให้บริการเพียงแค่สายโจเอ็ตสึ เท่านั้น จนกระทั่งถึงวันที่ 1 ตุลาคม ที่จะถึงนี้ Shinkansen E4 ที่เหลืออยู่เพียง 2 ขบวน จะถึงวันสุดท้ายที่มันจะได้โลดแล่นบนรางรถไฟ และจะกลายเป็นตำนานเหมือนกับรถไฟหัวกระสุนของแดนซามูไรอีกหนึ่งรุ่น
🔵 Shinkansen รุ่นไหนอำลารางไปแล้วบ้าง
ตลอดระยะเวลา 57 ปี นับตั้งแต่วันที่ Shinkansen ขบวนแรก เที่ยวแรกของโลก ออกเดินทางให้บริการรับส่งผู้โดยสารเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1964 รถไฟหัวกระสุนสัญชาติญี่ปุ่นได้วิ่งทำระยะทางรวมกันเกินกว่าพันล้านกิโลเมตรแล้ว และ Shinkansen ในแต่ละรุ่นก็ทยอยเกษียณอายุตัวเองไปรุ่นแล้วรุ่นเล่า สร้างความทรงจำมากมายให้กับชาวญี่ปุ่นที่ผูกพันกับรถไฟหัวกระสุนเหล่านี้ หรือแม้แต่ชาวต่างชาติที่เคยมีประสบการณ์ร่วมกับรถไฟรุ่นต่างๆ ไม่รุ่นใดก็รุ่นหนึ่งของตระกูล Shinkansen ซึ่งรถไฟรุ่นที่ปลดระวางไปแล้วอย่างถาวรได้แก่
🔹️ ซีรีส์ 0 : ให้บริการ ตุลาคม 1964 - ธันวาคม 2008
Max speed 220 กม./ชม.
🔹️ ซีรีส์ 100 : ให้บริการ ตุลาคม 1985 - มีนาคม 2012
Max speed 220 กม./ชม.
🔹️ ซีรีส์ 200 : ให้บริการ มิถุนายน 1982 – เมษายน 2013
Max speed 240 กม./ชม.
1
🔹️ ซีรีส์ 300 : ให้บริการ มีนาคม 1992 – มีนาคม 2012
Max speed 270 กม./ชม.
🔹️ ซีรีส์ 400 : ให้บริการ กรกฎาคม 1992 – เมษายน 2010
Max speed 240 กม./ชม.
🔵 แม้ปลดระวางแล้วก็ไม่สามารถบริจาคให้ประเทศอื่นได้
เชื่อว่าจะต้องมีคนเข้ามาแสดงความเห็นว่า ญี่ปุ่นปลดระวาง Shinkansen แล้ว ประเทศไทยไปขอรับบริจาคมาสิ ซึ่งจะเป็นการแสดงความเห็นเพราะด้วยความไม่รู้จริงๆ หรือเชิงเสียดสีเหยียดหยามก็ตาม แต่ในบทความนี้จะขอพูดในมุมข้อเท็จจริงว่า Shinkansen ทุกรุ่นทุกคลาสในอดีตที่มีการปลดระวางแล้ว ญี่ปุ่นไม่เคยบริจาคให้ประเทศอื่นๆ ใช้ต่อเลยสักคัน แม้ว่างจะมีรางขนาดเท่ากันที่ 1.435 เมตร หรือการจ่ายกระแสไฟเหมือนกัน ซึ่งมันมีเหตุผลหลายประการว่าทำไมญี่ปุ่นถึงไม่ยกรถไฟหัวกระสุนเกษียณอายุแล้วให้ใคร
🔹️ ประการแรก รถไฟ Shinkansen ถือว่าเป็นนวัตกรรมที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของญี่ปุ่น ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงตามแบบฉบับของญี่ปุ่นเอง ดังนั้นมันจึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ชิ้นส่วนทุกชิ้น สมองกลของรถ ซอฟแวร์ ฮาร์ดแวร์ และส่วนประกอบอื่นๆ ทั้งหมดนับว่าเป็นภูมิปัญญาของชาวญี่ปุ่นที่เรียกได้ว่าเป็นรูปแบบเฉพาะตัว บางอย่างเป็นความลับอย่างมาก และมีสิทธิบัตรคุ้มครอง การที่ยกรถไฟที่ไม่ใช้แล้วให้กับประเทศอื่นไปใช้งานต่อ ค่อนข้างมีความเสี่ยงที่จะถูกนำไปชำแหละเพื่อศึกษาแล้วสร้างขึ้นมาเลียนแบบแข่งกับญี่ปุ่นได้
1
แต่ถ้าหากจะต้องการมีรถไฟ Shinkansen ไว้ในครอบครอง ก็ต้องจ่ายในราคาที่สูงมาก มากเสียจนไปซื้อรถไฟความเร็วสูงของประเทศอื่นๆ ที่แถมเรื่องความรู้ในการต่อยอดพัฒนามาด้วยจะดีกว่า เพราะญี่ปุ่นจะไม่นำรถไฟรุ่นหลักขายให้กับต่างประเทศ แต่จะทำรถไฟรุ่นย่อยแยกเฉพาะเพื่อขายให้กับประเทศอื่นๆ แทน เช่น ไต้หวันที่ใช้รถไฟ Shinkansen 700T ซึ่งเป็นรุ่นเฉพาะที่ญี่ปุ่นประกอบให้ไต้หวันเท่านั้น และมีให้บริการเฉพาะไต้หวันที่เดียว ไม่มีที่ญี่ปุ่น และไม่มีที่อื่นในโลก และไต้หวันก็ไม่สามารถประกอบเองได้ เพราะสิทธิบัตรของรถไฟคลาสนี้เป็นของญี่ปุ่น
🔹️ ประการที่สอง ระบบอาณัติสัญญาณของ Shinkansen เป็นระบบปิดที่มีความจำเพาะสูง ซึ่งไม่เหมือนระบบรถไฟของชาติใดในโลก การที่จะนำ Shinkansen เข้ามาวิ่งให้ได้ มิวายจะต้องซื้อระบบอาณัติสัญญาณมาด้วยอยู่ดี ซึ่งงานระบบนี้ราคาสูงพอๆ กับตัวรถไฟ เพราะเป็นหัวใจสำคัญในการทำให้รถไฟวิ่ง หยุด หรือรักษาความปลอดภัย ซึ่งในกรณีรถไฟธรรมดาทั่วไป ระบบอาณัติสัญญาณมีความซับซ้อนน้อยกว่ามาก ยิ่งถ้าเป็นรถไฟดีเซลรางด้วยแล้ว แค่เปลี่ยนขนาดของแคร่กับตัวรถให้เหมาะกับขนาดรางของแต่ละประเทศ ก็สามารถวิ่งให้บริการได้แล้ว
แต่ไม่ใช่กับรถไฟความเร็วสูง ที่ระบบอาณัติสัญญาณมีความสำคัญสูง เพราะรถไฟที่วิ่งด้วยความเร็วระดับนี้ ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ การไปเจลเบรกระบบ เหมือนที่คนชอบเอาไอโฟนไปเจลเบรกเพื่อให้สามารถดาวน์โหลดแอปฯ ที่ไม่มีให้โหลดบน IOS นั้น มันเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะอุปกรณ์ต่างๆ ถูกออกแบบให้ใช้ได้อย่างเหมาะสมระหว่างซอฟแวร์และฮาร์ดแวร์นั้นๆ การดัดแปลงยังไงก็ไม่สามารถทำให้ใช้งานได้ 100% แน่นอน แล้วด้วยรถไฟที่วิ่งด้วยความเร็วสูงแบบนี้ถ้าระบบที่ไปเจลเบรกมาเกิดรวนขึ้นมา หายนะก็คงเกิดขึ้นแน่นอน
2
🔹️ ประการที่สาม ระบบรถไฟ Shinkansen นับว่าเป็นรถไฟความเร็วสูงที่มีราคาแพงมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ผลิตเพื่อส่งออก เช่น จีน ฝรั่งเศส หรืออิตาลี ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ไม่เห็นประเทศไหนซื้อรถไฟ Shinkansen ไปให้บริการ ยกเว้นไต้หวัน แม้แต่ในประเทศพัฒนาแล้วฝั่งยุโรป ก็เลือกที่จะซื้อรถไฟที่ผลิตในยุโรปด้วยกันเอง หรือไม่ก็ซื้อรถไฟจากประเทศจีนที่มีราคาถูกกว่า และระบบต่างๆ สามารถปรับแก้ไขต่อได้เอง พร้อมกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เป็นของแถม
แม้ว่าญี่ปุ่นมีความพยายามที่จะผลิต Shinkansen เพื่อส่งออกแต่ด้วยราคาค่าตัวบวกกับค่าระบบที่สูงกว่าประเทศอื่น ในสเปกที่ใกล้เคียงกันทำให้ผู้ซื้อเลือกที่จะซื้อของที่ถูกกว่า ทั้งๆ ที่ญี่ปุ่นจะพยายามอวดสรรพคุณด้านความปลอดภัยที่นับตั้งแต่เดินรถมา 57 ปี ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงเลยแม้แต่ครั้งเดียวก็ตาม แต่นั่นไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมดที่ผู้ซื้อจะเลือกซื้อ เพราะอย่าลืมว่ารถไฟความเร็วสูงมีอายุการใช้งานที่สั้นกว่ารถไฟธรรมดาทั่วไป เพราะอัตราการสึกหรอสูงมาก และการดันทุรังใช้จนเกินกว่าอายุใช้งานจริงเป็นเรื่องที่อันตรายแก่ชีวิตผู้โดยสาร ดังนั้นถ้าซื้อของแพงมาแล้วอายุการใช้งานเท่ากับของที่ถูกกว่า มีหรือที่จะไม่ซื้อของถูกกว่าในฟังชั่นที่เกือบจะเท่าๆ กัน นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมไม่มีใครสนใจซื้อ Shinkansen ไปใช้นั่นเอง
2
เพราะฉะนั้นใครที่บอกว่านำเข้ามาวิ่งในไทยสิ จงโยนบทความนี้ให้อ่านแทน
2
สุดท้ายก็คงต้องกล่าวคำว่า "Sayonara Shinkansen E4 Max"
╔═══════════╗
ไม่พลาดบทความสาระดีๆ ที่ Reporter Journey ตั้งใจสร้างสรรเพื่อผู้ติดตามทุกท่าน อย่าลืมกดติดตามเพจ ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
╚═══════════╝
โฆษณา