1 ต.ค. 2021 เวลา 13:00 • ไลฟ์สไตล์
ชีวิตยังมีดราฟต์แรกเสมอ! 8 เทคนิคเริ่มต้น ‘เขียน’ ให้สำเร็จ ฉบับคนขี้เกียจ
พอจะต้องเริ่ม ‘เขียน’ ทีไร ก็รู้สึกขี้เกียจขึ้นมาทันที
จะทำอย่างไรให้เริ่มลงมือเขียนได้สักที?
‘การเขียน’ ถือว่าเป็นอีกทักษะหนึ่งที่สำคัญมาก เพราะไม่ว่าเราจะอยู่ในช่วงเวลาไหนของชีวิตก็ต้องพึ่งพาการเขียนทั้งนั้น
แต่สำหรับหลายๆ คนการเขียนก็เป็นเรื่องยาก บางทีก็ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร บางทีก็ไม่มีอารมณ์ บางทีก็คิดไม่ออกบ้าง จนทำให้เราไม่ได้เริ่มลงมือเขียนสักที แต่แน่นอนว่าในโลกแห่งการทำงาน การรอคอยให้เรามีอารมณ์เขียน ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะงานต้องเดินหน้าต่อไป ดังนั้น การรอไม่ได้ช่วยให้เกิดการเขียนที่ดี แต่การลงมือทั้งๆ ที่ไม่รู้อะไรเลยนี่แหละ ที่จะทำให้เกิดพัฒนาการทางการเขียนอย่างแท้จริง
หากใครต้องการที่จะเขียนอะไรสักหนึ่งอย่าง และรู้สึกว่าตัวเองเสียเวลาอยู่กับหน้าจอเกินไปแล้ว แต่หน้ากระดาษยังว่างเปล่าอยู่ ลองมาทำตาม 8 เทคนิคเหล่านี้กัน!
1) เรากำลังขี้เกียจหรือ ‘กลัว’ กันแน่
ความขี้เกียจถูกใช้เป็นข้ออ้างของคนที่ไม่กล้าลงมือทำ เราคิดว่าเพราะความขี้เกียจเป็นเหตุผลที่ทำให้เราไม่ได้เริ่มลงมือเขียนเสียที แต่หารู้ไม่ว่า ตัวปัญหาจริงๆ คือ ‘ความกลัว’ ต่างหาก เรา “กลัวว่ามันจะออกมาแย่” เรามองว่าความล้มเหลวจะเป็นเหมือนรอยด่างในชีวิต แต่สิ่งนี้ไม่สำคัญเลยสักนิด จำไว้ว่าเราจะเก่งได้ก็ต่อเมื่อเราผิดพลาด พลาดจนกว่าจะเข้าใจ การลงมือทำจะทำให้เราได้รับบทเรียนซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จได้เร็วและมีประสิทธิภาพกว่าการยืนรอเฉยๆ เพราะฉะนั้นจงเผชิญหน้ากับความกลัวและอยู่กับมันให้เป็น หยุดลังเลแล้วลงมือทำซะ
3
2) ดราฟต์แรกไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ
หลายคนคิดว่างานเขียนชิ้นแรกต้องสมบูรณ์แบบที่สุด แต่ความจริงแล้ว ไม่มีใครสักคนที่ทำได้เลย แม้แต่นักเขียนหรือกวีเอกระดับโลกก็เคยมีผลงานชิ้นแย่ๆ มาก่อนทั้งนั้น ไม่ว่างานชิ้นแรกจะห่วยแค่ไหน แต่มีเพียงเราคนเดียวที่ได้อ่านมัน และกว่าจะเป็นผลงานชิ้นโบแดงที่ภาคภูมิใจ เราต่างต้องผ่านงานเขียนชิ้นแย่ๆ มาเป็นสิบๆ ร้อยๆ ชิ้น เพราะฉะนั้นอย่าคาดหวังว่าจะเขียนได้ดีในครั้งแรก ในเมื่อเรายังไม่ได้เริ่มฝึกฝนมันจริงๆ เลยสักครั้ง
2
และเมื่อเริ่มเขียนแล้ว อย่ากลับไปอ่านสิ่งที่เพิ่งเขียนไป วิธีการนี้เราเรียกว่าการเขียนแบบ “Free Writing” คือการเขียนไปเรื่อยๆ โฟกัสกับตัวอักษรที่เรากำลังเขียน โดยไม่ต้องสนใจว่าภาษาจะสละสลวยหรือไม่ มีคำผิดหรือเปล่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นเลยสักนิด เพราะมันจะทำให้ไอเดียดีๆ ที่กำลังแล่นชะงักไป ไอเดียดีๆ แวบเข้ามาในหัวเราเพียงชั่วครู่ แต่การแก้ไขนั้นสามารถทำได้ตลอดเวลา ดังนั้น จงเขียนไปก่อน ยังไม่สายที่เราจะแก้ไขมันทีหลัง
1
3) ลองตั้งเป้าหมายง่ายๆ ก่อน
ก่อนที่จะเริ่มเขียนหากเราตั้งมาตรฐานไว้สูงเกินไปจนทำให้เรากลัวตั้งแต่ยังไม่เริ่มและไม่กล้าลงมือทำ เหมือนกับการที่เราบอกว่าจะไปพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรส แต่เรายังไม่ได้เริ่มออกกำลังกายจริงๆ จังๆ เสียที เพราะมันเป็นสิ่งที่ยากและต้องใช้ความพยายามมาก
เช่นกัน ไม่ว่าจุดประสงค์ของการเขียนจะเป็นรายงานเพื่อส่งหัวหน้า วิทยานิพนธ์ที่ต้องส่งอาจารย์ หรือเป็นนิยายหนึ่งเรื่องที่ต้องส่งให้สำนักพิมพ์ก็ตามแต่ ด้วยปริมาณงานและความยากจะทำให้เราท้อ ลองเปลี่ยนมาโฟกัสกับเป้าหมายที่เล็กกว่าดูสิ อย่างเช่น เขียนวันละหนึ่งหน้าหรือเขียนวันละหนึ่งย่อหน้า ขอเพียงเขียนมันออกมาตามเป้าหมายเล็กๆ ที่เราตั้งไว้ แค่นี้ก็นับได้ว่าเป็นงานเขียนที่สมบูรณ์แล้ว เพราะงานเขียนที่ดี เริ่มต้นจากเขียนให้ ‘ได้’ ไม่ใช่เขียนให้ ‘เป็น’
1
4) ทำให้การเขียนเป็นเรื่องง่ายๆ ในชีวิต
ความขี้เกียจเขียนจะหมดไป ถ้าเราให้มันกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน โดย 2 เทคนิคการแบ่งเวลาเขียนของนักเขียนชาวอเมริกัน เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) จะช่วยให้เราเริ่มต้นการเขียนได้ง่ายขึ้นอย่างเหลือเชื่อ!
เทคนิคแรกคือ ใช้เวลาเขียนในตอนเช้า เราสามารถเริ่มเขียนหลังจากทำกิจวัตรตอนเช้าเสร็จ หรือถ้าเราเป็นคนตื่นสาย สามารถจัดเวลาที่แน่นอนที่เหมาะสมกับตารางชีวิตได้ ส่วนเทคนิคที่สอง หยุดเขียนเมื่อเขียนได้ดี เนื่องจากประสิทธิภาพในการทำงานของแต่ละคนมีอย่างจำกัด และเมื่อสิ่งต่างๆ เป็นไปด้วยดี เฮมิงเวย์แนะนำว่าให้หยุดที่จุดนั้น แล้วเราจะรู้ได้เองว่าต้องทำอะไรในวันรุ่งขึ้น เขายังบอกด้วยอีกว่าไม่ควรเขียนเยอะจนเกินไป
5) ทำสิ่งอื่นๆ ที่โปรดักทีฟจะช่วยให้งานเขียนของเราโปรดักทีฟตามไปด้วย
เมื่อการทำงานโดยรวมของเรามีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพกายหรือมีจิตใจที่เข้มแข็ง สิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่องานเขียนของเราเป็นอย่างมาก เช่น
1
- กำหนดเดดไลน์ เมื่อเรามีอิสระมากเกินไป เพราะการกำหนดเดดไลน์จริงๆ จังๆ จะบังคับให้เราต้องทำงานให้เสร็จ
- การทำงานเป็นช่วงๆ คนเรามีสมาธิเพียงชั่วครู่เท่านั้น และวิธี Pomodoro เป็นวิธีที่เหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับการทำงานให้เสร็จลุล่วงไปในเวลาที่กำหนด
- หาแรงบันดาลใจในการเขียน อย่างเช่น แรงบันดาลใจจากนักเขียนที่เราชื่นชอบ สิ่งนี้จะทำให้เรามีกำลังใจและมองเห็นเป้าหมายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
6) หาเพื่อนนัก (ฝึก) เขียนที่ทำให้เรามีกำลังใจในการเขียนมากขึ้น
เพื่อนนักเขียนเหล่านี้จะแนะนำ ผลักดันให้เราเข้าใกล้เป้าหมายได้เร็วขึ้น ในขณะเดียวกัน แรงกดดันภายนอกที่เห็นผู้อื่นขยัน จะเป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้เราจำเป็นต้องทำ ทำให้เราเลิกนิสัยผัดวันประกันพรุ่งไปโดยปริยาย นอกจากนี้เราและเพื่อนยังสามารถเป็นพันธมิตรกัน คือคอยสนับสนุนงานเขียนและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน หรือจะแลกเปลี่ยนพูดคุยเทคนิคการเขียนต่างๆ เพื่อพัฒนาตนเองก็สามารถทำได้
7) ปริมาณการเขียนที่ไม่มีขั้นต่ำ แต่ห้ามเป็น 0
“หากมีสิ่งใดที่ควรค่าแก่การทำ สิ่งนั้นก็ควรค่าแก่การทำแย่ๆ เช่นกัน” – G.K. Chesterton
ฟังแล้วดูย้อนแย้งใช่หรือไม่ ถ้าเราอยากให้เป็นงานเขียนที่ดี เพราะเหตุใดจึงต้องทำแย่ๆ? อธิบายให้เห็นภาพ การทำข้อสอบที่เราไม่มั่นใจแต่ก็มีรอยขีดเขียนจะมีโอกาสได้คะแนนมากกว่าการส่งกระดาษเปล่า ดังนั้น แม้ว่าวันนั้นเราไม่รู้จะเขียนอะไร แต่การเขียนเพียงหนึ่งร้อยคำ สิบคำหรือหนึ่งคำก็นับได้ว่าเราเริ่มเขียนมันแล้ว เราเริ่มขยับเข้าใกล้เป้าหมายไปแล้วเสี้ยวหนึ่ง เพราะฉะนั้น อย่าดูถูกก้าวเล็กๆ ที่มองไม่เห็นนี้เชียวล่ะ
8) อภัยตัวเอง เมื่อสิ่งที่คาดหวังไม่เป็นไปตามที่ต้องการ
1
ความลับอย่างหนึ่งที่เราไม่มีวันรู้คือ เราไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำจะ ‘ปัง’ หรือ ‘แป้ก’ หากงานเขียนไม่ได้มียอดไลก์เยอะๆ อย่างที่คาดหวัง เจ้านายไม่ให้ผ่านหรือทำเสร็จไม่ทันกำหนดการ ไม่เป็นไรเลยจริงๆ เพราะท้ายที่สุดแล้ว มันพิสูจน์ว่าเราสามารถเริ่มต้นเขียนมันได้ เราเอาชนะตัวเองได้จากการเลิกผัดวันประกันพรุ่ง สิ่งที่ดีที่สุดที่เราสามารถทำได้คือยอมรับ ให้เวลากับตัวเอง แล้วจับปากกา เปิดคอมพิวเตอร์และเริ่มเขียนงานชิ้นต่อไป
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#softskill
โฆษณา