3 ต.ค. 2021 เวลา 06:07 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ถอดบทเรียน การก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง
ในปี 1960 โลกเริ่มมีการจัดทำข้อมูลสถิติรายได้ของแต่ละประเทศ ในตอนนั้นทั้งโลกมีประเทศที่ถูกจัดว่าเป็น “ประเทศรายได้ปานกลาง” ทั้งหมด 101 ประเทศครับ
แต่ 50 ปีหลังจากนั้น (ปี 2010) มีเพียง 13 ประเทศเท่านั้นที่สามารถก้าวข้ามสิ่งนี้ และกลายเป็นประเทศรายได้สูงได้
1
อัตราความสำเร็จที่ต่ำนี้ทำให้คำว่า “กับดักรายได้ปานกลาง” นั้นมีความสำคัญและน่าศึกษา แน่นอนว่าประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ยังติดอยู่ในกับดักนี้ และทำให้คนไทยต้องเจอกับคำว่า “ประเทศกำลังพัฒนา” มาอย่างยาวนาน
ณ จุดออกตัวเดียวกัน อะไรที่ทำให้ 13 ประเทศนี้แตกต่าง อะไรที่ทำให้พวกเขาวิ่งได้เร็วกว่า และเราจะถอดบทเรียนจากพวกเขาได้อย่างไรบ้าง ผมจะเล่าเรื่อง “การก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง” ของประเทศเหล่านี้ให้ฟัง ภายใน 10 นาทีครับ
2
13 ประเทศที่สามารถไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูงในช่วงเวลานั้น ได้แก่ 1.กรีซ 2.ไอร์แลนด์ 3.โปรตุเกส 4.สเปน 5.อิเควทอเรียลกินี 6.เปอร์โตนิโก 7.มอร์ริเชียส 8.อิสราเอล 9.ญี่ปุ่น 10.สิงค์โปร์ 11.ฮ่องกง 12.เกาหลีใต้ 13.ไต้หวัน
แต่ละประเทศต่างก็มีเส้นทางเดินที่ต่างกัน และมีบทเรียนให้เราได้ศึกษาในหลายแง่มุม
บางประเทศก็เติบโตเนื่องจากเหตุการณ์บังเอิญบางอย่าง เช่น ค้นพบทรัพยากรธรรมชาติ หรือ ได้เข้าร่วมข้อตกลงการค้าบางอย่าง ส่งผลให้ประเทศนั้นร่ำรวยขึ้นอย่างก้าวกระโดดทั้งๆที่เศรษฐกิจของประเทศยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมากนัก
ส่วนบางประเทศก็เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีกลยุทธ์ และควรค่าแก่การถอดบทเรียน
📌กลุ่มที่ 1 : ประเทศรายได้สูงแบบไม่ยั่งยืน
ในทางเศรษฐกิจ “การเติบโต” ไม่เท่ากับ “การพัฒนา” ประเทศรายได้สูงที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงแต่มีการพัฒนาต่ำ ก็อาจจะหลุดกลับไปสู่ประเทศรายได้ปานกลางได้ในวันหนึ่ง
ประเทศที่อาจถูกจัดอยู่ในกรณีนี้ได้แก่ 1.) กรีซ🇬🇷 2.) ไอร์แลนด์🇮🇪 3.) โปรตุเกส🇵🇹 และ 4.) สเปน🇪🇸 ที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้จากการเข้าร่วมสหภาพยุโรป
ประเทศเหล่านี้ได้รับอานิสงค์ทางการค้า การตลาด และการเงินจากประเทศต่างๆในสหภาพยุโรป การเข้าร่วมสหภาพยุโรปเป็นการเข้าถึงโอกาสทางตลาด และยังเพิ่มปริมาณ FDI อย่างมหาศาล
นอกจากนี้ยังมี 5.) อิเควทอเรียลกินี🇬🇶 ซึ่งเป็นประเทศร่ำรวยอันดับต้นๆ ในแอฟริกา ประเทศนี้เป็นประเทศเล็กๆแต่มีทรัพยากรธรรมชาติอย่างน้ำมันดิบมหาศาล ถึงแม้จะมี GNI per capita สูงก็จริงแต่ประชากรส่วนใหญ่ก็ยังยากจน เนื่องจากมีความเหลื่อมล้ำและการคอร์รัปชันสูงมาก
ส่วนในกรณี 6.) เปอร์โตริโก🇵🇷 ก็เป็นประเทศที่เป็นส่วนหนึ่งในเครือรัฐของสหรัฐฯ ได้รับการสนับสนุนทางการเงินและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจากสหรัฐฯ มากมาย ในช่วงปี 1962-2006 เปอร์โตริโกร่ำรวยขึ้นเรื่อยๆ
แต่หลังจากนั้นทางรัฐบาลดำเนินนโยบายการคลังผิดพลาด รวมทั้งสหรัฐฯ เริ่มลดการสนับสนุน ส่งผลให้รัฐเริ่มขาดงบประมาณและสภาพคล่อง และนำไปสู่การล้มละลายและต้องปรับโครงสร้างหนี้ในที่สุด
1
📌กลุ่มที่ 2 : ประเทศที่มีรายได้สูงแบบยั่งยืน
7.) มอร์ริเชียส🇲🇺 เกาะเล็กๆ ที่ถือว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในแอฟริกา โดยมีภาคการเงินและการท่องเที่ยวเป็นหัวหอกเศรษฐกิจ ประเทศนี้มีทะเลและหาดทรายสวยมากจนดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เยอะ และยังมีนโยบายด้านการเงิน การลงทุน ภาษีและด้านกฎหมายที่น่าดึงดูด
1
ทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าประเทศมหาศาล และมีมหาเศรษฐีจำนวนมากเข้าไปลงทุนและอยู่อาศัย ปัจจุบันประเทศนี้มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอันดับต้นๆของโลก และค่อนข้างมีเสถียรภาพอีกด้วย
8.) อิสราเอล🇮🇱 ประเทศที่มีความขัดแย้งด้านศาสนาอย่างเข้มข้น และยังเคยเจอวิกฤตเศรษฐกิจอย่าง hyperinflation
แต่อิสราเอลได้เรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต และวางแผนพร้อมสำหรับอนาคตอย่างมีวิสัยทัศน์ ตั้งแต่ปี 1993 เป็นต้นมารัฐบาลอิสราเอลให้ความสำคัญด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก
เตรียมสภาพแวดล้อมทุกอย่างเพื่อให้นวัตกรรมเกิดขึ้นได้ง่าย ทั้งเรื่องงบ R&D ซึ่งถือว่ามากที่สุดในโลก ด้านกฎหมายที่เอื้อให้ธุรกิจเกิดง่าย และด้านการลงทุนแนว Venture capital
ทำให้ปัจจุบันอิสราเอลเป็นประเทศแห่ง “Start up” โดยทั้งประเทศมี Start up กว่าหมื่นบริษัท และมีจำนวนยูนิคอร์นมากเป็นอันดับ 5 ของโลก
9.) ญี่ปุ่น🇯🇵 จากประเทศที่ยับเยินจากสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่กลับมาลุกขึ้นสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างแข็งขัน มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น การดูดเทคโนโลยีจากชาติตะวันตก ทั้งในด้านวิศวกรรม และอิเล็กทรอนิคส์ การส่งออกวัฒนธรรมด้านต่างๆ ทั้งด้านอาหาร แฟชั่น การ์ตูน เพลง จนเป็นที่ยอมรับในระดับโลก
ทั้งหมดทั้งมวลทำให้ญี่ปุ่นกลายมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และถูกเรียกว่าเป็น “ปาฏิหารย์ทางเศรษฐกิจ” ประเทศแรกของเอเชีย และเป็นต้นแบบให้อีกหลายประเทศเดินตามรอยต่อๆมา
1
10.) สิงค์โปร์🇸🇬 ประเทศเล็กๆที่ไร้ซี่งทรัพยากรธรรมชาติ จึงต้องใช้กลยุทธ์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการพัฒนา ”ทรัพยากรมนุษย์” อย่างเข้มข้น
1
สิงค์โปร์เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญด้านการศึกษามาก ทั้งในด้านวิชาการและด้านความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้สิงค์โปร์ยังใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร เรียกได้ว่ามีความพร้อมที่จะทำธุรกิจแข่งขันระดับนานาชาติ
อีกเรื่องที่สิงค์โปร์ให้ความสำคัญมากคือ ความโปร่งใสของรัฐบาล เมื่อระบบรัฐมีประสิทธิภาพ ประเทศก็พัฒนาไปได้เร็ว
1
ปัจจุบันสิงค์โปร์เป็นประเทศรายได้สูงเพียงประเทศเดียวในอาเซียน และยังถือเป็นศูนย์กลางทางการค้า การเงิน การท่องเที่ยว การศึกษา เมื่อมองในสเกลระดับโลกเลยทีเดียว
1
11.) ฮ่องกง🇭🇰 เขตปกครองพิเศษของจีนที่เคยถูกพัฒนามาโดยเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษ จุดเด่นของฮ่องกงคือทำเลที่เหมาะกับการเป็นเมืองท่า รวมกับการใช้ระบบทุนนิยมเสรี ที่ปลอดการแทรกแซงจากรัฐบาล ทั้งยังมีอัตราภาษีต่ำ เรียกได้ว่าเป็นสวรรค์ของการทำธุรกิจและทำการค้าอย่างแท้จริง
ฮ่องกงเองก็มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างท่าเรือ สนามบิน ระบบขนส่ง เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ในสเกลระดับโลก และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงิน ที่ฮ่องกงยกมาเป็นอีกหนึ่งหัวหอกเศรษฐกิจ
ส่งผลให้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางทางการเงินของเอเชีย และมีตลาดหุ้นขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก
12.) เกาหลีใต้🇰🇷 จากประเทศที่พังยับเยินจากสงครามเกาหลี ขาดแคลนทรัพยากร และยากจนถึงสุดขีด แต่ด้วยการปฏิรูปเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างมีกลยุทธ์ ทำให้เกาหลีใต้มาถึงทุกวันนี้ได้
การพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีค่อนข้างมีความรวมศูนย์ นำโดยกลุ่มทุนใหญ่ แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือต้องพัฒนาขีดความสามารถไปทำตลาดระดับโลกให้ได้ อุตสาหกรรมที่เกาหลีทำก็มีขั้นตอน เริ่มจากอุตสาหกรรมเบาอย่าง สิ่งทอ สินค้าอุปโภคบริโภค ไปสู่อุตสาหกรรมหนักอย่าง รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า
1
นอกจากนี้เกาหลีใต้สมัยใหม่ยังให้ความสำคัญในการส่งออกวัฒนธรรม “K-POP” อย่างเพลง ซีรีส์ แฟชัน ที่กลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของเกาหลีใต้ ที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจด้านอื่นๆให้เติบโตยิ่งขึ้นไปอีก
13.) ไต้หวัน🇹🇼 ประเทศเกิดใหม่ที่อาจดูเด่นเรื่องชานมไข่มุก และการท่องเที่ยว แต่ที่จริงแล้วขีดความสามารถของไต้หวันที่ทำให้ไต้หวันกลายเป็นประเทศรายได้สูงได้ คืออุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้าน ”การผลิตชิป”
ไต้หวันนั้นเข้าใจว่าโลกดิจิตอลกำลังจะเกิด และเครื่องมือที่จำเป็นอย่างคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน ต่างต้องมีชิปในการทำงาน ไต้หวันจึงมุ่งผลิตชิป และสามารถแทรกตัวเข้าไปอยู่ใน supply chain ของโลกได้ตั้งแต่ในส่วนต้นน้ำ
1
ปัจจุบันไต้หวันเป็นเพียงประเทศเล็กๆ แต่เป็นแหล่งผลิตชิปรายใหญ่ของโลก และทำรายได้มหาศาลจากการเติบโตของเทคโนโลยี
📌ถอดบทเรียนจากประเทศต่างๆ
จะเห็นว่าแต่ละประเทศอาจมีหนทางสู่ความร่ำรวยต่างกันไป บางประเทศร่ำรวยจากปัจจัยภายนอกหรือเหตุการณ์บางอย่าง (กลุ่มที่ 1) อาจกล่าวได้ว่าความสำเร็จของประเทศเหล่านั้นมีเรื่องของ ”โชค” เป็นส่วนผสมหลัก
แต่ประเทศที่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจจนมีรายได้สูงอย่างยั่งยืน (กลุ่มที่ 2) นั้น ก็ต้องยอมรับว่าความสำเร็จนั้นเกิดจากความสามารถและความพยายามเป็นส่วนใหญ่
หากลองดูดีๆ ตลอดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ประเทศเหล่านี้มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ การมี “ทิศทาง” ในการพัฒนาที่ชัดเจน ซึ่งการมีทิศทางนั้นจะทำให้นโยบายต่างๆ มีความเป็นเอกภาพ สามารถจัดลำดับความสำคัญได้ ส่งผลให้การพัฒนาประเทศได้เร็วและมีเสถียรภาพ
ประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลางส่วนใหญ่ก็กำลังเจอปัญหาเดียวกัน นั่นคือการไม่มีทิศทางที่ชัดเจนในการพัฒนาประเทศ แน่นอนครับ การที่ประเทศจะมีทิศทางได้ อย่างน้อยต้องเกิดจากการมีวิสัยทัศน์ของผู้นำและของรัฐ
1
ทีนี้หากลองมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ผมเองก็ตั้งคำถามว่า ตอนนี้เรากำลังจะไปทางไหน? เศรษฐกิจไทยจะพัฒนาได้อย่างไร? และเราจะเป็น “ประเทศกำลังพัฒนา” ไปจนถึงเมื่อไร?
1
References
โฆษณา