3 ต.ค. 2021 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Margaret Thatcher สตรีเหล็กผู้ช่วยให้อังกฤษหายจากการเป็น “คนป่วยแห่งยุโรป”
Margaret Thatcher สตรีเหล็กผู้ช่วยให้อังกฤษหายจากการเป็น “คนป่วยแห่งยุโรป”
จากบทความก่อนผมได้เล่าถึงการถดถอยของเศรษฐกิจอังกฤษอย่างหนัก ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองได้สิ้นสุดลง (ในบทความนี้ ผมใช้คำว่าอังกฤษแทนสหราชอาณาจักร ที่ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า United Kingdom หรือ Britain เนื่องจากคนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับการใช้คำว่า อังกฤษ (English) แทน บริทิช (British) อย่างเช่น ราชวงศ์อังกฤษ หรือ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งอาจไม่ถูกต้องสักทีเดียว เพราะอังกฤษเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรเท่านั้น)
1
จนก่อให้เกิดฤดูหนาวแห่งความไม่พอใจขึ้นในปี 1979 ส่งผลให้รัฐบาลนายกรัฐมนตรี James Callaghan ต้องหมดอำนาจลงและ ทำให้นาง Margaret Thatcher ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเป็นนายกฯ หญิงคนแรกของอังกฤษและยุโรป ซึ่ง Thatcher ได้ครองตำแหน่งนานถึง 11 ปี คือตั้งแต่ปี 1979-1990
ในอังกฤษเอง Thatcher เป็นนายกฯ ที่มีคนชื่นชมมาก และมีคนเกลียดมากเช่นเดียวกัน โดยท่านเป็นนายกฯ ที่ก่อให้เกิดความแตกแยกอย่างหนักในประเทศอังกฤษ แต่ในขณะเดียวกันปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายของรัฐบาล Thatcher ทำให้อังกฤษได้หลุดพ้นจากการเป็นคนป่วยแห่งยุโรป และมีอิทธิพลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของอังกฤษจนถึงทุกวันนี้
2
ในบทความนี้ผมจะมาเล่าถึงประวัติความเป็นมาของ Margaret Thatcher เรื่องราวที่สำคัญต่างๆ และการดำเนินนโยบายในช่วงแรกของรัฐบาล Thatcher ให้ฟังครับ
📌 ประวัติของนาง Margaret Thatcher
Thatcher ได้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Oxford ในสาขาวิชาเคมี และได้รับเลือกตั้งครั้งแรกในปี 1959 ด้วยความสามารถและความมุ่งมั่นในการทำงานทำให้ Thatcher ได้รับได้ตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลรวมถึงเป็นโฆษกของพรรคอนุรักษ์นิยม ทำให้หลายคนเริ่มมองว่าเธอมีโอกาสได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ตัวเธอเองกลับกล่าวว่า ในช่วงชีวิตของเธอ ไม่มีทางที่จะมีนายกรัฐมนตรีหญิงได้ เพราะอคติที่มีต่อผู้หญิงในสังคมสมัยนั้น
ในช่วงปี 1970-1974 Thatcher ได้รับตำแหน่งเลขาธิการรัฐด้านการศึกษา เธอได้สั่งให้มีการยกเลิกการแจกนมสดให้กับเด็กนักเรียนตั้งแต่ 7-11 ขวบ เพื่อลดรายจ่ายของรัฐบาล ซึ่งทำให้เกิดความไม่พอใจอย่างหนักในสังคม แต่เธอเลือกที่จะไม่ปรับเปลี่ยนนโยบาย จนทำให้มีคนเรียกเธอว่า Margaret Thatcher, Milk Snatcher (Thatcher โจรขโมยนม)
1
ต่อมาหลังจากรัฐบาลของ Ted Heath แพ้การเลือกตั้งในปี 1974 เธอได้รับเลือกให้เป็นผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยม ในปี 1975 และเพราะเธอออกมาต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง ทำให้นักข่าวโซเวียตในกรุงมอสโก ได้ตั้งฉายาให้เธอว่า The Iron Lady (สตรีเหล็ก) ซึ่งไม่ได้เป็นฉายาที่ดี แต่ปรากฏว่า Thatcher ชอบใจกับมันมาก ถึงกับได้กล่าวถึงตนเองว่าเธอ คือ สตรีเหล็กแห่งโลกตะวันตก
1
ในที่สุด Thatcher ได้นำพรรคอนุรักษ์นิยมชนะการเลือกตั้งในปี 1979 ในวันที่เธอได้เข้ารับตำแหน่ง เธอได้พูดว่า หากยังมีความเห็นแตกแยก ขอให้ต่อไปเราจะมีความสามัคคีกัน ซึ่งสิ่งทีเกิดขึ้นในเวลาต่อมาไม่ได้เป็นดังนั้นเลย สังคมยิ่งเพิ่มความแตกแยกจากนโยบายของรัฐบาล Thatcher เราลองมาดูนโยบายต่างๆ ของท่านกัน
📌 นโยบายของรัฐบาล Thatcher
ในตอนที่ Thactcher ได้เข้ารับตำแหน่ง อังกฤษประสบกับปัญหาเศรษฐกิจมากมาย อาทิเช่น อัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นเลขสองหลัก สหภาพแรงงานที่มีอิทธิพลสูงที่สามารถต่อรองการขึ้นค่าแรงจนทำให้ประเทศเป็นอัมพาตได้หากมีการสไตรค์หยุดงาน และหนี้สินรัฐบาลที่อยู่ในระดับสูง
3
ทั้งนี้ตั้งแต่สงครามโลกสิ้นสุดลง รัฐบาลอังกฤษบริหารประเทศโดยเชื่อมั่นในหลักการแบบ Keynesian คือเสถียรภาพของเศรษฐกิจเกิดจากการดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาล รัฐบาลสามารถทำให้ทุกคนมีงานทำได้ (Full Employment) การที่ภาครัฐมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่ปัญหา
1
สำหรับรัฐบาล Thatcher นั้นไม่เชื่อในความสามารถและประสิทธิภาพของภาครัฐ แต่เชื่อในนโยบายของ Free Market คือ ภาครัฐควรจะมีบทบาทลดลงในการบริหารเศรษฐกิจ เพราะรัฐบาลไม่ใช่ผู้ที่จัดสรรทรัพยากรได้ที่สุด หน้าที่นั้นต้องเป็นของภาคเอกชน Thatcher จึงเลือกดำเนินนโยบายที่ลดการใช้จ่ายของรัฐบาลลง
1
ส่วนในเรื่องวิกฤตเงินเฟ้อ รัฐบาล Thatcher ได้นำระบอบ Monetarism ที่มีนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบล Milton Friedman เป็นหนึ่งในผู้นำความคิดว่า ถ้าจะควบคุมเงินเฟ้อให้ได้ เราต้องคุมปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ ทำให้ในช่วงแรกของรัฐบาล Thatcher ได้มีการตั้งเป้าปริมาณเงินอย่างเช่น M3 และมีการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว
2
โดยในปลายปี 1979 ดอกเบี้ยนโยบายได้ขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 17 เพื่อจะลดปริมาณเงินและลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นโยบายดังกล่าวทำให้ธุรกิจได้รับความเสียหาย และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ ค่าเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นมาก ส่งผลให้การส่งออกซบเซาอย่างหนัก ธุรกิจที่พึ่งการส่งออกได้ล้มละลายเป็นจำนวนมาก
1
มาตรการที่รัฐบาลเลือกใช้เพื่อลดเงินเฟ้อส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจอังกฤษอย่างมหาศาล ทั้งการขึ้นดอกเบี้ย การลดงบประมาณภาครัฐ ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างหนัก จำนวนคนว่างงานได้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 1 ล้านคน เป็นมากกว่า 3 ล้านคน
1
แน่นอนที่สุด การดำเนินนโยบายที่ส่งผลรุนแรงอย่างนี้ทำให้ความนิยมของรัฐบาลตกต่ำเรื่อย ๆ จน Thatcher กลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความเชื่อถือน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ รัฐบาลโดนตำหนิเรื่องการบริหารประเทศจากทุกภาคส่วน แม้กระทั่งภายในพรรคอนุรักษ์นิยมเอง สมาชิกพรรคก็เริ่มจะไม่เห็นด้วย นอกจากนั้น มีนักเศรษฐศาสตร์ 365 คนได้ลงนามในจดหมายเปิดผนึกที่ได้ตีพิมพ์ใน The Times เรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนทิศทางนโยบายเศรษฐกิจ เพื่อให้อังกฤษจะสามารถหลุดออกจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำให้ได้
1
ถึงแม้ว่าจะเผชิญกับการกดดันจากทุกสารทิศให้กลับลำ (The U-Turn) แต่ Thatcher ไม่นำมาใส่ใจแถมยังขึ้น ภาษี VAT ให้เป็นร้อยละ 15 สร้างความไม่พอใจของประชาชนขึ้นไปอีก และในปี 1980 Thatcher ได้กล่าวในปาฐกาฐาที่ยังเป็นที่กล่าวขานถึงในปัจจุบันว่า “ You turn if you want to. The lady's not for turning.” หรือแปลเป็นไทยว่า พวกคุณเชิญกลับลำ หากคุณต้องการ แต่สตรีคนนี้จะไม่กลับ
1
นี่เป็นการสะท้อนความคิด ความเด็ดเดี่ยวและความเชื่อมั่นในนโยบายที่รัฐบาลดำเนินอยู่ ซึ่งถ้า Thatcher เชื่อว่ามันเป็นนโยบายที่ถูกต้องและมีประโยชน์กับประเทศ ท่านจะไม่หวั่นไหวกับคำวิพากษ์วิจารณ์และการก่นด่าจากทุกฝ่าย ท่านเชื่อว่าในการปราบเงินเฟ้อ อังกฤษต้องยอมทานยาขมเพื่อรักษา ไม่เช่นนั้นก็ยังจะคงเป็นผู้ป่วยแห่งยุโรปต่อไป
📌 เก่งอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีความเฮงด้วย
จากคะแนนความนิยมที่ลดลงอย่างมากในตัว Thatcher ทำให้หลายคนเชื่อว่ารัฐบาลจะไปไม่รอดและ การเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคอนุรักษ์นิยมน่าจะพ่ายแพ้แบบย่อยยับ เพราะความแข็งกร้าวและการไม่ยอมประนีประนอมของสตรีเหล็ก Margaret Thatcher รวมถึงการประท้วงเพื่อต่อต้านรัฐบาลในปี 1981 ที่มีความรุนแรงมาก
อย่างไรก็ดีโชคชะตาของเธอได้เปลี่ยนไป จากสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ แต่เกิดขึ้นในที่ ห่างออกไปถึง 8000 ไมล์ นั่นคือ การที่รัฐบาลอาร์เจนตินาได้ตัดสินใจบุกเข้ายึดหมู่เกาะ Falklands ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ในเดือนเมษายน 1982 Thatcher ต้องตัดสินใจว่าจะปล่อยหมู่เกาะไป เพราะไม่ได้มีความสำคัญอะไรกับอังกฤษ หรือ จะทำสงครามซึ่งอาจจะนำไปสู่ความพ่ายแพ้ เนื่องจากกว่ากองทัพเรือจะเดินทางไปถึง ต้องใช้เวลาอีกราว 6 สัปดาห์
1
ในเวลาสำคัญที่ Thatcher ต้องเลือกว่าจะเป็น Chamberlain หรือ Churchill ท่านเลือกที่จะเป็น Winston Churchill และนำอังกฤษเข้าสู่สงครามในสองวันต่อมา และการที่ Thatcher เลือกจะทำสงครามถึงแม้จะได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรง แสดงให้เห็นถึงภาวะความเป็นผู้นำอย่างสูงของท่าน ซึ่งถ้าอังกฤษแพ้ คงทำให้รัฐบาลคงต้องสิ้นสุดวาระอย่างแน่นอน
2
แต่ในที่สุด หลังจากที่กองทัพเรืออังกฤษได้ถล่มเรือรบ Belgrano ของอาร์เจนตินา ทำให้ชัยชนะตกเป็นของอังกฤษและสงครามได้สิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายนปีนั้น ซึ่งชัยชนะในสงคราม Falklands ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดของรัฐบาล Thatcher จากที่ทุกคนคิดว่ารัฐบาลจะไปไม่รอด ต้องพ่ายแพ้อย่างราบคาบในการเลือกตั้งครั้งต่อไปอย่างแน่นอน กลายเป็นว่า Thatcher ทำให้คนอังกฤษกลับมารักชาติและภูมิใจในประเทศตนเองอีกครั้ง จนส่งผลให้ท่านได้กลายเป็นผู้นำที่ได้รับความนิยมอย่างสูงสุดท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์
2
นอกจากนั้น นโยบายจัดการกับเงินเฟ้อเริ่มได้ผลในปี 1982 เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับชัยชนะที่หมู่เกาะ Falklands ทำให้ Thatcher มั่นใจและจัดการเลือกตั้งใหญ่ในปี 1983 ซึ่งผลปรากฎว่า Thatcher ชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย
📌 บทสรุป
เราได้เห็นบทเรียนในการดำเนินนโนบายของ Thatcher ว่านโยบายที่ใช่ ที่เหมาะกับการแก้ปัญหาของประเทศอาจจะเป็นนโยบายที่ทำให้พรรคการเมืองเสื่อมความนิยมอย่างรวดเร็ว แต่ Thatcher เชื่อมั่นในนโยบายและเอาผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง ไม่วอกแวกกับเสียงด่าและเสียงวิจารณ์
1
ซึ่งนโยบายเศรษฐกิจอาจจะใช้เวลานานกว่าจะเริ่มเห็นผล อย่างในกรณีของ Thatcher ผลงานเริ่มปรากฎในปี 1982 ซึ่งกินเวลากว่า 3 ปี และเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีผู้เสียผลประโยชน์ในประเทศเลย อย่างในกรณีของอังกฤษ มีผู้คนตกงานเพิ่มขึ้นกว่าเกือบ 2 ล้านคน แต่โดยรวมมันทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้
นั่นละครับ แต่ถ้าไม่มีโชคช่วยในสงคราม Falklands รัฐบาล Thatcher คงล่มสลายไปอย่างรวดเร็ว และ Thatcher คงไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีถึง 11 ปี และอยู่แก้ปัญหาต่างๆ อีกมากมายในประเทศ
เราคงได้แต่หวังให้ประเทศไทยเรามีรัฐบาลที่ดำเนินนโยบายที่ดีกับประเทศ ถึงแม้ว่านโยบายดังกล่าวจะไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน แต่ในที่สุดได้ทำให้ประเทศไปรอดได้ ในระบอบประชาธิปไตย การดำเนินนโยบายที่คนด่าทั้งประเทศเสมือนเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมือง ซึ่งนักการเมืองส่วนใหญ่คงไม่ยอมทำ แต่ไม่ช้าก็เร็ว เราคงต้องการผู้นำอย่าง Thatcher ที่มาแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ไม่ใช่ ทำผลงานเพื่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป
1
ในบทความหน้า ผมจะมาเล่าให้ฟัง ถึงนโยบายของ Thatcher 2 หลังจากที่ได้ชัยชนะจากการเลือกตั้งในปี 1983 กันครับ
1
ผู้เขียน : บุรินทร์ อดุลวัฒนะ Chief Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:
โฆษณา