4 ต.ค. 2021 เวลา 05:15 • หนังสือ
หนังสือ INTO THE MAGIC SHOP
โดย ดร.เจมส์ อาร์ โดตี
แปล นายแพทย์ นที สาครยุทธเดช
เนื้อหา 221 หน้า
เมื่อผมอ่านหนังสือเล่มนี้คร่าวๆ สิ่งแรกที่ผมนึกถึงคือ หลักพุทธศาสนาคือสติปัฏฐาน 4 ที่ว่าด้วยการฝึกสติ และรวมไปถึง ศีลสมาธิ และปัญญา บวกกับ การนำความลับของหนังสือ The Secret มาประยุกต์ใช้…การนำมาใช้ บางคนนำมาใช้ทางโลกคือการจินตนาการ หลังจากทำสมาธิมาดีแล้วในระดับหนึ่ง คือจินตนาการว่าได้ครอบครองสิ่งต่างๆ ที่อยากได้ (การตั้งเป้าหมายจนจิตใต้สำนึกนำพาวิธีการต่างๆ ให้ได้ครอบครองสิ่งที่อยากได้นั้น) มีหนังสือหลายต่อหลายเล่มที่นำไปตีความหมายต่างๆและขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่มาจบลงในหลักพุทธศาสนา
คนเราจะไม่ได้ครอบครองสิ่งต่างๆ หากเราไม่ได้คิดถึงมันมากพอ
ขั้นลืมตายังเพ้อ หลับตายังเพ้อได้ (แสดงว่าคุณคิดถึงมันมากพอ) แต่การจินตนาการที่ปราศจากสมาธิ ที่จดจ่อ ก็ไม่ได้ทำให้คุณเกิดปัญญาคือวิธีที่จะได้มา หากแต่เป็นเพียงแค่ มีสติ แบบนักเดินบนเส้นลวด มีเพียงสติ แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญญา แต่หากคุณมีศีล สมาธิ และ ปัญญา สิ่งต่างๆ จะเกิดขึ้นในชีวิตคุณ โดยมีสองทางแยกให้เลือกคือ โลกิยะ และโลกุตระ…
เอาเป็นว่าคุณลองฝึกสมาธิ ปฎิบัติธรรม และหลังจากแผ่เมตตาด้วยความรักแล้ว ให้คุณรู้สึกถึงการได้ครอบครองทรัพย์ที่คุณอยากจะครอบครอง ไม่ใช่โดยความโลภ หากแต่คิดว่าสิ่งนั้นมันเป็นของคุณอยู่แล้ว วิธีการต่างๆ ที่จะพาไปสู่ทรัพย์นั้นจะเกิดขึ้นกับคุณในชีวิตจริง…
รายละเอียดทั้งหมดติดตามได้จากหนังสือครับ….
สติปัฏฐาน 4 คือ ข้อปฏิบัติแห่งการฝึกสติ เพื่อความรู้แจ้งในกาย เวทนา จิต และธรรม ความเข้าใจตามเป็นจริงของสิ่งทั้งปวงโดยไม่ถูกกิเลสครอบงำ โดยใช้สติและความมุ่งมั่นแน่วแน่เป็นตัวนำ
สติปัฏฐาน เกิดจากคำ 2 คำ คือคำว่า สติ ซึ่งแปลว่า ความระลึกรู้ ความตระหนักรู้ และความไม่ลืม กับคำว่า ปัฏฐาน ซึ่งแปลว่า ความตั้งมั่น, ความแน่วแน่, ความมุ่งมั่นไม่ปล่อยเวลาให้เสียประโยชน์ เมื่อรวมเข้าด้วยกัน จึงหมายถึง การเข้าไปรู้เห็นในสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เป็นการรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นกับกาย เวทนา จิต และธรรม ด้วยสติที่ตั้งมั่นและแน่วแน่
สติปัฏฐาน 4 ประกอบไปด้วย
�1. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมายถึง การมีสติไม่ลืมว่ากายเป็นแค่ที่รวมของธาตุ 4 ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ มาประชุมรวมกันเป็นร่างกาย ไม่มองกายด้วยความเป็นคน สัตว์ เรา เขา แต่มองแยกเป็น รูปธรรมหนึ่ง ๆ เท่านั้น อาศัยเหตุปัจจัยมากมายเกิดขึ้นเป็นวงจรปฏิจจสมุปบาท ก็จะเห็นความเกิดดับ และเห็นว่ากายล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา
2. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมายถึง การมีสติไม่ลืมว่าเวทนาทั้งหลาย ทั้งสุข ทุกข์ อุเบกขา มีและไม่มีอามิส ล้วนเป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง ไม่มองกายด้วยความเป็นคน สัตว์ เรา เขา แต่มองแยกเป็นแค่นามธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยมากมายเกิดขึ้นเป็นวงจรปฏิจจสมุปบาท ก็จะเห็นความเกิดดับ และเห็นว่าเวทนาล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา
3. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมายถึง การมีสติไม่ลืมว่าจิตมีเหตุใกล้คือเจตสิกมากมายเป็นปัจจัยให้เกิดอยู่ ไม่มองจิตด้วยความเป็นคน สัตว์ เรา เขา คือไม่มองว่าเรากำลังคิด เรากำลังโกรธ หรือเรากำลังเหม่อลอย แต่มองแยกเป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง ที่อาศัยเหตุปัจจัยมากมายเกิดขึ้นเป็นวงจรปฏิจจสมุปบาท ก็จะเห็นความเกิดดับ และเห็นว่าจิตล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา
4. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมายถึง การมีสติไม่ลืมว่าโลกิยธรรมทั้งปวงเกิดจากเหตุปัจจัยมากมาย ไม่มองด้วยความเป็นคน สัตว์ เรา เขา แต่มองเป็นรูปธรรมและนามธรรม ที่อาศัยเหตุปัจจัยมากมายเกิดขึ้นเป็นวงจรปฏิจจสมุปบาทก็จะเห็นความเกิดดับ และเห็นว่าธรรมที่เกิดจากเหตุปัจจัยล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา
สติปัฏฐาน 4 นี้เป็นหลักการปฏิบัติในการฝึกสติที่พระองค์ท่านตรัสว่าเป็นทางสายเอก เป็น 1 ใน 7 หมวดในโพธิปักขิยธรรม ซึ่งเป็นธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ หรือ เกื้อกูลแก่การตรัสรู้ และเกื้อหนุนแก่ธรรมของผู้ปฏิบัติให้สามารถเดินทางไปถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้
โฆษณา