4 ต.ค. 2021 เวลา 12:19 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
“ทองพูน...คนดีราษฎรใหม่" เรื่องราวจากคอลัมน์ "We R Characters เราคือตัวละคร" บนแอป 2read
“นีโอเรียลลิสม์ (Neorealism หรือ สัจนิยมใหม่) คือยุคสมัย มีความหมายหลากหลาย แต่บ่อยครั้งหมายถึงหนังเกี่ยวกับชนชั้นแรงงาน เรื่องราวอยู่ในสังคมที่ยากจน ด้วยต้องการสื่อสารถึงการมีชีวิตที่ดีกว่าที่ควรมีมากขึ้นในสังคม”
โรเจอร์ อีเบิร์ต นักวิจารณ์รางวัลพูลิตเซอร์เขียนไว้ในบทวิจารณ์ “The Bicycle Thief” (2491) เมื่อปี 2542 ผลงานกำกับของ วิตโตริโอ เดอ ซิกา หนึ่งในหนังเด่นจากลัทธิ “นีโอเรียลลิสม์” ที่เกิดขึ้นในอิตาลีช่วงปลายและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งชาวอิตาเลียนจำนวนมากต้องเผชิญกับความยากไร้จากพิษภัยสงคราม
The Bicycle Thief (2491) /ภาพประกอบ: Turner Classic Movies
แต่นอกเหนือจากที่อีเบิร์ตอธิบาย มันยังรวมถึงความสมจริง-ปรุงแต่งเพียงน้อยนิด และใช้นักแสดงไร้ชื่อเพื่อให้ไปถึง “สัจนิยม” ดังกล่าว ส่วนในบ้านเราหนังอิตาเลียนเรื่องนี้ยังถูกอ้างอิงเสมอ เมื่อใครกล่าวถึง “ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น” ของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล หรือ “ท่านมุ้ย” เมื่อปี 2520 เพราะบทหนังของท่านมุ้ยมีพล็อต รวมถึงบางซีนไม่ต่างกัน และยังมีความ “เรียลลิสม์” ในแบบสังคมไทย ซึ่งไม่เคยพ้นสมัย และเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้มันยังคงความคลาสสิกมาจนถึงปัจจุบัน
ในหนังของ เดอ ซิกา เล่าเรื่องของ แอนโตนิโอ (แลมแบร์โต แมจจิโอรานี) ชายตกงานที่มีทั้งลูกชายวัยไม่กี่ขวบกับเมียให้ดูแล แต่งานเดียวที่หาได้จำเป็นต้องอาศัยจักรยานเป็นเครื่องมือในการหากิน มันจึงเป็นเหมือนพาหนะที่จะปั่นไปเจอชีวิตที่ดีกว่า แต่เมื่อถูกขโมยฉกหายไปต่อหน้าต่อตา แอนโตนิโอจึงออกตะลอนไปทั่วกับลูกชายเพื่อหาทางนำมันคืนมา
“เขาหวังจะใช้มันสร้างอนาคตแก่ “บักหำน้อย” ลูกชายคนเดียว”/ ภาพประกอบ: ไฟว์สตาร์โปรดักชัน
ส่วน “ทองพูนฯ” ของท่านมุ้ย เปลี่ยนจากจักรยาน มาเป็นรถแท็กซี่ในเมืองกรุง มันคือเครื่องมือหาเลี้ยงชีพที่ทองพูน (จตุพล ภูอภิรมย์) อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบจนได้มาเป็นเจ้าของ เขาหวังจะใช้มันสร้างอนาคตแก่ “บักหำน้อย” ลูกชายคนเดียว เพื่อให้ได้เรียนสูงๆ มีความเป็นอยู่ไม่อัตคัต จนต้องทิ้งถิ่นเกิดจากอุดรฯ มาเป็นคนขับแท็กซี่เหมือนกับเขา และก็เช่นเดียวกับแอนโตนิโอ ในคืนหนึ่งที่ยังมีเคอร์ฟิว ทองพูนโดนแก๊งโจรวัยรุ่นรุมกระทืบแล้วชิงรถไป
สิ่งหนึ่งที่ต้องกาดอกจันเอาไว้ด้วยสำหรับเรื่องนี้ของท่านมุ้ย คือวันเวลาที่มันถ่ายทำ-ออกฉาย ซึ่งก็คือไม่กี่เดือนหลังการรัฐประหารเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 พร้อมกับการประกาศแผนที่ฟังคุ้นๆ ว่า “ปฏิรูป” ไปอีก 12 ปี แต่หนังที่กล่าวถึงการลุกขึ้นสู้ของคนอีสานตัวเล็กๆ กับอำนาจมืด กลับถูกใจผู้ชม กลายเป็นหนังทำเงินมากที่สุดตั้งแต่ท่านมุ้ยเริ่มทำหนังมาตั้งแต่ปี 2514 รวมทั้งน่าจะเป็นหนังไทยเรื่องแรก-เรื่องเดียวที่มีคำว่า “ราษฎร” เป็นชื่อเรื่อง
สำหรับคำนี้ในเมืองไทยมีความหมายมากกว่าเป็นแค่คำนามในพจนานุกรม และคนที่ทำให้มีความหมายอย่างมีนัยที่สุดก็คือ ปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในผู้ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ภายใต้ชื่อ “คณะราษฎร (ราษฎร์)” โดยอดีตนายกฯ และรัฐบุรุษเป็นผู้เลือกใช้คำนี้ด้วยตัวเอง
Citizen คือชื่อภาษาอังกฤษของ “ทองพูนฯ” ซึ่งแปลว่า “ประชาชน” หรือ “พลเมือง” แต่ “ราษฎร” ของปรีดี มาจากคำว่า People โดยอ้างอิงจากข้อเขียน “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบอบประชาธิปไตย” ของ ปรีดี พนมยงค์ ซึ่ง ทวีป มหาสิงห์ นำมาอ้างอิงไว้ในบท “แนวความคิดเรื่อง ‘ราษฎร’ ของปรีดี พนมยงค์” จากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทเมื่อปี 2554 ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และถูกนำมาเผยแพร่ในวารสารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 ปี 2556
จากบทความนี้ระบุว่าในช่วงก่อนทศวรรษที่ 2470 จะพบได้ทั้งคำว่า “ราษฎร พลเมือง ประชาชน คนในบังคับ ไพร่และทาษ” โดยแต่ละคำมีความหมายเหมือนและต่างกัน เช่น “ไพร่” หมายถึงคนกลุ่มที่เป็นกำลังพลใช้แรงงานภายในรัฐ บางครั้งรวมไปถึงคนในรัฐด้วย ส่วน “คนในบังคับ” ก็คือคนอยู่ภายใต้สังกัดของรัฐ ส่วน “ทาษ (ทาส)” คือกลุ่มระดับล่างของสังคม เป็นผู้ใช้แรงงาน และทรัพย์สินในการซื้อขายได้
แต่หลังจากนั้น ในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง คำว่าราษฎรดูจะมีการใช้อย่างแพร่หลายมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ในงานของนักเขียนชื่อดัง หรือการก่อตั้งหนังสือพิมพ์ชื่อ “ราษฎร” เมื่อปี 2471 เป็นตัวอย่าง นอกจากนั้นยังมีความหมายทางการเมืองเป็นคนละแบบกับ “พลเมือง” โดยคำว่า ราษฎร มีนัยเพื่อเน้นให้เห็นถึงสังคมการเมืองที่มีการแบ่งแยกทางฐานะกัน โดยผู้เขียนระบุว่า “คนที่เป็นเจ้านาย” เป็นพลเมืองได้ แต่เป็นราษฎรไม่ได้
“...โดยที่ปรีดีได้ให้ความหมายของคำว่า ‘ราษฎร’ ใหม่ ด้วยการกลับไปอธิบายถึงลักษณะของมนุษย์ว่าเป็นคนดี แต่ถูกปัจจัยภายนอกทำให้กลายเป็นคนไม่ดี หากมนุษย์อยู่ในสภาวะที่เอื้อต่อการทำดี หรือได้รับการอบรมแก้ไขแล้ว มนุษย์ย่อมจะกลับมาเป็นคนดีได้ การที่ลักษณะของมนุษย์เป็นคนดี และมีเหตุผลดังกล่าว ได้นำมาซึ่งคุณสมบัติแบบใหม่ตามหลักของสิทธิมนุษยชน คือความเป็นอิสระ ความเสมอภาค และภราดรภาพ คุณสมบัติดังกล่าวนี้ ได้กลายมาเป็นรากฐานของมนุษย์ ในฐานะของการเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นแกนกลางของรูปแบบการปกครองแบบใหม่
ดังนั้นปรีดีจึงเลือกใช้คำว่า ‘ราษฎร’ ในความหมายแบบใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างระบอบการปกครองแบบใหม่ที่ราษฎรเป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริงขึ้นมา นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่าการเลือกใช้คำว่า ‘ราษฎร’ ของปรีดี ยังมีลักษณะเป็นเครื่องมือที่ในการใช้ต่อสู้ทางการเมืองแฝงอยู่ด้วย” ทวีป มหาสิงห์ เขียนไว้ในส่วน “บทคัดย่อ”
ใน “The Bicycle Thief” ภายหลังพยายามตามหาจักรยานจนหมดทาง แอนโตนิโอก็กลายเป็นโจรขโมยจักรยานเสียเอง ก่อนจะโดนฝูงชนไล่จับ หมดทั้งเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นพ่อต่อหน้าลูกชาย แต่กับทองพูน ถึงจะพึ่งใครไม่ได้เหมือนกัน จักรยานไม่มีค่าพอให้ตำรวจทำหน้าที่ ส่วนรถแท็กซี่ แม้ตำรวจจะไปตามเบาะแสที่ทองพูนควานหามาด้วยตัวเอง แต่หัวหน้าตัวโจรชิงรถตัวจริงก็เป็นเสี่ยใหญ่ จ่าชรา (เบญจมินทร์) ที่คุ้นเคยกับทองพูน ยืนยันหนักแน่น ด้วยสถานะที่ “มีหน้ามีตาในสังคม” ไม่มีใครจะเอาผิดอะไรเสี่ยคนนี้ได้
“ผลคือโดนทรชนรุมซ้อมจนสะบักสะบอม แต่ทองพูนก็ยังไม่หยุด” / ภาพประกอบ: ไฟว์สตาร์โปรดักชัน
แต่ทองพูนไม่ยอมจำนน เขาตามไปทวงรถคืนด้วยตัวเอง ผลคือโดนทรชนรุมซ้อมจนสะบักสะบอม แต่ทองพูนก็ยังไม่หยุด ในสภาพที่บาดเจ็บจนยืนแทบไม่ไหว ทองพูนเตือนเพื่อนเสี่ยวถึงอำนาจเถื่อนที่อาจต้องเจอเหมือนเขาสักวัน เขาชักชวนให้ทั้งหมดร่วมกันลุกขึ้นสู้ แต่ทุกคนต่างมีเหตุผลของตัว ซึ่งไม่พ้นไม่อยากมีปัญหา และรถที่หายไปเป็นธุระของทองพูน ส่วนแท็กซี่ของพวกเขายังอยู่ดี
“เพราะพวกมึงคิดว่ามันเกิดขึ้นกับคนอื่น บ่มีวันเกิดขึ้นกับพวกมึง” / ภาพประกอบ: ไฟว์สตาร์โปรดักชัน
“เพราะพวกมึงคิดว่ามันเกิดขึ้นกับคนอื่น บ่มีวันเกิดขึ้นกับพวกมึง” ทองพูนพูดกับเพื่อนแท็กซี่ด้วยความเดือดดาล
“พวกมึงคิดแต่นอนงอให้คนเขาซ่อย บ่คิดจะซ่อยตัวเอง คิดว่ามันเป็นหน้าที่ของคนอื่น บ่แม่นหน้าที่ของพวกมึง โธ่...ไอ้บักหำเอ๊ย! สมแล้วที่พวกเขาบอกเราว่าเป็นพวกบักเสี่ยว ได้แต่งอมืองอตีน บ่ซ่อยตัวเอง สมแล้วที่ชาวกรุงเทพฯ เรียกว่าเป็นวัวเป็นควาย ให้เขาสนตะพาย...”
ในที่สุดแท็กซี่ของทองพูนจึงไม่ใช่แค่พาหนะสร้างฝันให้เป็นจริงอีกต่อไป แต่คือความเป็นธรรมที่ควรได้รับ ทองพูนลืมกระทั่งอนาคตของลูกชาย ไม่ฟังเสียงคัดค้านจากใคร เขาบุกไปที่อู่นั้นอีกครั้ง แล้วฆ่าคนไป 4 ศพ เพื่อทวงรถของเขาคืนจากพวกมัน
“ก็ระบบมันเป็นอย่างนี้ เอ็งก็ควรยอมรับ” / ภาพประกอบ: ไฟว์สตาร์โปรดักชัน
“ไม่ควรเลยทองพูน เอ็งก็รู้อยู่แล้วว่าไม่มีทางจะชนะเขา ก็ระบบมันเป็นอย่างนี้ เอ็งก็ควรยอมรับ ถ้าเอ็งรับไม่ได้ เอ็งก็อยู่ในสังคมนี้ไม่ได้ เขาก็ต้องจับเอาเอ็งเข้าตะราง”  จ่าชราคนเดิมกล่าวอย่างเหน็ดหน่ายให้กับสิ่งที่ทองพูนทำลงไป
อิสรภาพของ ทองพูน โคกโพ (2527) / ภาพประกอบ: พร้อมมิตรภาพยนตร์
หลังจากนั้นอีก 7 ปี ท่านมุ้ยทำภาคต่อตามมาในชื่อ “อิสรภาพของ ทองพูน โคกโพ” โดยเปลี่ยนทองพูนจาก จตุพล ภูอภิรมย์ ที่เสียชีวิตไปในปี 2524 มาเป็น สรพงศ์ ชาตรี ท่านมุ้ยเล่าเรื่องต่อจากภาคแรก 5 ปี ในยุคที่กรุงเทพฯ เต็มไปด้วยไซต์ก่อสร้างตามการพัฒนาของเมือง แต่สลัมกับคนจนก็ยังมีแทรกแซมอยู่ทั่วไป และด้วยชื่อว่าเคยผ่านคุกตะราง ทำให้ทองพูนไม่มีทางเลือกยิ่งกว่าเดิม แต่เขาก็ไม่เคยคิดจะเป็นโจร
“...แต่การกระทำผิดนั้นมาจากกลไกหรือปัจจัยภายนอกของตัวมนุษย์เอง โดยที่ปัจจัยของการกระทำผิดนั้นไม่ได้มาจากกรรมตามความเชื่อแบบพุทธศาสนา แต่มาจากสังคม หรือกลไกอื่นๆ ที่อยู่ภายในตัวมนุษย์ ซึ่งล้วนแล้วแต่ปรับปรุงแก้ไขได้”  ทวีป มหาสิงห์ ตีความถึงวิธีมองมนุษย์ของ ปรีดี พนมยงค์ ผ่านทางอาชญวิทยาที่ปรีดีเคยอ้าง และถูกนำมาใช้ประกอบการศึกษาแนวความคิดในคำว่าราษฎรของปรีดีเช่นกัน
“มนุษย์ที่จะสามารถกระทำความผิดได้ด้วยปัจจัยที่ต่างกัน แต่สามารถเรียนรู้ ปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาตนเองไปจนถึงขีดสุด จนทำให้มนุษย์เกิด ‘เป็นอิสรภาพจะพลันเกิดมีขึ้นแก่ใจ อันจะเป็นหลักอย่างมั่นคงของเกียรติยศ และนิสัยใจคอที่ดี ผู้ใดรู้สึกตัวว่าเป็นอย่างนี้ ผู้นั้นจำต้องมีอารมณ์อิ่มเอิบเกิดขึ้นในใจเป็นธรรมดา’...”
ในชีวิตช่วงต่อมาของทองพูน แม้จะเหมือนติดคุกทั้งที่อยู่นอกตะราง แต่ด้วยยึดมั่นในความซื่อสัตย์ เป็นคนมี “นิสัยใจคอที่ดี” เป็นทุนเดิม แม้จะถูกบีบคั้นอย่างไร เขาก็ไม่ทำผิดซ้ำอีก ในที่สุดทองพูนก็ได้รับอิสรภาพด้วยโอกาสที่มีผู้หยิบยื่นให้ ชีวิตไม่สิ้นหวังเหมือนตอนจบในภาคแรก หรือ The Bicycle Thief
มันจึงเป็นการจบเรื่องราวของ “ราษฎรเต็มขั้น” อย่างบริบูรณ์
📌อ่านบทความอื่นๆ ในคอลัมน์ "We R Characters เราคือตัวละคร" ได้ที่แอป 2read หรือคลิกภาพด้านล่าง
📲ดาวน์โหลดแอป 2read 👉https://bit.ly/3bQtbiV
✅อ่านง่าย อ่านสะดวก อ่านที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ตามใจต้องการ มีบทฟรีให้อ่าน เลือกอ่านเฉพาะบทที่อยากอ่านก็ได้ ซื้ออ่านทั้งเล่ม (เล่มที่จบแล้ว) ลด 10% ก็ดี๊ดี ใช้เหรียญเงินเปิดอ่านฟรีดีต่อใจ❤️
📚มีทั้งหมวดการลงทุน ธุรกิจ พัฒนาตนเอง ไลฟ์สไตล์ (ประวัติศาสตร์และการท่องเที่ยว) นิยาย การ์ตูน และคอลัมน์หลากหลายเรื่องราวที่น่าสนใจ จากผู้รู้ลึกที่หลงใหลในเรื่องราวนั้นๆ
🎉สมัครสมาชิกกับแอป 2read รับไปเลย 30 เหรียญเงิน ฟรี! เอาไว้ใช้อ่านหนังสือบนแอป 2read
💥อย่าลืมแวะมาอ่านบทความฟรีของ #2readDaily ทุก 7 โมงเช้า
ซึ่งตอนนี้มี 8 คอลัมน์แล้ว สลับกันมาให้อ่านตั้งแต่วันจันทร์ - อาทิตย์เลย
ทั้งคอลัมน์ธุรกิจ หุ้น อสังหาฯ พัฒนาตัวเอง เมืองต่างๆ ประวัติศาสตร์ ตัวละคร และดวง
ชอบเรื่องไหน ก็ตามอ่านกันได้เลยที่แอป 2read ที่เดียว!
#2read #แอปที่มากกว่าการอ่านศูนย์กลางการอัพสกิล
โฆษณา