6 ต.ค. 2021 เวลา 15:24 • ประวัติศาสตร์
ถ้อยคำไม่เคยเงียบ – 6 ตุลา ไม่เคยลืม: สำรวจทัศนะฝ่ายขวาต่อเหตุการณ์ 6 ตุลา 19
30 ปีหลังเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 ธงชัย วินิจจะกูล หนึ่งในนักศึกษาที่รอดชีวิตจากการล้อมปราบครั้งนั้น กลับมาค้นหาความทรงจำต่อเหตุการณ์ 6 ตุลา จากบุคคลฝ่ายขวาจำนวนหนึ่ง ที่มีส่วนสำคัญในการล้อมปราบ เขาเริ่มออกเดินทางไปสัมภาษณ์ฝ่ายขวาหลายต่อหลายคน รวมถึงสำรวจคำให้การของพยานในเหตุการณ์จำนวนกว่า 224 คน จากเอกสารฝุ่นเขรอะที่วางอยู่เงียบๆ ณ สำนักงานอัยการสูงสุด
เสียงของฝ่ายขวาที่ธงชัยค้นพบคือ ความทรงจำของคนเหล่านั้นเมื่อผ่านเวลากว่า 30 ปี เรื่องเล่าของเหตุการณ์ 6 ตุลา กลับมีหลายเฉดความทรงจำ ทั้งๆ ที่ทุกคนอยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน เราอาจสรุปหมวดหมู่ของถ้อยคำอย่างคร่าวดังนี้
• บางคนยังภูมิใจในวีรกรรมของตนเช่นเคย แต่เก็บความภูมิใจไว้เงียบๆ หรืออวดเฉพาะแวดวงของตนเท่านั้น
• บางคนเห็นว่าตนกลายเป็นแพะรับบาป ถูกประณามถูกเข้าใจผิด โดยที่ผู้บงการตัวใหญ่ๆ ทั้งหลายไม่ถูกประณาม หรือต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตน
• บางคนลังเลสงสัยว่าตนถูกหลอกใช้
• บางคนกลับเล่าบทบาทของตนแตกต่างกันลิบลับจากที่เคยเล่าไว้เมื่อปลายปี 2519
• บางคนลืมไปแล้วว่า ตนเคยเล่าไว้อย่างไร
• บางคนนึกไม่ออกแล้วว่าตนทำอะไรเมื่อ 6 ตุลา 2519
การศึกษาเรื่องนั้นของธงชัย วินิจจะกูล พบว่า ‘เหตุการณ์ 6 ตุลา’ มีความเปลี่ยนแปลงในเชิงการรับรู้หลายประการที่ส่งผลให้ฝ่ายขวาไม่สามารถอวดอ้างวีรกรรมของตนต่อสาธารณชนได้เหมือนเช่นปีแรกๆ หลังเหตุการณ์
อีกส่วนคือ เมื่อความขัดแย้งระหว่างฝ่ายเสรีประชาธิปไตยกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ ทั้งในประเทศและระดับสากล รวมทั้งกระแสประชาธิปไตยเสรีนิยมในสังคมไทยเปลี่ยนไปในช่วงปลายทศวรรษ 2520 ถึงต้นทศวรรษ 2530 ในที่สุด 6 ตุลา กลับกลายเป็นที่รับรู้ของสาธารณชนว่า ความรุนแรงโหดเหี้ยมทางการเมืองคือแผลเป็นในประวัติศาสตร์ที่จะอยู่คู่สังคมไทยไปอีกนาน
แน่ละว่าหลายปีที่ผ่านมา เราได้ยินเสียงของคนที่จากไปผ่านถ้อยคำและหลักฐานที่หลงเหลือมากขึ้น บางประโยคเศร้ามาจากญาติพี่น้องของผู้สูญเสียชีวิต ขณะที่ถ้อยคำอีกไม่น้อยเป็นของนกพิราบที่รอดมาพร้อมบาดแผลทางใจ เสียงเหล่านี้ดังขึ้นเรื่อยๆ หากวัดจากความเงียบของวันวาน ในทางกลับกัน เสียงของผู้สาดกระสุนจริงและกระสุนความคิดกลับเงียบงัน กระทั่งเราต้องมาตามหาร่องรอยของถ้อยคำว่า เหตุการณ์ล้อมยิงนักศึกษาในครานั้น ผู้ที่อยู่ตรงข้ามกับฝ่ายซ้ายคิดอะไรก่อนลั่นไกปืน
● รู้สึกทนไม่ได้ที่สถาบันอันเป็นที่รักของคนไทยถูกย่ำยี
ฝ่ายขวาในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เป็นขบวนการที่ถูกจัดตั้งโดยชนชั้นนำโดยตรง มีการปฏิบัติการและเคลื่อนไหวที่ถูกกำหนดโดยกลไกรัฐ เช่น กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มนวพล กลุ่มกระทิงแดง (2 กลุ่มหลังถูกยุบเลิกไปหลังจากเหตุการณ์การปราบปรามนักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 สิ้นสุดลง เนื่องจากกองทัพและกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) มองว่าภารกิจของขบวนการเหล่านี้จบสิ้นลงแล้ว)
ในที่นี้รวมไปถึงหน่วยงานของรัฐบางส่วน เช่น ตำรวจตระเวนชายแดน กองอำนวยการรักษาความสงบภายในประเทศ (กอ.รมน.) สำหรับช่องทางในการปลุกระดมที่สำคัญฝ่ายขวาได้อาศัยช่องทางทั้งวิทยุและโทรทัศน์ในการสื่อสาร เช่น สถานีวิทยุยานเกราะ วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เป็นต้น
หนึ่งในฝ่ายขวาที่มีบทบาทสูงในวันนั้นคือ อุทิศ นาคสวัสดิ์ เขาเป็นนักจัดการรายวิทยุและโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และยังทำงานเป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บทบาทของอุทิศคือการเผยแพร่ทัศนะโจมตีขบวนการนักศึกษา ผ่านการออกอากาศรายการประจำวันชื่อ ‘เพื่อแผ่นดินไท’
อุทิศ นาคสวัสดิ์ ขณะอยู่บนเวทีปราศรัย (ภาพโดยปฐมพร ศรีมันตะ doct6.com)
บางครั้งอุทิศโจมตีและประณามขบวนการนักศึกษาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ หลายต่อหลายครั้งเขาจะกล่าวหาว่านักศึกษาเป็นญวน และเรียกร้องให้ประชาชนร่วมมือพร้อมใจกันออกมาต่อต้านนักศึกษา โดยอ้างว่าทนไม่ได้ที่นักศึกษากระทำการดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ทำร้ายจิตใจคนไทย
ตัวอย่างสำคัญคือบันทึกเสียงทีวีช่อง 5 ในช่วงบ่ายของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่อุทิศจัดรายการอยู่ สะท้อนให้เห็นความคิด อารมณ์ ความรู้สึกในเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่างคมชัด
พันตำรวจโทสล้าง บุนนาค รองผู้กำกับการ 2 ถูกเชิญมายังรายการ สล้างมีบทบาทสำคัญในการคุมกำลังตำรวจเพื่อรักษาความสงบบริเวณสนามหลวงและหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อุทิศเริ่มต้นสัมภาษณ์สล้างว่า รู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นภาพแขวนคอ (ละครล้อเลียนโดยกลุ่มนักศึกษา) ก่อนที่สล้างจะตอบว่า “รู้สึกทนไม่ได้ที่สถาบันอันเป็นที่รักของคนไทยถูกย่ำยี”
สล้างเล่าว่า เมื่อเขาไปที่ธรรมศาสตร์ได้เจอเพื่อนฝูงนายตำรวจและทหาร ทุกคนบอกว่าอาจคุมลูกน้องของตนไม่อยู่หากผู้บังคับบัญชาไม่สั่งการอะไรลงไป ประชาชนที่อยู่หน้าธรรมศาสตร์ก็กำลังโกรธแค้นและเร่งเร้าให้ตำรวจใช้กำลังบุกธรรมศาสตร์เช่นกัน
สล้างเล่าต่อ เพื่อนนายตำรวจและทหารได้ชวนเขาไปที่สถานีวิทยุยานเกราะ แต่เขาบอกว่าไปที่บ้านนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช น่าจะมีประโยชน์มากกว่า เขากับพวกจึงพากันไปที่บ้านเสนีย์ ที่นั่นเขาได้พบกับ นายดำรง ลัทธพิพัฒน์, นายชวน หลีกภัย และ นางสาวพรรณทิพา วัชโรบล สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ (ทั้งสามคนถูกโจมตีจากกลุ่มฝ่ายขวาในขณะนั้นเช่นกัน)
สล้างกล่าวว่า “ตนบอกกับเสนีย์ว่าทนไม่ไหวแล้ว และเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินคดีกับนักศึกษา เสนีย์ตอบว่าตนก็ทนไม่ไหวเช่นกัน และได้สั่งการไปยังอธิบดีกรมตำรวจแล้ว”
ในคืนวันที่ 5 ตุลาคม 2519 สล้างไปถึงธรรมศาสตร์ราวตีสาม รอคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้บุก ระหว่างที่รออยู่นั้น ก็มีการยิงออกมาจากธรรมศาสตร์เป็นระยะๆ และปาระเบิดออกมา ทำให้ตำรวจบาดเจ็บหลายนาย ดร.อุทิศถามสล้างว่า จากเสียงปืนที่ได้ยินคิดว่าเป็นเสียงปืนอะไร สล้างตอบว่าเป็นเสียงปืนกล M60 ขณะที่ฝ่ายตำรวจมีเขาเพียงคนเดียวที่มีปืน M16 ส่วนคนอื่นๆ มีแต่ปืนพก
● อิทธิพลสายโซเวียตที่มุ่งทำลายสถาบันกษัตริย์
พันโทอุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นอีกคนที่มีบทบาทสำคัญในงานโฆษณาชวนเชื่อและสงครามจิตวิทยาต่อต้านขบวนการนักศึกษาในช่วง 6 ตุลา โดยมีวิทยุยานเกราะและชมรมวิทยุเสรีที่มีเครือข่ายสมาชิกถึง 260 สถานีเป็นเครื่องมือสำคัญ
ธงชัย วินิจจะกูล สืบค้นคำให้การของอุทารพบว่า ในทัศนะของอุทาร นับแต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีการแข่งขันกันอย่างหนักหน่วงระหว่างคอมมิวนิสต์ 2 สาย คือ สายจีน กับ สายโซเวียต ขบวนการนักศึกษาอยู่ภายใต้อิทธิพลสายโซเวียต 14 ตุลา และการเคลื่อนไหวหลายครั้งหลังจากนั้นเป็นการผลักดันของสายโซเวียต อุทารอธิบายว่า คอมมิวนิสต์สายโซเวียตต้องการลงมือคุกคามต่อพระเจ้าอยู่หัว ฝ่ายสายจีนเพลี่ยงพล้ำไม่สามารถควบคุมบงการนักศึกษาได้ เมื่อใกล้ 6 ตุลา สายจีนจึงป้อนข่าวข้อมูลแก่ทางราชการ โดยหวังว่าจะเป็นการเสี้ยมให้ขบวนการนักศึกษาปะทะรุนแรงกับมวลชนฝ่ายขวา แล้วตน (สายจีน) จะเป็นผู้ได้ประโยชน์
ต่อกรณีโซเวียต อุทารเล่าถึงเหตุการณ์ที่แสดงถึงอิทธิพลสายโซเวียตที่มุ่งทำลายสถาบันกษัตริย์ ได้แก่ แผนการบางอย่างในงานพิธีพระราชทานเพลิงศพวีรชน 14 ตุลา ที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2517 และการจัดแสดงละครเรื่อง ห้าแผ่นดิน ในงานรำลึกวีรชนที่ธรรมศาสตร์ปีนั้น เหตุการณ์แรก (แผนการฯ) ยังไม่รู้ว่าคืออะไรจนบัดนี้ เหตุการณ์ที่สอง (ละครเรื่อง ห้าแผ่นดิน) แทบไม่เป็นที่รู้จัก และแทบไม่เคยปรากฏในประวัติหรือเรื่องเกี่ยวกับ 14 ตุลาหรือ 6 ตุลาไม่ว่าฉบับไหน แต่กลับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่มีความหมายมากในความทรงจำของอุทารเกี่ยวกับ 3 ปีระหว่าง 14 ตุลา 2516 ถึง 6 ตุลา 2519
ถึงที่สุด เหตุการณ์ทั้งสองนี้ก็เป็นหลักหมายสำคัญในประวัติของกลุ่มกระทิงแดงด้วย ฝ่ายขวาอ้างว่ากลุ่มตนสามารถถวายการอารักขาแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ในพิธีดังกล่าว แผนของฝ่ายคอมมิวนิสต์จึงล้มเหลว นอกจากนั้นสายลับของตนยังสามารถแอบขโมยบทละครจนฝ่ายขวารู้เรื่องการแสดงละคร ห้าแผ่นดิน ก่อนเวลา และเข้าก่อกวนขัดขวางเป็นผลสำเร็จ
● ‘ทหารพระนเรศวร’ และ ‘เราสู้’ คือเพลงฮิต
ไม่เพียงทัศนะของนักจัดรายการปลุกประดม บทเพลงและศิลปวัฒนธรรมก็มีส่วนในการ ‘ปลุกใจ’ ของฝ่ายขวาด้วยเช่นเดียวกัน
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทยยุคใกล้ ได้เขียนบทความเรื่อง ‘เราสู้: เพลงพระราชนิพนธ์การเมืองกับการเมืองปี 2518-2519’ โดยพบว่า ในหมู่ฝ่ายขวา เพลงปลุกใจที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอาจกล่าวได้ว่ามี 3 เพลงเช่นกัน ‘ทหารพระนเรศวร’ เป็นเพลงที่พรรคชาติไทยซึ่งเป็นหัวหอกของฝ่ายขวาในวงรัฐบาลนำท่อนหนึ่งมาใช้เป็นคำขวัญในการหาเสียง
“เปรี้ยงๆ ดังเสียงฟ้าฟาด
โครมๆ พินาศพังสลอน
เปรี้ยงๆ ลูกปืนกระเด็นกระดอน
โครมๆ ดัสกรกระเด็นไกล
ถ้าสิ้นชาติสิ้นแผ่นดินสิ้นกษัตริย์
เห็นสุดจะยืนหยัดอยู่ได้…”
สำหรับเพลงที่ได้รับความนิยมสูงสุด สมศักดิ์เห็นว่าน่าจะเป็น ‘หนักแผ่นดิน’ ซึ่งสมัยหนึ่งวงดนตรีกรรมาชนของขบวนการนักศึกษาถึงกับเคยนำมาร้อง เพื่อโจมตีพวกฝ่ายขวาเอง เพราะเนื้อเพลงส่วนใหญ่สามารถ ‘ไปกันได้’ กับการแอนตี้จักรวรรดินิยมต่างชาติของขบวนการนักศึกษา
“คนใดใช้ชื่อไทยอยู่
กายก็ดูเหมือนไทยด้วยกัน…
คนใดเห็นไทยเป็นทาส
ดูถูกชาติเชื้อชนถิ่นไทย
แต่ยังเฝ้าทำกินกอบโกยสินไทยไป
เหยียดคนไทยเช่นทาสของมัน
หนักแผ่นดิน หนักแผ่นดิน
คนเช่นนี้เป็นคนหนักแผ่นดิน…”
อีกหนึ่งในสามเพลงปลุกใจยอดนิยมของฝ่ายขวาคือเพลงพระราชนิพนธ์ ‘เราสู้’ ซึ่งเริ่มถูกนำออกเผยแพร่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2519
ครั้งหนึ่ง กรณีหนังสือพิมพ์ ดาวสยาม รู้สึกว่ากำลังถูกโจมตีจากศัตรู (ขบวนการนักศึกษา) ถึงกับมีการ ‘ยกกำลัง’ มาที่สำนักงาน (ความจริงผู้เดินขบวนไปวางหรีดวันนั้นน่าจะมีไม่กี่ร้อยคน) บทเพลง ‘เราสู้’ ถูกอ้างขึ้นเพื่อยืนยันความถูกต้องของตัวเอง โดยเฉพาะในส่วนของเนื้อเพลง “สู้ที่นี่ สู้ตรงนี้…” ที่พูดถึงการปักหลักสู้ในที่ที่ตัวเองอยู่
บทเพลงของฝ่ายขวาถูกขับร้องต่อไปทั้งจากที่ชุมนุมของมวลชนเอง การเผยแพร่ผ่านสถานีวิทยุและโทรทัศน์ จนกระทั่งถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์ก็จบสิ้นลงด้วยการที่เจ้าหน้าที่และฝ่ายขวาเสียชีวิต 5 คน ส่วนนักศึกษาและประชาชนเสียชีวิตรวมทั้งหมด 41 คน บาดเจ็บอีก 145 คน ผู้รอดชีวิตฝั่งนักศึกษาและประชาชนกว่า 3,000 คนถูกจับกุมหลังจากนั้น
ภาพโดยปฐมพร ศรีมันตะ doct6.com
● ฝ่ายซ้ายกำลังฮึกเหิม ทหารจึงคิดก่อการปฏิวัติ
สำหรับคนที่มีบทบาทสำคัญในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 อีกคนคือ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปกครองแผ่นดินที่เข้าทำการยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในเวลา 18.00 น. สงัดสะท้อนความเห็นว่าการเคลื่อนไหวของนักศึกษามีภัยต่อความมั่นคงของประเทศ การรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นเรื่องจำเป็น ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
1
ในบันทึกของ บุญชนะ อัตถากร รัฐมนตรีในรัฐบาลคณะรัฐประหารหลายยุคสมัยได้บันทึกบทสนทนากับพลเรือเอกสงัด ในเรื่องเหตุการณ์ 6 ตุลาซึ่งเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจไว้ว่า
“คุณสงัดเล่าให้ฟังว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2519 มีข่าวลืออยู่ทั่วไปว่า จะมีทหารคิดก่อการปฏิวัติ เหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น ฝ่ายซ้ายกำลังฮึกเหิมและรบกวนความสงบอยู่ทั่วไป จึงได้กราบบังคมทูลขึ้นไปยังในหลวงที่เชียงใหม่ ซึ่งประทับอยู่ภูพิงค์ราชนิเวศน์ในขณะนั้นว่า จะขอให้คุณสงัดซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด (กับ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการฯ) กับ พลเอกบุญชัย บำรุงพงศ์ ผู้บัญชาการทหารบก และ พลอากาศเอกกมล เตชะตุงคะ ผู้บัญชาการทหารอากาศขึ้นไปเฝ้า แต่ในหลวงโปรดเกล้าฯ ให้คุณสงัดเข้าเฝ้าคนเดียว ทั้งๆ ที่ตั้งใจว่าถ้าเข้าเฝ้าทั้ง 3 คนก็จะได้ช่วยกันฟังนำมาคิดและปฏิบัติโดยถือว่าเป็นพรสวรรค์
“เมื่อคุณสงัดไปเฝ้าในหลวงที่ภูพิงค์ราชนิเวศน์นั้นได้ไปโดยเครื่องบิน เข้าเฝ้าคนเดียวอยู่ราว 2 ชั่วโมงครึ่งในตอนบ่าย ไปวันนั้นและกลับในวันเดียวกัน คุณสงัดบอกว่าไม่เคยเข้าเฝ้าในหลวงโดยลำพังมาก่อนเลย คราวนี้เป็นครั้งแรก ได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบถึงสถานการณ์บ้านเมืองว่าเป็นที่น่าวิตก ถ้าปล่อยไปบ้านเมืองอาจจะต้องตกอยู่ในสถานะอย่างเดียวกับลาวและเขมร จึงควรดำเนินการปฏิวัติ
“คุณสงัดเล่าต่อไปว่า อยากจะได้พรจากพระโอษฐ์ให้ทางทหารดำเนินการได้ตามที่คิดไว้ แต่ในหลวงก็มิได้ทรงรับสั่งตรงๆ คงรับสั่งแต่ว่าให้คิดเอาเองว่าจะควรทำอย่างไรต่อไป
“คุณสงัดเห็นว่า เมื่อไม่รับสั่งตรงๆ ก็คงดำเนินการไม่ได้ จึงกราบบังคมทูลว่า ถ้าทางทหารยึดอำนาจการปกครองได้แล้วก็มิได้ประสงค์จะมีอำนาจเป็นใหญ่ต่อไป จึงอยากจะให้ฝ่ายพลเรือนเข้ามาบริหารประเทศ สมมุติว่า ถ้ายึดได้แล้วใครจะควรเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากนั้น เสร็จแล้วคุณสงัดก็ได้กราบบังคมทูลรายชื่อบุคคลที่น่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีทีละชื่อ เพื่อจะได้พระราชทานความเห็น
“คุณสงัดเล่าว่า ได้กราบบังคมทูลชื่อไปประมาณ 15 ชื่อ รวมทั้ง คุณประกอบ หุตะสิงห์, หลวงอรรถสิทธิสุนทร, คุณประภาศน์ อวยชัย, คุณเชาว์ ณ ศีลวันต์ ด้วย แต่ก็ไม่ทรงรับสั่งสนับสนุนผู้ใด
“เมื่อไม่ได้ชื่อบุคคลที่น่าจะเป็นนายกฯ ได้ และเวลาก็ล่วงไปมากแล้ว คุณสงัดก็เตรียมตัวจะกราบบังคมทูลลากลับ แต่ก่อนจะออกจากที่เฝ้า ในหลวงได้รับสั่งว่า จะทำอะไรลงไปก็ควรจะปรึกษานักกฎหมาย คือ คุณธานินทร์ กรัยวิเชียร ผู้พิพากษาศาลฎีกาเสียด้วย”
บริเวณประตูใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ภาพโดยปฐมพร ศรีมันตะ doct6.com)
● ทำสงครามก็ต้องมีคนตายบ้างนิดๆ หน่อยๆ
เสียงของฝ่ายขวาที่กล่าวมาอาจจะเป็นเพียงฉากหนึ่งที่ประกอบเป็นเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แต่ความเห็นของ พันตรีสุตสาย หัสดิน (ยศในขณะนั้น) เมื่อเวลาผ่านไป เผยให้เห็นเสียงเฉลิมฉลองการปราบปรามนักศึกษาที่บางเบาลง แต่ยังยึดมั่นว่าปฏิบัติการในวันนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
สุตสายเป็นแกนนำก่อตั้งขบวนการกระทิงแดง ในช่วงปี พ.ศ. 2517 ขณะดำรงตำแหน่งนายทหารกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งในช่วงกลางปี พ.ศ. 2518 พลตรีสุตสาย ได้รวบรวมสมาชิกกว่า 25,000 คน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาอาชีวะ และเข้าร่วมเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร สารคดี เมื่อปี 2539 หลังจากผ่านเหตุการณ์มา 20 ปีว่า
“ถ้าถามว่ามีผู้บาดเจ็บล้มตายจากการกระทำของกลุ่มกระทิงแดงหรือเปล่า ก็ต้องมีบ้าง ทำสงครามก็ต้องมีคนตายบ้างนิดๆ หน่อยๆ ด้วยกันทั้งสองฝ่าย อย่าลืมว่ามนุษย์ทำสงครามเพื่ออะไร คงไม่มีใครบ้าทำสงครามเพื่อฆ่าใครเล่นง่ายๆ หรอก… สงครามทำขึ้นเพื่อสันติภาพ
“ในความคิดผมเหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ วันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ 14 ตุลา ส่วนเหตุการณ์ เดือนพฤษภาถือเป็นเรื่องเหลวไหล เป็นเรื่องของคนทำงานไม่เป็น 6 ตุลา ผมคิดว่ามีคนตายไม่เกิน 10 คน นอกนั้นว่ากันไปเองไม่มีหรอก ถ้าคนตายก็ต้องหาให้ได้สิ ที่ว่าคนตาย 500-600 ไปอยู่ที่ไหน คนที่ไปเผาป้อมยาม ตีไฟจราจร จะให้เป็นวีรชนได้ยังไง”
แต่อย่างไรก็ตาม สุตสายกล่าวว่า ภาพความโหดร้ายในวันที่ 6 ตุลา ไม่ใช่การกระทำของกลุ่มกระทิงแดง เพราะกระทิงแดงไม่มีกำลังมากนัก มีกำลังอยู่ที่ธรรมศาสตร์ไม่ถึง 20 คน ความรุนแรงเกิดขึ้นจากหลายกลุ่มที่เข้ามาพัวพัน เช้าวันที่ 6 ตุลา ตนก็อยู่ที่นั่นแต่ทำอะไรไม่ได้ เพราะบรรยากาศเร่าร้อนมากแล้ว
● เข้าใจถูกแล้ว แต่ผิดอยู่ดี
คำถามถัดมาคือ ความทรงจำใดที่ตรงกันบ้างระหว่างผู้ปราบปรามกับเหยื่อผู้รอดชีวิตในเหตุการณ์ เราอาจจะเห็นเรื่องนี้ได้ในปี 2550 ธงชัย วินิจจะกูล นำเสนอผลงานวิชาการเรื่อง ‘ความทรงจำ ภาพสะท้อน และความเงียบในหมู่ฝ่ายขวาหลังการสังหารหมู่ 6 ตุลา’
ธงชัยบอกเล่าการเข้าสัมภาษณ์ นายพลณ เณร ซึ่งมีบทบาทสูงในการปราบปรามนักศึกษา แต่เหมือนการสัมภาษณ์ที่บ้านพักของนายพลณ เณร นั้น ดูจะได้คำตอบไม่เกิน 2-3 อย่าง ถึงตรงนี้ธงชัยคิดว่าเป็นคำตอบที่ให้ภาพร่วมกันของฝ่ายขวาได้ดีที่สุด เพราะถ้อยคำเหล่านั้นราวกำลังบอกว่า
“สิ่งที่คุณเข้าใจอยู่นั้นมันถูกต้องแล้ว แต่ก็ยังผิดอยู่ดี…!
เพราะคุณไม่เข้าใจว่าทำไมสังคมไทยต้องเป็นอย่างนี้
ความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอย่างนี้…ๆๆๆ
สิ่งที่คุณคิดอยู่อาจจะถูก! แต่ก็ยังผิดอยู่ดี…!!!
เพราะคุณไม่เคยเข้าใจสถาบันพระมหากษัตริย์
และคุณไม่เคยเข้าใจด้วยว่า
คนไทยที่เคยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสถาบันพระมหากษัตริย์ มาหลายชั่วโคตร
เหมือนอย่างนายพล ณ เณร
ยังมีอีกเป็นล้านคนในประเทศไทย…”
อ้างอิง
• ธงชัย วินิจจะกูล. ‘6 ตุลาในความทรงจำของฝ่ายขวา 2519-2549: จากชัยชนะสู่ความเงียบ (แต่ยังชนะอยู่ดี)’. ความรุนแรงซ่อน/หาสังคมไทย. กรุงเทพฯ: มติชน, 2553
• เทปบันทึกเสียงทีวีช่อง 5 และวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 ตุลา 2519 ด้าน A
• สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง: รวมบทความเกี่ยวกับกรณี 14 ตุลา และ 6 ตุลา. [ม.ป.ท.]: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2544
• บุญชนะ อัตถากร. บันทึกการปฎิวัติ 1-3 เมษายน 2524 กับข้าพเจ้า. กรุงเทพฯ: มูลนิธิศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร เพื่อการศึกษาและวิจัย, 2525, หน้า 186-187
• สารคดี2539, ‘คำให้การของคนรุ่น 6 ตุลา 19, ปีที่ 12, ฉบับที่ 140 (ตุลาคม), หน้า 165-168
• ธงชัย วินิจจะกูล: ความทรงจำ ภาพสะท้อนและความเงียบในหมู่ฝ่ายขวาหลังการสังหารหมู่ 6 ตุลา
เขียน: อิทธิพล โคตะมี
โฆษณา