7 ต.ค. 2021 เวลา 10:29 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Squid Game (2021) เล่นลุ้นตาย : เกมชีวิตของเหล่าปลาเล็กในมหาสมุทรทุนนิยม
via Netflix.com
*Notice : มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์*
.
.
.
'Squid Game เล่นลุ้นตาย' (2021) ซีรีส์เกาหลีแนวลุ้นระทึก เอาชีวิตรอดเรื่องใหม่ล่าสุดจาก Netflix ที่ได้ผู้กำกับมากฝีมืออย่าง 'ฮวังดงฮยอก' เป็นผู้ดูแลและกำกับจนขึ้นแท่นซีรีส์ยอดนิยมอันดับ 1 ในประเทศไทยหลังออกอากาศวันที่ 17 กันยายน 2021 ไปเพียง 3 วันเท่านั้น !
เนื้อหาซีรีส์ว่าด้วยเรื่องของการเชื้อเชิญผู้เข้าแข่งขันที่มีประวัติติดหนี้ก้อนโตจำนวน 456 คนเข้ามาร่วมเล่นเกมเพื่อเฟ้นหาผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียวที่จะเป็นเจ้าของเงินรางวัลใหญ่มูลค่า 45,600 ล้านวอน "ซงกีฮุน" (รับบทโดย อีจองแจ) ชายหนุ่มวัยกลางคนที่ชีวิตตกอับจากการทำธุรกิจล้มละลาย ทำให้ต้องสูญเสียภรรยาและลูกสาวไป รวมถึงมีคุณแม่ที่ป่วยต้องดูแล ซ้ำยังถูกเด็กสาวแปลกหน้า "คังแซบยอก" ขโมยเงินที่หามาได้จากการชนะการพนันแข่งม้า จึงต้องจำยอมร่วมเล่นเกมในครั้งนี้ หลังได้รับคำชักชวนจาก "นายหน้า" ของ Squid Game (รับบทโดย กงยู) เพื่อเข้าร่วมชิงเงินรางวัล
via Koreaboo.com
หลังตัดสินใจเข้าร่วมเล่นเกม กีฮุนได้พบกับ "ซังอู" (รับบทโดย พัคแฮซู) ผู้ที่กีฮุนรักและเอ็นดูในฐานะน้องชาย รวมถึงยกย่องความเก่งกาจในหลาย ๆ ด้าน ทำให้กีฮุนค้นพบความจริงว่าซังอูเองก็กำลังตกที่นั่งลำบาก เนื่องจากมีคดีฉ้อโกงติดตัวจากการบริหารบริษัทผิดพลาด กระทั่งเกมแรกได้เริ่มต้นขึ้น กีฮุนจึงพบว่านี่ไม่ใช่เพียงแค่การเล่นเกมพื้นบ้านในสมัยเด็กแบบธรรมดา แต่มันคือการเล่นเกมที่มีชีวิตเป็นเดิมพัน กีฮุนและผู้เล่นอีกหลายคนจึงรวมตัวกันเพื่อยุติการเล่นเกมชีวิตในครั้งนี้ลง ทว่าเมื่อได้รับโอกาสให้กลับไปใช้ชีวิตในสังคมตามเดิม พวกเขาพบว่าผลลัพธ์ของมันไม่ได้ดีไปกว่าการเสี่ยงตายอยู่ที่นี่ ผู้เล่นคนอื่นรวมถึงกีฮุนจึงเลือกที่จะกลับเข้ามาร่วมเล่นเกมชีวิตด้วยกันอีกเป็นครั้งที่สอง ซึ่งหมายความว่าตัวเลือกเดียวที่เขามีต่อจากนี้คือการใช้ทุกวิถีทางให้ตนกลายเป็นผู้ชนะในเกม เพื่อคว้าเงินรางวัลและมีชีวิตรอดกลับไปนั่นเอง
via TheNetline.com
Squid Game นับเป็นซีรีส์เกาหลีที่มาแรงสุด ๆ ในช่วงนี้เลยก็ว่าได้ เพราะหลังการออกอากาศเพียงไม่นานก็กลายเป็นกระแสไปทั่วทุกมุมโลก ทั้งมีการจำลองเกม "A E I O U หยุด" ตามฉบับซีรีส์ในเกม Roblox เพื่อให้แฟน ๆ ได้สัมผัสการเล่นเกมเสมือนจริง ที่ขาดไม่ได้คือ "เกมน้ำตาลแผ่น (Dalgona)" ที่ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็ต้องเห็นคนเปิดรับพรีออเดอร์เจ้าขนมน้ำตาลแผ่นที่มีลวดลายภาพพิมพ์ต่าง ๆ บนหน้า รวมถึงเปิดคลิปสอนวิธีทำกันเต็มไปหมดทั้งโซเชียลเลยทีเดียว รวมไปถึงเพจรีวิว / กูรูภาพยนตร์ ซีรีส์เองก็ต่างให้ความสนใจกันอย่างถ้วนหน้า วันนี้ เราจึงถือโอกาสมาเก็บตกประเด็นบางส่วนที่พบหลังดูซีรีส์เรื่องนี้จบ พร้อมชวนทุกคนให้ฉุกคิดไปพร้อมกัน
via Eatbook.sg
1. เต็มใจ ?
โดยส่วนตัวเรามองว่าผู้กำกับฮวังดงฮยอกตีโจทย์เกี่ยวกับการสะท้อนภาพความโหดร้ายของ "ระบบทุนนิยม" ได้เฉียบเลยทีเดียว สาเหตุที่เราสรุปออกมาเช่นนี้เป็นเพราะว่า จากรอบแรกที่ผู้เข้าแข่งขันจำนวนมากกว่าครึ่งเลือกยุติเกม แต่สุดท้ายแล้วพวกเขาเหล่านั้นก็เลือกที่จะกลับเข้ามาเล่นเกมอีกครั้ง หลายคนอาจมองว่าผู้เข้าแข่งขันเหล่านั้นล้วนกลับมาเล่นด้วยความเต็มใจ หากต้องตายไปก็ถือว่าเป็นสิ่งที่เลือกแล้ว แต่ในทางกลับกัน สิ่งที่สะท้อนความโหดร้ายของระบบทุนนิยมมันอยู่ที่ว่า พวกเขากลับมาเพราะ "ต้อง" กลับมา หลังเกมยุติ ซีรีส์ได้ถ่ายทอดชีวิตความเป็นอยู่ของผู้เล่นให้เราได้รับชมกันไปแล้ว คงเดาไม่ยากเลยว่าชีวิตในสังคมของทุกคนนั้นไม่ได้ต่างกับก่อนหน้า พวกเขาจึงต้องกลับมาเสี่ยงชีวิตเพื่อเงินรางวัลอีกครั้ง นี่จึงไม่ใช่การเลือกอย่างเต็มใจ แต่เป็นเพราะระบบทุนนิยมที่บีบบังคับให้พวกเขาต้องเลือกที่จะดิ้นรนสู้ต่อต่างหาก
via Netflix.com
2. ผลประโยชน์ ?
แม้การคว้าชัยชนะอันดับหนึ่งอาจหมายถึงการได้รับผลประโยชน์สูงสุด ทว่ากลับกันนั้น ระหว่างทางของการแข่งขันจะพบว่าสิ่งที่สูญเสียไปคือ "ชีวิต" ของคน ๆ หนึ่ง ดังที่เราเห็นกันว่า เมื่อมีผู้เข้าแข่งขันเสียชีวิต เจ้าหน้าที่ในชุดสีชมพูจะพากันนำร่างใส่ลงกล่องโลงลักษณะคล้ายกล่องของขวัญ แม้มองเผิน ๆ นั่นอาจเป็นบริการสุดท้ายที่ผู้ตายได้รับ แต่สำหรับ "ขบวนการค้ามนุษย์" นั่นคือแหล่งทำเงินชั้นดีเลยทีเดียว แม้ในท้ายที่สุดขบวนการค้ามนุษย์จะถูกจับได้และโดนลงโทษอย่างแสนสาหัส แต่ใครล่ะ คือผู้ได้ผลประโยชน์สูงสุด ? หากย้อนกลับไปดูช่วงท้ายของซีรีส์อีกครั้ง เราจะเห็นฉากที่ "VIP" และ "นายทุน" ผู้เป็นเจ้าของเกมได้รวมตัวกันอยู่ตรงโซนที่นั่งในด่านสะพานกระจก ประหนึ่งกำลังรับชมการแสดงสด สำหรับพวกเขาเหล่านั้น "เงิน" อาจไม่ใช่เป้าหมายหลักของการจัดการแข่งขันนี้ขึ้น หากแต่เป็น "ความสนุก" ที่ได้พนันชีวิตของผู้เล่นเสียมากกว่า
3. ความเท่าเทียม ?
"ผู้เล่นทุกคนอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน และมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน" แม้ดูเหมือนการแข่งขันจะดำเนินไปอย่างยุติธรรม แต่ความจริงแล้วเบื้องลึกเบื้องหลังกลับยังมี "ความเหลื่อมล้ำ" เกิดขึ้นทั้งในหมู่ผู้เล่นอยู่ดี กรณีแรกจากตัวละคร "บยองกี" (รับบทโดย ยูซองจู) ผู้เล่นหมายเลข 111 ในบทแพทย์ที่ทำการชำแหละอวัยวะภายในของผู้เล่นที่เสียชีวิตให้กับเจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่ง เพื่อแลกกับการรู้เกมล่วงหน้า เปรียบเสมือนการติดสินบนเพื่อเอาเปรียบผู้เล่นคนอื่น ๆ แม้ในตอนหลังจะถูกจับได้และถูกกำจัดทิ้งไป แต่ความเท่าเทียมก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริงในหมู่ผู้เข้าแข่งขันอยู่ดี เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับสิทธิ์สำหรับการมีชีวิตอยู่ต่อ
เราจะเห็นได้จากการที่ผู้สร้างเกมจะกำหนดกติกามาให้เพียงตื้น ๆ เช่น ในเกมลูกแก้วที่ผู้เข้าแข่งขันต้องมีลูกแก้วของฝ่ายตรงข้ามสิบลูก จึงจะสามารถผ่านเข้าไปด่านต่อไปได้ หากพิจารณาคำพูดให้ดีแล้ว เราจะเข้าใจได้อีกอย่างว่า "เพียงถือครองลูกแก้วสิบลูกก็สามารถผ่านได้" มิใช่การถือครองลูกแก้วทั้งยี่สิบลูก (ส่วนของตนเองสิบลูก ส่วนของคู่อีกสิบลูก) ดังนั้น หากผู้เข้าแข่งขันฉุกคิดขึ้นมาได้ การแลกลูกแก้วส่วนตัวกับคู่ ก็จะเป็นหนทางที่ทำให้รอดไปด้วยกัน แต่ทั้งนี้ กลับมีผู้เล่นหลายคนที่พยายามกำจัดคู่ของตัวเองแทนที่จะนึกถึงวิธีการข้างต้น ซึ่งหากมองว่านี่เป็นความเห็นแก่ตัว หรือความอยากเอาชนะจนหน้ามืดตามัว เราก็ไม่คัดค้านในความเห็นนั้น
แต่ถ้าหากลองมองให้ลึกลงไปจะพบว่าสิ่งที่ทำให้ผู้เล่นเลือกใช้ทุกวิถีทางให้ตนเองชนะ ไม่เว้นแม้แต่ "การหักหลัง" นั่นเป็นเพราะระบบทุนนิยมต่างหาก ที่คอยขัดเกลาความคิดของพวกเขาว่า เมื่อมี "ผู้ชนะ" ก็ต้องมี "ผู้แพ้" เป็นกลไกของระบบทุนนิยมที่บีบบังคับให้ทุกคนพยายามดิ้นรนมีชีวิตอยู่ รวมถึงต้องแข่งขันให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดมาให้ตนเอง จนบางครั้งก็ทำให้ผู้เล่นหลายคนสูญเสียการมองเห็นประโยชน์ส่วนรวม กลับกลายเป็นการกอบโกยผลประโยชน์ส่วนตนให้ได้มากที่สุด อีกประเด็นที่น่าสนใจคือกรณีของ "คังแซบยอก" และ "จียอง" เหตุผลที่จียองเลือกเป็นฝ่ายแพ้นั้น เพียงเพราะตนเองหาเหตุผลในการมีชีวิตอยู่ต่อไม่เจอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดกับระบบทุนนิยมอย่างมาก นั่นทำให้เราเกิดคำถามว่า ในโลกที่ทุกคนจำเป็นต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอด เหตุใดการใช้ชีวิตอย่างไร้จุดหมายจึงกลายเป็นข้อเสียเปรียบจนถึงกับต้องยอมสละชีวิตตนเองทิ้งกัน ?
ดังนั้น แม้จะอ้างถึง "ความเท่าเทียม" มากเพียงใด ก็ไม่อาจกลบภาพความเหลื่อมล้ำและระบบทุนนิยมที่คอยกลืนกินชีวิตผู้คนตัวเล็ก ๆ ในสังคมไปได้อยู่ดี ในโลกที่ระบบทุนนิยมบีบบังคับให้เราต้องลุกขึ้นมาทำงาน หาเหตุผล หาปัจจัยในการดำรงชีวิต ความล้มเหลวในชีวิตจึงกลายเป็นเรื่องที่ไม่อาจให้อภัยได้ นั่นเพราะมันคือสัจธรรมที่แท้จริง หรือเพราะใครกำหนด ?
จบกันไปแล้วกับประเด็นที่เราพบเจอเกี่ยวกับซีรีส์เรื่องนี้ นี่เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้น ทุกคนมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับ Squid Game บ้าง ? สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ในคอมเมนต์ หากชื่นชอบการอ่านบทความรีวิว / วิเคราะห์ในเชิงนี้ล่ะก็ พบกันใหม่ในบทความหน้าค่ะ
Twitter : @forrest_write
โฆษณา