5 ต.ค. 2021 เวลา 14:17 • หนังสือ
มิกาทุระ : มิกาโดฉบับรัชกาลที่ 5
มิกาทุระ เป็นงานนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงแก้ไขมาจากบทละครภาษาอังกฤษของเซอร์วิลเลียม ชวงค์ กิลเบิร์ต (Sir William Schwenck Gilbert / W. S. Gilbert)
เซอร์วิลเลียม ชวงค์ กิลเบิร์ต (Sir William Schwenck Gilbert / W. S. Gilbert) ผู้แต่ง "มิกาโด"
มูลเหตุแห่งการนิพนธ์นั้นเริ่มขึ้นเมื่อ ร.ศ. 109 (2433) ตอนเสด็จไปสิงคโปร์ ขณะที่ทรงประทับที่สิงคโปร์นั้น ประจวบกับที่บริษัทละครและโอเปร่าของแฮร์รี่ สแตนลีย์ (Harry Stanley’s Opera Bouffe and Pantomime Company) ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอังกฤษที่มาเล่นละครอยู่ที่สิงคโปร์พอดี
พระยาอนุกูลสยามกิจ (ตันกิมเจ๋ง) ได้จัดหาละครของบริษัทนี้มาเล่นถวายเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ซึ่งได้เอาละครของเซอร์วิลเลียม ชวงค์ กิลเบิร์ตอย่าง มิกาโด (The Mikado) มาแสดง และได้มีการแจกบทภาษาอังกฤาจำหน่ายแก่คนดูด้วย
พระยาอนุกูลสยามกิจ (ตันกิมเจ๋ง)
ต่อมาในปี 2434 คิงจุฬาลงกรณ์ได้เสด็จไปที่เกาะสีชัง
ครั้นนั้นพระอาจารย์ และเซอร์ โรเบิร์ต หลุยส์ มอรันต์ (Sir Robert Laurie Morant) พระอาจารย์ภาษาอังกฤษของเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ นำบทละครเรื่องนี้แปลเป็นภาษาไทย ก่อนจะให้พระยาอิศรพันธุ์โสภณ (ม.ร.ว. หนู อิศรางกูร เปรียญ) พระอาจารย์ภาษาไทยตรวจแก้
เมื่อในหลวงเห็นก็ตรัสว่าของเดิมเป็นบทละคร พอครูหนูตรวจแก้กลับกลายเป็นเทศนาไปเสีย จึงพระราชนิพนธ์ใหม่ให้เป็นเทศนาเพื่อล้อสำนวนชาววัด ชื่อว่า "เทศนามิกาทุระ" โดยมีกรมพระสมมตอมรพันธุ์แต่งอรรถภาษามคธ และพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) แต่งคาถาถวาย
เนื้อเรื่องมีดังต่อไปนี้...
พระเจ้ามิกาทุระ (ต้นฉบับ : มิกาโดะกรุงญี่ปุ่น (**มิกาโดะ (御門 / Mikado) คือตำแหน่งจักรพรรดิของญี่ปุ่น แปลตรงตัวว่า "ประตูอันทรงเกียรติ" (honorable gate) ซึ่งก็คือประตูราชวังนี้เอง**) เจ้าเมืองโตกิยนครออกกฎบ้าบอให้ราษฎรประพฤติตนอยู่ในกรอบอย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามหญิงชายที่มิได้เป็นสามีภรรยากัน จะ “ยิ้มหัวหยอกเอินกัน” ก็ไม่ได้!
วันหนึ่งนางกติจฉกา (ต้นฉบับ : กะติฉะ (Katisha)) หญิงผู้ใหญ่ในวังพยายามเล้าโลมโอรสของพระเจ้ามิกาทุระ เป็นเหตุให้ผิดกฎ
พระเจ้ามิกาทุระจึงบัญชาให้ทั้งสองแต่งงานกัน ไม่เช่นนั้นจะต้องถูกประหาร
แต่พระโอรสหนีไปยังเมืองติติปุระซึ่งเป็นเมืองขึ้น
แล้วปลอมเป็นนักดนตรีชื่อนังกิปุระ (ต้นฉบับ : นังกิปู (Nanki-Poo))
ระหว่างทางนังกิปุระได้พบนางยัมมะยัมมา (ต้นฉบับ : ยัมยัม (Yum-Yum)) ก็พึงใจ จึงเข้าไปทำความรู้จัก เมื่อรู้ว่านางจะต้องเป็นภรรยาของอำมาตย์โกโกกะ (ต้นฉบับ : โกโก (Ko-Ko)) จึงเข้าป่าไปด้วยความเฮิร์ต
เดิมโกโกกะเป็นช่างเย็บ เกิดพอใจสตรีผู้หนึ่ง จึงยิ้มให้นาง เป็นเหตุให้ผิดกฎ
แต่พระเจ้ามิกาทุระคิดอุตริ แต่งตั้งให้ "เพชฌฆาตมาจากผู้ต้องโทษประหาร" เพื่อให้ได้รู้สึกถึงความทุกข์ร้อนของผู้ที่ถูกประหาร
พระราชาจึงตั้งให้โกโกกะเป็นพระยาเพชฌฆาต
หลังรับตำแหน่ง โกโกกะก็ยังไม่ได้ประหารผู้ใด พระราชาเตือนว่าจะถอดยศ
โกโกกะจึงไปปรึกษาปุรพาหะมหาเสนาบดี (ต้นฉบับ : ปูบา (Pooh-Bah))
ปุรพาหะแนะให้ประหารโกโกกะเอง
เมื่อนังกิปุระได้ข่าวว่าโกโกกะจะถูกประหารก็รีบไปเมืองติติปุระ
ครั้นรู้จากราชบุรุษว่า "โกโกกะยังมีชีวิตอยู่"
เจ้าชายผิดหวังมากจะฆ่าตัวตาย
ระหว่างนั้นนังกิปุระได้พบโกโกกะและปุรพาหะ
นังกิปุระจึงขอให้โกโกกะเป็นผู้ประหารชีวิตตน
แต่โกโกกะขอให้รออีก 1 เดือนเพื่อจะได้ฝึกการฆ่าเสียก่อน แล้วสัญญาว่าจะให้ทุกอย่างแก่นังกิปุระ เมื่อนังกิปุระบอกว่าต้องการนางยัมมะยัมมา โกโกกะจึงต้องยอมยกนางให้
ฝ่ายนางกติจฉกาสืบรู้ว่าเจ้าชายอยู่ที่เมืองติติปุระ ครั้นตามไปก็พบว่ากำลังจะวิวาห์กับนางยัมมะยัมมา
นางกติจฉกาจึงพยายามเปิดเผยฐานะของนังกิปุระแต่ไม่สำเร็จ
จึงกลับไปทูลพระเจ้ามิกาทุระให้ยกทัพไปเมืองติติปุระ
โกโกกะเข้าใจว่าพระเจ้ามิกาทุระพิโรธตน ปุรพาหะจึงแนะนำให้รีบประหารนังกิปุระเสีย แต่โกโกกะบอกว่าตามกฏบ้าบอ "หากผู้ใดต้องโทษประหาร ภรรยาของผู้นั้นต้องถูกฝังทั้งเป็น" ตนจะไม่ได้เห็นนางยัมมะยัมมาอีก
โกโกกะจึงให้นังกิปุระและนางยัมมะยัมมาปลอมตัวหนีไป
โกโกกะนำพยานหลักฐานเท็จไปทูลพระเจ้ามิกาทุระว่าได้ประหารชีวิตนังกิปุระแล้ว เมื่อรู้ว่าพระราชาเสด็จมาตามหาราชโอรสที่ปลอมตัวเป็นคีตบุรุษ
โกโกกะจึงทูล (แถ) ว่าตนไม่รู้ว่าเป็นพระโอรสจึงสั่งประหาร พระราชากลับรับสั่งว่าทำถูกแล้วที่รักษากฎหมาย แต่มีกลับกฎหมายเจ้ากรรมอีกฉบับหนึ่งบอกว่า "ถ้าผู้ใดประทุษร้ายพระโอรสให้ลงโทษถึงชีวิตด้วยการทอดในน้ำมัน"
พระราชาจึงสั่งสั่งให้เตรียมการลงทัณฑ์โกโกกะ
โกโกกะและปุรพาหะรีบขอให้นังกิปุระไปเฝ้าพระราชา
นังกิปุระต่อรองว่าหากทำให้นางกติจฉกายอมเป็นภรรยาได้ ตนก็จะยอมไปเฝ้า
โกโกกะไปเกี้ยวนางโดยแต่งคำประพันธ์เรื่องนกกระจาบหลงรักนางนก พยายามผูกไมตรี แต่นางนกไม่สนใจ นกกระจาบจึงกลั้นใจตาย แล้วบอกว่าหากนางกติจฉกาไม่รับรัก ตนก็จะกลั้นใจตายเช่นกัน นางจึงยอมตกลง
เมื่อนังกิปุระไปเฝ้าพระเจ้ามิกาทุระ พระองค์พระราชทานอภัยโทษให้ทุกคน
โฆษณา