8 ต.ค. 2021 เวลา 11:00 • ธุรกิจ
ไมยา อีโซลา: แหกกฎเจ้านาย เกิดเป็นลายดอกไม้สุดฮิตของ Marimekko
อ่อนหวาน - น่ารัก - สดใส
1
สามคำแรกที่นึกขึ้นได้เมื่อเห็นลายดอกป๊อปปี้บนสินค้าของมารีเมกโกะ (Marimekko) แบรนด์ไลฟ์สไตล์สัญชาติฟินแลนด์ที่โด่งดังไปทั่วโลก แต่เชื่อไหมว่าที่มาของดอกป๊อปปี้แสนน่ารักเหล่านี้มีเรื่องราวความขบถซ่อนอยู่ เพราะนอกจากดีไซเนอร์อย่าง ‘ไมยา อีโซลา (Maija Isola)’ จะออกแบบลายดอกอูนิกโกะ (Unikko) หรือดอกป๊อปปี้โดยที่เจ้านาย (ไม่ได้) สั่งแล้ว เธอยังทำตรงข้ามกับกฎที่เจ้าของแบรนด์ตั้งไว้อีกต่างหาก
เรื่องราวก่อนดอกไม้บาน
ก่อนจะเล่าถึงที่มาของลายดอกป๊อปปี้สีแดง เราอยากพาย้อนกลับไปในฟินแลนด์ปี 1949 เมื่อบรรยากาศหม่นเทาเข้าปกคลุมประเทศ ทั้งสงคราม ความแร้นแค้น และสภาพอากาศอันหนาวเหน็บ แต่คู่สามีภรรยา ‘อาร์มี ราเตีย (Armi Ratia) และ วิลิโย ราเตีย (Viljo Ratia)’ กลับไม่ยอมจำนนต่อความหดหู่ในยุคนั้น ตัดสินใจก่อตั้งโรงงานพิมพ์ผ้าขนาดเล็กที่ชื่อว่า Printex ขึ้นในเมืองเฮลซิงกิ ด้วยหวังจะสร้างสรรค์สินค้าประโลมหัวใจผู้คนและคงทนเหมาะกับสภาพอากาศ
1
สองสามีภรรยาจึงชวนศิลปินรุ่นใหม่มาออกแบบลายผ้า หนึ่งในนั้นคือ ‘ไมยา อีโซลา’ (Maija Isola) ลูกสาวคนเล็กของเมาโน อีโซลา (Mauno Isola) ชาวไร่ในเฮลซิงกิ ผู้มีพรสวรรค์ด้านการเขียนเพลงและบทกวี
ไมยาเข้าเรียนจิตรกรรมที่ The Helsinki Central School of Industrial Arts หลังจากนั้น เธอสร้างสรรค์ผลงานและคว้ารางวัลด้านการออกแบบมากมาย ครั้งหนึ่งเธอได้ออกแบบลวดลายไห (Amphora) ซึ่งแรงบันดาลใจมาจากตอนเดินทางไปชมงานในพิพิธภัณฑ์ Oslo Museum of Craft and Design ประเทศนอร์เวย์ โดยลวดลายที่ว่านี้เป็นหนึ่งในผลงานที่เตะตาอาร์มี ราเตีย (Armi Ratia) เจ้าของแบรนด์มารีเมกโกะพอดี เธอจึงชักชวนไมยาเข้ามาทำงานในฐานะนักออกแบบลายผ้าคนแรกของ Printex ซึ่งกลายเป็นแบรนด์มารีเมกโกะในเวลาต่อมา
1
ดอกอูนิกโกะ (Unikko) เบ่งบานจากความขบถ
มารีเมกโกะเริ่มเฉิดฉายสู่สายตาชาวโลก เมื่อแจ็กเกอลีน เคนเนดี (Jacqueline Kennedy) สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกา เลือกสวมเสื้อผ้าแบรนด์มารีเมกโกะ แต่ช่วงนั้นดอกป๊อปปี้ยังไม่ปรากฏบนลายผ้า เพราะอาร์มี ราเตีย ตั้งกฎไว้ว่าไม่อนุญาตให้มีลายดอกไม้บนสินค้าของมารีเมกโกะ ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่อยากให้นักออกแบบไปลดทอนความงดงามของดอกไม้ในธรรมชาติ และไม่อยากให้ซ้ำกับลายที่มีอยู่แล้วมากมายในอุตสาหกรรมสิ่งทอ
1
แต่เมื่อทำงานไปพักใหญ่ ไมยาเริ่มต้องการอิสระในการสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งปี 1964 เธอฉีกกฎเจ้านาย แล้วออกแบบลวดลายดอกไม้ลงบนผืนผ้า หนึ่งในนั้นคือ ลายดอกอูนิกโกะ(Unikko) หรือดอกป๊อปปี้สีชมพู แดง บนพื้นหลังสีขาวแสนมินิมอล
เมื่อเธอนำผลงานชุดนี้ไปให้อาร์มี ราเตียดู แทนที่จะปัดตก ปรากฏว่าเจ้านายกลับถูกตาต้องใจกับลายที่ไมยาออกแบบ กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ดอกอูนิกโกะหรือดอกป๊อปปี้เบ่งบานบนลวดลายของสินค้ามารีเมกโกะหลากหลายชนิด
1
Harry Kivilinna ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์การออกแบบในเฮลซิงกิ อธิบายว่า ลวดลายดอกไม้ที่อาร์มี ราเตียไม่อนุญาตให้ใช้นั้น อาจหมายถึงดอกไม้เล็ก ๆ แสนอ่อนหวานที่ฮิตกันในช่วงปี 1940-1950 ซึ่งต่างไปจากอูนิกโกะดอกโตแสนสดใสที่ไมยาออกแบบ นี่อาจเป็นเหตุผลที่อาร์มี ราเตียตัดสินใจไม่ปัดตกลวดลายชุดนี้ก็เป็นได้ แต่การลุกขึ้นมาทำสิ่งที่เสี่ยงต่อการขัดแย้งกับเจ้านาย ก็นับเป็นความกล้าหาญและนำไปสู่จุดเปลี่ยนสำคัญของภาพลักษณ์มารีเมกโกะเลยก็ว่าได้
1
ดอกไม้ที่ไม่มีวันโรยรา
ลวดลายดอกอูนิกโกะถูกพัฒนาและต่อยอดมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นเหมือนลายเซ็นของแบรนด์ที่ผ่านไปนานแค่ไหนก็ไม่ตกยุค จน Harry Kivilinna บอกว่าลายนี้เหมือนกับลาย LV ของ Louis Vuitton เลยทีเดียว เพราะยิ่งนานคนยิ่งจำได้ แถมยังฮิตอีกต่างหาก
2
“ดีไซน์เรียบง่ายแฝงไปด้วยความไร้เดียงสา ทำให้ดูเหมือนว่าใคร ๆ ก็สร้างสรรค์ลายดอกไม้แบบนี้ได้ ผู้คนเลยเข้าถึงและเชื่อมโยงกับลวดลายเหล่านี้ด้วยความรู้สึกคุ้นเคย และทันทีที่เห็น พวกเขาจะจดจำได้ตลอดไป” Harry Kivilinna อธิบายเพิ่มเติม
3
นอกจากลายอูนิกโกะแล้ว ตลอดเวลาที่ร่วมงานกับแบรนด์มารีเมกโกะ ไมยา อีโซลายังสร้างสรรค์ลายผ้าไว้กว่า 500 ชิ้น และในปี 1980-1987 เธอได้ออกแบบร่วมกับคริสตินา ลูกสาวของเธอซึ่งเรียกได้ว่าเป็นลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น เพราะต่อมาคริสตินาได้กลายเป็นหนึ่งในหัวหน้านักออกแบบของมารีเมกโกะเช่นกัน
หลังจากการทำงานในแบรนด์ไลฟ์สไตล์สีสันสนุกนี้มาเป็นเวลา 30 กว่าปี ไมยา อีโซลาได้หันมาวาดรูปแทนการออกแบบลายผ้า ก่อนจะจากโลกนี้ไปอย่างไม่หวนกลับในปี 2001 ทิ้งไว้เพียงลวดลายดอกป๊อปปี้สุดคลาสสิกบนเสื้อผ้า กระเป๋า ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ไปจนถึงของแต่งบ้านแบรนด์มารีเมกโกะ รวมทั้งแบรนด์อื่น ๆ ที่ได้ออกแบบร่วมกับแบรนด์นี้ และความขบถแสนสร้างสรรค์ของไมยา อีโซลา ก็ทำให้ผู้เขียนอยากจะเปลี่ยนนิยามจาก ‘อ่อนหวาน-น่ารัก-สดใส’ มาเป็น ‘สดใส-กล้าหาญ-เหนือกาลเวลา’ เพื่ออธิบายเบื้องหลังลายดอกป๊อปปี้ที่เบ่งบานมานานเกือบ 6 ทศวรรษเหล่านี้แทน
เรื่อง : ธัญญารัตน์ โคตรวันทา
#ThePeople #Business #Marimekko #Maija_Isola
โฆษณา