6 ต.ค. 2021 เวลา 14:54 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ทำไมบินเป็นเส้นโค้งขนาดนี้?
ภาพเส้นทางการบินจาก Flightradar24 แสดงเส้นทางการบินของอีกหนึ่งเที่ยวบินที่มีความน่าสนใจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 คือเที่ยวบิน QF14 ของสายการบิน Qantas จากประเทศออสเตรเลีย เที่ยวบินนี้มีความน่าสนใจอย่างไร?...
เที่ยวบินนี้เป็นเที่ยวบินจากเมืองบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ไปยังเมืองดาร์วิน ทางตอนเหนือสุดของประเทศออสเตรเลีย โดยเป็นเที่ยวบินขนส่งคนกลับสู่ภูมิลำเนาหรือ Repatriation Flight ทำการบินยาวแบบไม่แวะพักระยะทาง 14,683 กิโลเมตร ด้วยเครื่องบินแบบ Boeing 787-9 Dreamliner ใช้เวลาบินทั้งสิ้นประมาณ 17.30 ชั่วโมง เที่ยวบินนี้ยังถือเป็นเที่ยวบินพาณิชย์ที่มีผู้โดยสารปกติเดินทางระยะทางไกลที่สุดที่ Qantas เคยทำการบินมาอีกด้วย โดยมีระยะทางไกลกว่าเส้นทางจากเพิร์ธ สู่ลอนดอน ประมาณ 180 กิโลเมตร!
เครื่องบินรุ่นที่ใช้บินเที่ยวบินนี้ Boeing 787-9
สำหรับคำถามจากภาพแรกที่ว่า ทำไมบินเป็นเส้นโค้งขนาดนี้? ต้องเท้าความไปถึงรูปแบบของแผนที่ที่เรานิยมใช้ในปัจจุบัน คือแผนที่โลกที่อยู่บนกระดาษแบนราบทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่เรียกว่าแผนที่แบบ "Mercator" ซึ่งเป็นการวาดรูปร่างของทวีปต่างๆบนโลกที่เป็นทรงกลมไปยังกระดาษแบนราบ ถึงแม้จะทำให้รูปร่างของแต่ละประเทศถูกต้องตามความเป็นจริง แต่สิ่งที่ตามมาคือขนาดและสัดส่วนของแผนที่จะไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยเฉพาะบริเวณที่อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตร ทั้งด้านบนและด้านล่างของแผนที่เพราะโดน "แผ่" ออกมานั่นเอง
เมื่อดูเส้นทางบินบนแผนที่โลกทรงกลม ก็จะเห็นเส้นทางบินที่แท้จริง
สำหรับในกรณีนี้คือ สัดส่วนของแผนที่บริเวณขั้วโลกใต้ผิดไปจากความเป็นจริงไปมาก เพราะเป็นการนำทรงกลมที่มีขั้วโลกใต้อยู่ด้านฐาน แผ่ขยายออกมาให้อยู่ในรูปแผนที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า การระบุเส้นทางบินจริงๆที่บินออกจากเมืองบัวโนสไอเรส ลงใต้ผ่านไปยังใต้สุดของทวีปอเมริกาใต้ ผ่านทวีปแอนตาร์ติกาหรือขั้วโลกใต้ ก่อนบินผ่ากลางเข้าประเทศออสเตรเลียทั้งทวีปและลงจอดที่ดาร์วิน จึงออกมาในรูปเส้นโค้งแบบที่เราเห็นกัน
หรือถ้าจะให้เข้าใจง่ายๆคือ....เที่ยวบินนี้เป็นการบินหากันของสองเมืองที่อยู่แทบจะคนละฝั่งของโลกนั่นเอง
ลองสลับประเทศไทยกับกรีนแลนด์บนแผนที่แบบ Mercator สามารถลองเล่นกันได้ที่ https://thetruesize.com/
โฆษณา