7 ต.ค. 2021 เวลา 10:08 • ประวัติศาสตร์
คิด-มา-เล่า 04
ว่าด้วย 6 ตุลา 2519
ทำไมถึงเจ็บปวด แม้ไม่ได้ร่วมในประวัติศาสตร์
.
เดือนตุลาคมเป็นเดือนที่สำคัญอย่างมากมายหลายหลากสำหรับพ่อ ไม่เพียงเป็นเดือนเกิดของลูก แต่มันยังเป็นเดือนที่ถูกบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ ทั้งน่าจดจำและไม่น่าจดจำไว้ในคราวเดียว ความทรงจำของประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 แทบไม่ควรมีผลในทางตรงกับพ่อเลย เพราะพ่อเกิดไม่ทันและไม่มีใครที่เป็นญาติสนิทชิดใกล้เพียงพอที่จะซึบซับความทรงจำนั้นมาได้ แม้ปู่ของลูกที่อายุ 20 ปี ในตอนนั้นจะพอมีความทรงจำบ้าง แต่ด้วยความที่ไม่ได้ร่วมอยู่ในขบวนการนักศึกษาซึ่งเป็นผู้เล่นหลักในประวัติศาสตร์ เรื่องราวที่ถ่ายทอดมาสู่พ่อ ย่อมไม่เพียงพอต่อการประทับประสบการณ์ร่วมที่ชัดเจนให้กับความทรงจำของพ่อ
-
แล้วทำไมเราต้องเจ็บปวดไปกับมัน ?
เรื่องมันเริ่มจากช่วงเวลาแห่งการแสวงหาข้อเท็จจริง จากสภาวะสังคมที่สูญเสียอิสรภาพเชิงข้อมูลจากความพยายามของรัฐในการปกป้องประวัติศาสตร์กระแสหลักที่ไม่เคยอธิบายเรื่องราวได้ครบถ้วนสมบูรณ์ มีเรื่องหนึ่งที่เรารับรู้มา แต่มีอีกเรื่องหนึ่งที่ยังเป็นคำถาม ที่หากไม่มองจากมุมนอกกรอบของกระแสหลัก คำถามเหล่านั้นก็ไม่เคยได้รับการอธิบายที่สมเหตุสมผลเพียงพอแก่ความสาแก่ใจของเรา แล้วมันเป็นเช่นนี้มานับตั้งแต่พ่อยังเป็นเด็กไม่รู้ประสีประสา จนเมื่อกำเนิดใหม่ของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยที่ไปไกลสุดกู่ ยิ่งกว่าครั้งไหนทั้งหมดเท่าที่พ่อเคยมีประสบการณ์ผ่านมาในชีวิต ณ จุดนั้นเองพ่อจึงได้เริ่ม ‘อ่าน’ ประวัติศาสตร์เดิมในแบบใหม่
••
พ่อจำไม่ได้ว่าเริ่มสนใจประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ได้อย่างไร รู้แต่ว่าช่วงที่ข้อเรียกร้องระดับ ‘ทะลุเพดาน’ เกิดขึ้น กลุ่ม Facebook ที่มีสมาชิกมากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่พ่อก็ร่วมอยู่ในนั้นด้วย เป็นกระแสขึ้นมา ภายในกลุ่มมีเอกสารข้อมูลทางประวัติศาสตร์นอกกระแส ถูกปล่อยออกมาด้วยความเอื้อเฟื้อ ทั้งจากสมาชิกที่ประสงค์เอ่ยนามและไม่เอ่ยนาม ให้ผู้สนใจได้ดาวน์โหลดเอามาอ่านกันอย่างมากมายยากที่จะอ่านได้หมด พ่อเองเลือกสรรบางเรื่องที่อยู่ในความสนใจจำนวนหนึ่ง เมื่อได้อ่านและศึกษาเพิ่มเติมพอสมควร ก็คลับคล้ายคลับคลาว่าพ่อไปสะดุดกับประวัติศาสตร์ของช่วงเวลาแห่งขบวนการนักศึกษาที่จบลงด้วยความเจ็บปวดมากที่สุดครั้งหนึ่ง
รวมถึงในฐานะที่เป็นช่วงเวลาแห่งการเปิดเผยตัวละครในหน้าประวัติศาสตร์ ที่แม้เราจะเห็นอยู่ทนโท่ในฐานะผู้เกี่ยวข้องหรือเบื้องหลังของเหตุการณ์ แต่ในทางสาธารณะ แทบทุกคนไม่เคยกล้ากล่าวถึง พาดพิง หรือนำเข้ามาอยู่ในสมการของความขัดแย้ง
•••
ไม่เพียงอารมณ์ความสงสัยใคร่รู้ในเรื่องราวเท่านั้นที่เชื้อชวน แต่บุคคลในหน้าประวัติศาสตร์ครั้งนั้นหลายคนยังคงปรากฏทั้งชื่อและหน้าตาอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มนักวิชาการที่ผลิตผลงานอันทรงอิทธิพลต่ออิสรภาพทางความคิด รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้กับการติดตามประวัติศาสตร์บาดแผลนี้ ผ่านหนังสือเล่มสำคัญที่รวบรวมแทบทุกแง่มุมเชิงวิชาการว่าด้วย 6 ตุลา 2519 ที่พ่อใช้เวลาอ่านนานมากเกินความจำเป็น หลายจังหวะอ่านแล้วเสียน้ำตาชนิดที่สะอึกสะอื้นเสมือนเป็นความเจ็บปวดของตัวเอง เนื้อหาหลากหลายส่วนในนั้นคล้ายพาพ่อเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ แม้ผู้เขียนไม่ใช่นักวรรณกรรมและภาษาที่ใช้ก็เป็นเชิงวิชาการ ไม่ได้มีพรรณนาโวหารอะไรที่สละสลวยชวนให้คล้อยตามอย่างกวีนิพนธ์ ซ้ำร้ายยังชวนอ่านยากด้วยซ้ำ แต่ด้วยความลึกซึ้งของเนื้อหา บทวิเคราะห์ที่ตีแผ่ชุดข้อมูลที่เราไม่เคยได้รับรู้มาก่อน
ตลอดจนเปิดเผยความคิดอ่านหรือความหมายแฝงของเหตุการณ์ การกระทำของฝ่ายขวา ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อฝ่ายนักศึกษาที่ถูกตีตราว่าเป็นฝ่ายซ้ายนั้น ชวนให้เกิดความรู้สึกหลายอย่างที่ยากอธิบาย โดยรวมพ่ออยากใช้คำว่า ‘ความเจ็บปวด’ เป็นตัวแทนความรู้สึก
••••
ก่อนที่จะขยายความเรื่องความเจ็บปวด พ่อคิดว่าควรเล่าเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 อย่างสรุปย่อให้ลูกฟัง เหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นผลสืบเนื่องมาจากการขับไล่เผด็จการทหารโดยมวลชนเมื่อ 14 ตุลา 2516 ซึ่งส่งผลให้ผู้นำเผด็จการในตอนนั้น ถนอม กิตติขจร ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ แต่ด้วยระยะเวลาเพียงไม่ถึง 3 ปีดีหลังจากนั้น ถนอม กลับสู่ประเทศและเตรียมการเพื่อบวชเข้าสู่ร่มกาเสาวพัสตร์ ณ วัดบวรนิเวศฯ ด้วยความพยายามสร้างภาพชำระล้างมลทิน พร้อมข้ออ้างของการกลับมาเยี่ยมบิดาที่ป่วย ขบวนการนักศึกษาหัวก้าวหน้าแสดงออกถึงความไม่พอใจและต่อต้านการกระทำดังกล่าว เกิดการประท้วงหลายครั้งหลากสถานที่ เหตุการณ์ที่เป็นชนวนเหตุสำคัญคือ ภาพข่าวการเสียชีวิตของนักกิจกรรมสองคนที่เป็นพนักงานการไฟฟ้าถูกแขวนอยู่บนประตูรั้ว ขณะที่พยายามติดโปสเตอร์ประท้วงการกลับเข้าประเทศของถนอม
ภายหลังปรากฏหลักฐานที่ชี้ชวนให้สงสัยว่าเป็นการกระทำของตำรวจ นักศึกษาในกรุงเทพฯ จึงจัดกิจกรรมละครเวทีขึ้นเพื่อประท้วงการกระทำอันโหดเหี้ยมดังกล่าว พร้อมทั้งแสดงออกถึงความไม่ยอมรับต่อการพยายามใด ๆ ก็ตามที่จะนำไปสู่การรัฐประหาร
•••••
จุดพลิกผันที่นำไปสู่ความชอบธรรมในการปราบปรามเกิดขึ้นหลังจากที่ ปรากฏภาพของการแสดงบนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ ‘ดาวสยาม’ ในช่วงบ่ายของวันที่ 5 ตุลาคม 2519 พร้อมข้อความอธิบายว่านักศึกษาหัวรุนแรงแสดงละครแขวนคอหมิ่นพระบรมโอรสาธิราช (ธงชัย, 2563, หน้า 14) นับจากนั้นภาพความก้าวร้าวของนักศึกษาขบวนการฝ่ายซ้ายจึงแพร่สะพัดออกไปสู่สาธารณชน จากเรื่องของการประท้วงต่อต้านเผด็จการ หัวข้อจึงเปลี่ยนเป็นความพยายามของพวกคอมมิวนิสต์ที่ต้องการล้มล้างสถาบันกษัตริย์และทำลายชาติไปในบัดดล กลุ่มอนุรักษ์นิยมขวาจัดเริ่มออกมาเรียกร้องให้จัดการกลุ่มนักศึกษา จนรวมกลุ่มกันและยกขบวนเข้าปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ภายในวันที่ 5
โดยปรากฏกลุ่มแกนนำจัดตั้งที่มีชื่อทั้ง ลูกเสือชาวบ้าน, กระทิงแดง และนวพล ซึ่งยังไม่รวม ตชด.ที่มีส่วนสำคัญในปฏิบัติการอย่างร้ายกาจ ทั้งหมดเป็นขบวนการที่เริ่มรวมกลุ่มกันต่อต้านนักศึกษามากตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว
••••••
รุ่งเช้าของวันที่ 6 ตุลา เมื่อเสียงระเบิดดังขึ้น การระดมยิงและปราบปรามนักศึกษาจึงได้เปิดฉากขึ้น จนกลายเป็นการสังหารหมู่กลางกรุงอย่างไม่มีใครคาดคิดว่าความโหดร้ายป่าเถื่อนนี้จะเกิดขึ้นห่างจากรั้วกำแพงพระบรมมหาราชวังเพียงไม่กี่ร้อยเมตร
ความเจ็บปวดหลังเหตุการณ์นั้นไม่ใช่มาจากเพียงความสูญเสียชีวิตของเหล่านักศึกษาและผู้ปฏิบัติการเท่านั้น แต่มันได้ฉายภาพความรุนแรงของคนที่ทำกับคนด้วยกันชนิดที่ไม่ได้ให้คุณค่าความเป็นคนหรือแม้แต่สิ่งมีชีวิตที่ควรได้รับความเมตตา ภาพหลักฐานที่ถูกถ่ายทอดออกมาภายหลัง ล้วนเปิดเผยความโหดเหี้ยมอำมหิตเกินกว่าจะใช้คำว่า ‘ปราบปราม’ มาอธิบายการกระทำอันทารุณผิดมนุษย์มนาเกินกว่าความเข้าใจในมโนธรรมสำนึกของคนปกติทั่วไปได้ และที่ยิ่งไปกว่านั้นคือความเจ็บปวดจากเหตุผลของการกระทำที่ฝ่ายปราบปรามยกมาอธิบายทำนองว่า “เพื่อปกป้องชาติ ศาสนาและสถาบันกษัตริย์” ซึ่งกลายเป็นเหตุผลมาตรฐานของความชอบธรรมในการปราบปราบเหล่าผู้เห็นต่างมาจนถึงทุกวันนี้
•••••••
ความเจ็บปวดต่อเนื่องจากนั้นเป็นเรื่องของความคลุมเครือของคำถามว่า “ใครรับผิดชอบ?” ปฎิบัติการในวันนั้น รัฐบาลให้การว่าไม่ใช่คนสั่ง และมันไม่เคยมีความพยายามใด ๆ จากภาครัฐที่จะสืบเสาะหาความจริงในกรณีนี้อย่างเป็นทางการ ส่งผลให้มันไม่เคยมีคำอธิบายอย่างชัดเจนต่อเหตุการณ์ทั้งหมด จนถึงทุกวันนี้เราก็ยังแทบมั่นใจตัวเลขผู้สูญเสียไม่ได้ รวมไปถึงผู้เสียชีวิตบางคนที่ก็ระบุตัวตนไม่ได้เช่นกัน จากความคลุมเครือจึงกลายเป็นความเงียบงัน จนเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่ชวนให้เจ็บปวดทุกครั้งที่นึกถึง และเกือบจะกลายเป็นความเจ็บปวดถาวรตราบใดที่ความจริงยังไม่ถูกสะสาง ตอบคำถามที่ว่า ใครจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์นิยมขวาจัดทั้งหลาย? พวกเค้าเป็นใครกันแน่? ใครกันแน่สั่งตชด.ให้เข้ามา? ใครจงใจปั่นข่าวจากภาพการแสดงที่ไม่มีความจริง? ไปจนถึงคำถามที่ง่ายที่สุด “ใครคือคนบงการ?”
••••••••
ความเจ็บปวดสุดท้ายที่พ่อคิดว่าหนักหนาที่สุดอันเนื่องมาจากการได้รับรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์อันแสนเจ็บปวดนี้ คือ เมื่อเราค่อย ๆ ปะติดปะต่อเรื่องราวต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ผูกโยงตัวแปร และพยายามแก้สมการ เราจะพบว่ามีตัวละครสำคัญมากที่สุดเพียงหนึ่งเดียวที่เป็นทั้งสาเหตุของการปราบปราม ที่แม้มีสถานะอยู่เหนือปัญหา แต่ก็มีอำนาจเพียงพอจะสั่งการและควบคุมตัวละครทั้งหมดได้โดยไม่ต้องเปิดเผยตัว ไม่ลับแต่ก็ไม่ได้รับการกล่าวถึง ที่สำคัญคือ ไม่เคยเปิดเผยมูลเหตุจูงใจอย่างชัดเจน แม้กระทั่งทุกวันนี้ ด้วยความเป็นตัวแปรที่ไม่สามารถเปิดเผยตัวหรือไม่สามารถนำมาใส่ในสมการได้ ทำให้โจทย์ที่ยังค้างคามาอยู่ตลอด 45 ปีนี้ไม่เคยได้รับการแก้ มันจึงเป็นความเจ็บปวดของอาการค้างคาที่มีข้อจำกัดทางการรักษา คล้ายการเป็นแผลแต่รักษาไม่ได้ เพราะมีแต่หมอไม่มีอุปกรณ์ทำแผล ต้องจำใจปล่อยให้หายเองจนในที่สุดก็กลายเป็นแผลเป็น
•••••••••
อย่างไรก็ตามพ่อเองก็ยังไม่อาจระบุแบบเฉพาะเจาะจงเข้าไปได้ถึงที่มาของความเจ็บปวดจากเรื่องราวของ 6 ตุลาคม 2519 ได้ มันเหมือนเป็นประสบการณ์ร่วมที่ถูกสร้างขึ้นมาในหัวสมอง และรับรู้อารมณ์ความรู้สึกในเหตุการณ์นั้น ๆ คล้ายการเสพสื่อ เช่น ภาพยนตร์หรือวรรณกรรม แต่มันให้ความสมจริงกว่านั้นเพราะมันเป็นความจริง มีบุคคลจริง เหตุการณ์มันไม่เคยคลี่คลาย ปริศนาสำคัญยังไม่ถูกแก้ และสถานการณ์โดยมูลเหตุที่คล้ายกันก็วนเวียนกลับมาข้ามยุคสมัยจนถึงปัจจุบัน ซึ่งพ่อยังคงรออย่างมีความหวังถึงคำตอบของเหตุการณ์อยู่ และหวังว่าวันที่ลูกได้อ่านข้อเขียนหรือฟังเรื่องเล่านี้ ประวัติศาสตร์หน้านี้จะถูกชำระแล้ว
.
เรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องฝากไว้ให้ใคร่ครวญ คือ ต่อให้ประวัติศาสตร์แห่งความเจ็บปวดจะเจ็บปวดขนาดไหน แต่ก็คงไม่เจ็บปวดเท่ากับ ความเจ็บปวดของการที่เราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์แห่งความเจ็บปวดนั้นเลย เพราะเราจะยังคงวนเวียนติดอยู่ในความเจ็บปวดโดยไม่สามารถออกมาได้เสียที
อ้างอิง :
“6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง : รวมบทความว่าด้วย 6 ตุลา 2519”. ธงชัย วินิจจะกูล. นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2563.
ภาพประกอบคัดลายเส้นจาก ภาพเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 บริเวณสนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เข้าถึงออนไลน์ https://doct6.com/archives/2235
#จริงจริงคืออยากเล่าให้ลูกฟัง #คิดมาเล่า #คิดมาเล่าจริงจริง #45ปี6ตุลา #6ตุลา #สัปดาห์ฟ้าสาง #ประวัติศาสตร์บาดแผล
โฆษณา