8 ต.ค. 2021 เวลา 00:07 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Keiretsu: กลุ่มธุรกิจที่อยู่เบื้องหลังปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นหลังสงครามโลก
3
Keiretsu: กลุ่มธุรกิจที่อยู่เบื้องหลังปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นหลังสงครามโลก
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา Bnomics ได้พาทุกคนไปสำรวจถึงบรรดากลุ่มธุรกิจหรือครอบครัวที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจครอบครัวของตระกูลคาดูรีที่มีอิทธิพลเหนือเศรษฐกิจฮ่องกงอย่างมาก กลุ่มบริษัทครอบครัว Ayala ซึ่งกุมชะตาของเศรษฐกิจฟิลลิปินส์ หรือบริษัท Reliance ซึ่งแทรกซึมทุกฝีมือก้าวการดำเนินชีวิตของชาวอินเดีย
2
ในวันนี้ ก็เช่นเดียวกัน เราจะชวนทุกคนไปทำความรู้จักกับกลุ่มธุรกิจที่เรียกว่า “Keiretsu” ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีความสำคัญถึงขั้นที่ว่า หากปราศจากกลุ่มบริษัทเหล่านี้ ญี่ปุ่นก็อาจจะไม่สามารถเปลี่ยนตัวเองจากประเทศผู้พ่ายแพ้สงครามมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก หรือเกิดปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น (Japanese Economic Miracle)
แต่ก่อนอื่นที่จะเข้าใจว่ากลุ่มธุรกิจ Keiretsu ที่ว่านี้คืออะไร เราจำเป็นต้องมองย้อนประวัติศาสตร์กลับไปไกลกว่านั้นเพื่อเข้าใจความเป็นมาเป็นไปเสียก่อน
📌 มองย้อนจุดเริ่มต้นของเหล่าธุรกิจที่ได้กลายมาเป็น Keiretsu ในวันนี้
ในช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น มียุคสมัยที่เรียกว่ายุคเอโดะ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งคือยุคของโชกุนโทคุงาวะ (Tokugawa Shogunate) ที่ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ปี 1603 จนถึง 1867 โดยในยุคสมัยดังกล่าวเป็นยุคที่เหล่าบรรดาโชกุนจากตระกูลโทคุงาวะถือครองอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ มีอำนาจยิ่งกว่าจักรพรรดิเสียอีก
3
ยุคโชกุนโทคุงาวะ - Britannica
โดยในช่วงเวลาดังกล่าว ก็มีการปกครองด้วยระบบศักดินา แบ่งเป็นเหล่าโชกุน รองลงมาเป็นซามูไรชาวไร่ชาวนา และเหล่าพ่อค้า ตามลำดับ และมีการใช้ระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม (Primitive Economy) มีเพียงการแลกเปลี่ยนสินค้ากันขั้นพื้นฐานเท่านั้น อีกทั้งยังมีการดำเนินนโยบายการต่างประเทศแบบสันโดษ หรือกล่าวให้เข้าใจง่ายคือ ปิดประเทศ โดยจำกัดการค้ากับต่างประเทศอย่างมาก และห้ามมิให้ใครเดินทางเข้าออกจากอาณาจักร
2
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว เหล่าพ่อค้าจะอยู่ในลำดับชั้นล่างสุดของสังคม และระบบเศรษฐกิจจะเป็นเพียงแค่ระบบแบบดั้งเดิม ไม่ใช่ทุนนิยมดังที่หลายประเทศเป็นแล้ว แต่เหล่าพ่อค้าก็มีบทบาทสำคัญอย่างมากในยุคสมัยดังกล่าว เนื่องจากบรรดาโชกุนเหล่านั้นก็ต้องการรายได้จากเงินภาษีและอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อค้ำจุนฐานะและอำนาจตัวเอง
3
หนึ่งในกลุ่มครอบครัวพ่อค้าที่มีบทบาทมากที่สุดในยุคนั้นก็คือ กลุ่มครอบครัว Mitsui ซึ่งทำธุรกิจแลกเปลี่ยนผ้าไหมและทำหน้าที่เก็บภาษีให้กับเหล่าโชกุน อีกกลุ่มหนึ่งที่มีความสำคัญก็คือ กลุ่มครอบครัว Sumitomo ซึ่งทำธุรกิจเหมืองแร่ และส่งมอบเหล็กเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาวุธให้กับเหล่าโชกุน
2
จุดเปลี่ยนที่สำคัญในประวัติศาสตร์เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1853 เมื่อจอมพลเรือ แมทธิว เพอรรี่ หรือที่รู้จักกันในชื่อ Commodore Perry ได้นำทัพเรือสหรัฐฯ​ มาบีบบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศ
1
ด้วยจุดประสงค์สำคัญสูงสุด คือ เพื่อให้สามารถทำการค้าขายกับประเทศญี่ปุ่นได้ ซึ่งผลที่ตามมาก็คือเหล่าโชกุนของตระกูลโชคุงาวะก็จำใจต้องเปิดประเทศญี่ปุ่นสู่เศรษฐกิจโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ได้เริ่มมีองค์ประกอบของทุนนิยมมากขึ้น พัฒนาจากเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม มีเงินลงทุนไหลเข้ามาจากต่างประเทศ​ และบรรดาบริษัทต่างชาติอย่างเช่น General Electric (GE) หรือ Western Electric ก็เข้ามาประกอบธุรกิจในญี่ปุ่นได้
2
Commodore Perry บังคับญี่ปุ่นเปิดประเทศ - About Japan
แต่แน่นอนว่าการเปิดญี่ปุ่นเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลก เปิดรับกระแสโลกาภิวัตน์เช่นนี้ ก็ย่อมจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปภายในประเทศเช่นเดียวกัน เพื่อให้สามารถแข่งขันกับคนอื่นได้ แต่รัฐบาลโทคุงาวะก็ไม่ได้ดำเนินการปฏิรูปอะไร เพราะการปฏิรูปจะทำให้เหล่าโชกุนเสียผลประโยชน์อย่างมาก
1
📌 การฟื้นฟูเมจิ... ถือกำเนิดกลุ่มธุรกิจ Zaibatsu
1
จุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เกิดขึ้นในปี 1868 เมื่อเหล่าโชกุนหัวก้าวหน้าที่เหลืออดกับการปกครองของเหล่าโชกุนโทคุงาวะได้รวมตัวกันเพื่อทำการยึดอำนาจจากตระกูลโทคุงาวะและสถาปนาให้อำนาจสูงสุดของแผ่นดินกลับมาเป็นของจักรวรรดิอย่างแท้จริง นำมาซึ่งการปฏิรูปยกเครื่องประเทศใหม่ขนานใหญ่ที่เรียกกันว่า การฟื้นฟูเมจิ (Meiji Restoration)
1
การฟื้นฟูเมจิ (Meiji Restoration) - Japan times
การปฏิรูปต่างๆ ที่เกิดขึ้นล้วนเป็นการปฏิรูปประเทศให้มีความทันสมัย (Modernization) เพื่อที่จะให้สามารถแข่งขันกับนานาอารยประเทศได้ ตั้งแต่การจัดตั้งระบบรัฐสภาขึ้นโดยอิงมาจากระบบรัฐสภาเยอรมัน การจัดตั้งระบบการศึกษาตามแบบของเยอรมนีและฝรั่งเศส การส่งชาวญี่ปุ่นจำนวนมากเพื่อไปศึกษาในศาสตร์ที่สำคัญต่อประเทศอย่างเช่น เศรษฐศาสตร์ วิศวกรรม กฎหมาย และวิทยาศาสตร์ รวมทั้งการปฏิรูปที่ดินที่เคยถูกถือครองโดยเหล่าโชกุนในระบบศักดินาอีกด้วย
2
นอกจากนี้ รัฐบาลในยุคเมจิยังได้ร่างกฎหมายต่างๆ ขึ้นมาเพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างมีมาตรฐานตามหลักสากล มีระบบหุ้นส่วน การจำกัดความรับผิดชอบ การจัดทำประมวลกฎหมาย ตลอดไปจนถึงจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ขึ้น พร้อมกันนั้น ยังรวมไปถึงพยายามในการสร้างเศรษฐกิจขึ้นผ่านการผลักดันของภาครัฐบาลโดยตรง จึงนำมาสู่การก่อตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เพื่อปูทางญี่ปุ่นเข้าสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมการต่อเรือ อุตสาหกรรมรถไฟ โรงพิมพ์ และเครื่องจักร
2
แต่แน่นอน เช่นเดียวกันกับที่หลายประเทศที่รัฐบาลคิดจะวางแผนเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ (Centralized Economic Planning) ก็คือรัฐบาลไม่ได้ทำธุรกิจเก่งและก็ไม่ได้มีเงินทุนมากพอที่จะดำเนินทั้งหมดเองได้ ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลอย่างหนัก หนี้รัฐบาลก็เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก มีการพิมพ์เงินเพิ่มซึ่งนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อ จนเกิดการลุกฮือของประชาชน
3
รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้ทำการปฏิรูปเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่งในช่วงทศวรรษ 1880 โดยมีการจัดตั้งธนาคารกลางญี่ปุ่นขึ้นมา โดยใช้ตรึงราคาไว้กับแร่เงิน (Silver) ในขณะเดียวกัน ก็ดำเนินการปฏิรูปด้านการคลังโดยการตัดลดงบประมาณ แปรรูปรัฐวิสาหกิจจำนวนมาก ซึ่งในส่วนนี้เองที่นำไปสู่การถือกำเนิดของ Zaibatsu เพราะบรรดาครอบครัวต่างๆ ที่ได้ดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ยุคเอโดะจนกลายเป็นกลุ่มธุรกิจทุนหนาอย่างเช่น Mitsui Mitsubishi หรือ Sumitomo ก็ล้วนเข้ามาซื้อกิจการที่รัฐบาลได้ประกาศขายเหล่านี้
3
แม้ว่า ธุรกิจเหล่านี้จะดำเนินมาได้ด้วยดี แต่ก็มีทุนไม่เพียงพอ และด้วยวัฒนธรรมเฉพาะของธุรกิจญี่ปุ่นเอง บริษัทเหล่านี้จึงไม่มีความประสงค์ที่จะระดมทุนจากภายนอก จึงนำมาสู่การแก้ปัญหาด้วยการจัดตั้งระบบกลุ่มธุรกิจแบบพีรามิด (Pyramidal Business Groups) ขึ้นมา
1
โดยบริษัทเหล่านี้ อย่างเช่น Mitsubishi จะเป็นบริษัทแม่ที่อยู่จุดสูงสุดของพีรามิดดังกล่าว และจะถือครองหุ้นในบริษัทที่รองลงมาในระดับที่สามารถควบคุมการตัดสินใจของบริษัท (Has controlling block) ได้ และบริษัทดังกล่าวก็จะถือครองหุ้นในบริษัทที่รองลงมาในพีรามิดในลักษณะเช่นเดียวกัน
3
การจัดตั้งระบบกลุ่มธุรกิจแบบพีรามิด (Pyramidal Business Groups)
ระบบการถือครองแบบพีรามิดดังกล่าวจึงทำให้บริษัทญี่ปุ่นพวกนั้นสามารถควบคุมบริษัทอื่นๆ ได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ แม้ว่าตัวเองจะไม่ได้มีทุนเพียงพอที่จะถือครองทั้งหมดก็ตาม และเป็นนิยามของคำว่า Zaibatsu ซึ่งก็คือกลุ่มธุรกิจครอบครัวผูกขาดขนาดใหญ่ด้านการเงินและอุตสาหรรมที่ควบคุมการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ นั่นเอง
3
Zaibatsu ได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการพัฒนาเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและกลายมามีอิทธิพลเหนือเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างมาก รวมทั้งมีความสัมพันธ์กับทางกองทัพอย่างใกล้ชิด Zaibatsu ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นสามารถแผ่ขยายอิทธิพลของจักรวรรดิตัวเองในช่วงสงครามโลกได้
2
โดยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการประเมินว่าเหล่า Big Four ของ Zaibatsu ซึ่งประกอบไปด้วย Mitsui Mitsubishi Sumitomo และ Yasuda รวมกันควบคุมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เคมีภัณฑ์ และโลหะของญี่ปุ่นสูงถึงราว 30% และครองส่วนตลาดเครื่องจักรและอุปกรณ์ถึง 50%
2
หากจะเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในตะวันตก บริษัทเหล่านี้ก็ไม่ต่างอะไรจากบริษัทอย่าง The Standard Oil ของ John D. Rockefeller ในสหรัฐฯ เลย
1
📌 จุดจบของ Zaibatsu นำมาสู่การถือกำเนิด Keiretsu
แต่ทว่า กลุ่มธุรกิจ Zaibatsu เหล่านี้ก็ได้เผชิญจุดจบลง เมื่อจักรวรรดิญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 จนนำไปสู่ช่วงยุคที่สหรัฐฯ นำโดยนายพลดักลาส แมคอาเธอร์ ในฐานะ Supreme Commander for the Allied Power (SCAP) เข้ามายึดครองญี่ปุ่นชั่วคราว
1
หนึ่งในสิ่งที่รัฐบาลของ SCAP ดำเนินการคือจัดการกับเหล่า Zaibatsu เหล่านี้ เพราะต้องการทลายท่อน้ำเลี้ยงสำคัญที่ช่วยฟูมฟักกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงคราม และอีกอย่างหนึ่งคือนโยบาย New Deal ของ Roosevelt ที่เป็นแนวคิดหลักในการเมืองสหรัฐฯ ยุคนั้นที่มุ่งเน้นไปที่การปฏิรูปเศรษฐกิจ ทลายทุนผูกขาด
2
ทางรัฐบาล SCAP ก็ได้ข้อสรุปในการจัดการกับกลุ่มธุรกิจ Zaibatsu เหล่านี้ ทั้งการบังคับให้แยกตัว ทั้งการปรับโครงสร้างองค์กร โดยกลุ่มบริษัทที่โดนเพ่งเล็งนั้นประกอบไปด้วย Asano Furukawa และ Nissan เป็นต้น รวมทั้ง มีการเข้ายึดทรัพย์สินของตระกูลเจ้าของกลุ่มบริษัทเหล่านี้
ท้ายที่สุดแล้ว การกวาดล้างเหล่านี้ก็สิ้นสุดลง ทำให้มี Zaibatsu ที่รอดการจัดการไปได้ เนื่องจากมีเหตุผลสำคัญกว่า ก็คือ ภัยคอมมิวนิสต์ที่รุกรานเข้ามา และสหรัฐฯ ต้องการญี่ปุ่นเป็นฐานที่มั่นสำคัญของทุนนิยมในการต่อกรกับคอมมิวนิสต์ในทวีปเอเชีย เพราะฉะนั้น สิ่งที่จำเป็นต้องทำคือจะต้องพัฒนาเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้เป็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ประชาชนมีความมั่งคั่ง อยู่ดีกินดี ให้ได้ ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้เลย หากปราศจากกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่เหล่านี้
1
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่ากลุ่มธุรกิจเหล่านี้ที่อยู่รอดมาได้ใช่ว่าจะคงความสัมพันธ์ทางธุรกิจแบบเดิมเหมือนสมัยเป็น Zaibatsu ซะทีเดียว เพราะกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ก็ได้เปลี่ยนแปลงตัวเองจากพีรามิดทางธุรกิจ มาเป็นเครือข่ายธุรกิจแบบใหม่ที่เรียกว่า Keiretsu แทน
2
โดยมีศูนย์กลางเป็นธนาคาร และบริษัทต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ Keiretsu เดียวกันก็จะล้วนถือครองหุ้นสัดส่วนไม่มากนักของบริษัทสมาชิกอื่นๆ ซึ่งบริษัทสมาชิกเหล่านี้ก็มีตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้กระจายสินค้า ตลอดถึงแหล่งเงินทุน ส่งผลให้การจัดสรรทรัพยากรมีประสิทธิภาพและกลายเป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้ญี่ปุ่นแข่งขันในเวทีโลกได้
1
รายชื่อบริษัทต่าง ๆ ในเครือ Keiretsu
หนึ่งในกลุ่มธุรกิจ Keiretsu ที่สำคัญคือ Mitsui และ Sumitomo ที่ได้รวมตัวกันมาเป็น SMFG โดยมี Sumitomo Mitsui Bank เป็นศูนย์กลางและมีบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นอยู่ในเครือมากมาย เช่น Asahi Fujifilm Toshiba และ Sony Computer Entertainment เป็นต้น หรือกลุ่ม MUFG ของ Mitsubishi ที่มีบริษัทในเครือเป็น Hitachi Nippon Oil และ Sharp Corporation เป็นต้น
1
การถือกำเนิดขึ้นของกลุ่มหรือเครือข่ายทางธุรกิจ Keiretsu ที่ว่านี้เป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นก้าวจากประเทศที่พ่ายแพ้สงครามมาเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกได้ภายในระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่ปีเท่านั้น จนเกิดเป็นคำเรียกที่รู้จักกันดีว่า “ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น” หรือ Japanese Economic Miracle นั่นเอง
1
#Keiretsu #Mitsui #Mitsubishi #Sumitomo #Fuyo #Sanwa #DKB #ญี่ปุ่น
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:
โฆษณา