8 ต.ค. 2021 เวลา 01:10 • ปรัชญา
"เรียนรู้จากสิ่งที่ผิด เมื่อไรไม่ผิด เมื่อนั้นถูก"
"... ทุกวันนี้มันวิบัติ เข้าขั้นวิบัติเลย เชื่อง่ายเกินไป
เอะอะก็มาบอกหลวงพ่อ กัลยาณมิตรสอนมาอย่างนี้
เราดูสภาพที่กำลังมี กำลังเป็น
ไม่ใช่กัลยาณมิตรสอนหรอก มันปาปมิตรสอนมา
มิตรที่ไม่ค่อยได้เรื่องสอนมา
แล้วไปยกพวกไม่ได้เรื่องขึ้นมา
เป็นกัลยาณมิตรอะไรอย่างนี้ เชื่อง่าย
ใครเขาเชื่อ ใครเขาดังอะไรอย่างนี้ เชื่อเขาไปหมด
คนดังพูดแล้ว แหม มันน่าเชื่อเพราะว่าโซเชียลเขาเชื่อ
เราก็ต้องเชื่อตาม มิฉะนั้นเราเข้ากลุ่มเขาไม่ได้
นักปฏิบัติจะไม่เป็นอย่างนั้นหรอก
เราจะไม่เชื่อเพราะคนอื่นเขาเชื่อ
เราจะไม่เชื่อเพราะเชื่อตาม ๆ กันมาแบบนั้น
เราจะไม่เชื่อเพราะบรรพบุรุษของเราเคยเชื่อ
เราจะไม่เชื่อ เพราะครูของเราสอน ครูบาอาจารย์ของเราสอน
เราจะไม่เชื่อเพราะพระตถาคตเจ้าสอนไว้
จะไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ จนกว่าจะพิสูจน์เห็นด้วยตัวเองได้
ถ้าเราพิสูจน์แล้วเราเห็นด้วยตัวเองได้
แล้วเราจะองอาจกล้าหาญมากเลย เวลาเราพูดธรรมะ
เพราะมันเห็นด้วยตัวเอง มันไม่ใช่เดา ๆ เอา
ถ้าเดา ๆ เอา จิตใจไม่องอาจกล้าหาญหรอก
"ทำพละ 5 ให้สมดุล"
อย่างที่หลวงพ่อบอกว่าเราต้องทำพละ 5 ให้สมดุล
ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา
พละ 5 อินทรีย์ 5 ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา
ตัวที่ต้องเน้นคือตัวพละ กำลัง 5 อย่างนี้
เป็นตัวสำคัญในการปฏิบัติ
ถ้าศรัทธาเราแรงกล้าเกินไป
เราเชื่อมั่นในพระพุทธเจ้ามากเลย
เชื่อมั่นในครูบาอาจารย์มาก
เราต้องหัดเจริญปัญญาให้มากขึ้น ไม่ใช่ลดศรัทธาลง
ก็หัดพิจารณาว่า เอ๊ะ สิ่งที่ครูบาจารย์เราสอน
มันสอดคล้องกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนหรือเปล่าอะไรอย่างนี้
ค่อย ๆ สังเกตไป ครูบาอาจารย์เราสอนบอกว่าจิตเที่ยง
จิตไม่เกิดไม่ดับ จิตมีดวงเดียว
ถ้าเราศรัทธาล้ำหน้า
เราก็ลืมไปเลยว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร
เราไปศรัทธาอาจารย์
เราก็ต้องใช้ปัญญาสังเกตเอา
เอ๊ะ มันของจริง มันเที่ยงหรือมันไม่เที่ยง
ของจริง จิตนี้เที่ยงหรือไม่เที่ยง ดูของจริงเอา
ถ้าดูได้แล้ว เราจะสรุปได้อย่างหนึ่งว่ามันตรงอย่างที่พระพุทธเจ้าบอก
อาจจะไม่ตรงกับอาจารย์
บางอาจารย์เขาสอน จิตเที่ยง จิตนี้มีความสุข
จิตเป็นอัตตา บังคับได้ บางสำนักสอนกันอย่างนี้เลย
ไม่ใช่ศาสนาพุทธ คนนับถือเป็นล้านเลย เชื่อถือกัน
ถ้าเราศรัทธามากเกินไป เราก็จะถูกเขาหลอก
ถูกเพื่อนเราหลอก หรือเราเชื่อเพราะว่าเพื่อนเราเชื่อ
ก็เลยเชื่อตาม ๆ กัน ไม่มีปัญญาเลย
ปัญญาอันนี้เป็นตัวใช้เหตุใช้ผล
เป็นตัวเข้าคู่กับศรัทธาแล้วดีมากเลย
ถ้ามีวิริยะมากก็ฟุ้งซ่าน ก็มีสมาธิเป็นคู่ปรับมัน
ทำความเพียรมากใจมันจะฟุ้ง ก็ทำสมาธิขึ้นมา
ทำสมาธิขึ้นมาแล้วจิตขี้เกียจ
จิตขี้เกียจที่จะต่อสู้กิเลส
วิริยะคือความเพียรต่อสู้กิเลส ความเพียรเจริญกุศล
ถึงจะเรียกวิริยะ
นั่งสมาธินานเดินจงกรมนานไม่เรียกว่ามีวิริยะ
ถ้าไม่ได้เป็นไปเพื่อลดละกิเลสหรือเจริญกุศล
เพราะฉะนั้นอย่างเรามีความเพียรมาก
แล้วไม่ดูอะไรเลย ไม่ทำความสงบเลย
เดินปัญญาลูกเดียวเลย
พากเพียรที่จะลดละกิเลสของเราอะไรอย่างนี้
มีวิริยะอย่างแรงกล้า หามรุ่งหามค่ำ
ไม่ให้จิตพักเลย ในที่สุดจิตก็ทนไม่ไหว
จิตก็จะใช้วิธีหลบ
หลวงพ่อก็เคยเป็น
ที่หลวงพ่อสอนพวกเราได้แบบไม่กลัวอะไรเลย
เพราะหลวงพ่อเคยผิดมาเยอะแล้ว
ไม่ใช่หลวงพ่อเก่ง หลวงพ่อห่วย
ทำผิดมาเยอะมากเลย ที่ใครเขาผิดอะไรนี่
เคยผิดมาแล้วแทบทั้งนั้น
ไม่ทำสมาธิเลย มีอยู่ช่วงหนึ่ง เพราะดูถูกสมาธิ
ใจลึก ๆ ดูถูกสมาธิขึ้นมา
เพราะเรานั่งสมาธิมาตั้งแต่เด็ก
นั่งอยู่ 22 ปีก่อนจะเจอหลวงปู่ดูลย์
ทำแต่สมาธิ แล้วไม่เห็นมันจะได้อะไรขึ้นมาเลย
ได้แต่ของเล่น ของจริงไม่มีอะไรติดเนื้อติดตัวเลย
พอมาเจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านสอนเจริญปัญญา
เจริญอุตลุด ทิ้งสมาธิไปเลย
ปรากฏว่าพอทิ้งสมาธิไปนาน ๆ
กำลังของสมาธิไม่พอ
การที่เรามีความเพียร มีการเจริญปัญญาอยู่
มันทำไม่ได้จริง กลายเป็นความฟุ้งซ่านของจิต
หรือกลายเป็นความหลงผิดของจิต
มีอยู่คราวดูสภาวะทั้งวันทั้งคืน
กระทั่งนอนหลับเห็นสภาวะเกิดดับ ๆ อยู่ภายในเลย
ถ้าคนซึ่งไม่ได้ขยันภาวนา หลับไปอย่างมากก็ฝัน
เราเห็นเลยถ้าฝันอย่างนี้ จิตมีราคะ
สติรู้ทันปั๊บ หลุดออกจากโลกของความฝันทันทีเลย
ฝันอันนี้จิตมีโทสะ สติรู้ปั๊บเลย
สติมันทำงานได้กระทั่งตอนหลับ
สติมันเข้มแข็งมากเลย
พยายามพากเพียรภาวนาไปเรื่อย ๆ เรื่อย ๆ
ในที่สุด จิตมันเหนื่อย ๆ พอขึ้นมานั่งสมาธิ
นั่งปุ๊บหลับปั๊บเลย
หลวงพ่อก็พยายามต่อสู้ นั่งแล้วมันหลับ
มันนั่งสบายเกินไปล่ะกระมัง นั่งขัดสมาธิเพชร
นั่งเป็นไหม มันไขว้กันอย่างนี้
ถ้าไม่เคยนั่ง แข้งขาแทบหักเลย เจ็บพิลึก
มีเทคนิคขั้นแรกก็พับขาซ้ายเข้ามาก่อน
เหยียดขาขวาออกไป แล้วค่อยดึงเข้ามา
แล้วก็ขัดกัน ๆ โอ๊ย เจ็บ ขนาดเจ็บขนาดนั้น
นั่งแล้วยังหลับเลย เดินจงกรมก็แล้วกัน
นั่งแล้วหลับเดินจงกรม
ที่บ้านเป็นบ้านไม้มีเสาอยู่กลางบ้านด้วย
เดินหลับ ชนเสาเลย
เดินไปทางนี้ชนเสา เดินไปทางนี้ชนฝาบ้าน
เราก็สงสัยเกิดอะไรขึ้น ภาวนาทีไรหลับทุกทีเลย
เมื่อปี 2526 ภาวนาแล้วก็หลับๆ แก้ไม่ตก
พอดีวันที่ 5 สิงหาคม ปี 2526
มีโอกาสขึ้นไปเชียงใหม่พอดี ไปกราบหลวงปู่สิม
ไปเล่าถวายท่าน บอกผมจนปัญญาแล้ว
ผมแก้ไม่ตกแล้ว นั่งแล้วก็หลับ เดินแล้วก็หลับอย่างนี้
บอกท่านอย่างนี้ ท่านบอกผู้รู้ ๆ จะสงสัยอะไร
ปฏิบัติไปเถอะแล้วจะได้ของดีในพรรษานี้ล่ะ
ท่านว่าอย่างนี้ ท่านห้ามสงสัยเสียอีก
ท่านไม่ให้สงสัย เราก็ไม่สงสัย
พอไม่สงสัย จิตก็เลิกดิ้นรน
นั่งๆๆ ไป จิตก็ค่อย ๆ พัก ไม่ต้องดิ้นรนค้นคว้าแล้ว
จิตก็เริ่มเข้าพัก เริ่มสงบเข้ามา ๆ
ในที่สุดก็ ... ใช้คำว่าอะไรดี ก็ภาวนาได้
ภาวนาได้ดีนั่นล่ะ
...
"สมาธิไม่พอ"
อันนั้นเกิดจากอะไร ตอนหลังมาพิจารณา
ทำไมเรานั่งสมาธิแล้วเราก็หลับ
ทำไมเดินจงกรมเราก็หลับ
เพราะจิตมันไม่เคยได้พัก จิตมันต้องการพัก
เมื่อเราไม่ยอมพักในสมาธิ
จิตจะหนีไปพักด้วยการนอนหลับ
นี้เป็นหลักของมันเลย จิตมันต้องหาทางออก
ถ้าจิตไม่ได้พักเลย เราใช้งาน ตะบี้ตะบันใช้งาน
เจริญปัญญาทั้งวันทั้งคืน
สุดท้ายมันจะบ้า มันจะฟุ้งซ่านในธรรมะ
เป็นวิปัสสนูปกิเลสร้ายแรง อะไร ๆ ก็รู้ไปหมดเลย
อาการของพวกติดวิปัสสนูปกิเลสที่มีปัญญากล้า
มันหนักอึดเลย หลวงพ่อก็เคยเป็น
ถึงบอกที่ผิด ๆ หลวงพ่อเคยลองมาแล้วทั้งนั้น
ภาวนา เกิดความรู้เข้ามา เราก็จำไว้
มันเกิดอีกเรื่องหนึ่ง เราก็จำไว้ๆๆ
แล้วมันสามารถลิงค์เรื่องนี้ โยงกับเรื่องนี้ได้
เรื่องนี้โยงกับเรื่องนั้นได้
มันเป็นภาพ abstract ขึ้นมาเลยในใจเรา
เกี่ยวพันกันหมด
ธรรมะทั้งหลายทั้งปวงสัมพันธ์กันทั้งหมดเลย
ในเวลาไม่กี่วันมีความรู้สึกเหมือนเราไปไหน
เราก็แบกตู้พระไตรปิฎกไปด้วย
โอ๊ย มันบ้า ปัญญามากเกินไปแล้ว ก็ยังผิด
อย่างนี้ผิด ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส ปัญญาแก่กล้าเกินไป
พอเรารู้ว่าเกิดจากสมาธิไม่พอ จิตมันหนีไปพัก
ทีหลังก็เลยต้องทำสมาธิ สลับไปเรื่อย ๆ ทุกวัน
ถ้าช่วงไหนไม่ได้หายใจเข้าพุท
หายใจออกโธเลยอะไรนี่ รู้สึกไม่ค่อยปลอดภัย
เดี๋ยวทำผิดอีก แต่ก็ยังผิดจนได้
บางทีภาวนาเจริญปัญญาแล้วตะลุมบอน
ลืมทำสมาธิ เป็นช่วงยาว ๆ เลย
คราวนี้เกิดวิปัสสนูปกิเลสขึ้นมา
วิปัสสนูปกิเลสมี 10 อย่าง
หลวงพ่อเคยเจอหลายอย่างเลย
เพราะฉะนั้นมันต้องสมดุลกัน
จะเจริญปัญญาสมาธิเราก็ต้องพอ
จะเจริญปัญญาก็ต้องรู้ว่าเจริญไป
เพื่อความเพียรที่ถูกต้องคือลดละกิเลส เจริญกุศล
ไม่ใช่เจริญปัญญาเพื่อความฉลาดรอบรู้
เจริญปัญญามาก เชื่อแต่ตัวเอง
ไม่เชื่อกระทั่งคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว เชื่อตัวเอง
เพื่อนสหธรรมิกเตือนก็ไม่ฟังแล้ว
เพราะเชื่อมั่นตัวเองสูง
พวกนี้ก็เพี้ยนอีกล่ะ ไม่มีศรัทธา มีแต่ปัญญาล้ำไป
เพราะฉะนั้นเวลาเราภาวนาอย่าเข้าข้างตัวเอง
ค่อย ๆ สังเกตไปเรื่อย ๆ
ตอนนี้ศรัทธาเกินปัญญา
ตอนนี้ปัญญาเกินศรัทธา
ตอนนี้วิริยะมากไป ไม่รู้จักหยุดพัก ไม่รู้จักทำสมาธิ
ตอนนี้สมาธิเยอะไป ไม่ทำความเพียรแล้ว
ทำความเพียรมากก็ขยันทำสมาธิ
มีวิริยะมากก็ขยันทำสมาธิ
พอทำสมาธิมาก แหม มีความสุขเลิกทำความเพียรแล้ว
ไม่คิดลดละกิเลสแล้ว ติดใจในสมาธิแล้ว
มันจะมีลูกเล่นของมัน แพรวพราวไปหมดเลย
เดี๋ยวก็พลาดตรงนี้ ๆ
อันนี้เป็นทักษะที่เราจะค่อย ๆ เรียนรู้ด้วยตัวของเราเอง
ต่อไปเราพลาดอย่างนี้เราก็เคย พลาดอย่างนี้เราก็เคย
มันก็เลยไม่พลาด ค่อย ๆ ฝึกไป
เรียนรู้จากสิ่งที่ผิด
เมื่อไรไม่ผิด เมื่อนั้นถูก ค่อย ๆ ฝึกอย่างนี้
ยากไปไหม มีคนเขียนจดหมายมาถึงหลวงพ่อ
เขาบอกฟังหลวงพ่อเทศน์ง่าย เอาไปทำยาก
แค่ฟังมันก็ง่ายสิ ชอบคิดว่าหลวงพ่อเทศน์แล้วก็ง่าย
ทำจริงมันยาก
ทำจริงเราต้องสู้กิเลส ตอนฟังไม่ได้สู้กิเลส ก็ไม่ยากสิ
ต้องอดทน ยากเสียตั้งแต่วันนี้ ดีกว่าไปยากชาติหน้า
ถ้าเราไปยากชาติหน้า มันจะยากมากกว่าชาตินี้อีก
เพราะมันเคยชินที่จะเหลวไหล
ฉะนั้นเรายอมลำบากเสียชาตินี้ล่ะ
ถ้าบุญเราพอ
เราก็ได้มรรคได้ผลเป็นหลักประกันความปลอดภัยในวัฏฏะสงสาร
ถ้าบุญบารมียังไม่พอ ไปต่อเอาชาติหน้า
ฟังธรรมนิดเดียวก็เข้าใจแล้ว ก็ไปได้อย่างรวดเร็ว
ฉะนั้นลงมือทำวันนี้ล่ะ ... "
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
26 กันยายน 2564
ติดตามการถอดไฟล์บรรยายฉบับเต็มจาก :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา