8 ต.ค. 2021 เวลา 07:14 • ประวัติศาสตร์
จะเกิดอะไรขึ้น!! ถ้าหากฝรั่งเศสไม่ยอมจำนน และเลือกที่จะยืนหยัดสู้ในสงครามโลกครั้งที่สองต่อไป!?
อย่างที่ทราบกันดีว่าฝรั่งเศสได้ยอมจำนนต่อเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อปี ค.ศ.1940 ด้วยเหตุผลที่ซับซ้อน แน่นอนว่ามันคือความสำเร็จของกองทัพเยอรมัน ซึ่งมีชัยชนะเหนือกองทัพฝรั่งเศส และภายหลังฝรั่งเศสได้ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของเยอรมนี โดยที่พวกเขายังมีความเมตตาต่อฝรั่งเศสอยู่บ้าง ด้วยการไม่ทำลายอาคารบ้านเรือนและละเว้นชีวิตพลเรือนผู้ไม่เกี่ยวข้องในสงคราม
อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำของเยอรมนีในกรุงปารีส หลังจากการยอมจำนนของฝรั่งเศส
ทว่าความพ่ายแพ้ในครั้งนี้ ได้ทำให้สังคมฝรั่งเศสเกิดความแตกแยกอย่างรุนแรง เมื่อเหล่าบรรดานายพลในกองทัพฝรั่งเศสที่ยังเหลือตัดสินใจให้ความร่วมมือกับเยอรมนีต่อไป ยกตัวอย่างเช่น จอมพลฟิลิปป์ เปแตง อดีตวีรบุรุษจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งของฝรั่งเศส
แต่จะเกิดอะไรขึ้น? ถ้าหากในตอนนั้น จอมพล ฟิลิปป์ เปแตง ตัดสินใจต่อต้านการยึดครองของเยอรมนี บางทีผลลัพธ์ของสงครามโลกครั้งที่สอง อาจจะแตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง
เมื่อมองแสนยานุภาพทางการทหารแล้ว ต้องบอกว่าฝรั่งเศสมีทรัพยากรมากมายที่พร้อมจะต้านทานการรุกรานและการยึดครองของฝ่ายอักษะต่อไป โดยเฉพาะกองทัพเรือของฝรั่งเศส ที่ยังมีความโดดเด่น พวกเขามีเรือประจัญบานที่ทันสมัยที่สุดในโลกสองลำ พร้อมด้วยเรือลาดตระเวน เรือสนับสนุน และเรือพิฆาตที่ทรงพลังอีกจำนวนมาก แน่นอนว่าถ้าฝรั่งเศสยังยืนหยัดต่อสู้กับเยอรมนี กองทัพเรือของฝรั่งเศสจะมีบทบาทอย่างมากในการช่วยอพยพกำลังทหารของฝรั่งเศสเพื่อถอยไปตั้งหลักบนเกาะอังกฤษหรือแอฟริกาเหนือได้
ไม่เพียงเท่านี้ กองทัพเรือของฝรั่งเศสยังสามารถสร้างประโยชน์ในการปิดล้อมฝ่ายอักษะได้ โดยเฉพาะอิตาลี พร้อมกับตัดเส้นทางการผลิตของฝ่ายอักษะในภาคพื้นทวีปแอฟริกา เมื่อเทียบกับกองทัพเรือเยอรมันแล้ว กองทัพเรือฝรั่งเศสมีแสนยานุภาพเหนือกว่า พวกเขามีศักยภาพในการต่อต้านกองทัพเรือฝ่ายเยอรมันและฝ่ายอักษะในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ต่อไป
แน่นอนว่าถ้าฝรั่งเศสไม่ยอมจำนนอย่างง่ายดาย กองทัพเรือของพวกเขาจะสามารถสกัดกั้นการรุกรานของอิตาลีในแอฟริกาพร้อมกับสนับสนุนการรบให้กับฝ่ายอังกฤษได้ และบางที ถ้าหากฝรั่งเศสยังยืนหยัดต่อสู้ร่วมกับอังกฤษต่อไป อิตาลีของจอมเผด็จการ เบนิโต มุสโสลินี อาจจะต้องพบกับงานที่ยากกว่าเดิม และบางทีพวกเขาอาจมองหาหนทางในการสงบศึกตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่สงครามจะบานปลายไปยังแผ่นดินแม่ของพวกเขาได้
1
ในฝากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิค กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ยึดครองอาณานิคมของฝรั่งเศสในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้การยินยอมของวิชีฝรั่งเศส ที่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของเยอรมนี ถ้าหากฝรั่งเศสยังไม่ยอมจำนนง่าย ๆ จักรวรรดิญี่ปุ่นจะต้องพบกับงานที่ยากกว่าเดิมในการบุกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จอมพล ฟิลิปป์ เปแตง วีรบุรุษสงครามของฝรั่งเศส ผู้แปรพักตร์เข้าร่วมกับฝ่ายเยอรมนี
แน่นอนว่ามาถึงตรงจุดนี้ หลายคนอาจคิดว่า ถ้าหากฝรั่งเศสไม่ยอมจำนนง่าย ๆ ถ้าหากพวกเขาเลือกที่จะยืนหยัดสู้ในสงครามให้แตกหักกันไปข้าง บางทีผลลัพธ์ของสงครามอาจจะแตกต่างออกไปจากเดิมมาก แต่ถ้าหากมองในมุมเหตุผลของชาวฝรั่งเศส พวกเขาประเมินแล้วว่ากองทัพของพวกเขามีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ล้าหลังกว่าฝ่ายเยอรมนี และแผนกลยุทธ์ที่ยังยึดติดกับรูปแบบการรบในสนามเพลาแบบสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในขณะที่ฝ่ายเยอรมนีได้เปลี่ยนมาใช้กลยุทธ์แบบสงครามสายฟ้าแลบ (Blitzkrieg) ที่มีการผนวกการรบทางบกและทางอากาศร่วมกันเพื่อทลายแนวรับข้าศึก
นี่ยังไม่รวมถึงแผนป้องกันที่ผิดพลาด ชาวฝรั่งเศสมองว่าถ้าหากพวกเขายังยืนหยัดต่อสู้กับฝ่ายอักษะต่อไป บ้านเมืองที่พวกเขาสร้างมานานหลายร้อยปีจะต้องถูกทำลายล้างโดยไฟสงคราม นี่ยังไม่รวมถึงชีวิตประชาชน ดังนั้นฝรั่งเศสจึงเลือกที่จะยอมจำนนเสียแต่เนิน ๆ เพื่อป้องกันความเสียหายในทรัพยสินและชีวิตประชาชนของตน ซึ่งภายหลังมันได้กลายเป็นบาดแผลทางประวัติศาสตร์ ที่ทำให้ฝรั่งเศสมักถูกล้อเลียนว่าพวกเขามักเลือกที่จะยอมยกธงขาวมากกว่าจะต่อสู้
เมื่อฝรั่งเศสยอมจำนนอย่างง่ายดาย ฝ่ายเยอรมนีเองก็เลยเลือกที่จะใช้วิธีการละมุนละม่อมต่อฝรั่งเศส แต่ถึงกระนั้น กองทัพเยอรมันก็ได้นำทรัพยากรทางการทหารของฝรั่งเศสเพื่อนำออกมาใช้ในสงครามกับฝ่ายอังกฤษและฝ่ายสหภาพโซเวียตต่อไป โดยภายหลังก็มีชาวฝรั่งเศสและนายพลในกองทัพฝรั่งเศสให้ความร่วมมือกับฝ่ายเยอรมัน จนก่อให้เกิดวิชีฝรั่งเศส ที่ปกครองดินแดนทางตอนใต้ของประเทศ ภายใต้การชักนำของเยอรมนี
1
แน่นอนว่าถ้าไม่มีเขตวิชีฝรั่งเศส สถานการณ์ภายในประเทศฝรั่งเศสจะต้องเลวร้ายกว่าเดิม โดยเฉพาะเมื่อฝรั่งเศสเลือกที่จะยืดหยัดต่อต้านการรุกรานจากฝ่ายเยอรมัน ซึ่งถ้าหากเทียบดินแดนฝรั่งเศสที่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายเยอรมันและเขตวิชีฝรั่งเศส ต้องบอกเลยว่าทั้งสองเขตมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยดินแดนฝรั่งเศสที่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของเยอรมนี ชาวยิวและฝ่ายต่อต้านจะถูกไล่ล่าอย่างหนักจากฝ่ายเยอรมัน ในขณะที่เขตวิชีฝรั่งเศสจะดูมีความปลอดภัยกว่ากันมาก
1
ขบวนการต่อต้านฝรั่งเศส (La Résistance) กลุ่มกองกำลังใต้ดินติดอาวุธที่ไม่ยอมจำนนต่อฝ่ายเยอรมนี
ขณะเดียวกัน ในฝากฝั่งของชาวฝรั่งเศสที่ไม่ยอมจำนน (นำโดย ชาร์ลส์ เดอ โกล) ได้ยืนหยัดต่อต้านการรุกรานและการควบคุมของกองทัพเยอรมันอย่างสุดความสามารถ หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงในปี ค.ศ.1944 ขบวนการต่อต้านใต้ดินของชาวฝรั่งเศสได้ปรากฎตัวขึ้นเหนือกรุงปารีส พร้อมกับคิดบัญชีกับชาวฝรั่งเศสที่มีใจเอนเอียงไปทางฝั่งของเยอรมัน ซึ่งจอมพล ฟิลิปป์ เปแตง คือหนึ่งในบุคคลที่ถูกตัดสินโทษประหารชีวิตข้อหาขายชาติ แต่ภายหลังเขาได้รับการละเว้นโทษ เหลือเพียงแค่จำคุกตลอดชีวิต
ในท้ายที่สุดแล้ว หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง เราได้เห็นผลลัพธ์จากการตัดสินใจของฝ่ายการเมืองและฝ่ายทหารของฝรั่งเศส ซึ่งทำให้เราได้เห็นประเด็นต่าง ๆ เพื่อนำมาถกเถียงกัน ถึงแม้ว่าฝรั่งเศสจะยอมจำนนต่อเยอรมนี แต่ก็ยังมีกลุ่มต่อต้านใต้ดินที่ยังยืนหยัดต่อสู้เพื่อขับไล่เยอรมนีออกไป ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า กลุ่มต่อต้านเหล่านี้สร้างปัญหาให้กับฝ่ายเยอรมนีเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกัน ถ้าหากฝรั่งเศสไม่ยอมจำนนและยืนหยัดสู้ต่อไป บางทีผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่ต่างกันมาก กล่าวคือ ฝ่ายสัมพันธมิตรอาจจะได้รับชัยชนะ แต่ฝรั่งเศสจะเสียหายอย่างย่อยยับจากไฟสงคราม
ประธานาธิบดี ชาร์ลส์ เดอ โกล แห่งฝรั่งเศส
ซึ่งถ้าหากเรามองในมุมคนนอก เราอาจมองว่าฝรั่งเศสยอมถอดใจง่ายเกินไป และทิ้งภาระทั้งหมดให้อังกฤษและสหรัฐฯ เข้ามาจัดการกับปัญหาในภายหลัง แต่ถ้าหากมองในมุมของชาวฝรั่งเศส พวกเขามองว่าตัวเองตัดสินใจถูกแล้ว ในการเลือกที่จะป้องกันความเสียหายอย่างรุนแรงที่จะเกิดขึ้นถ้าหากพวกเขายังดึงดันสู้ต่อไป
คลีเมนไทน์ เชอร์ชิลล์ ภริยาของ วินสตัน เชอร์ชิลล์
ครั้งหนึ่ง คลีเมนไทน์ เชอร์ชิลล์ ภริยาของนายกรัฐมนตรีแห่งอังกฤษอย่างวินสตัน เชอร์ชิลล์ เคยกล่าวกับ ประธานาธิบดี ชาร์ลส์ เดอ โกล แห่งฝรั่งเศสว่า
'ท่านนายพล คุณต้องไม่เกลียดเพื่อนของคุณมากกว่าเกลียดศัตรูของคุณ'
โดยต่อมา ประธานาธิบดี ชาร์ลส์ เดอ โกล ได้ตอบกลับไปว่า
'ฝรั่งเศสไม่มีเพื่อน เรามีแต่หุ้นส่วน'
ซึ่งคำพูดของ ชาร์ลส์ เดอ โกล ก็น่าจะบอกอะไรเกี่ยวกับการตัดสินใจยอมจำนนตั้งแต่หัววันของฝรั่งเศสได้เป็นอย่างดี ว่าพวกเขายึดถือผลประโยชน์มากกว่ามิตรภาพเป็นที่ตั้ง ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะถ้าหากมองในแง่มุมระหว่างคนสองคน พวกเราสามารถเป็นเพื่อนกันได้ แต่ถ้าหากมองในมุมของนครรัฐหรือประเทศ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ ไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวรอย่างแท้จริงนั่นเอง
ข้อมูลจาก : NATIONALINTEREST.ORG, WIKIPEDIA
โฆษณา